xs
xsm
sm
md
lg

วุฒิสภา-12องค์กรเห็นพ้อง รัฐบาลเฉพาะกิจ หมายจับเพิ่ม30แกนนำม็อบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน-"สุรชัย"ไม่ถอดใจ แม้ถูกกดดันหนัก เดินหน้าหาทางออกประเทศร่วมกับ 12 องค์กร ได้ข้อสรุปต้องมีรัฐบาลเฉพาะกิจ นัดหารือหน่วยงานอื่นต่อวันนี้ คาดมีบทสรุปวันศุกร์ เมินเพื่อไทยเตะตัดขา ยื่นดีเอสไอเอาผิด ศอ.รส. ยังเชลียร์สุดลิ่ม ค้านนายกฯ มาตรา 7 "นิวัฒน์ธำรง"ยังมั่น มีอำนาจเต็ม "ตู่"มโน ทหารตั้งกองกำลังจัดการม็อบ ล่าสุดศาลอาญาอนุมัติหมายจับ 30 แกนนำ กปปส. ข้อหากบฎ "ปู"ขึ้นดอยสุเทพสะเดาะเคราะห์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (14 พ.ค.) ได้มีความเคลื่อนไหวการดำเนินการหารือระหว่างวุฒิสภากับตัวแทนองค์กรอิสระและภาคเอกชนกลุ่มต่างๆ เพื่อหาทางออกให้กับประเทศไทยอีกครั้ง โดยมีผู้เข้าร่วมสำคัญ ประกอบด้วย นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) , นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) , นางผานิต นิติทัณฑ์ประภาส ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน , นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง , นายโอกาส เตพลกุล ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย , นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย , นางพงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการประธานศาลฎีกา ,นายอติโชค ผลดี รองเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ,นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย , นางพรทิพย์ หิรัญเกตุ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยงแห่งประเทศไทย เข้าร่วมประชุมพร้อมกับสมาชิกวุฒิสภา โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ประธานวุฒิสภา เป็นประธานในที่ประชุม

การประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมลับ โดยนายสุรชัยกล่าวย้ำถึงความจำเป็นที่วุฒิสภาในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติที่ยังทำหน้าที่อยู่ จะต้องทำหน้าที่เพื่อหางออกให้กับวิกฤตของบ้านเมือง ไม่สามารถนิ่งเฉยได้ ซึ่งเวทีในวันนี้เป็นเวทีแรกที่ขอความเห็นจากสาธารณะโดยเริ่มจากองค์กรอิสระต่างๆ โดยหวังว่าทุกคนจะช่วยกันเสนอทางออกให้กับประเทศ และจะดำเนินการขอฟังความเห็นเชิงสาธารณะอีกในเวทีต่อไป พร้อมเรียกร้องผ่านสื่อมวลชน ให้ผู้ที่ยังไม่ตอบรับคำเชิญหารือ มาร่วมให้ความเห็นต่อวุฒิสภา เพื่อจะได้นำทุกข้อมูลมาทำข้อสรุปร่วมกัน

***เห็นตรงกันตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจ

ภายหลังจากการประชุมหารือร่วม 6 ชั่วโมง นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.สรรหาพร้อมด้วยคณะทำงานได้แถลงว่า ทั้ง 12 องค์กรที่เข้าร่วมหารือกับวุฒิสภา เสียงเกือบส่วนใหญ่ เห็นตรงกันว่าจะปล่อยให้สถานการณ์บ้านเมืองเดินไปอย่างนี้ไม่ได้ เพราะไม่มีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม ควรมีรัฐบาลอำนาจเต็มบริหารราชการโดยเร็ว แต่ปฏิบัติหน้าที่เฉพาะกิจตามที่มีการกำหนด คือ การปฏิรูป จัดการบ้านเมืองให้เรียบร้อยในเวลาจำกัดภายใน 6-12 เดือน เพราะกระบวนการให้ได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีอาจต้องใช้เวลา 6-10 เดือน หรืออาจจะ1 ปี จึงจะนำเรื่องนี้หารือกับทุกภาคส่วน รวมทั้งรัฐบาลด้วย โดยนายสุรชัยมีนัดหมายกับอีกหลายภาคส่วน ซึ่งวุฒิสภาจะเป็นเจ้าภาพหาความลงตัว หากเห็นพ้องต้องกันว่าให้วุฒิสภาดำเนินการ ก็จะเดินไปสู่เป้าหมายนั้น แต่ถ้ามีอุปสรรค ก็จะหลีกเลี่ยง ไม่ให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทและ สว. ไม่ได้ตั้งธงว่าจะต้องเสนอนายกมาตรา 7 แต่จะแสวงหาวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ

***เดินหน้าหารือร่วมฝ่ายต่างๆ ต่อ

พล.อ.อ.วีรวิทย์ คงศักดิ์ หัวหน้าคณะทำงานวุฒิสภา กล่าวว่า ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าการบริหารของรัฐบาลมีข้อจำกัด จำเป็นต้องมีรัฐบาลที่มีอำนาจเพียงพอในการบริหารประเทศ ในขณะนี้กระบวนการได้มาซึ่งนายกฯ คนใหม่จากการเลือกตั้งจะมีความล่าช้า ทำให้เกิดความยุ่งยากต่อการพัฒนาประเทศ ส่วนการปฏิรูปต้องสมเหตุสมผลอธิบายสาธารณชนได้ และน่าจะมีการทำประชามติ สำหรับกำหนดการวันนี้ (15 พ.ค.) เวลา 10.00 น. จะรับฟังความที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยที่นิด้า14.30 น. หารือร่วมกับ ปลัดกระทรวง ผู้นำเหล่าทัพ ที่อาคารสองรัฐสภา 15.30 รับฟังความเห็นสื่อมวลชน องค์กรเอกชน อาคารรัฐสภาสอง

"ยังไม่ระบุแนวทางจะเป็นอย่างไร แต่ที่คิดไว้ว่ากระบวนการน่าจะมี 2ขั้นตอน คือ แนวทางการปรับเปลี่ยนกฎหมายให้เหมาะสมเสียก่อน ส่วนยกระบวนการเสนอชื่อ อาจจะเป็นอีกระยะหนึ่ง หลังกระบวนการด้านกฎหมายเรียบร้อยแล้ว อย่ามองว่าออกมาแล้วจะเป็นอย่างไร แต่กระบวนการทั้งหมดจะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนด หรือเทียบเคียงกับรัฐธรรมนูญกำหนดในเรื่องการเสนอชื่อตัวบุคคล"

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา ซึ่งมีกระแสข่าวว่าจะถอนตัวจากการเป็นคณะทำงาน ยืนยันว่า ไม่ถอนตัวจากการเป็นคณะทำงาน และไม่เคยเสนอเรื่องนายกฯ มาตรา 7 เพียงแต่เห็นว่ารัฐบาลเหมือนผีหัวขาด ไม่มีอำนาจเต็ม มีปัญหาในการบริหารประเทศ ไม่เคยน้อยใจที่ที่ประชุมเห็นแตกต่างไปจากตัวเอง และพร้อมปฏิบัติตามที่ประชุม เพราะไม่ใช่ไผ่นอกกอ

***"ธีรภัทร" ชี้ นายกฯ ม.7 ดีที่สุด

นายธีรภัทร เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง กล่าวภายหลังการหารือกับประธานวุฒิสภาว่า การให้ประธานวุฒิสภานำชื่อนายกฯ ตามมาตรา 7 คือ วิธีที่ดีที่สุด เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ตามประเพณี เพราะสถานการณ์ในขณะนี้ ประเทศไทยอยู่ในสภาวะกึ่งรัฐล้มเหลว และมีลักษณะเป็นอนาธิปไตย มีมวลชนที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันว่าจะปฏิรูปก่อนเลือกตั้งหรือเลือกตั้งก่อนปฏิรูป สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดสงครามกลางเมือง ดังนั้น วุฒิสภาที่มีสถานะเทียบเคียงกับฝ่ายนิติบัญญัติ จึงสามารถแก้วิกฤติได้ โดยมีประธานวุฒิสภาเป็นผู้รับผิดชอบด้วยการรับสนองพระบรมราชโองการ แต่วุฒิสภาต้องไปหารือกับนายนิวัฒน์ธำรงว่าจะเสียสละเพื่อประเทศได้หรือไม่

*** "คำนูณ"คาดหารู้ผล 16 พ.ค.

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การหาทางออกประเทศของสมาชิกวุฒิสภา คาดว่าอาจได้คำตอบในเบื้องต้นวันศุกร์ที่ 16 พ.ค.นี้ และหากองค์กรอิสระเดินทางเข้าหารือไม่ครบ ก็ไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด แต่การเชิญมาพูดคุย เพื่อต้องการมุมมองในข้อกฎหมายและช่วยหาทางออกในฐานะคนไทย โดย ส.ว. จะพยายามดำเนินการหาทางออกให้รอบด้าน และรอบคอบที่สุด และขออย่าเพิ่งคิดไปไกลว่าบุคคลใดจะนำชื่อนายกรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าฯ หากมีการดำเนินการเสร็จสิ้น แต่อยากให้คิดว่า นี่คืออีกหนึ่งหนทางในการแก้ปัญหา

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลยอมเปิดทางด้วยการลาออก การดำเนินการหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ ก็จะง่ายขึ้น และยังไม่เป็นการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท เพราะคณะรัฐมนตรีที่รักษาการ ก็บริหารราชการแผ่นดินและเดินหน้าจัดการเลือกตั้งไม่ได้ เพราะรัฐบาลรักษาการติดตัดในข้อกฎหมาย โดย กกต. ไม่มั่นใจว่านายนิวัฒน์ธำรงเป็นผู้รักษาการตามพ.ร.ฎ.ยุบสภา แทนนายกฯ หรือไม่ หรือหากเกิดกรณีเลือกตั้งแล้วมีความเสียหาย จะเลื่อนวันเลือกตั้งได้หรือไม่

***"นิวัฒน์ธำรง"ยันมีอำนาจเต็ม

นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ปฎิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันว่า ความเป็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดปัจจุบัน มีอยู่สมบูรณ์ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญระบุชัดให้รัฐมนตรีที่ไม่เกี่ยวข้องกับการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมี ครม.ชุดใหม่ ทำให้ทั้ง 25 คน ไม่สามารถลาออกได้ ถ้าลาออกจะถูกฟ้องร้องได้ ส่วนอำนาจของตนในฐานะที่ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ สามารถทูลเกล้าฯ เสนอร่างกฎหมาย และทูลเกล้าฯ แต่งตั้งประธานวุฒิสภาได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 189

ส่วนกรณีการแต่งตั้งนายกฯ เรียนว่าตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ระบุไว้ชัด นายกฯ ต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องมีการเลือก ส.ส. มีการประชุมสภาผู้แทนราษำร เพื่อให้ความเห็นชอบ ถึงจะมีการแต่งตั้งนายกฯ แต่กรณีนายกฯ มาตรา 7 หรือมาตราอื่นๆ ไม่ได้มีกำหนดไว้ชัดเจน การที่วุฒิสภาและฝ่ายต่างๆ เสนอแต่งตั้งนายกฯ คนกลาง หรือนายกฯ มาตรา 7 ไม่มีกฎหมายรองรับ ส่งมาให้รัฐบาล ก็ทำต่อไม่ได้ หากทำเองก็ติดปัญหาการทูลเกล้าฯ ไม่ว่าข้าราชการประจำ รัฐบาล หรือรัฐสภา ถ้าไม่ถูกกฏหมาย ก็คงไม่มีใครกล้านำทูลเกล้าฯ ต้องดำเนินการไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 178

***แย้มพร้อมคุยวงเล็กกับ"สุรชัย"

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่ประธานวุฒิสภา เชิญรัฐบาลไปหารือ นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่า รัฐบาลยินดี และเปิดกว้างที่จะพูดคุยอยู่แล้ว แต่ขอให้ทำในสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งตนอาจจะเชิญนายสุรชัย กับคณะ 3-4 คน มาคุยวงเล็กก่อนก็ได้ว่าส.ว.มีแนวคิดอย่างไร แล้วเราจะเดินไปได้อย่างไร ซึ่งถ้าแนวทางนั้นถูกต้องตามกฎหมาย รัฐบาลก็ต้องปฏิบัติอยู่แล้ว

***พท.ยื่นดีเอสไอเอาผิด"สุรชัย"

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อให้สอบสวน และดำเนินคดีกับนายสุรชัย กับพวก หลังเรียกประชุมวุฒิสภาปรึกษาหารือเพื่อให้มีการตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ตามความต้องการของนายสุเทพ ซึ่งเป็นผู้ต้องหาหลายข้อหา อีกทั้งแนวทางดังกล่าวไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการสนับสนุนการกระทำความผิด ฐานเป็นกบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ประกอบมาตรา 86

นายธาริตกล่าวว่า ดีเอสไอจะรับเรื่องดังกล่าวไว้ดำเนินการ ซึ่งเรื่องนี้ ดีเอสไอได้ติดตามพฤติการณ์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาตลอด มีความกังวลใจ และเก็บข้อมูลมาตลอดว่าเหตุใดจึงมีการไปร่วมไม้ร่วมมือในแนวทางสนับสนุนนายสุเทพและพวก ทั้งที่อัยการได้สั่งฟ้องในข้อหาฉกรรจ์ จำนวน 10 ข้อหา ดังนั้น คนที่เข้าไปเกี่ยวข้องให้การสนับสนุนทางกิจกรรม อาจจะเข้าข่ายเป็นผู้กระทำความผิด อาจเป็นตัวการร่วม หรือผู้สนับสนุนได้

***ศอ.รส.แถลงการณ์ขวางนายกฯ ม. 7

ที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) นายธาริต ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ได้อ่านแถลงการณ์ ศอ.รส. ฉบับที่ 8 ว่า ข้อเรียกร้องของนายสุเทพและกลุ่มแกนนำที่ขอให้สมาชิกวุฒิสภาร่วมกันคัดเลือกและทูลเกล้าฯ แต่งตั้งนายกฯ มาตรา 7 นั้น เป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ศอ.รส. ขอเรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภา รวมถึงกลุ่มการเมือง และกลุ่มผู้สนับสนุนบางกลุ่ม ยุติการกระทำผิดต่อกฎหมาย เพราะจะเป็นสาเหตุให้เกิดความรุนแรง และเหตุร้ายขึ้นในบ้านเมือง อาจลุกลามไปถึงการก่อการร้าย มีการปะทะ จนกลายเป็นสงครามกลางเมือง

*** "ตู่"ฉะ"สุรชัย"ทำเกินหน้าที่

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า นายสุรชัย มีสภาพเป็นแค่รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 เท่านั้น ไม่มีอำนาจในการเสนอ หรือร่วมกับบุคคลใด เสนอนายกฯ ตามมาตรา 7 เพราะนายกฯ จะต้องมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น จึงถือว่าประชาชนมีสิทธิ์ในการชุมนุมต่อต้านโดยสันติวิธีต่อการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง และยืนยันว่า ในการเข้าร่วมชุมนุมกับ นปช. ไม่มีการว่าจ้างใดๆ

** "จี้ผบ.ทบ.แจงตั้งกองพลส่วนหน้า

นายจตุพรกล่าวอีกว่า ขอฝากไปยัง พล.ต.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (ผบ.พล.1 รอ.) ที่มีการจัดตั้งกองพลส่วนหน้า ที่เสมือนตั้งขึ้นมาเพื่อปราบปรามประชาชนในเหตุการณ์เมื่อปี 2553 เพราะการจัดตั้งกองพลส่วนหน้านี้ มีภารกิจพร้อมเมื่อสั่ง ก็จะสามารถจัดการประชาชนได้ทันที จึงอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ออกมาชี้แจงและอธิบายว่าเรื่องกองพลส่วนหน้าดังกล่าวมีภารกิจเรื่องอะไร

***ซัด"ตู่"มโนข่าวพล.1รอ.ตั้งกองกำลัง

แหล่งข่าวจากกองทัพภาคที่ 1 กล่าวถึงกรณีนายจตุพร ขึ้นพูดบนเวทีว่าพล.ต.อภิรัชต์ จัดตั้งกองกำลังส่วนหน้า เตรียมรอคำสั่งปฏิบัติการเหมือนปี 2553 ว่า สิ่งที่นายจตุพรพูด ต้องการเรียกแขกมากกว่า อยากให้คนมาชุมนุมกันมากๆ ปลุกระดม นำทหารไปสร้างเป็นเงื่อนไข โดยการปล่อยข่าวมั่ว ขี้โม้ไปเรื่อย ซึ่งไม่เป็นความจริง อยากให้ประชาชนและสื่อใช้วิจารณญาณในการนำเสนอ

อย่างไรก็ตาม พล.ต.อภิรัชต์ ได้ปฏิเสธข่าวดังกล่าวแล้ว

***หมายจับ 30 แกนนำกปปส.ข้อหากบฏ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลอาญาได้อ่านคำสั่งที่ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ชำนาญการพิเศษ ดีเอสไอ ยื่นคำร้องขอให้ศาลอนุมัติหมายจับนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย แกนนำกปปส. ผู้ต้องหาที่ 2 และแกนนำกปปส. รวม 43 คน ผู้ต้องหาคดีกบฏและความผิดอื่น รวม 8 ข้อหา เพื่อติดตามตัวมาดำเนินกระบวนการตามกฎหมายที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ มีความเห็นสมควรสั่งฟ้องไปเมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา

ก่อนอ่านคำสั่ง ศาลได้กล่าวชี้แจงต่อคู่ความว่า ในการพิจารณาออกคำสั่ง ศาลได้ตรวจสอบก่อนว่าผู้ที่ถูกนำมาออกหมายจับมีคดีในชั้นศาลและได้มีการฝากขังเรียบร้อยแล้วหรือไม่ และการพิจารณาศาลได้ยึดหลักกฎหมายที่บัญญัติไว้ รวมถึงปฏิบัติตามข้อบังคับของศาลอาญาเหมือนเช่นที่เคยทำ ซึ่งเป็นการพิจารณาอย่างรอบคอบตามพยานหลักฐานที่มีอยู่ ไม่ได้มองว่าผู้ต้องหาเป็นฝ่ายไหน โดยได้ปรึกษาผู้บริหารและอธิบดีศาลอาญาเรียบร้อยแล้ว

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามทางไต่สวนได้ความว่าที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 43 คนนั้น พนักงานอัยการได้มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาดังกล่าวแล้วตามหนังสือที่ อส. 0010.4/292 ลงวันที่ 8 พ.ค.2557 แต่ไม่ได้ตัวผู้ต้องหาดังกล่าวมาฟ้องต่อศาลนั้น ปรากฏข้อเท็จจริงตามรายงานเจ้าหน้าที่ของศาลอาญา ฉบับลงวันที่ 12 พ.ค.2557ว่า ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ ผู้ต้องหาที่ 13 เป็นคนเดียวกับจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำ อ.1279/2556 พล.อ.ปฐมพงษ์ เกสรศุกร์ ผู้ต้องหาที่ 31 เป็นบุคคลเดียวกับจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1406/2556 นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด ผู้ต้องหาที่ 51 เป็นบุคคลเดียวกับจำเลยที่ 1 คดีอาญาหมายเลขดำ อ.1087/2556 น.ส.อัญชะลี ไพรีรักษ์ ผู้ต้องหาที่ 10 นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ผู้ต้องหาที่ 15 นายสมบูรณ์ ทองบุราณ ผู้ต้องหาที่ 18 นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ต้องหาที่ 32 นายรัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี ผู้ต้องหาที่ 37 นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ผู้ต้องหาที่ 39 นายสาวิทย์ แก้วหวาน ผู้ต้องหาที่ 41 นายกิตติชัย ใสสะอาด ผู้ต้องหาที่ 43 นายพิเชษฐ์ พัฒนโชติ ผู้ต้องหาที่ 46 และนายสำราญ รอดเพชร ผู้ต้องหาที่ 52 เป็นบุคคลเดียวกับจำเลยที่ 16, 6, 21, 5, 13, 4, 10, 29, 20 และที่ 8 ในคดีปิดสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ หมายเลขดำ อ.973/2556 ของศาลอาญา ซึ่งทั้งหมดอยู่ระหว่างการปล่อยชั่วคราวระหว่างการพิจารณา ถือได้ว่าผู้ต้องหาดังกล่าวอยู่ในอำนาจของศาลอาญาแล้ว เมื่อไม่ปรากฎว่าจำเลยดังกล่าวหลบหนีระหว่างการปล่อยชั่วคราว ศาลอาญาย่อมมีอำนาจที่จะบังคับให้นายประกันส่งตัวจำเลยต่อศาลในคดีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องไว้แล้วเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ดังนั้น พนักงานอัยการจึงสามารถฟ้องผู้ต้องหาดังกล่าวเป็นจำเลยต่อศาลได้ โดยไม่ต้องนำตัวผู้ต้องหามาส่งฟ้องศาล จึงไม่จำต้องออกหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 13 คนเพื่อนำตัวมาฟ้องคดี ให้ยกคำร้องในส่วนนี้

ส่วนผู้ต้องหาอีก 30 คน ประกอบด้วย นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ผู้ต้องหาที่ 2 นายชุมพล จุลใส ผู้ต้องหาที่ 3 นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้ต้องหาที่ 4 นายอิสสระ สมชัย ผู้ต้องหาที่ 5 นายวิทยา แก้วภราดัย ผู้ต้องหาที่ 6 นายถาวร เสนเนียม ผู้ต้องหาที่ 7 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ผู้ต้องหาที่ 8 นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ผู้ต้องหาที่ 9 นายนิติธร ล้ำเหลือ ผู้ต้องหาที่ 11 นายอุทัย ยอดมณี ผู้ต้องหาที่ 12 พลเอกปรีชา เอี่ยมสุพรรณ ผู้ต้องหาที่ 14 นายยศศักดิ์ โกไศยกานนท์ ผู้ต้องหาที่ 16 พ.ต.ท.สุภวัฒน์ สุปิยะพาณิชย์ ผู้ต้องหาที่ 17 น.ส.จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี หรือกฤดากร ผู้ต้องหาที่ 19 นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ผู้ต้องหาที่ 23 นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ผู้ต้องหาที่ 25 นายเสรี วงษ์มณฑา ผู้ต้องหาที่ 26 นายกิตติศักดิ์ ปรกติ ผู้ต้องหาที่ 27 นายถนอม อ่อนเกตุพล ผู้ต้องหาที่ 28 พระสุวิทย์ ทองประเสริฐ (พระพุทธอิสระ) ผู้ต้องหาที่ 40 นายสาธิต เซกัล ผู้ต้องหาที่ 42 นายคมสัน ทองศิริ ผู้ต้องหาที่ 44 นายมั่นแม่น กะการดี ผู้ต้องหาที่ 47 นายประกอบกิจ อินทร์ทอง ผู้ต้องหาที่ 48 นายนัสเซอร์ ยีหมะ ผู้ต้องหาที่ 49 นายพานสุวรรณ ณ แก้ว ผู้ต้องหาที่ 50 นางสาวรังสิมา รอดรัศมี ผู้ต้องหาที่ 54 นางทยา ทีปสุวรรณ ผู้ต้องหาที่ 55 พลอากาศโทวัชระ ฤทธาคนี ผู้ต้องหาที่ 56 และพลเรือเอกชัย สุวรรณภาพ ผู้ต้องหาที่ 57 ยังจับตัวไม่ได้ จึงอนุญาตให้ออกหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 30 คนดังกล่าวข้างต้น เพื่อนำตัวมาฟ้องคดี โดยให้หมายเหตุไว้ในหมายจับด้วยว่า “เจ้าพนักงานมีอำนาจควบคุมผู้ถูกจับได้เพียงเท่าที่จำเป็นในการนำตัวส่งฟ้องต่อศาลเท่านั้น” และให้เพิกถอนหมายจับฉบับเดิมที่ศาลอาญาเคยออกหมายจับผู้ต้องหาที่ 3-5, 11-13, 37, 40, 43 และ 52

ภายหลัง พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า หลังจากนี้ต้องแจ้งผลให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ซึ่งจะเห็นด้วยกับคำสั่งศาลหรือไม่ ต้องให้ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้พิจารณา

ด้านนายวิโรจน์ ภูมิศิริสวัสดิ์ ทีมทนายความ กปปส. กล่าวว่า จะกลับไปแจ้งให้แกนนำ กปปส. และ คปท. ทราบถึงคำสั่งศาล เพื่อหารือแนวทางในการต่อสู้คดี โดยแนวทางที่พิจารณาไว้อาจจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งออกหมายจับดังกล่าวต่อไป

***"มาร์ค"วอนทุกฝ่ายร่วมมือวุฒิฯแก้ปัญหา

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาให้กับประเทศ ทางที่ดีที่สุด คือ รัฐบาลลาออกเปิดทางเพื่อตั้งรัฐบาลชั่วคราวเข้ามาจัดทำประชามติ สร้างหลักประกันเรื่องการเลือกตั้งและการปฏิรูป จากนั้นกลับไปเลือกตั้ง โดยใช้เวลา 5-6เดือน แต่เมื่อรัฐบาลไม่ยอมลาออก วุฒิสภาก็ต้องตัดสินใจว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เป็นไปตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ และได้เสนอเรื่องการทำประชามติ ซึ่งดูเหมือนว่าส.ว.จะสนใจข้อเสนอนี้ แต่รัฐบาลก็คงไม่สนใจที่จะให้มีรัฐบาลมาแทนตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องสื่อสารถึงรัฐบาลให้เข้าใจว่าที่ให้เปิดทางนั้น เปิดไปทำอะไร แต่ถ้าปล่อยให้ปัญหาคาอยู่อย่างนี้ จะสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียเลือดเนื้อประชาชนและประชาธิปไตย ที่สำคัญจะเกิดภาวะระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท ทำให้เกิดการนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาอยู่ในวังวนของความขัดแย้ง ดังนั้น ตนจึงขอให้ทุกฝ่ายเปิดโอกาสและร่วมมือกับการทำงานของวุฒิสภาด้วย

***แนะยื่นตีความอำนาจ“สุรชัย-นิวัฒน์ธำรง”

นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ขณะนี้มีข้อขัดแย้งทางกฎหมายว่า นายนิวัฒน์ธำรง และนายสุรชัย มีอำนาจทูลเกล้าฯ นายกฯ คนใหม่ได้หรือไม่ หากคนใดคนหนึ่งพลาด จะต้องถูกดำเนินคดี จึงเสนอให้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความก่อน

***ลือนิมิตดี!พระอาทิตย์ทรงกลด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 11.30 น. วานนี้ (14 พ.ค.) ได้เกิดพระอาทิตย์ทรงกลด มองเห็นได้ในพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยในสังคมออนไลน์ได้มีการแชร์ภาพ และต่างวิพากวิจารณ์กันว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะเกิดขึ้นกับประเทศ

ทั้งนี้ ภาพการเกิดพระอาทิตย์ทรงกลด ที่มีการเผยแพร่ เช่น หลวงปู่พุทธอิสระ ได้โพสต์ภาพและข้อความว่า พระอาทิตย์ทรงกลดเวทีแจ้งวัฒนะ ภาพถ่ายพระอาทิตย์ทรงกลดที่อาคารสุขประพฤติ ซึ่งใช้เป็นที่หารือระหว่างนายสุรชัย กับศาล องค์กรอิสสระ และภาคเอกชน โดยคนไทยมีความเชื่อว่า การเกิดปรากฎการณ์ดังกล่าว ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี

***"ปู"ขึ้นดอยสุเทพสะเดาะเคราะห์

วันเดียวกันนี้ ที่วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมพิธีสวดสะเดาะนพเคราะห์ตามแบบล้านนา ซึ่งพระเทพวรสิทธาจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพ และนายวิเชียร พุฒิวิญญู ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกันจัดขึ้นให้อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นการสืบชะตา เสริมบารมีและความเป็นสิริมงคล พร้อมทั้งสะเดาะเคราะห์และปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า ในการทำพิธีในครั้งนี้ ได้เลือกที่จะใช้วัดพระธาตุดอยสุเทพ ซึ่งถือว่าชื่อเป็นไปในทางที่ดีแก่ผู้ประกอบพิธีกรรม เพราะคำว่า "ดอยสุเทพ" มีความหมายว่าจะได้อยู่เหนือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ที่เป็นแกนนำต่อต้านรัฐบาลอยู่ในขณะนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น