ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ภายหลังจาก “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) ตัดสินใจทำรัฐประหารเพื่อผ่าทางตันให้กับประเทศไทย เพียงไม่กี่อึดใจก็ได้มี “ประกาศ” ของ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)” ที่สะท้านสะเทือนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะได้มีการ “เด้ง” หัวเรือใหญ่อย่าง บิ๊กอู๋-“พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว” พ้นจากเก้าอี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์เพิ่งมีประกาศฉบับที่ 6/2557 แต่งตั้งให้ พล.ต.อ.อดุลย์ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แต่ถัดมาอีก 2 วันคือวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ได้มี “คำสั่ง” ฉบับที่ 7/2557 ออกมา
ทั้งนี้ คำสั่งฉบับดังกล่าวมี 2 ข้อด้วยกันคือ
1.ให้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี โดยยังคงเป็นรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 6/2557 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และ 2. ให้ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
กล่าวสำหรับ “บิ๊กกุ้ย-พล.ต.อ.วัชรพลนั้น เมื่อไล่เรียงสายสัมพันธ์ย้อนหลังกลับไปจะเห็นได้ว่า เป็นนายตำรวจที่ “ไม่ธรรมดา” เช่นกัน เนื่องเพราะเคยเป็นอดีตนายเวร พล.ต.อ.เภา สารสิน อดีตอธิบดีกรมตำรวจและเป็นตำรวจใกล้ชิด พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้เป็นน้องชายของ บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการทหารบก พี่ใหญ่ “บูรพาพยัคฆ์” ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
และในวันเดียวกันนั้นเองคือวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 พล.ต.อ.วัชรพลก็ได้ออกสั่ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 256/2557 โยกย้ายนายตำรวจระดับ “ผู้บัญชาการ” ถึง 8 คนด้วยกัน โดยคำสั่งระบุชัดเจนว่า “ไปปฏิบัติราชการที่ ศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยขาดจากตำแหน่งเดิม เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมอบหมาย จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง”
ผู้บัญชาการทั้ง 8 คน ได้แก่
1.พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล
2. พล.ต.ท.นเรศ นันทโชติ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1
3. พล.ต.ท.กวี สุภานันท์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2
4. พล.ต.ท.อนุชัย เล็กบำรุง ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4
5. พล.ต.ท.สุเทพ เดชรักษา ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5
6. พล.ต.ท.หาญพล นิตย์วิบูลย์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7
7. พล.ต.ท.ภาณุ เกิดลาภผล ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
และ 8. พล.ต.ท.สฤษฎ์ชัย เอนกเวียง ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล
จากนั้นพล.ต.อ.วัชรพลเซ็นคำสั่งให้ตำรวจไปรักษาการตำแหน่งแทนทันที โดย พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้ช่วย ผบ.ตร. มารักษาการ ผบช.น. พล.ต.ท.วันชัย ถนัดกิจ ผู้ช่วย ผบ.ตร.มารักษาการ ผบช.ภ.5 พล.ต.ท.เดชณรงค์สุทธิชาญบัญชา ผบช.สำนักงบประมาณและการเงิน มารักษาการ ผบช.ภ.4 พล.ต.ท.สมบูรณ์ ฮวบบางยาง จเรตำรวจ(สบ.8) มารักษาการ ผบช.ภ.7 พล.ต.ท.ศักดา ชื่นภักดี จเรตำรวจ(สบ.8) มารักษาการ ผบช.สตม. พล.ต.ต.ศรีวราห์รังสิพราหมณกุล รองผบช.ก. มารักษาการ ผบช.ภ.1 พล.ต.ต.ศานิตย์ มหถาวร รองผบช.ก.ตร. มารักษาการ ผบช.ภ.2 และพล.ต.ต.เรวัช กลิ่นเกสร รองจเรตำรวจ(สบ.7) มารักษาการ ผบช.สันติบาล
“ต้องมีการสับเปลี่ยนกำลังกันบ้างเพื่อให้เหมาะสมกับภารกิจโดยทุกคนไม่ได้บกพร่อง อะไร การย้ายเป็นการมาช่วยราชการชั่วคราว ปรับคนลงไปทดแทน ตำรวจทุกคนต้องดูแลพี่น้องประชาชน แต่ในการปฏิบัติหน้าที่บางช่วงอาจต้องเน้นบางภารกิจเพื่อความสามัคคี จึงอาจต้องมีการสับเปลี่ยนคน”พล.ต.อ.วัชรพลชี้แจง
แน่นอน นั่นคืออธิบายอย่างเป็นทางการ แต่ในความเป็นจริงก็คือ ทั้ง 8 คนคือตำรวจมะเขือเทศ เป็นข้าราชการตำรวจที่มีสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับรัฐบาล กับพรรคเพื่อไทยและระบอบทักษิณอย่างไม่อาจปฏิเสธได้
เริ่มจาก บิ๊กแจ๊ด-พล.ต.ท.คำรณวิทย์ นายตำรวจแห่งระบอบทักษิณที่มีคำขวัญประจำใจเขียนติดไว้บนหน้าผากว่า “มีวันนี้เพราะพี่ให้” ส่วนคนที่มาแทนก็คือ “บิ๊กแป๊ะ-พล.ต.ท.จักรทิพย์ เจ้าของฉายาสุภาพบุรุษแก๊สน้ำตา อดีตผู้ บัญชาการตำรวจ นครบาลที่ชัดเจนเช่นกันว่า ไม่ใช่มะเขือเทศ
คนถัดมา พล.ต.ท.นเรศ ที่ถูกเด้งพ้นเก้าอี้เพราะมีความสนิทสนมกับพรรคเพื่อไทยและอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขณะที่ พล.ต.ต.ศรีวราห์ที่มารักษาการแทน ว่ากันตามประวัติก็ต้องบอกว่า เคยถูกผลักดันให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 1 ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่ในครั้งนั้นต้องอกหักเพราะปัญหาเรื่องอายุราชการ
พล.ต.ท.กวี ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เป็นสายตรงคนเสื้อแดงและมีความใกล้ชิดกับนายใหญ่ของคนเสื้อแดง ส่วน พล.ต.ต.ศานิตย์ ที่ย้ายมาคุมภาคตะวันออกแทน พล.ต.ท.กวี ก่อนหน้านั้นเคยเป็น ผบก.น.3 ก่อนที่จะถูกเด้งไปตบยุงเป็นรองผู้บัญชาการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชตำรวจ(ก.ตร.) หลังเปลี่ยนขั้วอำนาจ
ด้าน พล.ต.ท.สุเทพ หากยังจำกันได้ ก่อนหน้าการรัฐประหาร พล.ต.ท.สุเทพได้ถูก พล.ต.อ.อดุลย์ย้ายสลับตำแหน่งจาก ผบช.ภ.5 ให้เข้ามาเป็น ผบช.น.แทนบิ๊กแจ๊ดเพื่อแก้ปัญหาความไม่ลงตัวของระดับบิ๊กๆ ตำรวจบางประการ แต่ไม่ผ่านการอนุมัติจาก กกต. เหตุที่ พล.ต.ท.สุเทพที่เกือบจะได้เป็น ผบช.น.ก็เพราะเขามีความใกล้ชิดกับ “ชายตู้เย็น” และ “เจ๊ ด.” เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังถือเป็นสายตรงของ พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ถูก คสช.เรียกเข้าห้องเย็น ส่วนคนที่มาแทนคือ พล.ต.ท.วันชัยซึ่งเป็นขั้วตรงข้าม
สำหรับ พล.ต.อ.อนุชัย ก็เป็นตำรวจสาย “ชายตู้เย็น” และ “เจ๊ ด.” เช่นเดียวกับ พล.ต.ท.เดชณรงค์ที่ก็ต้องยอมรับว่าอยู่ในขั้วการเมืองตรงข้ามเหมือน พล.ต.ท.วันชัย
ที่เหลืออีก 3 คนคือ พล.ต.ท.หาญผลนั้น เป็นตำรวจสาย “บ้านจันทร์ส่องหล้า” เพราะมีความใกล้ชิดกับคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร รวมทั้งอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ชื่อ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ เช่นเดียวกับ พล.ต.ท.ภาณุที่ถือว่าอยู่ในสายคุณหญิงถึงขนาดเคยถูกเรียกว่าตำรวจถือกระเป๋าคุณหญิงกันเลยทีเดียว และคนที่มาแทนคือ พล.ต.ท.ศักดาซึ่งเป็นสายตรงของน้องชายบิ๊กป้อม-พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ส่วนคนสุดท้ายคือ พล.ต.ท.สฤษฎ์ชัย ซึ่งเป็นตำรวจสาย “เป็ดเหลิม” ที่บัดนี้หน้าซีดหน้าเซียวเพราะไร้อำนาจวาสนา ด้านคนที่มารักษาการคือ พล.ต.ต.เรวัช จัดเป็นนายตำรวจอีกคนหนึ่งที่ลุงกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณให้ความไว้วางใจ
ถัดจากนั้น ไม่นานนักคือวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 พล.ต.อ.วัชรพลก็ลงนามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ262/2557เชือด “ตำรวจมะเขือเทศ” อีก 16 คน ให้ไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และมีคำสั่ง263/2557ให้ข้าราชการตำรวจรักษาราชการแทน 10 ราย ดังมีรายชื่อต่อไปนี้ พล.ต.ท.ธีระศักดิ์ กลิ่นพงษา ผบช.ภ.3ช่วยราชการศปก.ตร.ให้พล.ต.ท.พิสันฑ์ จุลดิลก ผบช.ประจำสง.ผบ.ตร.รักษาราชการแทน(รรท)ผบช.ภ.3 พล.ต.ต.กริช กิติลือ ผบก.ภ.จว.เชียงใหม่ ช่วยราชการศปก.ตร.ให้ พล.ต.ต.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผบช.ภ.5 รรท.ผบก.ภ.จว.เชียงใหม่ พล.ต.ต.คัชชา ธาตุศาสตร์ ผบก.ภ.จว.ชลบุรี ช่วยราชการศปก.ตร. ให้พล.ต.ต.ธเนตร์ พิณเมืองงาม รองผบช.ภ.2 รรท.ผบก.ชลบุรี พล.ต.ต.ชอบ คิสาลัง ผบก.ภ.จว.ขอนแก่น ช่วยราชการศปก.ตร. ให้ พล.ต.ต.จตุพล ปานรักษา รองผบช.ภ.4 รรท.ผบก.ภ.จว.ขอนแก่น
พล.ต.ต.ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำงรงค์ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “โอ๋ สืบ 6” ผบก.ภ.จว.นนทบุรี ช่วยราชการศปก.ตร. ให้ พล.ต.ต.วิรุฬ เอี่ยมไพจิตร์ รองผบช.ภ.1 รรท.ผบก.ภ.จว.นนทบุรี พล.ต.ต.ธัชชัย หงษ์ทอง ผบก.ภ.จว.สมุทรปราการช่วยราชการศปก.ตร. และให้ พล.ต.ต.ทวิชชาติ พละศักดิ์ รองผบช.ภ.1 รรท.ภ.จว.สมุทรปราการ พล.ต.ต.บุญลือ กอบบางยาง ผบก.ภ.จว.อุดรธานี ช่วยราชการศปก.ตร. ให้ พล.ต.ต. วีระพงษ์ ชื่นภักดี รองผบช.ภ.4 รรท.ผบก.ภ.จว.อุดรธานี พล.ต.ต.ประยนต์ ลาเสือ ผบก.สืบสวนสอบสวน บช.น.ช่วยราชการศปก.ตร. ให้ พล.ต.ต.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รองผบช.สนง.ยุทธศาสตร์ตำรวจ รรท.ผบก.สส.บช.น. พล.ต.ต.วัลลภ ประทุมเมือง ผบก.น.6 ช่วยราชการศปก.ตร. ให้ พล.ต.ต.ชาญเทพ เสสะเวช รองผบช.น. รรท.ผบก.น.6 พล.ต.ต.วิชาญญ์วัชร์ บริรักษ์กุล ผบก.น.1.ช่วยราชการศปก.ตร. ให้พล.ต.ต.สุธีร์ เนรกัณฐี รองผบช.น. รรท.ผบก.น.1
พ.ต.อ.วิวัฒน์ คำชำนาญ รองผบก.น.5 พ.ต.อ.กฤตัชญ์ บำรุงรัตนยศ ผกก.สภ.เมืองขอนแก่น พ.ต.อ.กิตติสินธุ์ คงทวีพันธ์ ผกก.สภ.เมืองเชียงใหม่ พ.ต.อ.โกวิท เจริญวัฒนศักดิ์ ผกก.สภ.เมืองอุดรธานี พ.ต.อ.ศุภชัย ผุยแก้วคำ ผกก.สภ.เมืองพัทยา จ.ชลบุรี และ พ.ต.อ.สมพล วงศ์ศรีสุนทร ผกก.สภ.เมืองนนทบุรี ช่วยราชการศปก.ตร.
นอกจากนี้มีรายงานว่าเมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา พล.ต.ท.วันชัย ถนัดกิจ รรท.ผบช.ภ.5 มีคำสั่งย้าย พล.ต.ต.กริช กิติลือ ผบก.ภ.จว.เชียงใหม่ ช่วยราชการบช.ภ.5 ตามคำแนะนำของแม่ทัพภาค 3 ก่อนมีคำสั่งถอนคำสั่งย้ายในเวลาต่อมา ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่ได้แจ้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติทราบและร่วมพิจารณาก่อนมีคำสั่ง กระทั่งพล.ต.อ.วัชรพล ลงนามคำสั่งย้ายเองในครั้งนี้พร้อมแต่งตั้งให้ พล.ต.ต.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบช.ภ.5 มารักษาราชการแทน
ทั้งนี้ สำหรับนายตำรวจที่ถูกโยกย้ายครั้งนี้ล้วนมีสายสัมพันธ์อันดีกับคนสำคัญรัฐบาลก่อนหน้านี้ ซึ่งได้รับความไว้วางใจให้ดูแลพื้นที่ซึ่งเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง
ขณะเดียวกัน พล.ต.อ.วัชรพล ได้มอบหมายหน้าที่การงานให้กับนายตำรวจระดับรองผู้บัญชาการและผู้ช่วยผู้บัญชาการ โดยมีรายละเอียดการแบ่งงาน โดยตนเอง รับผิดชอบดูแลศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไปดูงานบริหาร แล้วให้ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาดูงานความมั่นคง แทน ส่วน พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ดูงานด้านป้องกันปราบปราม ตามเดิม ขณะที่ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ต้องไปปฏิบัติหน้าที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ด้วย ให้รับผิดชอบเฉพาะงานด้านการค้ามนุษย์
เรียกว่า งานนี้ทั้งรื้อและทั้งล้างกันอย่างมโหฬารชนิดพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน เลยทีเดียว
นอกจากภารกิจโยกย้ายดังกล่าวแล้ว การเข้ามาของ พล.ต.อ.วัชรพลในยุคที่ความศรัทธาต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความตกต่ำถึงขีดสุดยังมีความ น่าสนใจไม่น้อย เนื่องเพราะหลังเข้ามารับหน้าที่รักษาราชการสิ่งที่พล.ต.อ.วัชรพลประกาศจะเร่งดำเนินการเอาไว้นั่นคือ “การปฏิรูปตำรวจ”
พล.ต.อ.วัชรพลแจกแจงรายละเอียดว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีคน 2 แสนกว่า มี 30 กองบัญชาการ (บช.) ทั้งที่ปฏิบัติการสนับสนุน และที่ดูแลพื้นที่ จึงคิดว่าทำอย่างไร ถึงจะกระจายอำนาจตามข้อเรียกร้องของประชาชน ให้หน่วยงานดูแลพื้นที่มีอำนาจบริหารจัดการได้เบ็ดเสร็จ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงมีความคิดว่าหากเป็นนิติบุคคลได้จะสามารถตั้งงบประมาณได้มีงบประมาณ คน เครื่องมือ และการบริหารจัดการเองได้ สามารถกำหนดตัวชี้วัดตามปัจจัยคุกคามในพื้นที่ได้เอง ขณะที่ปัจจุบันทุกอย่างรวมที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ทั้งนี้ เมื่อ บช.ต่างๆ เป็นนิติบุคคล ส่วนบังคับบัญชาของ ตร.ที่เป็นส่วนอำนวยการใหญ่ มี ผบ.ตร.อยู่ จะเป็นเพียงหน่วยสนับสนุนประสานงาน คิดเรื่องยุทธศาสตร์ วางแผนการสนับสนุนงบประมาณในภาพรวม ผบ.ตร.จะถูกลดอำนาจลง เล็กลง ผบ.ตร.จะไม่ใช้ผบ.กองกำลัง จะเป็นการกระจายอำนาจให้หน่วยปฏิบัติมีอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่ ผบ.ตร.ก็ยังสามารถประสานงานสั่งการในส่วนเหล่านี้ได้
อย่างไรก็ตาม นอกจากการโยกย้ายข้าราชการในสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว ในวันเดียวกันคือวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ก็ได้มีคำสั่งของ คสช.อีก 3 ฉบับออกมาในทำนองเดียวกัน โดยงานนี้หวยออกที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงกลาโหมและศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.)
ฉบับที่ 8/2557
1.ให้นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี และ 2. ให้ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาปฏิบัติหน้าที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษอีกหน้าที่หนึ่ง
ฉบับที่ 9/2557
1.ให้ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม มาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี และ 2. ให้ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รองปลัดกระทรวงกลาโหม รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงกลาโหม
ฉบับที่ 11/2557
1.ให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี และ 2.ให้ นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย มาปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกหน้าที่หนึ่ง
ถัดมาคือวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 คสช.ก็มีคำสั่งกระชับอำนาจออกมาอีก 2 ฉบับ ได้แก่
ฉบับที่ 27/2557
1.ให้ นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ปลัดสำนักนายกฯ แต่ยังปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี และ 2.ให้ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รองปลัดกระทรวงมหาดไทย มาปฏิบัติหน้าที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีอีกหน้าที่หนึ่ง
ฉบับที่ 28/2557
1.ให้ นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา มาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี และ 2.ให้ นายดิสทัต โหตระกิตย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา รักษาราชการแทน
แน่นอน ไม่ต้องสงสัยว่าทั้ง 5 คนคือนายธาริต พล.อ.นิพัทธ์ พ.ต.อ.ทวี นายทวีและนายชูเกียรติวมีความใกล้ชิดกับระบอบทักษิณหรือไม่ เพราะพฤติกรรมที่ผ่านมาล้วนอธิบายคำตอบเอาไว้อย่างหมดเปลือกแล้ว
นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยก็เป็นอีกกระทรวงหนึ่งที่มีการย้ายอย่างมโหฬารไม่แพ้กัน โดยเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่279/2557 ย้ายผู้ว่าราชการจังหวัด 9 คนประกอบด้วย 1.นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ให้รักษาการในตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย 2.นายกำธร ถาวรสถิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท ให้รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น 3.นายสุทธิพงศ์ จุลเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ให้รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท
4.นายวิเชียร พุฒิวิญญู ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ รักษาการผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี 5.นายสุริยะ ประสาทบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ให้รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ 6.นายสมชัยฐ์ หทยะตันย์ติ ผู้ตรวจราชการกระทรวง ให้รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดตาก 7.นายวินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ให้รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง 8.นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ให้รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา 9.นายเสรี ศรีหะไตร ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ให้รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์
28 พฤษภาคม 2557 นายวิบูลย์ก็ลงนามในคำสั่งที่ 282/2557 เรื่องให้ข้าราชการรักษาการในตำแหน่ง โดยมีการโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัด จำนวน 10 ตำแหน่งประกอบด้วย 1. นายสุวิทย์ สุบงกฏ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย 2. นายเกรียงเดช เข็มทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย 3. นายสมศักดิ์ ขำทวีพรหม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย 4. นายวิชิต ชาตไพสิฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย 5. นายวันชัย สุทธิวรชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย 6. นายภุชงค์ โพธิกุฏสัย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ 7. นายสามารถ ลอยฟ้า เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี8.นายธานี สามารถกิจ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง 9. นายสมศักดิ์ จังตระกุล เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด 10. นายเสริม ไชยณรงค์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี
นี่คือการโยกย้ายข้าราชการเพื่อ “กระชับอำนาจ” ที่น่าสนใจ ยิ่งสำหรับสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วยแล้วยิ่งน่าสนใจ เพราะเชื่อว่า นับจากนี้ไปจะมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีเกิดขึ้นกับองค์กรแห่งนี้ โดยเฉพาะ “การปฏิรูปตำรวจ” ซึ่งเป็นความฝันอันดับต้นๆ ที่ประชาชนชาวไทยอยากเห็น