ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ต้องขออภัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะผู้อำนวยการกองรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) และล่าสุดคือหัวหน้าคณะรัฐประหาร นี่ไม่ใช่การปลุกระดมหรือยุยงส่งเสริมให้เกิดความแตกแยก มวลมหาประชาชนเพียงแค่ต้องการคำตอบจาก "กำนันสุเทพ" นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ว่าคำสัญญาจะถอนรากถอนโคนโค่นระบอบทักษิณที่เคยป่าวประกาศและจะได้รับชัยชนะในวันก่อนนั้น ถึงวันนี้ขอให้ลืมเสียเถิดอย่าคิดถึงแล้ว ใช่ใหม?
พลังความรักของกำนันสุเทพ ที่มีต่อพล.อ.ประยุทธ์ ที่ว่ารักเป็นร้อยยี่สิบเท่าหลังจากพล.อ.ประยุทธ์ ออกมาประกาศกฎอัยการศึก เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ตามด้วยการยึดอำนาจรัฐประหาร ในวันที่ 22 พ.ค.นั้น จะทำให้กำนันสุเทพ หลงลืมคำสัญญากับมวลชนเพราะถูกบังคับให้ขึ้นขบวนรถไฟเที่ยวล่าสุดเพื่อหาทางออกให้กับประเทศดังที่พล.อ.ประยุทธ์ เรียกร้องให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากันแล้ว ใช่หรือไม่?
ถึงวันนี้ ในใจกำนันสุเทพนั้นอยากบอกความจริงกับมวลชนเหลือเกินว่า โลกนี้ไม่มีอะไรที่จะมีใครได้หมด หรือเสียหมด อย่าหาว่าผมเกี๊ยะเซี๊ยะเลยพ่อแม่พี่น้อง ถ้อยวาจาที่ว่าจะถอนรากถอนโคนโค่นล้มให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่ไม่ได้ คงเป็นได้เพียงเรื่องที่อยากให้เป็น ไม่ว่ามวลมหาประชาชนหรือว่าผมก็อยากให้เป็น แต่ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปได้จริง ซึ่งพี่น้องต้องรับให้ได้ ใช่หรือไม่?
สถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลง ในที่สุดก็ได้คำตอบแล้วว่า ชัยชนะที่กำนันสุเทพ นัดหมายมวลมหาประชาชนว่าจะประกาศแล้วประกาศอีกแต่ยังไม่ได้ประกาศสักทีนั้น แท้จริงแล้วเป็นชัยชนะของใครกันแน่?
ถึงแม้ว่าการไปประชุมกับ กอ.รส.ตามประกาศ กอ.รส. ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เรียกทุกฝ่ายมาประชุมหารือเพื่อหาทางออกให้กับประเทศนั้น นายสุเทพ จะพกเอาข้อเสนอของ กปปส. ที่ยืนยันว่าจะต้องให้วุฒิสภาดำเนินการให้มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มเข้ามาบริหารประเทศโดยเร็วเพื่อดำเนินการปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง เข้าสู่ที่ประชุมในวันแรก (21 พ.ค.) และวันที่สอง (22 พ.ค.) ของการหารือ ก็ตาม
แต่ก็ใช่ว่าถึงที่สุดแล้ว นายสุเทพ จะสามารถยืนกรานข้อเสนอนี้ได้ตลอดรอดฝั่ง เพราะฝ่ายรัฐบาล พรรคเพื่อไทย และกลุ่มนปช. เองก็ยืนยันในจุดยืนไม่เอานายกรัฐมนตรีคนกลางที่มีอำนาจเต็ม และเร่งรัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว แถมยังมาเหนือเฆมสร้างภาพแสดงความใจกว้างด้วยข้อเสนอที่ซื้อใจประชาชนชาวไทยและประชาคมชาวโลกด้วยว่า หากยังมีความเห็นต่างก็ขอให้ทำประชามติ ถามประชาชนคนไทยทั่วทั้งประเทศว่าจะปฏิรูปก่อนเลือกตั้งหรือเลือกตั้งก่อนปฏิรูป
ตามรูปการที่ปรากฏ เมื่อทั้งสองขั้วยังยืนยันในจุดยืนเดิมเช่นนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผอ.กอ.รส.ตามประกาศกฎอัยการศึก จะหาข้อยุติในเรื่องนี้ได้อย่างไร จะมีคำสั่งให้ถอยกันคนละก้าวหรือไม่ และหากต่างฝ่ายต่างไม่ยอมถอยจะมีการใช้อำนาจทหารควบคุมสถานการณ์บ้านเมืองเพื่อให้เป็นไปตามที่ทหารต้องการหรือไม่ ล้วนแล้วแต่เป็นเงื่อนไขที่จะทำให้กำนันสุเทพและมวลมหาประชาชน เดินเข้าสู่ประตูแห่งความพ่ายแพ้หากยังคงเป้าหมายโค่นล้มระบอบทักษิณเป็นจุดหมายสูงสุด เว้นเสียแต่ว่า กำนันสุเทพ จะเปลี่ยนเป้าหมายแห่งชนะไปจากเดิม
แล้วคำถามข้างต้นก็มีคำตอบในเวลาต่อมาในอีกไม่กี่ชั่วโมง เพราะการนัดหารือรอบสอง เมื่อวันที่ 22 พ.ค. เวลา 16.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ ก็อ่านประกาศยึดอำนาจการปกครอง หรือพูดง่ายๆ คือ ทำรัฐประหาร ซ้ำรอยรุ่นพี่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 ที่โค่นล้มรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ในเวลานั้น
การนัดหมายของกำนันสุเทพ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ขอนัดหมายมวลมหาประชาชนตามกำหนดการเดิม โดยจะชุมนุมใหญ่ในวันที่ 23 - 25 พ.ค. ที่ถนนราชดำเนินตลอดทั้งสาย ตั้งแต่เวลา 17.00 - 21.00 น. จากเดิมที่นัดที่ถนนสุขุมวิท แต่เนื่องจากมีการประกาศกฎอัยการศึกจึงต้องเปลี่ยนสถานที่ชุมนุมมาที่ถนนราชดำเนิน ซึ่งวันดังกล่าว จะมีการจัดเวทีใหญ่ 3 เวที คือ เวทีหน้าองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น), เวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, เวทีสนามหลวง และวันที่ 26 พ.ค. เวลา 19.00 น. จะมีการประกาศชัยชนะคืนอำนาจอธิปไตยให้เป็นของปวงชน สุดท้ายก็เป็นเพียงฝันค้าง
อย่างไรก็ตาม อธิบายกันตามตัวบทกฎหมายแล้ว รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 มาตรา 3 กำหนดว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แต่พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ นั่นหมายความว่า ประชาชนจะได้ใช้อำนาจนั้นก็แต่ในเวลาเดียวคือเลือกตั้ง และว่ากันโดยทั่วไปการยุบสภาก็คือการคืนอำนาจให้ประชาชนแล้ว เมื่อกำนันสุเทพ จะประกาศชัยชนะคืนอำนาจอธิปไตยให้ปวงชนซ้ำอีก ถามว่าโดยเนื้อหาสาระแล้ว ต่างกันตรงไหน? ชัยชนะที่ว่านั้นไม่ใช่การโค่นระบอบทักษิณดอกหรือ? หรือว่ามวลมหาประชาชนเข้าใจผิด แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมีรัฐประหารแล้ว รัฐธรรมนูญฯ ก็หมดความหมาย
ห้วงเวลานั้น กำนันสุเทพ กำลังจะบอกว่า ให้มวลมหาประชาชนกลับไปเลือกตั้ง (และโปรดอย่าลืมเลือกพรรคประชาธิปัตย์) เพราะถ้าไม่เลือกเราเขามาแน่ ใช่หรือไม่ ไม่ว่าจะปฏิรูปก่อนหรือหลังเลือกตั้งอย่างไรเสียก็หนีเลือกตั้งไปไม่พ้น ส่วนที่ว่าหากยอมให้เลือกตั้งก่อนจะมีการปฏิรูปก็จะตกอยู่ในวงจรอุบาทว์ดังเดิม นั่นก็ใช่ แต่จะทำอย่างไรได้เพราะดันจนสุดแล้วได้เพียงแค่นี้ หากบทสุดท้ายของกำนันสุเทพ จบลงอย่างที่ว่า ก็ไม่ต่างไปจากการเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ คล้ายกับว่าการชุมนุมของมวลมหาประชาชน นับจากยุบสภาเมื่อ 6 ธ.ค. 2556 มาจนถึงบัดนี้เป็นเวลากว่า 5 เดือน เสียเวลาเปล่า? เสียของเปล่า?
ก่อนที่จะขอให้มวลชนทำใจยอมรับอำนาจรัฐประหารและขอให้ลืมเสียเถิดอย่าคิดถึง กำนันสุเทพ ยังจำได้หรือไม่ว่าเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2557 กำนันได้นำมวลชนสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ โดยเครื่องบวงสรวงประกอบด้วย ผลไม้ 9 ชนิดและของหวาน9 อย่าง โดยมีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย หนึ่งในแกนนำ กปปส. เป็นผู้อ่านคำถวายสักการะ และในวันนั้น กำนันได้เป็นตัวแทนประกาศเจตนารมณ์กลุ่มกปปส.ต่อหน้าพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าหลวง ความว่า
"พวกเรามวลมหาประชาชนขอประกาศเจตนารมณ์อย่างแน่วแน่ว่าพวกเราทั้งหลาย จะทุ่มเทแรงกาย จิตใจ และทรัพยากรทุกอย่างที่มีเพื่อขจัดเภทภัยนั่นก็คือระบอบทักษิณให้หมดสิ้นไปจากแผ่นดินของพระพุทธเจ้าหลวง เราจะร่วมแรงใจเพื่อปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ให้เป็นประเทศไทยที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อย่างแท้จริงเป็นประชาธิปไตยของประชาชนเพื่อประชาชน และเป็นประโยชน์สุขของประชาชนอย่างแท้จริง
"ไม่ว่าจะทุกข์ยากเพียงใดเรามวลมหาประชาชนขอสัญญาว่าจะทุ่มเททุกอย่าง เอาประเทศออกจากระบอบทักษิณ เราจะปฏิรูปด้วยมือของประชาชนคนไทยไม่ใช่ด้วยนักการเมืองหรือพรรคการเมืองอีกต่อไปเราจะทำทุกอย่างโดยยึดหลักสันติสงบอหิงสา ซึ่งถือเป็นหลักการต่อสู้ของพลเมืองดีตามหลักสากล และเราจะทำให้สำเร็จ ขอพระบารมีพระพุทธเจ้าหลวงจงปกปักรักษามวลมหาประชาชนชาวไทยและดลบันดาลขอให้การต่อสู้ของประชาชนครั้งนี้ประสบชัยชนะ ชัยชนะจะเป็นของประชาชน" เลขาธิการกปปส. ประกาศเจตนารมณ์
การเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร ทุกสรรพสิ่งล้วนแปรเปลี่ยนไปตามเงื่อนไข กำนันสุเทพ ไม่ต้องตกเป็นกบฏ เพราะมี พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาขันอาสาพาประเทศออกจากวิกฤต นับจากนี้ก็ต้องรอดูว่าหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยจะจดจารจารึกชื่อ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าอย่างไร