xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เดินสู่มาตรา 7

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ม็อบกำนันสุเทพ
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -แม้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐมนตรีที่มีส่วนรับผิดชอบในการโยกย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี จากเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) อีก 9 คน จะพ้นสภาพความเป็นรัฐมนตรี แต่ก็ยังไม่เกิดสุญญากาศทางการเมือง เนื่องจากยังมีรัฐมนตรีอีกส่วนหนึ่งยังปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ และรัฐมนตรีส่วนที่เหลือมีมติให้ นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการรองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ มาปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี

แต่ปัญหา "ทางตัน" ก็ยังไม่หมดไป โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่ฝ่ายรัฐบาลพยายามจะไปให้ถึง ก็เกิดปัญหาในแง่มุมของกฎหมายว่า นิวัฒน์ธำรง ที่มาปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีนั้น สามารถที่จะทูลเกล้าฯ และรับสนองพระบรมราชโองการ ร่างแก้ไข พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ที่กำหนดกันว่าจะเลือกตั้งวันที่ 20 ก.ค.นี้ ได้หรือไม่

ฝ่ายที่อยากเลือกตั้งก็เห็นว่า ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ย่อมทำทุกอย่างที่นายกรัฐมนตรีทำได้ ขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่า ไม่สามารถทำได้ เพราะพ.ร.ฎ. ยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่นั้น กำหนดชัดว่า ให้ นายกรัฐมนตรี และประธานกกต. เป็นผู้รักษาการณ์ ตามพ.ร.ฎ.นั้น เมื่อ นิวัฒน์ธำรง เป็นแค่รัฐมนตรี ที่ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่นายกรัฐมนตรี จึงไม่สามารถ ทูลเกล้าฯ และรับสนองพระบรมราชโองการได้

ดูเหมือน กกต.ก็เข้าใจดีว่า ปมที่ว่านี้มีปัญหา จึงเตรียมหารือกับรัฐบาลในวันที่ 14 พ.ค.นี้ เพื่อหาข้อยุติ

ขณะเดียวกัน ก็ถือโอกาสนี้ เคลียร์ ปัญหาในส่วนของกกต.กับรัฐบาลที่ยังมีความเห็นไม่ตรงกันด้วย กล่าวคือ กกต.มีความเห็นว่าจะต้องเขียนกำหนดในพ.ร.ฎ.ให้ชัดว่า กกต.มีอำนาจในการเลื่อนวันเลือกตั้งได้ หากมีปัญหา อุปสรรค เพราะเกรงว่าจะซ้ำรอยเลือกตั้ง 2 ก.พ. ที่มีปัญหาจนทำให้การจัดการเลือกตั้งไม่สำเร็จ แต่ฝ่ายรัฐบาลไม่ยอม

หากการหารือในวันที่ 14 พ.ค. ไม่ได้ข้อสรุปประเด็นใดประเด็นหนึ่ง หรือสรุปไม่ได้ทั้งสองประเด็น การเลือกตั้งที่กำหนดกันไว้ว่า วันที่ 20ก.ค. ก็คงต้องยืดเยื้อออกไป จนกว่าจะหาทางออกได้

ถ้ารัฐบาลและกกต.ตกลงกันได้ มีการทูลเกล้าฯ พ.ร.ฎ. โดยให้ นิวัฒน์ธำรง เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็ต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ตีความอีกแน่นอน

แต่ยังไม่ทันถึงวันที่ 14 พ.ค. จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก็ออกมาโวยวายแล้วว่า หน้าที่จัดการเลือกตั้ง เป็นหน้าที่ของกกต. ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาล อย่ามาเบี่ยงเบนประเด็นว่าเป็นพันธกิจและหน้าที่ของรัฐบาล หรือโยนว่าเป็นความไม่พร้อมของรัฐบาล

แถมยังฟันธงล่วงหน้าว่า จะไม่มีการเลือกตั้งแน่นอน เพราะดูจากพฤติกรรมที่ผ่านมาหลายอย่างของกกต.แล้ว เห็นถึงความไม่จริงใจในการจัดการเลือกตั้ง หากมีความจริงใจ การเลือกตั้งก็คงจะสมบูรณ์ไปตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมาแล้ว

ดังนั้นจึงพอจะเห็นแนวโน้มแล้วว่า การเจรจารอบนี้เห็นทีจะหาข้อยุติได้ยาก เมื่อไม่ได้ข้อยุติเรื่องการเลือกตั้ง ผลตามมาคือ ไม่มีโอกาสที่จะได้นายกรัฐมนตรี ที่มาจากการเลือกตั้ง

สภาพการณ์อย่างที่ว่านี้ แม้จะไม่ใช่สุญญากาศ แต่ก็ไม่ต่างจากสุญญากาศ

ฉะนั้น ทางเลือกที่เหลือก็จะวนกลับไปเข้าทาง มาตรา 7 ที่ระบุว่า "ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

และเมื่อพูดถึงมาตรา 7 ก็จะยึดโยงกับมาตรา 3 ที่ระบุว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้น ทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้"

เหล่านี้คือปัญหาที่ต้องหาทางออกว่าจะเดินต่อไปอย่างไรจึงจะได้นายกรัฐมนตรี คนใหม่ที่มีอำนาจเต็ม

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาเฉพาะหน้าอีกอย่างคือ การชุมนุมใหญ่ของกลุ่มการเมืองสองขั้ว กปปส.นัดชุมนุมวันที่ 9 พ.ค. ที่สวนลุมพินี และจะขยายออกไปบริเวณใกล้เคียง เช่นที่แยกปทุมวัน แยกราชประสงค์ ขณะที่นปช.นัดชุมนุมวันที่ 10 พ.ค. ที่ถนนอักษะ

แม้แกนนำทั้งสองกลุ่มจะยืนยันว่า จะไม่มีการนำมวลชนมาเผชิญหน้ากัน แต่เมื่อถึงสถานการณ์จริง ก็ไม่มีใครรับประกันได้ว่า จะมีการเผชิญหน้ากันหรือไม่

ขณะที่ ศูนย์อำนวยการรักษาความปลอดภัย (ศอ.รส.) ที่มี สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ ที่ทำหน้าที่ประธาน ศอ.รส. และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีต รมว.แรงงาน ที่ทำหน้าที่ ผอ. ศอ.รส . เมื่อศาลรธน.ให้ทั้งสองพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีแล้ว แต่เจ้าตัวไม่ยอมรับ อ้างว่าพ้นจากตำแหน่งเดิมแล้ว และได้รับการโปรดเกล้าฯดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีใหม่แล้ว จะยังมีอำนาจสั่งการใน ศอ.รส.หรือไม่

เพราะขณะนี้ ยังไม่มีใครกล้าออกมาชี้ชัด ทั้งสองคนยังมีอำนาจในการสั่งการใน ศอ.รส. หรือไม่ คำสั่งใหม่ ที่จะมีต่อจากนี้ ใครจะเป็นผู้ออกคำสั่ง และผู้ปฏิบัติงาน จะกล้าปฏิบัติงานตามคำสั่งนั้นหรือไม่ เพราะหากมีการข้อผิดพลาดขึ้นมา ผู้ปฏิบัติงานจะต้องรับผิดชอบต่อการดำเนินการที่เกิดขึ้นทั้งหมด

สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ จึงเหมือนเดินเข้าสู่ทางตัน ที่ระหว่างทางเต็มไปด้วยอันตราย แต่รัฐบาลก็ยังไม่สำนึก


ม็อบเสื้อแดง
กำลังโหลดความคิดเห็น