ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เป็นอันว่า ถึงวันนี้ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) ภายใต้การนำของ “นายสุเทพ เทือกสุบรรณ” ได้ทำลายสถิติการชุมนุม 193 วันของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อปี 2551 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และที่สำคัญคือยังไม่มีทีท่าว่าจะ “จบ” หรือ “ยุติ” ลงได้ด้วยวิธีไหนและเมื่อไหร่
วันนี้ นายสุเทพนำมวลมหาประชาชน กปปส.ออกจากสวนลุมพินีและมาปักหลักอยู่ที่หน้าองค์การสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน พร้อมประกาศข้อเรียกร้องให้ประธานวุฒิสภา ร่วมกับประธานศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองสูงสุด และ ประธาน กตต. ดำเนินการให้มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ตามมาตรา 7 ซึ่งหากไม่มีเสียงตอบรับ มวลมหาประชาชนจะดำเนินการเอง
ทว่า นับจากวันที่ 9 พฤษภาคมเป็นต้นมา ดูเหมือนว่า เสียงตอบรับในเรื่องมาตรา 3 และมาตรา 7 ยังไม่ปรากฏ “เสียงตอบรับ” ในทางที่ดีจากทุกองค์กรที่นายสุเทพเรียกร้องแต่ประการใด โดยเฉพาะจากศาลฎีกา ศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ ขณะที่วุฒิสภาซึ่งดูจะเป็นความหวังมากที่สุดก็ทำท่าว่าจะเป็นเพียงแค่องค์กรรับฟังความคิดเห็นมากกว่าที่จะ “กล้า” ตัดสินใจทำเองตามลำพัง ยิ่ง “คน” ที่นายสุเทพชี้เป้าว่า “คนใหญ่คนโตทั้งหลายในบ้านเมืองที่นั่งอมยิ้มแก้มตุ่ยไม่ทำอะไร” ก็ยังคงไม่ทำอะไรอยู่เหมือนเดิม
นี่คือปัญหาใหญ่ของนายสุเทพและกปปส. เพราะชัดแจ้งแล้วว่า นอกจากมาตรา 3 และมาตรา 7 ยังไม่สะเด็ดน้ำในทุกกรณีแล้ว ยังทำท่าว่าจะออกทะเลเสียด้วยซ้ำไป
สุดท้ายทางเลือกของนายสุเทพจึงเหลือไม่มากนักดังที่เขาประกาศบนเวทีปราศรัยเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2557 ว่า “หากวันที่ 16 พ.ค.ประธานวุฒิสภาบอกว่าทำไม่ได้แล้ว วันที่ 17-18 พ.ค.เราจะลุยแน่แบบม้วนเดียวจบ ถ้าไม่สำเร็จ กำนันเข้าคุแน่ คนอื่นไม่ทำเราแสดงเอง วันที่ 19 พ.ค.เช้าจะเรียกข้าราชการ ปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้นำเหล่าทัพ อัยการสูงสุดมารายงานตัวที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล”
เสียงตอบรับจาก “ศาล” ไม่ใช่ “หน้าที่ ตุลาการ
หากติดตามการเคลื่อนไหวของ กปปส.ภายใต้การนำทัพของนายสุเทพตลอด 193 วันที่ผ่านมา ก็จะพบว่า มีความแปรเปลี่ยนและกลับกลายอยู่ตลอดเวลา กล่าวคือจากแรกเริ่มเดิมทีที่ทำประหนึ่งว่าจะ “ปฏิวัติประชาชน” จะประกาศสถาปนา “อำนาจรัฏฐาธิปัตย์” โดยประชาชน สุดท้ายกลายเป็นการ “ผลักภาระ” หรือ “โยนเผือกร้อน” ออกจากมือตนเองไปสู่องค์กรอื่นๆ แทน
การเคลื่อนขบวนของนายสุเทพในภารกิจบำเพ็ญเพียรวันที่ 9 พฤษภาคม 2557 ด้วยการเดินทางไปยังสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวี ช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 9 และช่อง 7 เพื่อขอให้ถ่ายทอดแถลงการณ์ของ กปปส.เสมือนหนึ่งเป็นการปฏิวัติประชาชน รวมทั้งการเข้าไปนั่งตั้งโต๊ะแถลงข่าวในทำเนียบรัฐบาลนั้น แม้ว่าจะประสบผลให้เห็นเป็นรูปธรรม เพราะทุกช่องให้ความร่วมมือ ยกเว้นช่อง 11 แต่ในความเป็นจริงแล้ว ต้องยอมรับว่า มิได้ประสบความสำเร็จหรือเกิดประโยชน์ต่อการเคลื่อนไหวของ กปปส.ประการใด ซึ่งสุดท้ายกำนันก็ยอมรับสภาพและถอนตัวออกมาจากการชุมนุมหน้าสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีจนหมด
เฉกเช่นเดียวกับอีกหนึ่งยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่นายสุเทพเรียกร้องให้ ประธานศาลฎีกาคือ นายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลปกครองคือ นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลรัฐธรรมนูญคือ นายจรูญ อินทจาร ประธาน กกต.คือ นายศุภชัย สมเจริญ และว่าที่ประธานวุฒิสภาคนใหม่คือ “นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย” เป็นผู้ดำเนินการขอพระราชทาน “นายกรัฐมนตรี” ตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่บัดนี้ชัดเจนแล้วว่า เป็นข้อเรียกร้องที่มิได้คำนึงถึงผลได้ผลเสียให้รอบคอบ
จากการตรวจสอบข้อมูลนับตั้งแต่นายสุเทพประกาศเจตจำนงพบว่า เสียงตอบรับจากประธาน 3 ศาลสำคัญคือศาลฎีกา ศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นไปตามที่นายสุเทพวาดหวังเอาไว้ โดยแหล่งข่าวจากศาลปกครองกล่าวถึงข้อเสนอของ นายสุเทพว่า “จากการพูดคุยกับตุลาการศาลยุติธรรม ซึ่งได้วิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องดังกล่าว ก็มีความเห็นที่สอดคล้องกันว่าข้อเสนอดังกล่าวว่าไม่มีกฎหมายรองรับ แล้วจะดำเนินการกันได้อย่างไร เช่นนั้นแล้วก็ไม่รู้จะมีใครกล้าทำตามข้อเรียกร้องของนายสุเทพหรือไม่ อย่างไร”
ขณะที่ฝั่งศาลยุติธรรม ผู้พิพากษาอาวุโสรายหนึ่งได้แสดงความเห็นเอาไว้ว่า แนวทางดังกล่าวไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมือง ทั้งนี้ ที่ผ่านมาช่วงแก้วิกฤติการบ้านเมืองก่อนเกิดรัฐประหาร 259 ที่มีการประชุมหารือ 3 ศาลประกอบด้วยศาลฎีกา ศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเรื่องแนวทางที่จะยึดหลักกฎหมายและหลักนิติธรรมในการวินิจฉัยคดีต่างๆ ที่เข้าสู่แต่ละศาล ด้วยความอิสระ รวดเร็ว ยุติธรรม ถูกต้องตามกฎหมายและบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เป็นกรณีที่จะร่วมกันเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีตามแนวทางที่ กปปส.แถลง ขณะที่ถ้าพิจารณาจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ไม่มีมาตราใดที่จะให้ตุลาการกระทำเช่นนั้น
“คงไม่ง่ายที่จะให้ประธานศาลเสนอชื่อบุคคลใดเพราะเสมือนเป็นการนำศาลที่เป็นเสาหลักบ้านเมืองไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งแม้ศาลจะใช้อำนาจตุลาการที่เป็น 1 ใน 3 อำนาจอธิปไตยตามระบอบประชาธิปไตย แต่การใช้อำนาจตุลาการที่สำคัญคือการวินิจฉัยอรรถคดีด้วยความเป็นธรรม เสมอภาคและยึดหลักนิติธรรม โดยศาลจะใช้อำนาจตุลาการตรวจสอบถ่วงดุลอาจฝ่ายบริหารและฝ่ายการเมืองได้จากการที่ฟ้องคดีเพื่อให้วินิจฉัยว่ามีพฤติการณ์การใช้อำนาจรัฐที่ถูกต้องหรือไม่อย่างไร เช่นคดีนายถวิล เปลี่ยนศรี ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วที่ศาลจะต้องตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐตามระบอบประชาธิปไตย แต่การใช้อำนาจดังกล่าวต้องมีผู้เสียหาย ผู้มีสิทธิตามกฎหมายฟ้องเป็นคดีเข้ามา ไม่ใช่กรณีที่ศาลจะหยิบยกประเด็นขึ้นมาเอง”
“ดังนั้น กรณีที่ กปปส.เสนอถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ก็ต้องคิดอย่างระมัดระวังด้วย หากนำมาปฏิบัติแล้วจะทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทด้วยหรือไม่ และถ้าอีกฝ่ายจะใช้วิธีเดียวกันกับ กปปส.คือออกมาชุมนุมกดดันแล้วบ้านเมืองจะดำเนินไปในแนวทางใด วิกฤติจะคลี่คลายหรือเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่”
และตอกย้ำกับเสียงอันหนักแน่นของ “ภัทรศักดิ์ วรรณแสง” เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ที่บอกว่าข้อเรียกร้องของ กปปส. ที่ให้ประมุขศาลฎีการ่วมเสนอชื่อนายกฯคนกลางนั้น “โดยอำนาจหน้าที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาล”
และตอกย้ำกับเสียงอันหนักแน่นของ “ไพโรจน์ มินเด็น” ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองชั้นต้น ประจำศาลปกครองสูงสุด ในฐานะโฆษกศาลปกครองที่ระบุว่า “ในการให้ความเห็นทางการเมืองนั้น ไมว่าจะเป็นข้อเสนอของวุฒิสภาหรือข้อเสนอของผู้ชุมนุม ไม่ใช่บทบาทหน้าที่ของตุลาการ เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ได้ระบุว่าให้ตุลาการทำหน้าที่เพียงตัดสินคดีความเท่านั้น ซึ่งการแก้ปัญหาทางการเมือง ควรเป็นเรื่องฝ่ายการเมือง ฝ่ายบริหาร หรือคนที่เกี่ยวข้องต้องทำหน้าที่แก้ไข ไม่ใช่หน้าที่ตุลาการ”
เสียงตอบรับที่ออกมาจากศาลมีความชัดเจนว่า ข้อเสนอของนายสุเทพเป็นข้อเสนอที่ไม่ถูกต้อง เพราะนอกจากการจะเป็นการกระทำการที่เกิดเลยไปจากอำนาจหน้าที่ของศาลแล้ว ยังถือเป็นข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มาเกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะต้องไม่ลืมว่าทั้งศาลฎีกาและศาลปกครองนั้นกระทำการในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์
ร้ายไปกว่านั้นอยู่ตรงที่วิธีการของนายสุเทพได้เกิดคำถามตามมาว่า ถูกต้องหรือไม่
เมื่อเป็นเช่นนั้น โอกาสที่จะเกิดนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 7 โดยอำนาจตุลาการคือศาลจึงปิดประตูลงโดยสิ้นเชิง ซึ่งดูเหมือนนายสุเทพจะรู้ตัวดี
เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ให้ความเห็นผ่านสื่อเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า อาจมีปัญหาหากยื่นมาตรา 7 ตามแนวทางของ กปปส.เพราะเปรียบเสมือนการนำทางตันไปทูลเกล้าฯ และโดยสภาพแบบนี้ ซึ่งมีคนกลุ่มหนึ่งจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ ยิ่งเป็นไปได้ยาก ส่วนการให้ฝ่ายตุลาการคือศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองสูงสุดเลือกนายกรัฐมนตรีมาตร7 นั้น ทำไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นไปตามกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่เคยเป็นประเพณีที่เคยปฏิบัติว่าประธานศาลสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้
จี้ “สุรชัย” บีบ “วุฒิ”หน้าเขียว
เมื่อศาลมีคำตอบชัดเจน เป้าหมายของนายสุเทพ ณ เวลานี้ จึงมุ่งตรงไปที่ “นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย” ซึ่งสามารถคว้าชัยชนะในการลงคะแนนเลือกตั้งประธานวุฒิสภาคนใหม่ไปอย่างท่วมท้นเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2557 ด้วยคะแนน 96 เสียง ขณะที่คู่แข่งคือ พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ได้ไปเพียงแค่ 17 เสียงเป็นสำคัญ
13 พฤษภาคม 2557 นายสุเทพพร้อมแกนนำ กปปส. อาทิ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย นายบรรเจิด สิงคะเนติ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ได้อ่านแถลงการณ์ กปปส.ฉบับที่ 2 ตอกย้ำเป้าประสงค์ที่มีต่อวุฒิสภาอย่างชัดเจนว่าเป็นความหวังหนึ่งเดียวที่เหลืออยู่
แถลงการณ์ฉบับนี้มีใจความว่า “ประเทศในขณะนี้อยู่ในภาวะที่ไม่มีนายกรัฐมนตรี บริหารราชการแผ่นดิน ส่วนผู้ที่อ้างว่ารักษาการนายกฯ นั้น ก็ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ที่จะสั่งการการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งสถานการณ์แบบนี้ หากปล่อยไปจะส่งผลเสียหายต่อประเทศ เพราะหลังจากรัฐบาลยุบสภา ก็มีปัญหาอยู่แล้ว อาทิ การจ่ายเงินให้ชาวนา และขณะนี้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศก็มีมากขึ้น จนเศรษฐกิจจะเข้าสู่สภาวะชะงักงัน และผู้ที่อ้างว่าเป็นรักษาการแทนนายกฯ ก็ไม่สามารถใช้นโยบายการคลัง มากระตุ้นเศรษฐกิจแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจได้ ยิ่งจะเป็นการซ้ำเติมปัญหาปากท้องของประชาชน จึง เป็นความจำเป็นเร่งด่วน ที่จะต้องหานายกฯ และรัฐบาลอำนาจเต็ม มาทำหน้าที่ โดยต้องทำตามประเพณีการปกครองของไทยที่ผ่านมา ซึ่งมีวุฒิสภาเพียงองค์กรเดียว ที่เป็นองค์กรโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นอำนาจโดยชอบธรรมที่วุฒิสภา จะเร่งหารัฐบาลใหม่ มาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ จ่ายเงินให้ชาวนา และเดินหน้าปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จึงขอถือโอกาสนี้เรียนไปยังประชาชนทุกภาคส่วน ทุกองค์กร ช่วยกันเรียกร้องไปยังประธานวุฒิสภา เพื่อให้หานายกฯ ตามความคาดหวังของประชาชนโดยทันที”
แน่นอน แม้ว่าที่ประธานวุฒิสภาจะมีท่าทีอันเป็นกัลยาณมิตรต่อนายสุเทพและกปปส. แต่การที่จะให้นายสุรชัยเด้งรับด้วยการนำชื่อนายกรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าฯ ไม่ใช่ง่ายเหมือนที่นายสุเทพและกปปส.ต้องการ
ปัญหามีอยู่ว่า นายสุรชัยยังเป็นเพียงว่าที่ประธานวุฒิสภาเท่านั้น เพราะยังมิได้มีการทูลเกล้าฯ และยังมิได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ลงมา ที่สำคัญคือเรื่องยังคงหยุดอยู่ที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา
ไหนจะเรื่องวุ่นๆ กรณีที่ว่า ใครคือผู้มีอำนาจในการทูลเกล้าฯ และใครจะเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
นอกจากนี้ยังมีปัญหาว่า ถ้ายังไม่มีการทูลเกล้าฯ และยังไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ลงมา นายสุรชัยที่ในเวลานี้เป็นรองประธานวุฒิสภาจะสามารถปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภาได้ทุกเรื่องหรือไม่ รวมถึงสามารถปฏิบัติหน้าที่แทนรองประธานรัฐสภาได้หรือไม่ แม้ว่าปมเรื่องดังกล่าวจะมีความพัวพันและเกี่ยวโยงกับนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการรองนายกรัฐมนตรีที่เวลานี้ปฏิบัติหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีอันทำให้รัฐบาลไม่สามารถโต้แย้งได้อย่างเต็มปากเต็มคำนักก็ตาม เพราะไม่เช่นนั้นจะมีผลตามมาในเรื่องการลงนามรับสนองพระบรมราชโอกงการในร่าง พ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส.ใหม่
ที่หนักไปกว่านั้นอยู่ตรงที่แล้วนายสุรชัย “กล้าพอ” ที่จะนำรายชื่อนายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ ในฐานะรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภาหรือไม่ เพราะนี่คือการรับ “เผือกร้อน” จากมือนายสุเทพไปไว้ในมือของตัวเอง
ด้วยเหตุดังกล่าวสิ่งที่นายสุเทพและกปปส.เห็นในเวลานี้ก็คือ การที่นายทำหนังสือเชิญไปยังองค์กรต่างๆอาทิ ศาลฎีกา คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป.ป.ช. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ฯลฯให้มาร่วมประชุมเพื่อหาทางออกของประเทศเท่านั้น
“หากภาคส่วนสังคมไม่ต้องการให้เกิดแนวทางของรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 ควรให้ร่วมมือและนำเสนอแนะทางออกดีกว่า อย่างไรก็ตามวุฒิสภาพร้อมที่จะทำงานและตัดสินใจบนผลประโยชน์ของชาติและประชาชน แต่หากช่วงเวลานี้มีหน่วยงานส่วนอื่นยืนยันว่าจะนำสังคมกลับไปสู่ความสงบสุขได้ วุฒิสภาพร้อมจะถอนตัวจากภารกิจที่ดำเนินการอยู่ทันที”นายสุรชัยแจกแจง ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเขาทำดีที่สุดแล้ว
และที่ยุ่งยากไปกว่านั้นก็คือ จะมีใครหน้าไหนกล้าที่จะอาสาเข้ามาเป็น “นายกรัฐมนตรี” ตามมาตรา 7 หรือไม่ ถ้ามี จะมั่นใจได้อย่างไรว่า คนๆ จะเข้ามาทำเพื่อประเทศชาติจริง ไม่ใช่มาเพื่อเกี้ยเซี้ยะและหาทางลงให้กับทุกๆ ฝ่าย โดยที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรกับบ้านเมืองเหมือนเมื่อครั้งที่เคยเกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
นี่คือปัญหาใหญ่ของนายสุเทพและกปปส. ซึ่งเมื่อจับน้ำเสียงในการ แถลง ข่าวและในการปราศรัยของนายสุเทพแล้วก็จะเห็นได้ชัดว่า ช่องทางของ ส.ว.มิได้ราบรื่นเท่าใดนัก เนื่องจากมีข้อติดขัดในเรื่องของกฎหมาย และดูเหมือนว่าความพยายามที่เด่นชัดที่สุดของนายสุรชัยในเวลานี้ก็คือการทำตัวเป็น “คนกลาง” และเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันหาทางแก้ไขสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้เท่านั้น
14 พฤษภาคม 2557 วงถกของวุฒิสภากับ 12 องค์กรได้มีความเห็นร่วมกัน โดยนายวันชัย สอนศิริ ส.ว.สรรหาพร้อมด้วยคณะทำงานได้แถลงว่า “เสียงเกือบส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าจะปล่อยให้สถานการณ์บ้านเมืองเดินไปอย่างนี้ไม่ได้ เพราะไม่มีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มควรมีรัฐบาลอำนาจเต็มบริหารราชการโดยเร็ว แต่ปฏิบัติหน้าที่เฉพาะกิจตามที่มีการกำหนด คือ การปฏิรูป จัดการบ้านเมืองให้เรียบร้อยในเวลาจำกัดภายใน 6-12 เดือน เพราะกระบวนการให้ได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีอาจต้องใช้เวลา 6 -10 เดือน หรืออาจจะ1 ปี จึงจะนำเรื่องนี้หารือกับทุกภาคส่วนรวมทั้งรัฐบาลด้วย หากเห็นพ้องต้องกันว่าให้วุฒิสภาดำเนินการก็จะเดินไปสู่เป้าหมายนั้น แต่ถ้ามีอุปสรรคก็จะหลีกเลี่ยงไม่ให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทและสว.ไม่ได้ตั้งธงว่าจะต้องเสนอนายกมาตรา 7 แต่จะแสวงหาวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ”
ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า รัฐบาลที่จะเกิดขึ้นจากวุฒิสภาเป็นรัฐบาลเฉพาะกิจหรือรัฐบาลเฉพาะกาลที่มีหน้าที่เพียงแค่ประคองประเทศไม่ให้สะดุด โดยมีระยะเวลาการทำงานสั้นๆ คือจำกัดอยู่เพียงแค่ไม่เกิน 1 ปีเท่านั้น มิได้เป็นรัฐบาลที่จะเข้ามาปฏิรูปประเทศเหมือนอย่างที่นายสุเทพและกปปส.ต้องการ
กระนั้นก็ดี ในขณะที่ฝ่าย กปปส.เคลื่อน ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายระบอบทักษิณ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นปช.องค์กรของคนเสื้อแดงก็เคลื่อนเช่นกัน ซึ่งชัดเจนว่าพวกเขาปฏิเสธทุกแนวทางที่กปปส.ดำเนินการ
แนวทางหนึ่งเดียวที่พวกเขามีความชัดเจนก็คือ เดินหน้าสู่การเลือกตั้ง
12 พฤษภาคม 2557 นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เด็กในบ้าน ผู้ปฎิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ประกาศเสียงดังฟังชัดว่า รัฐบาลรักษาการสามารถทำงานได้ตามกฎหมาย แต่ไม่มีอำนาจเต็มในการบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้นจึงต้องเร่งผลักดันให้มีรัฐบาลใหม่โดยเร็ว ด้วยการสนับสนุนให้เกิดการเลือกตั้งมีรัฐบาลถาวร ซึ่งจะเป็นทางออกที่ดี
“การกระทำทั้งหลายทั้งมวลจะต้องมีกฎหมายรองรับถ้าไม่มีกฎหมายรองรับสุดท้ายไป ณ จุดหนึ่งก็อาจจะทำต่อไม่ได้ แต่ในส่วนของรัฐบาลยืนยันว่าการดำเนินการตามมาตรา 7 ไม่สามารถทำได้เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ ผมขอยืนยันว่ามีอำนาจตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรี” นายนิวัฒน์ธำรงกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีความเห็นแหลมๆ ที่ถ้าจะว่าไปแล้วก็ต้องบอกว่า มีโอกาสเป็นไปได้มิใช่น้อย เมื่อนายอำนวย คลังผา อดีตประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมรัฐบาล ได้ออกมาโยนหินถามทางถึงข้อเสนอเรื่อง “รัฐบาลแห่งชาติ” ว่า ต้องการเปิดโอกาสให้ทุกพรรคการเมืองที่ลงเลือกตั้ง มีตัวแทนมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ให้ทุกพรรคเป็นรัฐบาลเพื่อมาบริหารประเทศร่วมกัน มุ่งหน้าภารกิจปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปประเทศ ภายใต้ระยะเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี แล้วยุบสภาเลือกตั้งใหม่
นายอำนวยกล่าวต่อว่า ภายหลังมีการนำเสนอออกไปปรากฏว่าได้รับเสียงขานรับอย่างมาก และเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขอเสนอสัดส่วนภายหลังเลือกตั้ง ให้ ส.ส.20 คนเสนอรัฐมนตรี 1 คน ที่เหลือเป็นคนนอก แนวทางนี้จะทำให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม และสามารถทำได้ทันทีในระบบกลไกของรัฐสภาที่มีคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองอยู่แล้ว
ข้อเสนอของนายอำนวยทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันพอสมควรว่า นี่อาจจะเป็น “ดีลพิเศษ” ที่ “นายใหญ่ของคนเสื้อแดง” ต้องการให้เป็น แม้จะไม่ตรงเป๊ะตามที่นายอำนวยเสนอก็ตาม
ถามว่านายสุเทพและกปปส.จะเอาด้วยหรือไม่
คำตอบมีหนึ่งเดียวคือ เป็นไปไม่ได้ เพราะนั่นเท่ากับเป็นการเกี้ยเซี้ยะกับระบอบทักษิณ ซึ่งผลตอบรับจะเป็นการทำลายกระบวนการเคลื่อนไหวของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวนายสุเทพให้พินาศย่อยยับไปในทันที
พิลึก! ปล่อย “บิ๊กแก้มตุ่ย” นั่งอมยิ้มอยู่บนภู
ถึงตรงนี้ หนทางเดียวทีเหลืออยู่ของนายสุเทพก็คือการกดดันให้ “บิ๊กแก้มตุ่ย” ที่ “กำลังนั่งอมยิ้ม” เวลานี้เลือกข้าง ซึ่งเมื่อตรวจสอบท่าทีล่าสุดของ “บิ๊กถั่งเช่า” ก็ชัดเจนว่าไม่ได้ยืนอยู่เคียงข้างนายสุเทพและมวลมหาประชาชน โดยเลือกที่จะนั่งอยู่บนภูรอวันเกษียณอย่างมีความสุขในอีกไม่กี่เดือนที่จะถึงนี้
ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ไม่ต้องถามถึงเพราะเขาประกาศชัดเจนแล้วว่าทหารจะไม่ปฏิวัติ เนื่องจากรู้ดีว่าปฏิวัติไปก็ไม่จบ
“ขอให้เชื่อมั่นในทหาร ซึ่งจะเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประเทศชาติและประชาชนได้ในทุกโอกาส ให้เก็บทหารไว้เป็นที่พึ่งสุดท้าย เชื่อว่าการทำรัฐประหาร ทำไปก็ไม่จบ”พล.อ.ประยุทธ์กล่าวแสดงท่าที
พล.อ.ประยุทธ์ประกาศชัดเจนว่า เขาต้องการให้ทุกอย่างดำเนินไปตามกฎ กติกา การยอมรับและความเหมาะสม โดยต้องมีการศึกษาในรายละเอียดเพื่อไม่ให้เกิดข้อขัดแย้งเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งมิอาจตีความเป็นอย่างอื่นได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ต้องการขัดแย้งกับคนเสื้อแดง ไม่ต้องการขัดแย้งกับรัฐบาล และไม่ต้องการขัดแย้งกับนักโทษชายหนีคดีทักษิณ ชินวัตร และสิ่งเดียวที่จะเป็นไปตามความปรารถนาของ พล.อ.ประยุทธ์ได้ก็คือการเดินหน้าสู่การเลือกตั้งอันเป็นสิ่งที่สวนทางกับแนวคิดของนายสุเทพและกปปส.ที่ต้องการให้เกิดการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งโดยสิ้นเชิง
สิ่งที่มวลมหาประชาชนไม่เข้าใจคือ นายสุเทพทำไมถึงยังคงมั่นใจตัวบิ๊กถั่งเช่าและคอยกางปีกปกป้องชนิดลิ้นไม่ให้ไต่ไรไม่ให้ตอม ทั้งๆ ที่บิ๊กถั่งเช่าก็ตอบแทนเขาด้วยท่าทีดุจเดิมทุกประการตั้งแต่ต้นจนจบ
นายสุเทพและกปปส.กล้าตั้งโต๊ะแถลงข่าวบีบให้ศาลและวุฒิสภาดำเนินการหานายกรัฐมนตรีตามมาตรา 7 ทั้งๆ ที่ไม่ใช่หน้าที่ขององค์กรเหล่านั้น แถมยังสุ่มเสี่ยงที่จะระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทอีกต่างหาก แต่ไม่กล้าที่จะตั้งโต๊ะแถลงข่าวเพื่อบีบให้กองทัพตัดสินใจเลือกข้างเลยแม้แต่เพียงครั้งเดียว
สนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้กล่าวปราศรัยบนเวทีกองทัพธรรมหน้าสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมาถึงยุทธวิธีการเคลื่อนไหวในเรื่องมาตรา 3 และมาตรา 7 รวมถึงจุดชี้ขาดเรื่องทหารในการปฏิรูปประเทศเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า
“วันนี้จะเป็นมาตรา 7 หรือมาตรา 3 ไม่ควรเอามาใช้ เพราะเมื่อเราเล่นมาตรานี้ เรากำลังกดดันพระเจ้าอยู่หัวให้ตัดสินใจเลือกข้าง พระองค์เลือกข้างไมได้ เพราะคน 65 ล้านคนล้วนเป็นพสกนิกร แต่ทหารเลือกข้างได้ ทหารต้องออกมาแล้วบอกว่าเราต้องไม่ทำให้เป็นที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท”
“เพราะฉะนั้นต้องมีกลุ่มทหารเดินไปประกาศตัวบอกว่าตระกูลชินวัตรออกไป หยุด ไม่ต้องใช้มาตรา 3 มาตรา 7 พวกผมจะจัดการเอง เราต้องไม่ใช้มาตรา 3 มาตรา 7 เพราะนั่นคือการกดดันพระเจ้าอยู่หัว ทหารต้องไม่ให้ใครมากดดันพระเจ้าอยู่หัว ทหารต้องทำเอง”
ขณะที่ เสรี สุวรรณภานนท์ อดีตรองประธาน ส.ส.ร.50 ก็ให้ความเห็นผ่านสื่อไปในทำนองเดียวกันว่า “อำนาจที่แท้จริงของสังคมไทยอยู่ที่ทหาร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ รวมถึงองคมนตรีต้องเข้าร่วมแก้ปัญหาด้วยกันว่าจะทำอย่างไร ลำพังศาลต่างๆ ไม่พอเพราะไม่มีอำนาจโดยตรง”
กระนั้นก็ดี ต้องบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์อาจมิใช่ปัจจัยชี้ขาดเสมอไป เพราะแว่วว่านายทหารระดับล่างลงไปก็อึดอัดกับท่าที่ของ “นาย” ไม่น้อย ดังมีกระแสข่าวออกมาตลอดเวลาว่า 1 ใน 5 เสือ ทบ.พร้อมที่จะทำหน้าที่เพื่อความมั่นคงของชาติ ขณะที่ข้อมูลที่เปิดเผยออกมาจาก “นายจตุพร พรหมพันธุ์” ประธาน นปช.เกี่ยวกับพล.ต.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (ผบ.พล.1รอ.) ที่มีการจัดตั้ง “กองพลส่วนหน้า” ก็ดูเหมือนว่าจะเป็น “สัญญาณพิเศษ” บางประการที่มีนัยสำคัญไม่น้อย
ทั้งนี้ ถ้าจะว่าไปแล้ว นอกจาก พล.อ.ประยุทธ์ ผู้บัญชาการทุกเหล่าทัพ ปลัดกระทรวง ตลอดรวมถึงภาคเอกชนทุกองค์จะต้องลุกขึ้นมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการแสวงหาทางออกให้กับประเทศชาติ เพราะนั่นจะเป็นการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันว่า ทุกหน่วยงานทุกองค์กรในบ้านเมืองนี้ปรารถนาจะเห็นการปฏิรูปประเทศไทยก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้ระบอบทักษิณพังพินาศลงไปในฉับพลันทันที
ไม่เช่นนั้นแล้ว โอกาสที่จะปิดเกมคงเป็นไปได้ยาก และแรงกดดันทั้งหลายทั้งปวงจะย้อนกลับไปถาโถมเข้าใส่นายสุเทพอย่างหนักหน่วง ดังคำพูดที่เขาประกาศบนเวทีปราศรัยเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2557 ว่า “หากวันที่ 16 พ.ค.ประธานวุฒิสภาบอกว่าทำไม่ได้แล้ว วันที่ 17-18 พ.ค.เราจะลุยแน่แบบม้วนเดียวจบ ถ้าไม่สำเร็จ กำนันเข้าคุกแน่ คนอื่นไม่ทำเราแสดงเอง วันที่ 19 พ.ค.เช้าจะเรียกข้าราชการ ปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้นำเหล่าทัพ อัยการสูงสุดมารายงานตัวที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล”
เมื่อกำนันเล่นบทโหดกับวุฒิสภา เล่นบทโหดกับนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย โดยยื่นคำขาดเยี่ยงนี้ ก็หมายความว่า ถ้า ม.7 พลาดเป้า ก็เคลื่อนเกมมาสู่ ม.3 และถ้าบรรดา“คนใหญ่คนโตทั้งหลายในบ้านเมืองที่นั่งอมยิ้มแก้มตุ่ย” ยังไม่ทำอะไรอีก เส้นทางสุดท้ายของลุงกำนันก็คือการเดินเข้าสู่คุกในข้อหา “กบฏ”
เอวัง...ก็มีด้วยประการฉะนี้