xs
xsm
sm
md
lg

“สภาสูง” เสียงแตก เลือกประธานวุฒิฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย
รายงานการเมือง

เรียบร้อยตามคาด การประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญนัดแรกศุกร์ที่ 2 พ.ค. นี้ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เลือกตั้งทั้ง 77 คน ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพิ่งจะประกาศรับรองผลไปเมื่อวันอังคารที่ 29 เม.ย. เดตไลน์วันสุดท้าย จะได้เข้ากล่าวคำปฏิญาณตนต่อที่ประชุมวุฒิสภาเพื่อปฏิบัติหน้าที่ และ ส.ว. เลือกตั้งที่รักษาการเวลานี้จะพ้นสภาพไปโดยทันที

โดยชื่อ ส.ว. เลือกตั้งล็อตใหม่ ที่ กกต. รับรองไปล็อตสุดท้าย จำนวน 15 คน ที่น่าสนใจก็เช่น คุณหญิง จารุวรรณ เมณฑกา ส.ว.กรุงเทพมหานคร เป็นต้น

การเปิดประชุมวุฒิสภาแค่ช่วงสั้นๆ 8 วันคือ 2-10 พ.ค. โดยเหตุที่เปิดก็คือ เพื่อให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คนใหม่ และการรับสมัครและแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิศาลปกครองสูงสุด 2 คน อันเป็นการเปิดประชุมวุฒิสภาโดยใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญมาตรา 132 ที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจวุฒิสภาทำได้เป็นกรณีพิเศษแม้จะไม่มีสภาผู้แทนราษฎร

มีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นในกลุ่ม ส.ว. กันแล้ว ทั้ง ส.ว. สรรหา และ ส.ว. ปัจจุบัน กับเรื่องการชิงเก้าอี้ “ประธานวุฒิสภา-รองประธานวุฒิสภา” ว่าตกลงจะเลือกกันเลยในช่วงเปิดสมัยประชุมนี้เลยหรือไม่ เพราะหากไม่เลือกก็ต้องรออีกนาน

ยิ่งหากจะต้องรอเปิดประชุมแบบปกติแล้วค่อยมาเลือก คือให้มีสภาผู้แทนราษฎรเสียก่อน แล้ววุฒิสภาเปิดประชุมสมัยสามัญปกติแล้วมาเลือก อาจรอไปอีกหลายเดือน เพราะหากมีการเลือกตั้ง ส.ส. 20 ก.ค. ก็หมายความว่า กว่าจะเปิดสภาได้ก็ต้องโน่นปลายเดือนสิงหาคม

รอไปอีกร่วมๆ 4 เดือน แถมยังไม่รู้จะมีปัญหาเลือกตั้งอะไรกันอีกหรือไม่ การเลือกตั้งจะโมฆะอีกไหม หากโมฆะอีกก็ยาวเลย

ส.ว. หลายคนเลยบอกว่าน่าจะต้องถกกันให้ได้ข้อสรุปในช่วง 2-10 พ.ค. นี้ ว่าจะเลือกประธานวุฒิสภากันหรือไม่ เนื่องจาก ส.ว. หลายคน เห็นว่าหากปล่อยไว้แบบนี้ไปเรื่อยๆ ไม่มีประธานวุฒิสภาตัวจริง มีแต่รักษาการ ที่กระทบแน่ๆ ก็คือ วุฒิสภาจะไม่สามารถพิจารณาวาระที่ ป.ป.ช. ส่งมาให้วุฒิสภาพิจารณาถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง

อย่างตอนนี้มีส่งมาแล้ว 2 สำนวนคือ สำนวนถอดถอน นิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และ สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาได้เลย เรื่องก็ค้างแบบนี้ไปเรื่อยๆ

เว้นแต่ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาในฐานะรักษาการประธานวุฒิสภาจะต้องรีบส่งเรื่องไปให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัยว่า การขอเปิดประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณาเรื่องการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองในสภาพแบบนี้ (ไม่มีทั้งประธานสภา และประธานวุฒิสภา) จะทำได้หรือไม่ ซึ่งหากศาล รธน. บอกว่าทำได้ ก็จะได้ปลดล็อกเรื่องนี้ไปได้โดยเร็ว แต่หากศาล รธน. วินิจฉัยว่า เปิดไม่ได้ สำนวนคดีถอดถอนที่ ป.ป.ช. ส่งมาทั้งกรณีนิคม-สมศักดิ์และอื่นๆ ที่จะตามมา ก็จะค้างไปเรื่อยๆ เพราะเปิดประชุมวุฒิสภาไม่ได้ เนื่องจากไม่มีประธานวุฒิสภาตัวจริงทำหน้าที่

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ ส.ว. จำนวนไม่น้อยเห็นว่า ควรจะมีการเลือกประธานวุฒิสภาในช่วง 2-10 พ.ค. นี้ ไม่ควรปล่อยให้สภาสูงที่จะเริ่มทำงานเต็มตัวตั้งแต่ 2 พ.ค. อยู่ในสภาพ ไม่มีผู้นำไปเรื่อยๆ

จับกระแสให้มีการเลือกประธานวุฒิสภากันในช่วงนี้ พบว่า มีแรงหนุนก็มีแรงต้าน เพราะก็มี ส.ว. อีกไม่น้อย เห็นว่า ยังไม่สมควรจะเลือก โดยอ้างว่าอาจมีปัญหาข้อกฎหมายได้ เนื่องจากการที่ขอเปิดประชุมวุฒิสภาครั้งนี้เป็นการขอเปิดตามรธน.มาตรา 132 เพื่อทำเรื่อง ป.ป.ช. กับผู้ทรงคุณวุฒิศาลปกครองสูงสุด หากเอาเรื่องการเลือกประธานวุฒิสภา เข้ามาด้วย อาจก่อให้เกิดปัญหาข้อกฎหมายตามมาครั้งใหญ่

เช่น หากมีการเลือกประธานวุฒิสภา แล้วปรากฏว่า สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ที่ได้รับแรงหนุนจากพวก ส.ว.สรรหา - กลุ่ม 40 ส.ว. ได้รับเลือกให้เป็นประธานวุฒิสภา ก็อาจจะมี ส.ว. บางส่วนเช่นอาจเป็น ส.ว. สายพรรคเพื่อไทยที่ต้องการเอาคืนพวก ส.ว. สรรหาหลังโดนพวก 40 ส.ว. เล่นงานไปหลายรอบ โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจยื่นเรื่องไปให้ผู้ตรวจการแผ่นดินหรือศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ซึ่งหากเกิดว่าศาล รธน. วินิจฉัยว่าการเลือกประธานวุฒิสภาดังกล่าวทำไม่ได้ ไม่เข้าองค์ประกอบการขอเปิดประชุมวุฒิสภาครั้งนี้ แบบนี้ พวก ส.ว. สรรหา - กลุ่ม 40 ส.ว. หรือพวก ส.ว. ที่ไปร่วมโหวตให้มีการเลือกประธานวุฒิสภา อาจถูกยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. ไต่สวนชี้มูลเพื่อเอาผิดได้ นี้คือเหตุผลที่ ส.ว. ฝ่ายที่เห็นว่ายังไม่ควรเลือกประธานวุฒิสภาให้เหตุผลเอาไว้

อย่างไรก็ตาม ส.ว.สายที่สนับสนุนให้เลือกประธานวุฒิสภา ก็แย้งว่า ไม่น่าจะมีปัญหาข้อกฎหมายตรงส่วนนี้เพราะการเลือกประธานวุฒิสภา เป็นเรื่องภายในของวุฒิสภา เป็นสิ่งที่น่าจะทำได้

มีข่าวออกมาจากตึกวุฒิสภาหลัง กกต. รับรอง ส.ว. ครบ 77 คนว่า การประชุมวุฒิสภานัดแรก 2 พ.ค. คาดว่าคงจะมีส.ว. บางส่วนอาจหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือกันเลยในที่ประชุม เพื่อให้ ส.ว. ได้อภิปรายแสดงความเห็นว่าการเลือกประธานวุฒิสภาสามารถทำได้หรือไม่ได้ในทางข้อกฎหมาย

แต่ก็มีข่าวอีกบางกระแสบอกว่า การประชุมวุฒิสภา 2 พ.ค. อาจยังไม่มีการหารือเรื่องนี้ แต่จะรอดูอีกสักระยะ เพื่อให้ส.ว. ทั้งหมด พูดคุยกันเองนอกรอบก่อนว่าจะเอาอย่างไร หากเช็กเสียงแล้วพบว่า ส.ว. ส่วนใหญ่เอาด้วยให้มีการเลือกประธานวุฒิสภา ก็ค่อยมานัดหมายประชุมกันอีกที ว่าจะโหวตเลือกประธานวุฒิสภากันวันไหนในช่วงก่อนปิดประชุม 10 พ.ค.

ข่าวที่ลอยมาจากตึกวุฒิสภา ในช่วงใกล้วันเปิดประชุมวุฒิสภา ก็คือ มีคนเตรียมเสนอตัวลงชิงประธานวุฒิสภา เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนแล้วคือ พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ ส.ว.สรรหา และอดีตรอง ผบ.ตร. ข่าวบอกว่า ช่วงหลังสงกรานต์เป็นต้นมา พล.ต.อ.จงรัก เริ่มหาเสียงกับ ส.ว. สรรหา และ ส.ว. เลือกตั้งชุดใหม่ล่วงหน้าไปหลายวันแล้ว

แถมข่าวลือว่า พล.ต.อ.จงรัก ได้แรงหนุนจากคีย์แมนพรรคเพื่อไทยบางคน ที่เป็นทั้งอดีตตำรวจเก่าและนักการเมืองในพรรคเพื่อไทยช่วยหาเสียงให้ด้วย ช่วยติดต่อ ส.ว. เลือกตั้งในเครือข่ายเพื่อไทยว่าขอให้ช่วงเทเสียงสนับสนุนพล.ต.อ.จงรัก หากมีการเลือกประธานวุฒิสภา

สายข่าวจากวุฒิสภาเล่ามาว่า พล.ต.อ.จงรัก ยังอยู่ในช่วงการตัดสินใจอีกครั้งว่าจะลงหรือไม่ลง และพอข่าวเริ่มรั่วว่าตัวเองหาเสียงชิงประธานวุฒิสภา มีคนพูดกันมากในตึกวุฒิสภา เจ้าตัวเลยแทงกั๊กบอกขอดูก่อนว่าคู่แข่งขันจะมีใครบ้าง เช่นรอดูท่าทีของ ศรีเมือง เจริญศิริ ส.ว.มหาสารคาม ว่าจะลงสมัครชิงประธานวุฒิสภาหรือไม่ และหากศรีเมืองลง ทางส.ว. สายเพื่อไทยจะว่าอย่างไร

เพราะ จงรัก รู้ดีว่า หากศรีเมืองลงสมัคร แถม จองชัย เที่ยงธรรม ส.ว.สุพรรณบุรี ก็ลุยหาคะแนนเสียงอย่างหนักไม่เลิก ตัว จงรัก หากลงด้วย อาจได้คะแนนมาที่โหล่ เพราะคะแนนไปตัดกันเองระหว่าง ศรีเมือง-จองชัย-จงรัก

ส่วนคนที่จะเข้าวินม้วนเดียวจบ ก็คือ สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย นั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น