หน.ปชป.รับศาลวินิจฉัยอย่างไรก็ตีความต่างกัน ห่วงการปลุกระดม รอง หน.ปชป.ชี้ “นิวัฒน์ธำรง” ขึ้นรักษาการ ทำหน้าที่เหมือนนายกฯ ทุกอย่าง คาด รบ.เร่งโหมดเลือกตั้ง แต่ กกต.มีอำนาจต่อรองมากขึ้น รับพรรคคิดหนักไม่ลงเสี่ยงถูกยุบ ให้จับตา กปปส.เดินเกมกดดัน
วันนี้ (7 พ.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่า ตนไม่คิดว่าผลของคำวินิจฉัยในคดีหนึ่งคดีใดจะสามารถเป็นคำตอบ หรือเป็นข้อยุติได้ทุกอย่างได้สำหรับสังคมในการเดินหน้าต่อไป เพราะไม่ว่าศาลจะวินิจฉัยอย่างไรก็ยังมองว่าจะเกิดความไม่แน่นอนต่อไป เพราะต่อจากนี้ไปจะต้องมีการตีความที่แตกต่างกันอาจจะเกิดการปลุกระดมมวลชนและการต่อต้านตามมา ฉะนั้นจึงน่าเป็นห่วงมาก เพราะตนเชื่อว่าไม่ว่าผลตัดสินจะออกมาอย่างไรก็ต้องมีบางฝ่ายไม่พอใจแล้วก็จะต้องมีการไปปลุกระดมกัน เป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นในสังคม และเท่าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า ครม.ชุดที่โยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี กับ ครม.ชุดปัจจุบัน มีเพียง 2 คนที่อยู่ในตำแหน่งเดิม ส่วนที่เหลืออีกกว่า 30 คนมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งไปแล้ว
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการดำรงตำแหน่งรักษานายกรัฐมนตรีของนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี อันดับ 2 ว่า สามารถได้ตามระเบียบ แต่ไม่มีหน้าที่อะไรมากมาย เพราะอยู่ในช่วงรักษาการก่อนที่จะมีครม.ชุดใหม่ สิ่งที่ต้องรีบดำเนินการลำดับแรกคือหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่องพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งเพื่อเดินเข้าสู่การเลือกตั้ง
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการตั้งคำถามว่านายนิวัฒน์ธำรงสามารถนำพระราชกฤษฎีกาขึ้นทูลเกล้าฯ ได้หรือไม่ นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า ตามข้อกฎหมายจะถือว่าผู้ที่ปฏิบัติราชการแทนผู้ใดสามารถมีดำเนินการได้ตามผู้นั้น ดังนั้น นายนิวัฒน์ธำรงสามารถเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการได้
“เกมการเมืองนับจากนี้ผมเชื่อว่ารัฐบาลคงต้องเร่งเข้าสู่การเลือกตั้ง แต่อำนาจต่อรองของรัฐบาลชุดนี้จะลดลง และ กกต.จะมีอำนาจในการต่อรองในเรื่องการจัดการเลือกตั้งมากขึ้น คาดว่ารัฐบาลน่าจะยอมตรงไหนที่ยอมได้ แต่ที่ต้องจับตาดูว่าต่อไปนี้ กปปส.จะกำหนดยุทธศาสตร์การต่อสู้กันอย่างไรในการชุมนุมใหญ่ จะกดดันกับรัฐบาลอย่างไรต่อไป แต่ก็มีคนติดใจเรื่องที่ว่าคนร้องมีการฟ้องเฉพาะตัวนายกรัฐมนตรี แต่เวลาศาลตัดสินให้ ครม.พ้นไปทั้งคณะ โดยหลักแล้วการพิพากษาจะไม่นอกเหนือไปจากผู้ขอ แต่คิดว่าศาลคงมีข้อมูลเบื้องหลังว่าใครเข้าร่วมประชุมบ้าง หรือมีใครโต้แย้งอย่างไรบ้าง คิดว่ากลุ่มคนเสื้อแดงจะหยิบเรื่องนี้มาต่อสู้อ้างว่ารัฐมนตรีคนอื่นๆไม่ได้มีโอกาสต่อสู้คดีทำไมต้องหลุดจากตำแหน่งไปด้วย”
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากผลการหารือระหว่างรัฐบาลกับ กกต.ตกลงให้มีการเลือกตั้งแรงสวิงจะกลับไปที่พรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับสองเงื่อนไข คือการเลือกตั้งต้องมีความเรียบร้อย และปลอดภัย และต้องมีหลักประกันในการปฏิรูปที่ชัดเจน เพียงแต่ว่าหากพรรคไม่ลงเลือกตั้งก็สุ่มเสี่ยงต่อการยุบพรรค ก็ต้องยอมแลกกัน เพราะหากในอีก 2 ปีข้างหน้ามีการเลือกตั้งใหม่แล้วพรรคลงเลือกตั้งก็ต้องมีชื่อพรรคใหม่ จะใช้ชื่อประชาธิปัตย์อีกไม่ได้ เป็นเรื่องที่พรรคต้องคิดให้หนักเหมือนกัน