xs
xsm
sm
md
lg

กระแสทางออกมาแล้ว ตั้งรัฐบาลใหม่-กองทัพหนุน จบ!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

ารแก้ปัญหาอะไรก็แล้วแต่ หากต้องการให้ประสบความสำเร็จต้องได้รับความร่วมแรงร่วมใจ และมีความเห็นร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นเรื่องใหญ่เป็นเรื่องส่วนรวมก็ต้องร่วมมือกันหาทางออก

ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับความเคลื่อนไหวของ รองประธานวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่ประธานวุฒิสภา สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ในเวลานี้ที่กำลังระดมความคิดเห็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ สถาบันการศึกษา สื่อ และผู้นำกองทัพ

ผลการหารือเบื้องต้นมีการแถลงออกมาแล้วว่า เสียงส่วนใหญ่ต้องการให้มี “รัฐบาลเฉพาะกาล” มีระยะเวลาแค่ 6-12 เดือน เพื่อทำภารกิจสำคัญคือ “ปฏิรูปประเทศ” แล้วจัดการเลือกตั้งใหม่เพื่อมีรัฐบาลที่ถาวรมาบริหารบ้านเมืองต่อไป

ความหมายก็คือ พวกเขาไม่เอารัฐบาลไม่ยอมรับรัฐมนตรีที่เหลืออยู่ในเวลานี้ ทางหนึ่งเป็นเพราะไม่มีประโยชน์ใช้แก้ปัญหาอะไรเพื่อส่วนรวมไม่ได้เลย และทางที่ 2 สังคมส่วนใหญ่มองว่าคนพวกนี้ไม่มีสถานะทางกฎหมายรองรับ หรือมีอำนาจที่จำกัด ไม่สมบูรณ์

พูดให้ชัดก็คือ การทำหน้าที่ของ นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ที่แม้ยืนยันว่าตัวเองมีอำนาจเต็มในฐานะนายกรัฐมนตรี สามารถทูลเกล้าฯ หรือรับพระบรมราชโองการได้ โดยเฉพาะอำนาจในการทูลเกล้าฯพระราชกฤษฎีกาจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่หลายคนกลับไม่เชื่อเช่นนั้น เพราะเห็นว่านิวัฒน์ธำรงเป็นแค่รองนายกฯ รักษาการ และคณะรัฐมนตรีที่เหลืออยู่ก็เป็นแค่รักษาการ ไม่มีอำนาจในการแต่งตั้งใครมาปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯได้ ทำได่เพียงแค่อำนวยความสะดวกกับหน่วยงานราชการ หรือข้าราชการระหว่างรอให้มีรัฐบาลใหม่มาปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น

ความสงสัยดังกล่าวนี้ยังรวมถึง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จนล่าสุดการเลือกตั้งที่เคยกำหนดเอาไว้ในวันที่ 20 กรกฎาคมต้องเลื่อนออกไป

ความหมายที่เห็นได้ชัดก็คือ สถานะของ นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล มีความคลุมเครือ และมีผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ซ้ำเติมภาวะเป็ดง่อยของรัฐบาล นับตั้งแต่ช่วงที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังรักษาการนายกฯมาแล้ว เศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอย การว่างงานเริ่มสูงขึ้นแบบพรวดพราด ทุกอย่างกำลังเลวร้ายลง

แม้ว่านาทีนี้ยังมีข้อโต้เถียงกันว่าใครถูกใครผิด แต่ในความเป็นจริงที่เผชิญอยู่หากรัฐบาลแบบนี้ยังอยู่ต่อไปเรื่อยๆ แบบไร้ประโยชน์ ก็ยิ่งสร้างความหายนะมากขึ้น และเวลานี้กลุ่มที่เริ่มทนไม่ไหวก็คือภาคเอกชนด้านธุรกิจ ที่เห็นว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ เพราะจะหายนะกันหมด และนี่คือที่มาของการเข้าร่วมกันระดมความเห็นเพื่อหาทางออกให้กับบ้านเมืองกับว่าที่ประธานวุฒิสภา สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะเริ่มเห็นแนวทางในการตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล เพื่อจัดการปฏิรูปประเทศในช่วงเวลาสั้นๆ ดังกล่าวข้างต้น แต่ถึงอย่างไรจุดชี้ขาดยังอยู่ที่กองทัพอยู่ดี ดังนั้นน่าจับตาที่สุดก็คือผลการหารือระหว่างว่าที่ประธานวุฒิสภากับผู้นำกองทัพหรือผู้แทนในตอนเย็นวันที่ 15 พฤษภาคม

แม้ว่าการหารือดังกล่าวต้องเป็นไปในทางลับ อาจไม่มีการแถลงในรายละเอียดออกมาแต่รับรองว่าในเรื่องของหลักการ ในแง่มุมทางกฎหมายจะต้องมีการระบุออกมา และแม้ว่าในการประชุมร่วมกันคราวนี้ระดับผู้นำเหล่าทัพจะไม่ได้เดินทางมาเองก็ตาม แต่การที่ส่งตัวแทนเข้ามาก็ถือว่าเป็นการแสดงสัญลักษณ์ เพราะในความเป็นจริงเท่าที่ประเมินตามสภาพแวดล้อมก่อนหน้านี้เชื่อว่า บรรดาผู้นำเหล่าทัพจะเห็น "ตามน้ำ"นั่นคือรับฟังความเห็นของหลายฝ่ายที่เข้าร่วมหารือกับว่าที่ประธานวุฒิสภาก่อนหน้านี้ เรียกว่าแทบจะครบถ้วนแล้ว ราวกับว่านำข้อเสนอเหล่านั้นมาเสนอฝ่ายกองทัพให้รับทราบ ซึ่งอีกด้านหนึ่งมันก็เหมือนการ “เพลย์เซฟ” ไม่เปลืองตัว เพราะเห็นไปตามกระแสสังคมส่วนใหญ่ที่ต้องการ

หากย้อนกลับไปพิจารณาข้อสรุปร่วมกันแทบทุกองค์กรจากวันแรกจนถึงในช่วงก่อนเที่ยงที่มีการหารือร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีทั่วประเทศที่นิด้ามีข้อสรุปร่วมกันคือ สนับสนุนการมี “รัฐบาลใหม่” แทนรัฐบาลชุดปัจจุบันที่เปรียบเสมือน “ผีหัวขาด” บริหารไม่ได้ รังแต่สร้างวิกฤตมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อแนวทางหลักออกมาแบบนี้ ก็คงต้องเดินหน้าและลงลึกในรายละเอียด

อย่างไรก็ดี แนวทางดังกล่าวแม้ว่าจะได้ข้อสรุปในเรื่องการตั้งรัฐบาลใหม่ เพื่อทำภารกิจสำคัญเร่งด่วนแต่ในรายละเอียดต้องมาว่ากันอีกทีหนึ่ง และที่สำคัญ ทางผู้นำกองทัพต้องออกมาสนับสนุนแนวทางนี้อย่างชัดเจนด้วย ปัญหาถึงจะคลี่คลาย และยุติการเสียเลือดเนื้อ

แต่ปัญหาก็คือ “กองทัพ” โดยเฉพาะผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะวางเฉยหรือเปล่า!!
กำลังโหลดความคิดเห็น