xs
xsm
sm
md
lg

“กองทัพ” ที่พึ่งสุดท้ายปิดเกมคู่ขัดแย้ง-สกัดสงครามกลางเมือง!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิกฤตการเมือง 2 ขั้วขัดแย้ง “กปปส.- ตัวแทนระบอบทักษิณ” มาถึงทางตัน! อดีตทหาร คมช. แจงเกินขีดการแก้ไขด้วยการเมือง ย้อนถามกองทัพเป็นเรื่องความมั่นคงหรือยัง หวั่นเกิดสงครามกลางเมือง ผู้ที่จะยุติปัญหาได้ก็มีแค่ทหาร จับตาจะช้าหรือเร็ว ก็มีแค่ทหารที่พร้อมด้วยอำนาจ-อาวุธ-กฎหมาย จัดการได้เบ็ดเสร็จ!

การลุแก่อำนาจของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2556 เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้การต่อสู้ทางการเมืองของคู่ขัดแย้ง 2 ฝ่ายไร้ทางออกจนทุกวันนี้ โดยฝ่ายผู้ชุมนุม กปปส. ที่มี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำ ได้ยกระดับการชุมนุมไปสู่การขับไล่ระบอบทักษิณ และขึ้นสู่เป้าหมายหลักคือการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง

ที่สำคัญจะต้องมีนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 7 ขึ้นมาแก้ไขวิกฤตครั้งนี้ให้สำเร็จ จึงจะยุติการชุมนุม แม้วันนี้มวลมหาประชาชนจะชุมนุมมายาวนานกว่า 7 เดือนแล้วก็ตาม

ขณะที่ฝ่ายรัฐบาล พรรคเพื่อไทย และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) คนเสื้อแดง ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งสำคัญ แม้วันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ ครม. บางคน จะต้องพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ไปแล้ว จากคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญกรณีย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี รวมไปถึงการตัดสินกรณีทุจริตจำนำข้าวของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช) ก็ตาม

แต่รัฐบาลก็ยังพยายามยื้อที่จะอยู่ต่อเพื่อรักษาอำนาจและดิ้นรนที่จะจัดการเลือกตั้งให้ได้ ภายใต้หัวโขนใหม่จาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไปเป็น นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ซึ่งเป็นคนในบริษัทตระกูลชินวัตร เป็นหัวขบวนปฏิบัติหน้าที่รักษาการแทนนายกรัฐมนตรีต่อไป

เมื่อฝ่ายหนึ่งต้องการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะกำจัดระบอบทักษิณที่ยึดกุมประเทศมาเป็นเวลายาวนานได้สำเร็จ แต่อีกฝ่ายต้องการเลือกตั้งโดยอ้างประชาธิปไตยคือการคืนอำนาจให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพื่อกลับเข้าสู่อำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด กำลังจะนำไปสู่จุดแตกหักที่หลายคนหวาดผวา เกรงว่าจะนำไปสู่สงครามการเมืองในเวลาอันใกล้นี้

ตรงนี้จึงเป็นที่มาที่ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองต่างพยายามหาทางออกให้กับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ เอกชน คณะรัฐบุคคล สถาบันการศึกษา นักการเมืองอาวุโส หมายรวมถึงความพยายามของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

แต่ความพยายามของทุกๆ ฝ่าย กลับไม่ได้รับการตอบรับจากคู่ขัดแย้ง ขณะที่สถานการณ์การเมืองในวันนี้ และขณะนี้ ดูเหมือนจะมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ท่ามกลางการอกสั่นขวัญหาย จากการประกาศกร้าวของแกนนำ กปปส. ที่พุ่งเป้าไปที่วุฒิสภาให้จัดการหานายกรัฐมนตรีมาตรา 7 โดยเร่งด่วน ด้านแกนนำคนเสื้อแดงอย่าง นายจตุพร พรหมพันธุ์ และ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ก็ประกาศสวนทันควันว่า หากมีการเสนอนายกรัฐมนตรีมาตรา 7 เมื่อไหร่ กลุ่ม นปช. คนเสื้อแดง ซึ่งขณะนี้ยึดพื้นที่ถนนอักษะเป็นที่ชุมนุม จะข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาจากฝั่งธน เพื่อมาปิดเกมการเสนอนายกรัฐมนตรีมาตรา 7 ทันที

การประกาศกร้าวของ นปช. ครั้งนี้ จึงอาจเป็นชนวนให้เกิดสงครามกลางเมืองตามที่โหรหลายสำนักมีการทำนายไว้ก็เป็นได้
มวลชนเสื้อแดงชุมนุมที่ถนนอักษะ
“สุญญากาศ” ทางการเมืองเกิดแล้ว

อย่างไรก็ดี ความพยายามที่จะแก้ไขวิกฤตการเมืองในเวลานี้ ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง และดูเหมือน นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภา กับ ส.ว. กลุ่มหนึ่ง ถูกคาดหวังว่าจะมาช่วยคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นได้ โดยร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ องค์กรอิสระ ภาคธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษา และกองทัพ เพื่อระดมหาแนวทางออกจากวิกฤตครั้งนี้ให้ได้

แต่ท่ามกลางความพยายามของ นายสุรชัย และกลุ่ม ส.ว. ที่ต้องการคืนความสุขให้กับประเทศต่อไปนั้น กลายเป็นเป้านิ่งให้ นปช. ใช้ในการปลุกระดมคนเสื้อแดง ว่าการกระทำของนายสุรชัย และ ส.ว. ครั้งนี้มีเจตนาจะล้มล้างระบอบประชาธิปไตย และต้องการช่วยให้แผนการล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ของ กปปส. สำเร็จได้

ที่สำคัญ พรรคเพื่อไทยยื่นหนังสือให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เอาผิดนายสุรชัย และกลุ่ม 40 ส.ว. ในข้อหาสมคบกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. สรรหานายกรัฐมนตรีตามมาตรา 7 ซึ่งการกระทำครั้งนี้อาจเข้าข่ายความผิดสนับสนุนให้ก่อการกบฏ ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ประกอบมาตรา 86

ขณะที่ข้อเท็จจริงเสียงเรียกร้องจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ไปยังวุฒิสภาซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ใช้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ให้เป็นผู้นำออกมาร่วมกับองค์กรอื่นเพื่อแสวงหาทางออกให้ประเทศ และขอให้กำหนดให้มีรัฐบาลชั่วคราวเพื่อปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง

โดยใช้มาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ว่า ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ดังนั้น การที่ กปปส. เลือกใช้มาตรา 7 ในการตั้งนายกรัฐมนตรีจึงหมายรวมถึงสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้โดยเฉพาะเมื่อศาล รธน. และ ป.ป.ช. ตัดสินกรณีจำนำข้าว มีผลให้ยิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่ง จึงเท่ากับว่าปัจจุบันประเทศไม่มีนายกฯ ไม่มีรัฐบาล ไม่มี ส.ส. ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร สภาวะเช่นนี้จึงถูกอนุมานว่า เป็นสภาวะ “สุญญากาศ” ทางการเมือง

ส่วนองค์กรต่างๆ ยังอยู่ครบ ไม่ได้สิ้นสภาพตามไปด้วย ทั้งองค์กรอิสระ ศาล และกองทัพ จึงหมายความว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 ยังใช้บังคับอยู่ จึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญเท่าที่เปิดโอกาสให้ทำได้

นี่คือวิธีการที่นายสุเทพเชื่อว่าเป็นไปได้ที่สุดในการแก้ปัญหาตามมาตรา 7 จึงออกแถลงการณ์ใจความชัดเจนว่า ในกรณีที่สิ้นสภาพ หากในสถานการณ์ปกติ สภาผู้แทนราษฎรจะทำหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ทันที ทว่าตอนนี้ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาจึงเป็นองค์กรเดียวที่เหลืออยู่ มวลมหาประชาชนขอวิงวอนให้ประธานวุฒิฯ ช่วยปรึกษาประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด และประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการหารือให้มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ทันที ทั้งนี้ มวลมหาประชาชนจะชุมนุมต่อไปอย่างสันติ อหิงสา จนกว่าจะมีนายกรัฐมนตรีมาบริหารประเทศ ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ต่อไป
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสมาชิกวุฒิสภา เดินหน้าหารือกับหน่วยงานต่าง ๆ
วุฒิสภาไร้ข้อสรุป ม.7 โยนคืนสุเทพ?

อย่างไรก็ดี ตลอดสัปดาห์นี้ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย และกลุ่ม 40 ส.ว. นัดหารือสมาชิกวุฒิสภานอกรอบเพื่อหาทางออกให้กับประเทศด้วยการเชิญภาคส่วนต่างๆ มาเสนอความคิดเห็นเพื่อร่วมกันหาทางออกตั้งแต่ 12 พฤษภาคมเป็นต้นมา และตั้งเป้าจะหาข้อสรุปให้ได้ภายในวันศุกร์ที่ 16 พฤษภาคมนี้

แต่จากการเชิญภาคส่วนต่างๆ มาร่วมแสดงความคิดเห็นทั้งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และตัวแทนของ 12 องค์กร ทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งและตัวแทนจากศาล แต่ถูกปฏิเสธจากฝ่ายพรรคเพื่อไทยและกลุ่ม นปช. ทำให้ยังไม่สามารถหาข้อสรุปอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะเรื่องหลักคือตัวนายกรัฐมนตรี ที่หลายฝ่ายมองว่าจะนำเอามาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญมาใช้ก็ยังดูเหมือนจะเลือนรางออกไปทุกขณะ

ด้าน พลเอก สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกวุฒิสภาแบบสรรหา กล่าวถึงการทำหน้าที่ของวุฒิสภาในขณะนี้ว่า ทางสมาชิกวุฒิสภาทำหน้าที่รวบรวมความเห็นของทุกฝ่าย ต้องรอดูวันศุกร์ว่าจะได้ข้อสรุปออกมาว่าเป็นอย่างไร

ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเริ่มต้นมาตั้งแต่ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมของรัฐบาล รวมไปถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราอื่นๆ ที่มีปัญหา ถามว่ารัฐบาลเคยแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองหรือไม่ รัฐบาลไม่เคยรักษาแนวทางของประชาธิปไตยตามที่เคยพูดไว้ มุ่งแต่รักษาอำนาจของตัวเอง

ประชาธิปไตยจึงถึงทางตัน เพราะรัฐไม่เคยแสดงความรับผิดชอบทางประชาธิปไตย จึงเกิดปัญหาขึ้นมา เราไม่เห็นให้ความสำคัญกับปัญหาหนี้สินชาวนา ที่รัฐบาลค้างค่าจำนำข้าวจนชาวนาต้องผูกคอตาย และก็ไม่เห็นการออกมาแสดงความเสียใจในเรื่องนี้จากรัฐบาล

หากจะแก้ปัญหาด้วยการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง สามารถจัดการเลือกตั้งได้ภายใต้ภาวะบ้านเมืองที่สงบ ซึ่งเรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล ถามว่ารัฐบาลแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้หรือไม่ เมื่อรัฐบาลจัดการเลือกตั้งไม่ได้ รักษาความสงบไม่ได้ แล้วจะอยู่ขวางทางให้ประเทศเกิดปัญหาอย่างนี้หรือ ทำไมไม่เปิดโอกาสให้คนอื่นเข้ามาแก้ปัญหา

“ครั้งนี้ถ้าวุฒิสภาแก้ไม่ได้ก็จบ ศุกร์นี้วุฒิสภาต้องมีคำตอบที่ชัดเจนให้ประชาชน ถ้ามีทางออกก็เดินต่อ ถ้าถึงทางตันก็แถลงให้ประชาชนมาร่วมกันหาทางออก”

นอกจากนี้ หากเวทีหาทางออกประเทศของวุฒิสภาไร้ข้อสรุป บทบาทจากนี้ไปภาระดังกล่าวย่อมต้องถูกโยนกลับไปที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และกลุ่ม กปปส. ที่ต้องหาทางออกในเรื่องนี้ต่อไป
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก
ทหารเท่านั้นยุติคู่ขัดแย้งได้

ดังนั้น หากข้อสรุปของวุฒิสภาไม่สามารถนำเสนอทางออกให้ประเทศได้ หรือมีแต่ไม่สามารถสร้างความสมดุล หรือความพอใจให้กับทั้ง 2 ฝ่ายได้อย่างลงตัว ก็จะเริ่มเห็นเค้าลางของสงครามกลางเมืองและการต่อสู้ของคู่ขัดแย้งที่เชื่อว่าต่างฝ่ายต่างมีกองกำลัง และอาจจะมีอาวุธจำนวนมากที่เราคาดไม่ถึงถูกนำมาใช้ในการจัดการปัญหาครั้งนี้ ซึ่งกองทัพเองก็มีการประเมินสถานการณ์ไว้เช่นเดียวกันและอาจมีการเตรียมพร้อมในการดูแลความสงบของบ้านเมือง จึงอาจเป็นที่มาให้นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ออกมากล่าวหา พล.ต.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ว่ามีการจัดตั้งกองพลส่วนหน้า ที่เสมือนตั้งขึ้นมาเพื่อปราบปรามประชาชนในเหตุการณ์เมื่อปี 2553 เพราะการจัดตั้งกองพลส่วนหน้านี้ ที่มีภารกิจพร้อมเมื่อสั่ง ก็จะสามารถจัดการประชาชนได้ทันที

โดยกองทัพภาคที่ 1 ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าวโดยยืนยันว่าสิ่งที่นายจตุพรกล่าวอ้างนั้น ไม่เป็นความจริง ทหารทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะทหารได้รับนโยบายจาก พล.อ.ประยุทธ์ อย่างชัดเจน โดยเน้นการดูแลความปลอดภัยประชาชนทุกฝ่าย พร้อมกันนี้ขอร้องทางแกนนำ นปช. ว่า อย่านำเอาทหารเข้าไปเกี่ยวข้องเพื่อเป็นเงื่อนไขเข้าไปสู่ความขัดแย้ง

ด้าน พลเอก สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา ในฐานะอดีตหัวหน้าคณะสำนักงานเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่ทำการรัฐประหารเมื่อปี 2549 กล่าวว่า ที่ผ่านมาฝ่ายทหารมักจะกล่าวอยู่เสมอว่า การเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง ต้องถามต่อไปว่าตอนนี้ยังเป็นเรื่องการเมืองอยู่อีกหรือไม่ มองเรื่องนี้อย่างไร สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในเวลานี้เกินขีดของการแก้ไขปัญหาด้วยการเมืองแล้ว นี่เป็นเรื่องความมั่นคงแล้วหรือยัง

ด้านแหล่งข่าวจากกองทัพอธิบายเรื่องของกองกำลังส่วนหน้าว่า การที่จะมีการจัดตั้งหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชา ตอนนี้ในพื้นที่กรุงเทพฯ อาจจะเห็นทหารออกมาปฏิบัติหน้าที่ตามจุดต่างๆ มากขึ้น นั่นเป็นส่วนหนึ่งของแผนในการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ เหมือนแผนเผชิญเหตุทั่วไป เป็นไปเพื่อความมั่นคง แต่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อจะปราบปรามฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างแน่นอน

พร้อมยอมรับว่า ตอนนี้ทหารอยู่ในสถานะเตรียมความพร้อมเพื่อช่วยคลี่คลายสถานการณ์เท่านั้น ไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับฝ่ายใด และสถานการณ์ขณะนี้ก้าวข้ามข้อยุติทางด้านกฎหมายไปแล้ว จากนี้ไปคงต้องมาดูหลักด้านรัฐศาสตร์เอาเข้ามาพิจารณาควบคู่กันไปด้วย เพราะหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นไปอย่างนี้เศรษฐกิจของประเทศชาติจะเสียหายหนัก

ปฏิเสธไม่ได้ว่าภายในสถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นอยู่เวลานี้ ฝ่ายพรรคเพื่อไทยที่ยังกุมอำนาจในการบริหารประเทศอยู่ แม้จะไม่มีอำนาจเต็มเหมือนอดีต แต่ด้วยสภาพที่ยังมีสถานะตามกฎหมายอยู่ พยายามที่จะยืดสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในเวลานี้ออกไป ขณะที่ฝ่าย กปปส.ก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องกฎหมายรองรับ ก็จำเป็นต้องเดินหน้าเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อไป

โอกาสที่มวลชนทั้ง 2 ฝ่ายแม้นาทีนี้อาจจะมีที่ตั้งที่ห่างกัน แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้วการเผชิญหน้าย่อมเป็นหนทางที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แน่นอนว่าผู้ที่จะเข้ามายุติปัญหานี้คงไม่พ้นหน้าที่ของทหารที่มีอำนาจทั้งอาวุธและกฎหมายรองรับ เพียงแต่ช่วงเวลาดังกล่าวนั้นจะมาถึงเร็วหรือช้าเท่านั้นเอง

กำลังโหลดความคิดเห็น