ผ่าประเด็นร้อน
ถ้าจะบอกว่าเวลานี้ได้เกิดสุญญากาศทางการเมืองเกือบจะร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว ก็น่าจะใช่ เพราะหลังจากที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วยมติเอกฉันท์ให้เธอพร้อมทั้งคณะรัฐมนตรีอีกจำนวนหนึ่งพ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรี จากการโอนย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติโดยมิชอบ และต่อมายังถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดด้วยมติเอกฉันท์ในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและส่งเรื่องให้วุฒิสภาถอดถอน ทำให้เธอต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ซ้ำอีกในทันที ก็ส่งผลให้ตำแหน่งนายกฯว่างลงทันทีเช่นเดียวกัน เพราะเป็นช่วงรัฐบาลรักษาการ ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร จึงไม่อาจแต่งตั้งนายกฯคนใหม่ได้
แม้ว่าจะพยายามรักษาอำนาจเอาไว้ด้วยการรีบแต่งตั้ง นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล มาทำหน้าที่รักษาการแทนนายกรัฐมนตรี ก็ตาม แต่ความที่ตัวเองเป็นแค่ “รักษาการ” รองนายกฯ ย่อมไม่อาจทำหน้าที่แทนนายกฯในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ
สภาพเวลานี้จึงถือว่า “เถื่อน” นั่นคือเถื่อนทั้งตัว นิวัฒน์ธำรง และส่งผลให้คณะรัฐมนตรีที่เหลืออยู่พลอยเถื่อนตามไปด้วย
สิ่งที่กำลังสงสัยกันก็คือ นิวัฒน์ธำรง ยังมีอำนาจทูลเกล้าฯเสนอพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งอยู่หรือไม่ เพราะบรรดานักกฎหมายหลายคนเห็นตรงกันว่าเขาไม่มีอำนาจของนายกรัฐมนตรี เป็นเพียงแค่มีอำนาจรักษาการรองนายกรัฐมนตรีที่มีอย่างจำกัดนั่นคือ “อำนวยความสะดวก”ให้กับหน่วยงานต่างๆ ในระหว่างที่รอรัฐบาลใหม่ ดังนั้นจึงไม่มีอำนาจทูลเกล้าฯ
ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดย สมชัย ศรีสุทธิยากร ได้เคยสงสัยและได้ขอความชัดเจนเกี่ยวกับอำนาจดังกล่าว และขอเลื่อนกำหนดวันเลือกตั้งออกไปก่อน นั่นคือราวต้นเดือนสิงหาคม จากเดิมที่กำหนดเอาไว้ในวันที่ 20 กรกฎกาคม ซึ่งล่าสุดมีกำหนดนัดหารือกันในวันที่ 14 พฤษภาคม เพื่อหาความชัดเจนเสียก่อน
นั่นก็แสดงว่าไม่มีใครชัวร์ว่า นิวัฒน์ธำรง สามารถใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีได้ นี่ไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องจริยธรรมทางการเมืองของรัฐบาล (เถื่อน) พวกนี้ เพราะในเมื่อตัวนายกฯได้พ้นสภาพไปแล้ว หากพิจารณากันเพียงแค่สปิริตประชาธิปไตย คณะรัฐมนตรีก็ต้องลาออกไปพร้อมกันในคราวเดียวกัน โดยในบางประเทศอาจมีการ “ฆ่าตัวตาย” ตามมาด้วย
แต่สำหรับประเทศไทยที่ใช้ประชาธิปไตยแบบ ทักษิณ ชินวัตร ทุกอย่างเป็นตรงกันข้าม ไม่ต้องพูดถึงเรื่องสปิริต ไม่มีเรื่องจริยธรรมของนักการเมือง มีแต่กล่าวหาคนอื่น ข่มขู่คุกคามคนอื่น ไม่ยอมรับคำพิพากษาของศาล และองค์กรตามรัฐธรรมนูญหากตัวเองเสียประโยชน์ และแน่นอนว่าคนพวกนี้ก็ออกมาประสานเสียงว่าตัวเองยังมีอำนาจเต็ม
แม้แต่คนที่พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีไปแล้ว อย่าง สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง คนพวกนี้ก็ยังไม่ยอมไป อ้างว่าพ้นไปแค่บางตำแหน่ง หรือไม่ก็อ้างว่ายังไม่มีประกาศในราชกิจจานุเบกษาลงมาตัวเองก็ยังไม่พ้นหน้าที่
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจับประเด็นเฉพาะอำนาจในการทูลเกล้าฯนาทีนี้ ถือว่า นิวัฒน์ธำรง ไม่มีอำนาจในการทูลเกล้าฯ หรืออย่างน้อยก็ไม่มีใครมั่นใจ ไม่ยอมรับ โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กกต. หรือหน่วยงานไหนก็ตาม นอกจากตัวเองที่ยืนยันว่า “มี” ก็ต้องเดินหน้าต่อ แต่รับผิดชอบกับผลที่ตามมา ขณะเดียวกันอำนาจในการสั่งการในคณะรัฐมนตรีที่มีอย่างจำกัดทำอะไรได้บ้างก็ยังเป็นปัญหา และที่เริ่มเห็นร่องรอยก็คือเริ่มมีหนังสือจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถึงศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ (ศอ.รส.) ให้ชี้แจงเกี่ยวกับงบประมาณค่าใช้จ่ายทั้งหมด ว่าใช้อะไรไปบ้าง และใครต้องรับผิดชอบบ้าง เริ่มเห็นความยุ่งยากเกิดขึ้นแล้ว
หรือแม้แต่งบประมาณเกี่ยวกับการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาวงเงินกว่า 3,800 ล้านบาท ทาง สตง. ก็ทวงถามความรับผิดชอบ จาก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ กกต. มาแล้ว
นี่คือความยุ่งยากที่กำลังเกิดขึ้นจากความดันทุรัง และความไร้จริยธรรมของนักการเมือง ยังไม่นับรวมกรณีการไร้อำนาจของ นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ทำให้เวลานี้มีสภาพไม่ต่างจาก “สุญญากาศ” ไม่มีนายกรัฐมนตรี ไม่มีรัฐบาล และที่สำคัญบริหารไม่ได้ !!