xs
xsm
sm
md
lg

“สภาสูง”เสียงแตก เลือกประธานวุฒิฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**เรียบร้อยตามคาด การประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญนัดแรก ศุกร์ที่ 2 พ.ค.นี้ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)เลือกตั้ง ทั้ง 77 คน ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพิ่งจะประกาศรับรองผลไปเมื่อวันอังคารที่ 29 เม.ย. เดทไลน์วันสุดท้าย จะได้เข้ากล่าวคำปฏิญาณตนต่อที่ประชุมวุฒิสภา เพื่อปฏิบัติหน้าที่ และ ส.ว.เลือกตั้งที่รักษาการเวลานี้ จะพ้นสภาพไปโดยทันที
โดยชื่อส.ว.เลือกตั้งล็อตใหม่ที่กกต.รับรองไปล็อตสุดท้าย จำนวน 15 คน ที่น่าสนใจก็เช่น คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ส.ว.กรุงเทพมหานคร เป็นต้น
การเปิดประชุมวุฒิสภาแค่ช่วงสั้นๆ 8 วัน คือ 2-10 พ.ค. โดยเหตุที่เปิดก็คือ เพื่อให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คนใหม่ และการรับสมัครและแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิศาลปกครองสูงสุด 2 คน อันเป็นการเปิดประชุมวุฒิสภา โดยใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 ที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจวุฒิสภาทำได้เป็นกรณีพิเศษ แม้จะไม่มีสภาผู้แทนราษฎร
มีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นในกลุ่มส.ว.กันแล้ว ทั้ง ส.ว.สรรหา และส.ว.ปัจจุบัน กับเรื่องการชิงเก้าอี้ “ประธานวุฒิสภา-รองประธานวุฒิสภา”ว่าตกลงจะเลือกกันในช่วงเปิดสมัยประชุมนี้เลยหรือไม่ เพราะหากไม่เลือก ก็ต้องรออีกนาน
ยิ่งหากจะต้องรอเปิดประชุมแบบปกติแล้วค่อยมาเลือก คือ ให้มีสภาผู้แทนราษฎรเสียก่อน แล้ววุฒิสภาเปิดประชุมสมัยสามัญปกติแล้วมาเลือก อาจรอไปอีกหลายเดือน เพราะหากมีการเลือกตั้งส.ส.ในวันที่ 20 ก.ค. ก็หมายความว่า กว่าจะเปิดสภาฯได้ ก็ต้องโน่นปลายเดือนสิงหาคม
รอไปอีกร่วมๆ 4 เดือน แถมยังไม่รู้จะมีปัญหาเลือกตั้งอะไรกันอีกหรือไม่ การเลือกตั้งจะโมฆะอีกไหม หากโมฆะอีก ก็ยาวเลย
ส.ว.หลายคนเลยบอกว่า น่าจะต้องถกกันให้ได้ข้อสรุปในช่วง 2-10 พ.ค.นี้ ว่าจะเลือกประธานวุฒิสภากันหรือไม่ เนื่องจากส.ว.หลายคน เห็นว่าหากปล่อยไว้แบบนี้ไปเรื่อยๆ ไม่มีประธานวุฒิสภาตัวจริง มีแต่รักษาการ ที่กระทบแน่ๆ ก็คือ วุฒิสภาจะไม่สามารถพิจารณาวาระที่ป.ป.ช. ส่งมาให้วุฒิสภาพิจารณาถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง
อย่างตอนนี้ มีส่งมาแล้ว 2 สำนวน คือ สำนวนถอดถอน นิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และ สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาฯได้เลย เรื่องก็ค้างแบบนี้ไปเรื่อยๆ
เว้นแต่ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา ในฐานะรักษาการประธานวุฒิสภา จะต้องรีบส่งเรื่องไปให้ "ศาลรัฐธรรมนูญ" วินิจฉัยว่า การขอเปิดประชุมวุฒิสภา เพื่อพิจารณาเรื่องการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองในสภาพแบบนี้ (ไม่มีทั้งประธานสภาฯ และประธานวุฒิสภา) จะทำได้หรือไม่ ซึ่งหากศาลรธน. บอกว่าทำได้ ก็จะได้ปลดล็อกเรื่องนี้ไปได้โดยเร็ว แต่หากศาลรธน.วินิจฉัยว่า เปิดไม่ได้ สำนวนคดีถอดถอนที่ ป.ป.ช. ส่งมาทั้งกรณี นิคม-สมศักดิ์ และอื่นๆ ที่จะตามมา ก็จะค้างไปเรื่อยๆ เพราะเปิดประชุมวุฒิสภาไม่ได้ เนื่องจากไม่มีประธานวุฒิสภาตัวจริง ทำหน้าที่
**ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ส.ว.จำนวนไม่น้อยเห็นว่า ควรจะมีการเลือกประธานวุฒิสภา ในช่วง 2-10 พ.ค.นี้ ไม่ควรปล่อยให้สภาสูงที่จะเริ่มทำงานเต็มตัว ตั้งแต่ 2 พ.ค. อยู่ในสภาพ ไม่มีผู้นำไปเรื่อยๆ
จับกระแสให้มีการเลือกประธานวุฒิสภากันในช่วงนี้ พบว่า มีแรงหนุน ก็มีแรงต้าน เพราะก็มี ส.ว.อีกไม่น้อย เห็นว่า ยังไม่สมควรจะเลือก โดยอ้างว่าอาจมีปัญหาข้อกฎหมายได้ เนื่องจากการที่ขอเปิดประชุมวุฒิสภาครั้งนี้ เป็นการขอเปิดตามรธน.มาตรา 132 เพื่อทำเรื่องป.ป.ช. กับผู้ทรงคุณวุฒิศาลปกครองสูงสุด หากเอาเรื่องการเลือกประธานวุฒิสภา เข้ามาด้วย อาจก่อให้เกิดปัญหาข้อกฎหมายตามมาครั้งใหญ่
เช่น หากมีการเลือกประธานวุฒิสภา แล้วปรากฏว่า นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ที่ได้รับแรงหนุนจากพวกส.ว.สรรหา –กลุ่ม 40 ส.ว.ได้รับเลือกให้เป็นประธานวุฒิสภา ก็อาจจะมี ส.ว.บางส่วน เช่น อาจเป็นส.ว.สายพรรคเพื่อไทย ที่ต้องการเอาคืนพวกส.ว.สรรหา หลังโดนพวก 40 ส.ว.เล่นงานไปหลายรอบ โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจยื่นเรื่องไปให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณา ซึ่งหากเกิดว่าศาลรธน.วินิจฉัยว่า การเลือกประธานวุฒิสภาดังกล่าว ทำไม่ได้ ไม่เข้าองค์ประกอบการขอเปิดประชุมวุฒิสภาครั้งนี้ แบบนี้ พวกส.ว.สรรหา-กลุ่ม 40 ส.ว. หรือพวกส.ว.ที่ไปร่วมโหวตให้มีการเลือกประธานวุฒิสภา อาจถูกยื่นเรื่องให้ป.ป.ช.ไต่สวนชี้มูลเพื่อเอาผิดได้ นี่คือเหตุผลที่ส.ว.ฝ่ายที่เห็นว่า ยังไม่ควรเลือกประธานวุฒิสภา ให้เหตุผลเอาไว้
อย่างไรก็ตาม ส.ว.สายที่สนับสนุนให้เลือกประธานวุฒิสภา ก็แย้งว่า ไม่น่าจะมีปัญหาข้อกฎหมายตรงส่วนนี้ เพราะการเลือกประธานวุฒิสภา เป็นเรื่องภายในของวุฒิสภา เป็นสิ่งที่น่าจะทำได้
มีข่าวออกมาจากตึกวุฒิสภา หลังกกต.รับรอง ส.ว.ครบ 77 คน ว่า การประชุมวุฒิสภานัดแรก 2 พ.ค. คาดว่าคงจะมี ส.ว.บางส่วนอาจหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือกันเลยในที่ประชุม เพื่อให้ ส.ว.ได้อภิปรายแสดงความเห็นว่า การเลือกประธานวุฒิสภาสามารถทำได้หรือไม่ได้ในทางข้อกฎหมาย
แต่ก็มีข่าวอีกบางกระแสบอกว่า การประชุมวุฒิสภา 2 พ.ค. อาจยังไม่มีการหารือเรื่องนี้ แต่จะรอดูอีกสักระยะ เพื่อให้ส.ว.ทั้งหมด พูดคุยกันเองนอกรอบก่อน ว่าจะเอาอย่างไร หากเช็คเสียงแล้วพบว่า ส.ว.ส่วนใหญ่เอาด้วย ให้มีการเลือกประธานวุฒิสภา ก็ค่อยมานัดหมายประชุมกันอีกที ว่าจะโหวตเลือกประธานวุฒิสภากันวันไหน ในช่วงก่อนปิดประชุม 10 พ.ค.
**ข่าวที่ลอยมาจากตึกวุฒิสภา ในช่วงใกล้วันเปิดประชุมวุฒิสภา ก็คือ มีคนเตรียมเสนอตัวลงชิงประธานวุฒิสภา เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนแล้วคือ พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ ส.ว.สรรหา และอดีต รอง ผบ.ตร.
ข่าวบอกว่า ช่วงหลังสงกรานต์เป็นต้นมา พล.ต.อ.จงรัก เริ่มหาเสียงกับส.ว.สรรหา และส.ว.เลือกตั้งชุดใหม่ล่วงหน้าไปหลายวันแล้ว
แถมข่าวลือว่า พล.ต.อ.จงรัก ได้แรงหนุนจากคีย์แมนพรรคเพื่อไทยบางคน ที่เป็นทั้งอดีตตำรวจเก่า และนักการเมืองในพรรคเพื่อไทย ช่วยหาเสียงให้ด้วย ช่วยติดต่อ ส.ว.เลือกตั้ง ในเครือข่ายเพื่อไทยว่า ขอให้ช่วยเทเสียงสนับสนุน พล.ต.อ.จงรัก หากมีการเลือกประธานวุฒิสภา
สายข่าวจากวุฒิสภาเล่ามาว่า พล.ต.อ.จงรัก ยังอยู่ในช่วงการตัดสินใจอีกครั้ง ว่าจะลงหรือไม่ลง และพอข่าวเริ่มรั่ว ว่าตัวเองหาเสียงชิงประธานวุฒิสภา มีคนพูดกันมากในตึกวุฒิสภา เจ้าตัวเลยแทงกั๊ก บอกขอดูก่อนว่าคู่แข่งขันจะมีใครบ้าง เช่น รอดูท่าทีของ ศรีเมือง เจริญศิริ ส.ว. มหาสารคาม ว่าจะลงสมัครชิงประธานวุฒิสภา หรือไม่ และหากศรีเมืองลง ทางส.ว.สายเพื่อไทย จะว่าอย่างไร
เพราะ พล.ต.อ.จงรัก รู้ดีว่า หาก ศรีเมือง ลงสมัคร แถม จองชัย เที่ยงธรรม ส.ว.สุพรรณบุรี ก็ลุยหาคะแนนเสียงอย่างหนักไม่เลิก ตัว พล.ต.อ.จงรัก หากลงด้วย อาจได้คะแนนมาที่โหล่ เพราะคะแนนไปตัดกันเองระหว่าง ศรีเมือง-จองชัย-จงรัก
**ส่วนคนที่จะเข้าวินม้วนเดียวจบ ก็คือ สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย นั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น