ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา วุฒิสภา ภายใต้การนำของ สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภา ได้พยายามหาทางออกให้กับประเทศ กันอย่างเคร่งเครียด
ด้วยการหารือเป็นการภายในกับสมาชิกวุฒิสภาด้วยกันเอง รับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งอดีตผู้นำฝ่ายค้าน ตัวแทนองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ตัวแทนองค์กรภาคธุรกิจ และนักวิชาการ
เสียงส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า จะปล่อยให้สถานการณ์บ้านเมืองเดินไปอย่างที่กำลังเป็นอยู่ไม่ได้แล้ว !!
เพราะการไม่มีนายกรัฐมนตรี มีเพียงรัฐมนตรีรักษาการ แถมยังไม่ครบทุกกระทรวง ทำงานภายใต้กรอบที่จำกัด จะตัดสินใจทำอะไรให้บรรลุเป้าหมาย ก็ติดขัดไปหมด
ประเทศไทยกำลังเดินเข้าใกล้สภาวะ"รัฐล้มเหลว" เข้าไปทุกขณะ ทั้งด้านเศรษฐกิจที่เสียหายอย่างหนัก สังคมแตกแยกจากการปลุกระดมทางการเมืองให้แบ่งฝักแบ่งฝ่าย เป็นอนาธิปไตย รอวันแตกหักเป็นสงครามกลางเมือง ระหว่างคนไทยด้วยกันเอง
การเลือกตั้ง ที่เคยเป็นทางออกของวิกฤติ เป็นเครื่องมือที่นำมาใช้ประคับประคองให้การเมืองในระบอบประชาธิปไตยกลับเข้ารูปเข้ารอย และเดินต่อไปได้มาทุกครั้ง แต่กับวิกฤติครั้งนี้ ดูเหมือนจะตีบตัน ไม่ทันการณ์
เข้าทำนอง กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้
เพราะติดขัดในข้อกฎหมาย ที่มีการตีความกันไปคนละทาง ระหว่าง กกต.กับรัฐบาล คือ กกต.ไม่มั่นใจในสถานภาพของ นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ว่าเป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.ฎ.ยุบสภา แทนนายกรัฐมนตรีหรือไม่ มีอำนาจนำ ร่าง พ.ร.ฎ. แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ขึ้นทูลเกล้าฯ และ ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ในการแก้ไข พ.ร.ฎ.ฉบับเก่า หรือไม่ แม้รองนายกรัฐมนตรี จะยกเอาความเห็นเลขากฤษฎีกา มายืนยันว่า มีอำนาจแต่ กกต.ก็เห็นว่าไม่น่าเชื่อถือมากพอ
จึงอยากให้ที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นผู้ตัดสิน หากยังไม่มีความชัดเจนอีก ก็จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาชี้ขาด ก่อนที่จะกำหนดเนื้อหา ในร่างแก้ไข พ.ร.ฎ. กำหนดวันเลือกตั้งใหม่
นอกจากนี้ กกต.ยังต้องการให้บรรจุเรื่อง การกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ใน ร่าง พ.ร.ฎ. กรณีมีอุปสรรค ที่จะนำไปสู่ความเสียหาย อันตรายร้ายแรงให้ กกต.เสนอความเห็นไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อเลื่อนกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้ แต่กฤษฎีกาไม่เห็นด้วย ซึ่งเรื่องนี้มีการหารือกันไปครั้งหนึ่งแล้ว แต่ไม่ได้ข้อยุติ
จึงมีการนัดหารือกันใหม่ ในวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา ที่สำนักงานกกต. แต่ฝ่ายรัฐบาลเกรงว่าจะมีปัญหาด้านความปลอดภัย จึงขอเลื่อนไปเป็นวันที่ 15 พ.ค. ที่โรงเรียนนายเรืออากาศ ดอนเมือง แต่การประชุมก็ล่มไม่เป็นท่า
แนวทาง และโอกาสที่จะได้นายกรัฐมนตรี ที่เป็นส.ส. ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ จึงริบหรี่เต็มทน
ความหวังของคนในชาติ จึงพุ่งเป้าไปที่ วุฒิสภา ซึ่งเป็นองค์กรเดียวในฝ่ายนิติบัญญัติ ที่เหลืออยู่ ในการที่จะเป็นกุญแจ นำไปสู่การได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ที่มีอำนาจเต็ม เพื่อพาประเทศชาติฝ่าวิกฤติครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม นอกจากอุปสรรคเกี่ยวกับข้อกฎหมาย ความเห็นที่หลากหลายจากทุกองค์กร ที่จะต้องสรุปมาเป็นแนวทางในการดำเนินการแล้ว สภาพภายในของวุฒิสภาที่ยังมีความเห็นแตกต่าง เนื่องจากสมาชิกจำนวนไม่น้อย มีความผูกพันกับพรรคการเมือง ยังคิดถึงผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องก้าวข้ามไปให้ได้
ดังนั้นความเป็นเอกภาพของวุฒิสภาที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ ประเทศชาติต้องมาก่อน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
ขณะนี้ประชาชนคนไทย ฝากความหวังไว้กับ"ดรีมทีมวุฒิสภา" ที่จะนำพาประเทศชาติออกจากวิกฤติครั้งสำคัญนี้ให้ได้