รายงานการเมือง
ย่อมมีผลต่อการตัดสินใจของสมาชิกวุฒิสภาไม่มากก็น้อย กับสถานการณ์การเมืองเวลานี้ แม้ว่ารัฐบาลรักษาการยังคงสภาพอยู่โดยมี นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ทำหน้าที่รักษาการนายกฯ แทน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร การประชุมวุฒิสภาวันศุกร์ที่ 9 พ.ค.นี้ อาจมี ส.ว.อภิปรายถกเถียงกันว่าวุฒิสภาจะเดินหน้าโหวตเลือกประธานวุฒิสภา-รองประธานวุฒิสภา หรือว่าจะเลื่อนออกไปก่อน
ด้วยที่หวั่นว่าหากเลือกกันไปแล้วเกิดปัญหาแทรกซ้อนขึ้นกลางทาง จะมีผลทำให้การเลือกประธานวุฒิสภามีปัญหาขึ้นได้ ผสมกับความเห็นของ ส.ว.ที่ยังเห็นแตกต่างกันเป็นสองขั้วอย่างชัดเจน คือฝ่ายที่เห็นด้วยให้ควรต้องมีการเลือกประธานวุฒิสภา กับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยให้มีการเลือก ก็ยังเถียงกันไม่เลิก จึงน่าเชื่อว่ากว่าวุฒิสภาจะได้ข้อยุติว่าจะเลือกหรือจะเลื่อน คงใช้เวลาหารือกันนานพอสมควร แม้ที่ประชุมวุฒิสภาเมื่อ 2 พ.ค.จะมีมติไปแล้วให้พิจารณาเรื่องนี้ไปแล้ว แต่หากเสียงส่วนใหญ่สั่งให้ถอย ก็อาจเลื่อนไปก่อนได้
เพราะตอนนี้มีเสียงทักท้วงดังขึ้นเรื่อยๆ ให้ ส.ว.คิดให้ดีก่อนลงมติ อาจจะเป็นการทำเกินพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ. 2557 ที่รัฐบาลทำเรื่องทูลเกล้าฯขึ้นไปเพื่อขอให้เปิดประชุมดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 132 ที่มีการระบุว่าการเปิดประชุมครั้งนี้ให้ทำใน 2 เรื่อง คือ การเห็นชอบการคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คือ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง กับการเปิดรับสมัครและคัดเลือกบุคคลมาเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในศาลปกครองเท่านั้น
ไม่ได้เปิดประชุมมาเพื่อการอื่นใดนอกจากนี้ หากวุฒิสภาไปดันเลือกประธานวุฒิสภา-ตั้ง กมธ.ขึ้นมา อาจสุ่มเสี่ยงจะโดนยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าวุฒิสภาได้ดำเนินการนอกเหนือไปจากที่ พ.ร.ฎ.กำหนดซึ่งจะสร้างปัญหาให้กับวุฒิสภาในอนาคตได้ หากไม่คิดให้รอบคอบ
จึงต้องดูกันว่าสุดท้ายที่ประชุม ส.ว.ในวันที่ 9 พ.ค.นี้ จะยืนยันตามมติเดิมเมื่อ 2 พ.ค.หรือจะยอมถอย เพื่อจะได้ไม่เกิดปมปัญหาจนเรื่องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากวินิจฉัยออกมาว่าให้การเลือกประธานวุฒิสภา-รองประธานวุฒิสภาดังกล่าวเป็นโมฆะ เนื่องจากทำนอกเหนือ พ.ร.ฎ.เปิดประชุมวุฒิสภา ก็อาจทำให้เกิดผลต่อเนื่องตามมา เช่นการไปยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.เพื่อเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องเช่นพวกที่เสนอและร่วมคะแนนเสียงในญัตติให้มีการเลือกประธานวุฒิสภา-กมธ.วุฒิสภารวมถึง ตัว สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ที่ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ส่วนการเอาผิดกับ ส.ว.ที่ร่วมลงคะแนนเสียงเลือกประธาน-รองประธานวุฒิสภาคงทำได้ยากเพราะเป็นการลงคะแนนลับ ไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่า ใครเข้าประชุมหรือโหวตบ้าง
คนในตึกวุฒิสภากระซิบบอกมาว่า แม้ สุรชัย รองประธานวุฒิสภา ในฐานะรักษาการประธานวุฒิสภา จะเป็นนักกฎหมายมือฉมังของสภาสูง ซึ่งที่ผ่านมาแสดงความเชื่อมั่นว่า วุฒิสภาสามารถดำเนินการเลือกประธาน-รองประธานวุฒิสภาได้เพราะเป็นเรื่องภายในของวุฒิสภา ไม่น่าจะขัดรธน.แต่ของแบบนี้มันก็ไม่แน่นอน ศาลรัฐธรรมนูญอาจไม่เห็นแบบเดียวกันกับ สุรชัย ก็ได้
เนื่องจากมีข่าวว่า แม้แต่ ส.ว.ในกลุ่มเดียวกันกับสุรชัยที่เป็น ส.ว.สายกฎหมาย ก็ไม่เห็นด้วยให้มีการเลือกประธานวุฒิสภา ด้วยที่หวั่นจะเกิดปัญหาข้อกฎหมาย
รวมถึงเตือนว่าหากสุรชัย ลาออกจากรองประธานวุฒิสภาเพื่อไปสมัครเป็นประธานวุฒิสภาขึ้นมา แล้วเกิดได้รับเลือกขึ้นมา แต่ระหว่างรอการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ปรากฏว่าเกิดปัญหาขึ้นมา การเลือกประธาน-รองประธานวุฒิสภาเกิดเป็นโมฆะ ฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ไม่มีสภาฯ ในเวลานี้ เหลือแต่วุฒิสภา หากไม่มีทั้งประธาน-รองประธานวุฒิสภา จะยิ่งทำให้ประเทศเกิดสุญญากาศหนักขึ้นไปอีก
จึงมีเสียงเตือน สุรชัย และพวกกลุ่ม 40 ส.ว.ว่าต้องคิดให้ดี หากไม่ชัวร์ก็อย่าเพิ่งรีบเลือกประธานวุฒิสภา ไม่อย่างนั้นจะพังกันหมด
อย่างไรก็ตาม หากการประชุมวันที่ 9 พ.ค.เสียงส่วนใหญ่ของวุฒิสภาเดินหน้า ให้มีการเลือกประธานวุฒิสภา-ตั้งกรรมาธิการ ส.ว.ที่ไม่เห็นด้วย รวมถึงแม้แต่ตัว สุรชัย เองก็คงทำอะไรไม่ได้ ก็ต้องไปวัดดวงกันข้างหน้าต่อไป หากเรื่องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาจริงๆ
ท่ามกลางข่าวว่า ฝ่ายเพื่อไทยก็จับตาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และคงไม่อยู่เฉยๆ แน่นอน หากสุดท้าย สุรชัย ได้เป็นประธานวุฒิสภา เพราะเพื่อไทยมองว่าสุรชัย คือพวกกลุ่ม 40 ส.ว.ที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลซึ่งหากได้เป็นประธานวุฒิสภาอาจทำให้เข้ามาคุมเกมในฝ่ายนิติบัญญัติดำเนินการบางอย่างที่ทำให้เพื่อไทยเพลี่ยงพล้ำการเมืองได้
คาดว่าถ้า สุรชัยได้เป็นประธานวุฒิสภา เพื่อไทยอาจใช้วิธีเตะถ่วงชะลอเรื่อง เช่น การส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าการเลือกประธานวุฒิสภาดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรืออาจเป็นไปได้ที่รัฐบาลอาจเล่นกันถึงขั้นส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยเรื่องนี้ เรียกได้ว่าฝ่ายกลุ่ม 40 ส.ว.ที่หนุน สุรชัย กับฝ่ายรัฐบาลเพื่อไทย คงอาจได้งัดข้อกันอีกครั้งหากว่าสุรชัยได้เป็นประธานวุฒิสภา
ส่วนความเคลื่อนไหวชิงเก้าอี้ประธานวุฒิสภา สายข่าวรายงานจากตึกวุฒิสภาว่า แคนดิเดทชิงประธานวุฒิสภาและทีมงานสนับสนุน ต่างเดินสายหาคะแนนเสียงให้กับฝ่ายตัวเองกับจนวุฒิสภาฝุ่นตลบ แม้ ศรีเมือง เจริญศิริ ส.ว.มหาสารคาม จากค่ายทักษิณ ชินวัตร จะถอนตัว ไม่ลงชิงแล้ว
แต่ จองชัย เที่ยงธรรม ส.ว.สุพรรณบุรี ยังสู้ต่อและลุยหาเสียงไม่มีถอย จนทำให้คะแนนที่จะเลือก จองชัย ที่มีไม่มากจนแทบไม่มีให้ลุ้น แต่คะแนนของจองชัย ก็อาจไปตัดกับ พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ ส.ว.สรรหา ที่อ้างว่าเพื่อไทยและ ทักษิณ ชินวัตร ผลักดันให้ชิงประธานวุฒิสภาสู้กับสุรชัย
ตามข่าวว่า จงรักกระสันต์อยากเป็นประธานวุฒิสภาถึงขั้นมีการบินไปพบ ทักษิณ ที่ต่างประเทศ เพื่อขอให้ช่วยสนับสนุน ข่าวบอกว่า ทักษิณ เองก็ไม่ได้ตอบรับมากนัก เพียงแต่บอกให้สมชายและเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ช่วยดูให้จงรักว่ามีโอกาสสู้สุรชัยได้ไหม หากสู้ได้ ก็ให้ดันเต็มที่โดยให้ไปบอก ส.ว.ในเครือข่ายให้ช่วยเทคะแนนให้ จงรัก
จนทำให้ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา จงรักดูจะมั่นใจมากหลังทราบข่าว ส.ว.สายพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลร่วม 40 คน จะดันให้เป็นประธานวุฒิสภา ส่วนคะแนนที่เหลือ ตัว จงรัก ก็กำลังพยายามดิ้นรนไปขอคะแนนเสียงกับพวก ส.ว.สรรหาที่ไม่เอา สุรชัย ที่น่าจะมีประมาณ 10-15 คน เพื่อหวังเบียดเอาชนะสุรชัยให้ได้
หากมีการเลือกประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภาในวันนี้ 9 พ.ค.ขึ้นมาจริงๆ ก็น่าติดตามว่า ใครจะเข้าวิน และให้จับตาดูการชิงรองประธานวุฒิสภาอีก 2 ตำแหน่งให้ดีด้วย เพราะอาจมี ส.ว.บางคนเสนอตัวลงชิงเก้าอี้แบบคนคาดไม่ถึง?