xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ปู” ไป แล้วไงต่อ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เสียงไชโยโห่ฮิ้วดังลั่นทั่วทั้งแผ่นดินหลังจาก “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีคำวินิจฉัยออกมาชัดเจนว่า “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” กระทำผิดกฎหมาย ต้องพ้นจาก “เก้าอี้นายกรัฐมนตรี” ในคดีโยกย้าย “นายถวิล เปลี่ยนศรี” พ้นจากเก้าอี้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)

ทว่า เสียงแห่งความดีอกดีใจที่เกิดขึ้นก็ดังเพียงแค่ชั่วประเดี๋ยวประด๋าวเท่านั้น เพราะคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ได้ทำให้สภาพของรัฐบาลสิ้นสภาพในฉับพลับทันที ไม่ได้ทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในสภาพสุญญากาศ เนื่องจากผู้ที่ต้องพ้นจากเก้าอี้นอกจากนางสาวยิ่งลักษณ์แล้ว มีแค่เพียงรัฐมนตรีอีก 9 คนเท่านั้นที่ต้องพ้นสภาพตามไปด้วย

นั่นหมายความว่า รัฐมนตรีที่เหลืออยู่ยังคงสามารถทำหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินได้ต่อไปโดยถูกต้องตามกฎหมายในสภาพของรัฐบาลรักษาการ

เช่นเดียวกับการชี้มูลความผิดของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ( ป.ป.ช.)ในคดีทุจริตรับจำนำข้าวที่มีบทสรุปแล้วว่า ให้มีการถอดถอนออกจากตำแหน่ง และส่งสำนวนการถอดถอนต่อไปยังวุฒิสภา ส่วนคดีอาญาให้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป ซึ่งการชี้มูลดังกล่าวมิได้ส่งผลต่อสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้แต่ประการใด

ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงจึงมาจบลงตรงที่ว่า “ปู” ไป แล้วยังไงต่อ?

นายสุเทพจะสามารถเผด็จศึกระบอบทักษิณให้สิ้นซากได้หรือไม่?

หรือสุดท้ายแล้วจุดจบของเรื่องราวทั้งหมดคือเดินหน้าไปสู่ “การเลือกตั้ง” และไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรๆ ในบ้านนี้เมืองนี้?

ศาล รธน.เชือด “ปู-9 รัฐมนตรี”

ทั้งนี้ ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยมีการวิเคราะห์ถึงแนวทางหรือความเป็นไปได้ของคำวินิจฉัยว่าสามารถออกมาเป็น 4 แนวทางด้วยกันคือ

1.วินิจฉัยว่า นางสาวยิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่งเฉพาะตัว ซึ่งผลที่ตามมาคือคณะรัฐมนตรีสามารถรักษาการต่อไป และเดินหน้าจัดการเลือกตั้งที่ดำเนินการอยู่ให้แล้วเสร็จ

2.วินิจฉัยว่า นางสาวยิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเฉพาะตัวพร้อมกับคณะรัฐมนตรีที่เข้าประชุมในวันที่มีมติโยกย้ายนายถวิล ซึ่งผลที่ตามมาก็คือคณะรัฐมนตรีที่เหลือสามารถรักษาการต่อไปได้ และเดินหน้าจัดการเลือกตั้งที่ดำเนินการอยู่ให้แล้วเสร็จ

3.วินิจฉัยว่า นางสาวยิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีพร้อมคณะรัฐมนตรีทั้งหมด ซึ่งผลที่ตามมาคือเกิดสุญญากาศทางการเมือง

และ 4.วินิจฉัยว่า นางสาวยิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเฉพาะตัว จากนั้นให้งดใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 181 ที่เขียนเอาไว้ว่า คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้าทำหน้าที่ หรือหมายความว่า เพื่อไม่ให้มีคณะรัฐมนตรีรักษาการ ซึ่งผลที่ตามมาคือเกิดภาวะสุญญากาศและนำไปสู่การตั้งนายกรัฐมนตรีคนกลาง

สุดท้ายเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 หวยก็ออกมาในแนวทางที่สองเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยด้วยมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ว่า ให้นางสาวยิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเฉพาะตัวพร้อมกับคณะรัฐมนตรีที่เข้าประชุมในวันที่มีมติโยกย้ายนายถวิล

ทั้งนี้ องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดประเด็นในการพิจารณาไว้ 3 ประเด็น และมีคำวินิจฉัยออกมาเป็นที่เรียบร้อย ประกอบด้วย

ประเด็นที่ 1 พิจารณาว่าเมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ปัญหาที่ต้องพิจารณานายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 วรรคหนึ่ง (2) ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงแล้วหรือไม่

ประเด็นนี้ ศาลฯ เห็นว่าแม้จะมีการยุบสภาเมื่อ 9 ธันวาคม 2556 แต่เมื่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อ จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่ สถานภาพความเป็นรัฐมนตรีจึงยังไม่สิ้นสุด ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐธรรมนูญสิ้นสุดเฉพาะตัวได้ ศาลฯ จึงมีอำนาจในการรับคำร้องนี้

ประเด็นที่ 2 การกระทำของนายกรัฐมนตรีเป็นการกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (2) (3) เป็นการทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรคหนึ่งหรือไม่

ประเด็นนี้ ศาลฯ เห็นว่า คำสั่งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี แม้นางสาวยิ่งลักษณ์จะอ้างว่า ไม่ได้เป็นผู้ริเริ่มการดำเนินการ แต่มีส่วนกระทำการในเรื่องนี้ด้วยหลายฝ่ายหลายประการ...

การดำเนินการจนมีผลให้นายถวิล พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการ สมช.ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ และมีการโยกย้าย รวมทั้งการที่ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ มาดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เห็นว่าผู้ถูกร้องเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ศาลฯ ยังระบุถึงการทำหนังสือโอนย้าย ไม่เป็นไปตามการปฏิบัติราชการตามปกติ และมีการแก้เอกสารเป็นการพิรุธอย่างโจ่งแจ้ง

ศาลฯ เห็นว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ใช้อำนาจในตำแหน่ง มีผลประโยชน์ทับซ้อน มีวาระซ่อนเร้น จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 เป็นการก้าวก่ายแทรกแซง เพื่อให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ที่เป็นเครือญาติของผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. การดำเนินการจึงไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และเป็นการดำเนินการไปเพื่อประโยชน์ของพวกพ้อง เป็นการกระทำที่ ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (2) (3) จึงมีผลทำให้ ความเป็นรัฐมนตรีขอนางสาวยิ่งลักษณ์สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรคหนึ่ง

ประเด็นที่ 3 เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ตามมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7 ) จะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ต้องสิ้นสุดลงด้วยหรือไม่

ประเด็นนี้ ศาลฯ เห็นว่า เฉพาะคณะรัฐมนตรีทุกคนที่ร่วมประชุม และลงมติโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 6 กันยายน 2554 เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวไปด้วย

แปลไทยเป็นไทยได้ความว่า เหตุที่นางสาวยิ่งลักษณ์ต้องพ้นจากตำแหน่งหลังนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีมาได้ 2 ปี 9 เดือนกับ 2 วัน ก็เพราะนักโทษชายหนีคดีทักษิณ ผู้เป็นพี่ชายและคุณหญิงพจมาน ผู้เป็นพี่สะใภ้ต้องการให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ เป็นผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการนั่นเอง

แต่ปัญหามีอยู่ว่า ผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น มีเพียงนางสาวยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการโยกย้ายนายถวิลเพียง 10 คนเท่านั้นที่พ้นจากตำแหน่ง ประกอบด้วย 1.ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ขณะเป็นรองนายกรัฐมนตรี 2.นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ขณะเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 3.พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ขณะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 4.นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ขณะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 5.นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ ขณะเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ 6.นายสันติ พร้อมพัฒน์ ขณะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 7.น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ขณะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 8.พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ขณะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม 9.นายปลอดประสพ สุรัสวดี ขณะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ส่วนที่เหลืออีก 25 คนยังคงสามารถทำหน้าที่ฝ่ายบริหารได้ต่อไป ประกอบด้วย 1. นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 2. นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี 3. นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 4. นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงประจำสำนักฯและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 5. นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 6. นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรฯ 7. นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 8. นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 9. นายชัยเกษม นิติสิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม 10. นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

11. นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง 12. นางเบญจา หลุยเจริญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง 13. นายสมศักดิ์ ภูรีศรีศักดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยว 14. นางปวีณา หงสกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 15. พล.อ.พฤณฑ์ สุวรรณทัต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม 16. นายพ้อง ชีวานันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม 17. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ 18. นายยรรยง พวงราช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ 19. นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย 20.นายประชา ประสพดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย 21. นายสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม 22. นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 23. นายประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 24. นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ 25. นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงอุตสาหกรรม

นั่นหมายความว่า สภาวะสุญญากาศมิได้เกิดขึ้น เพราะรัฐบาลยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้

“นิวัฒน์ธำรง” มีอำนาจเต็มจริงหรือ?

ทันทีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) 9 คน พ้นสภาพจากการเป็นรัฐมนตรี ได้มีประชุม ครม.พิเศษและที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี ลำดับที่ 2 ขึ้นปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ และเนื่องจากนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นรองนายกฯ อันดับ 1 ต้องพ้นสภาพจากการเป็นรัฐมนตรี ตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ นายนิวัฒน์ธำรงประกาศชัดเจนว่า รัฐบาลรักษาการมีหน้าที่หลักอยู่ 2 เรื่องคือ 1.เรื่องการเลือกตั้ง เพื่อให้มีรัฐบาลใหม่ให้เร็วที่สุดโดยจะประสานกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)อีกครั้ง และ 2.ระหว่างที่ยังไม่มีรัฐบาลจะปฏิบัติหน้าที่ดูแลประเทศชาติบ้านเมืองในสิ่งที่ทำให้ตามพระราชบัญญัติบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 18

“หากมีการเลือกตั้งในวันที่ 20 ก.ค.ตามที่ได้หารือกับ กกต.ไว้เบื้องต้นก็จะรักษาการประมาณ 2-3 เดือนเท่านั้น ซึ่งไม่หนักใจที่ทำหน้าที่นี้ และจะเร่งให้มีรัฐบาลชุดใหม่ให้เร็วที่สุด”นายนิวัฒน์ธำรงประกาศ

ปัญหาในทางกฎหมายที่จะต้องขบคิดและวิเคราะห์กันต่อไปก็คือสถานภาพของนายนิวัฒน์ธำรงมีอำนาจเต็มเช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรีตัวจริงหรือไม่ โดยเฉพาะอำนาจในการรับสนองพระบรมราชโองการเพื่อจัดการเลือกตั้งตามที่นายใหญ่หมายมั่นปั้นมือ เพราะขนาดนางสาวยิ่งลักษณ์เป็นรักษาการนายกรัฐมนตรีก็ยังไม่สามารถดำเนินการเต็มอำนาจได้เนื่องจากถูกกฎหมายควบคุมเอาไว้

นายนิวัฒน์ธำรงมีสถานะเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรีหรือผู้ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีหรือไม่

คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภาสรรหา ได้อธิบายประเด็นดังกล่าวเอาไว้ว่า ผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญทำให้ขณะนี้ประเทศไทยไม่มีนายกรัฐมนตรี ส่วนนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาลที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีนั้น มีสภาพเป็นเพียงแค่รองนายกรัฐมนตรี โดยอยู่ในส่วนของคณะรัฐมนตรีที่ต้องอยู่เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อตามรัฐธรรมนูญมาตรา 181 แต่เป็นรองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีตามมติของคณะรัฐมนตรีที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อฯ ตามมาตรา 10 วรรคสี่ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ 2534 แก้ไขเพิ่มเติม 2545

นั่นหมายความว่า ความเป็นรองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี มีข้อจำกัด เพราะถึงอย่างไรก็ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ใช่และไม่มีทางใช่นายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ ข้อจำกัดสำคัญที่สุดคือไม่ใช่ผู้รักษาการตาม พ.ร.ฎ.เลือกตั้งทั่วไป 9 ธันวาคม 2556 และเมื่อไม่ใช่ผู้รักษาการจึงไม่มีอำนาจมาเจรจากับคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ เพราะร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่นั้นคือร่างพ.ร.ฎ.แก้ไข พ.ร.ฎ.เลือกตั้งทั่วไป 9 ธันวาคม 2556 ฉบับเดิมที่เสียไปเฉพาะวันเลือกตั้งทั่วไปวันเดิม 2 กุมภาพันธ์ 2557 เท่านั้น นอกจากจะไม่มีอำนาจเจรจากับ กกต.แล้วยังไม่มีอำนาจลงนามรับสนองพระบรมราชโองการด้วย

“นี่คือข้อเสียของการที่ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวแล้วทำให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง เพราะแม้คณะรัฐมนตรีจะยังต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แต่ก็อยู่อย่างไม่มีนายกรัฐมนตรี มีแต่รองนายกรัฐมนตรี (หรือรัฐมนตรี) ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีเท่านั้น มีข้อจำกัดมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่อยู่ระหว่างยุบสภา อย่างที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น ย้ำอีกครั้งว่าจุดอ่อนสำคัญที่สุดคือไม่ใช่ผู้รักษาการตาม พ.ร.ฎ.เลือกตั้งทั่วไปร่วมกับประธาน กกต. จึงไม่มีอำนาจเจรจากับกกต.เรื่องร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ และไม่มีอำนาจลงนามรับสนองพระบรมราชโองการร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ รัฐธรรมนูญมาตรา 180 วรรคสองจึงกำหนดให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยเร็วไงครับ” นายคำนูณอธิบายรายละเอียดของกฎหมาย

นั่นหมายความว่า นายนิวัฒน์ธำรงไม่มีอำนาจลงนามรับสนองพระบรมราชโองการร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ และเมื่อทำไม่ได้ “ภาวะเดดล็อก” ทางการเมืองก็เกิดขึ้น

กระนั้นก็ดีปัญหานี้ดูจะยังเป็นเพียงข้อถกเถียงทางกฎหมายที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ โดยเฉพาะสำหรับองค์กรที่มีหน้าที่จัดการเรื่องตั้งอย่าง กกตโดยนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า กกต.ได้ทำหนังสือเชิญนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี และผู้มีอำนาจหน้าที่ในกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มาหารือในวันที่ 14 พฤษภาคม เวลา 14.00 น. ที่สำนักงาน กกต.เพื่อหารือในหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจัดเลือกตั้ง ทั้งปัญหาข้อกฎหมาย ข้อความในพระราชกฤษฎีกาในมาตรา 4 และผู้จะทำหน้าที่ทูลเกล้าทูลกระหม่อมพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมการจัดการเลือกตั้ง รวมทั้งวันเลือกตั้งจะเป็นวันที่ 20 กรกฎาคมหรือไม่

ป.ป.ช.ลงดาบ 2 ถอดถอน “ปู”แต่ยังไม่ฟันคดีอาญา

ถัดจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในวันถัดมาคือวันที่ 8 พฤษภาคม 2557 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ก็ได้มีการพิจารณาคำร้องของวุฒิสภาที่ขอให้ถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว

ผลที่ออกมาก็คือ คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติ 7 ต่อ 0 โดยระบุว่า “การที่ผู้ถูกกล่าวหาดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีและอยู่ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลซึ่งได้กําหนดนโยบายจํานําข้าวมาตั้งแต่ต้น และในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ที่มีอํานาจหน้าที่ในการกําหนดนโยบายและการมีส่วนร่วมในการบริหารโครงการ ซึ่ง ป.ป.ช.ได้มีหนังสือแจ้งไปยัง ผู้ถูกกล่าวหาถึงสองครั้งแล้วว่าโครงการดังกล่าวจะก่อให้เกิดปัญหาและความเสียหายอย่างยิ่ง ทั้งจะก่อให้เกิดการ ทุจริตในทุกขั้นตอนของกระบวนการรับจํานํา

“นอกจากนี้ผู้ถูกกล่าวหายังรับทราบปัญหาในการดําเนินโครงการจากการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งรายงานผลการดําเนินโครงการที่ผ่านมา ว่ามีผลขาดทุนสะสมสูงถึง สามแสนกว่าล้านบาท อีกทั้งหนังสือของสํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินแจ้งผลการตรวจสอบโครงการสรุปได้ว่าโครงการมีจุดอ่อนหรือความเสี่ยงในทุกขั้นตอนตั้งแต่การขึ้นทะเบียนเกษตรกรจนถึงการระบายข้าว ซึ่งเป็นช่องทางนําไปสู่การสวมสิทธิ์การจํานําและการทุจริตในโครงการ เกิดผลกระทบสร้างความเสียหายต่อเงินงบประมาณแผ่นดินทั้งเกษตรกรและเสี่ยงต่อระบบการคลังของประเทศ ไม่เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน แม้ในชั้นนี้พยานหลักฐานยังไม่ปรากฏชัดเจนว่าผู้ถูกกล่าวหามีส่วนร่วมในการทุจริตหรือสมยอมให้เกิดการทุจริตหรือไม่ก็ตาม

“แต่การที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่บริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อสภาผู้แทนราษฎรว่าจะป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐอย่างจริงจัง โดยยึดหลักความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ทั้งไม่พิจารณาระงับยับยั้งโครงการตั้งแต่เริ่มรับทราบความเสียหายอันร้ายแรงที่สุดของประเทศจากการดําเนินโครงการ จึงมีมติ 7 ต่อ 0 เสียงว่าพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการส่อว่าจงใจใช้อํานาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 178 และส่อว่าจงใจใช้อํานาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายตาม พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ มาตรา 11 (1) อันเป็นเหตุแห่งการถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาออกจากตําแหน่งตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 270 จึงให้แยกสํานวนการถอดถอนส่งไปยังวุฒิสภา เพื่อดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ต่อไป

“ส่วนคดีอาญานั้น ที่ประชุมมีมติให้ดําเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไปจนกว่าจะสิ้นกระแสความ ทั้งนี้โดยไม่ตัดพยานที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างมาในคําร้องขอนําสืบแก้ข้อกล่าวหาหลังสุด โดยให้นําไปพิจารณาในสํานวนคดีอาญาต่อไป”

ถามว่าผลของการชี้มูลดังกล่าวสร้างความสั่นสะเทือนต่อนางสาวยิ่งลักษณ์และรัฐบาลหรือไม่

คำตอบก็คือมีผลสั่นสะเทือน เพราะเป็นการตอกย้ำให้เห็นชัดเจนว่า นางสาวยิ่งลักษณ์กระทำผิดกฎหมาย โดยปล่อยให้มีการทุจริต

แต่ถ้าถามว่า สร้างความเสียหายกับสถานการณ์โดยรวมของระบอบทักษิณในขณะนี้หรือไม่

ก็ต้องบอกว่า ไม่ เพราะการชี้มูลของ ป.ป.ช.คือการฟันซ้ำดาบ 2 เท่านั้น เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ได้ทำให้นางสาวยิ่งลักษณ์หมดสภาพความเป็นนายกรัฐมนตรีไปแล้ว และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาวุฒิสภาก็ไม่เคยถอดถอนใครสำเร็จแม้แต่เพียงรายเดียว

ที่สำคัญคือ ป.ป.ช.ยังไม่ได้ชี้มูลความผิดในคดีอาญา ซึ่งจะสร้างผลสั่นสะเทือนมากกว่า และก็อีกเช่นกันว่า กว่าที่จะสรุปว่าฟ้องหรือไม่ฟ้องก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ อาจจะรอให้สำนวนแรกตกจากวุฒิสภาก่อนก็ได้

ดังนั้น สถานการณ์ของรัฐบาลขณะนี้จึงเป็นแค่เพียง “งูที่หลังหัก” มิใช่ “งูที่ตายแล้ว” แต่ประการใด

บึ้ม รพ.จุฬาภรณ์-ไทยพาณิชย์ แดงอกหักท้ารบ “อำมาตย์”

ตัดฉากกลับมาที่การเคลื่อนไหวของมวลชน โดยเฉพาะปฏิกิริยาจากฟากรัฐบาลและคนเสื้อแดง

สิ้นเสียงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ สัญญาณแห่งความรุนแรงจากคนเสื้อแดงก็เกิดขึ้นในฉับพลันทันที โดยสัญญาณแรกเกิดขึ้นจากแกนนำแดงฮาร์ดคอร์ที่มีชื่อว่า “ลุงยิ้ม ตาสว่าง” หรือ นายพฤกษ์ พฤกษ์สุนันท์ อายุ 54 ปี ซึ่งทุกครั้งที่ลุงยิ้ม ตาสว่างโพสต์ข้อความเตือนก็มักจะเกิดเหตุการณ์ตามนั้นทุกครั้งไป

ทั้งนี้ ในคราวนี้ ลุงยิ้ม ตาสว่างได้ออกมาเตือนเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้ ให้เจ้าหน้าที่ศาลระวังตัวไว้ หลังจากศาลเคาะคดีปมโยกถวิลเสร็จ โดยระบุว่า "เดี๋ยวก็นองเลือดแล้ว ผมว่าเจ้าหน้าที่ รีบกลับดีกว่า อีกประมาณ 30 นาทีมวลชนกินข้าวเสร็จ เขาจะบุกมาหาพวกท่าน เพราะเห็นว่าท่านอยากมีเรื่อง ก็คงมีมวลชนจัดให้ ข่าวจากเรดการ์ดแจ้งมาแบบนี้ เพราะประชาชนหมดความอดทน ตัวใครตัวมัน ชุดม้าเร็วกำลังออกตามหารถของพวกท่าน ให้ไว”

จากนั้น ลุงยิ้ม ตาสว่างก็ได้นำจดหมายของ “โกตี๋-นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ” ที่กำลังหลบหนีคดีหมิ่นเบื้องสูง โดยเป็นจดหมายถูกเขียนด้วยลายมือ มาโพสต์ตอกย้ำให้เห็นถึงความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น โดยมีข้อความดังนี้

“เริ่มสงครามชนชั้น..ต่อต้าน..ความอยุติธรรม พุธที่ 7 พฤษภาคม 2557 ณ แดนไกล

“เรียนนักรบเรดอาร์มี่ - คนเสื้อแดง วันนี้การตัดสินของแก๊งเถื่อน ต.ล.ก. ออกมาแบบนี้ .. ช่างแม่งมัน .. ถึงเวลาสู้ได้แล้วครับ ทำตามอุดมการณ์ที่ตั้งมั่นไว้ในแผ่นดิน พี่-น้อง ที่ยังไม่ต้องคดี สู้มัน ! ใต้ดิน - หน่วยจรยุทธ - ข้าวของครบ ผมจะเดินเกมกับแนวร่วมแดงอิสระเอง

ไม่ต้องปราศรัย - ไล่ล่ารายชื่อแล้ว สถานการณ์วันนี้ ต้องล่าหัวพวกมันอย่างเดียว ในเมื่อพวกมันเล่นงานพวกเราซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า จะมัวคิดนั่งเศร้าอยู่ทำไมครับ ผมเริ่มลงมือแล้ว พี่-น้อง ตามได้เลยครับ นับถือในอุดมการณ์สู้เพื่อประชาชน โดยประชาชน”

และในที่สุดก็เกิดเหตุความรุนแรงให้เห็นในค่ำคืนของวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้นางสาวยิ่งลักษณ์พร้อมรัฐมนตรีอีก 9 คนพ้นจากตำแหน่งถึง 3 ครั้ง ตรงกับสิ่งที่ลุงยิ้ม ตาสว่างและโกตี๋ประกาศเอาไว้อย่างไม่มีผิดเพี้ยน

เหตุการณ์แรก เกิดเหตุคนร้ายลอบยิงระเบิดเอ็ม 79 เข้าไปในพื้นที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ จำนวน 2 ลูก โดยลูกแรกตกใส่ห้องพักหมอ ห้อง 920 ชั้น 9 กระจกแตกทรัพย์สินในห้องเสียหาย ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ส่วนอีกลูกยิงตกยังบริเวณด้านหน้าโรงพยาบาล ส่งผลให้รถแท็กซี่กระจกแตก

ไม่ต้องอธิบายขยายความก็ย่อมต้องรู้ว่า ทำไมถึงเกิดเหตุที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ นี่เป็นการแสดงสัญลักษณ์ต่อต้าน “อำมาตย์” อย่างไม่ต้องสงสัย เนื่องเพราะคนไทยทั้งประเทศย่อมรู้ดีว่า สถานะของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์และโรงพยาบาลจุฬาภรณ์คืออะไร ไม่ใช่สถาบันวิจัยหรือโรงพยาบาลธรรมดาๆ

เหตุการณ์ที่สอง เกิดเหตุคนร้ายยิงระเบิดเอ็ม 79 เข้าใส่ตัวอาคารของธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ บริเวณแยกรัชโยธิน ถนนรัชดาภิเษก จำนวน 2 ลูก โดยลูกแรกถูกยิงเข้าไปในอาคารสำนักงานใหญ่ ชั้น 8 ส่งผลให้กระจกแตกเสียหาย ส่วนอีก 1ลูก ถูกยิงเข้าที่ชั้น 9-10 ซึ่งเป็นอาคารเวสต์ที่ทำการของบริษัทในเครือยูนิลิเวอร์ พบห้องทำงานและกระจกได้รับความเสียหาย ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

ไม่ต้องอธิบายขยายความ คนทั้งประเทศย่อมต้องเชื่อมโยงว่า มูลเหตุในการยิงเอ็ม 79 ครั้งนี้ไม่ต่างอะไรจากเหตุที่เกิดกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เพราะเป็นที่รับรู้กันดีว่า สถาบันใดคือผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์

และเหตุการณ์ที่สาม เกิดเหตุคนร้ายปาระเบิดใส่บ้านพักของ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ภายในซอย ลาดพร้าว 34 ซึ่งจากการตรวจสอบภาพพบเป็นระเบิดชนิดขว้างสังหาร รุ่น M76 เบื้องต้นคาดว่า คนร้ายน่าจะขว้างระเบิดมาจากฝั่งริมคลองที่ติดกับตัวบ้าน ส่งผลให้ระเบิดตกใส่หลังคาโรงจอดรถที่อยู่บริเวณหน้าบ้านได้รับความเสียหาย

นี่ยิ่งชัดเจนว่า ต้องการข่มขู่และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คนอย่างมิต้องสงสัย

นอกจากนี้ยังมีการก่นด่าและประกาศไม่ยอมรับคำตัดสินใจของศาลรัฐธรรมนูญจากคนเสื้อแดงกลุ่มต่างๆ ในหลายพื้นที่ อาทิ กลุ่มสตรีเสรีไทยรักษาและปกป้องประชาธิปไตยแห่งชาติ กลุ่มรักเชียงใหม่ 51 เป็นต้น

กระนั้นก็ดี เมื่อมองในภาพรวมแล้วก็ต้องบอกว่า นั่นเป็นแค่เพียงปฏิกิริยาของแกนนำฮาร์ดคอร์เพื่อระบายอารมณ์เท่านั้น มิใช่ปฏิกิริยาของแกนนำตัวจริง

ยิ่งเมื่อตรวจสอบท่าทีของ “นายจตุพร พรหมพันธุ์” ประธาน นปช.ที่กล่าวปราศรัยที่ห้ามอิมพีเรียล เวิล์ด ลาดพร้าว ก็จะพบว่า มีใบหน้าที่ยิ้มแย้มและดูเหมือนจะมิได้อนาทรร้อนใจกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแต่ประการใด

มิหนำซ้ำดูเหมือนจะพอใจกับผลการตัดสินเสียด้วยซ้ำไป เพราะสุดท้าย แล้วผลของคำวินิจฉัยมิได้ทำให้เกิดภาวะสุญญากาศ และรัฐบาลพรรคเพื่อไทยสามารถอยู่ในอำนาจได้ต่อไป เช่นเดียวกับฟากรัฐบาลที่มีท่าทีไม่แตกต่างกัน ดังเช่นที่นายนิวัฒน์ธำรง ผู้ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีที่ประกาศเป้าหมายเอาไว้ชัดเจนว่า จะเดินหน้าสู่การเลือกตั้งให้เร็วที่สุด

เพราะฉะนั้นตราบใดที่รัฐบาลยังมีแต้มต่อ ไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดความรุนแรงถึงขึ้นติดดาบปลายปืนแต่ประการใด

**คำตอบสุดท้ายอยู่ที่ “ลุงกำนัน-ประยุทธ์”

เมื่อสถานการณ์ยังไม่จบ ระบอบทักษิณยังไม่สิ้นฤทธิ์ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหันกลับมาจับตาความเคลื่อนไหวของมวลมหาประชาชนนำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณว่าจะเอาอย่างไร จะนำพาคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) ไปในทิศทางไหน เพราะถ้าไม่ได้มีการเคลื่อนไหวอะไร สถานการณ์ก็ย่อมหนีไม่พ้นก้าวเข้าสู่โหมดเลือกตั้งอย่างมิต้องสงสัย

โดยเฉพาะคำถามสำคัญที่ว่า นายสุเทพจะใช้อะไรเป็นหมัดน็อกระบอบทักษิณเพื่อนำพาประเทศไปสู่การปฏิรูปที่ได้ประกาศเอาไว้

7 พฤษภาคม 2557 วันเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย นายสุเทพ ได้ขึ้นเวทีประกาศเลื่อนวันชุมนุมใหญ่จากเดิมวันที่ 14 พฤษภาคม 2557 มาเป็นวันที่ 9 พฤษภาคม 2557 เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

“วันที่ 9 พ.ค.เวลา 09.09 น. เป็นฤกษ์ดี ฤกษ์มงคลที่เราจะเริ่มปฏิบัติภารกิจด้วยความเพียรสูงสุด เป็นฤกษ์ดีที่เราเริ่มปฏิบัติการเรียกคืนอำนาจอธิปไตยกลับคืนมาเป็นของปวงชนชาวไทย เราต้องเอาธรรมะกลับคืนมาเพราะฉะนั้นพี่น้องมวลมหาประชาชนที่จะมาร่วมปฏิบัติภารกิจเพื่อชาติเพื่อแผ่นดิน ขอให้มุ่งตรงมาที่สวนลุมพินี และเมื่อเต็มพื้นที่สวนลุมฯ เราจะขยายไปยังถนนราชดำริ ขยายไปถึงสี่แยกราชประสงค์ สี่แยกปทุมวัน ผ่านจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถ้าคนมากก็ชุมนุมต่อที่ถนนอังรีดูนังต์ทั้งถนนอีกด้วย ต้องบำเพ็ญเพียรด้วยความานะอุตสาหะเต็มที่ แล้วต้องทำให้สำเร็จให้ได้

ครั้งนี้เป็นโอกาสเดียวที่คนไทยจะได้ลุกขึ้นประกาศความเป็นไทย และความเป็นเสรีชนร่วมกัน ตนจึงขอเชิญชวนคนเสื้อแดงให้มาร่วมกับ กปปส. เพื่อร่วมกันสร้างชาติ เราไม่ได้ต่อสู้เพื่อใครหรือตระกูลใด แต่เราสู้เพื่อประเทศไทยทั้งประเทศ โปรดอย่าได้มีความแคลงใจอะไรกันอีกทั้งสิ้น ตนพูดด้วยความสัตย์และจริงใจ ว่า เราไม่ได้รังเกียจใครเลย เรารักคนไทยทุกคนทุกกลุ่ม เราเป็นพี่น้องกันทั้งนั้น ไม่ได้เป็นศัตรูกัน แต่ศัตรูของเราคือระบอบทักษิณที่ทำร้ายประเทศเราอย่างแสนสาหัส ไม่มีธรรมะ ไม่เคารพและให้ความสำคัญกับประชาชน แต่ถ้าท่านยังไม่สบายใจขอให้นอนรอดูอยู่ที่บ้าน และจะรู้ว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นภายใน 1-2 วันนี้ เป็นความสัตย์จริงทั้งสิ้น

ผมขอส่งสารไปยังข้าราชการตำรวจและทหารว่า รัฐบาลรักษาการตอนนี้ไม่มีตำแหน่งหน้าที่อีกต่อไปแล้ว แถมคนที่จะขึ้นมาเป็นนายกฯรักษาการยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตโครงการจำนำข้าวอีกด้วย ผมขอให้ข้าราชการเหล่านี้ออกมาร่วมมือกับประชาชน เมื่อนั้นฟ้าสีทองผ่องอำไพก็จะเกิดขึ้นในเมืองไทย ท่านจะได้ชื่อว่าเป็นข้าราชการของแผ่นดินและประชาชน ที่มีเกียรติยศเป็นที่น่าภาคภูมิใจของวงศ์ตระกูล” นายสุเทพกล่าวบนเวทีปราศรัยที่สวนลุมพินี

ทั้งนี้ มีการวิเคราะห์ออกไปในหลากหลายแง่มุมว่านายสุเทพจะใช้อะไรหยุดยั้งกระบวนการเลือกตั้งที่กำลังดำเนินไปอย่างไม่มีอะไรมาหยุดยั้งได้ เพราะถ้านายสุเทพยังคงใช้วิธีการเดิมคือเรียกชุมนุมใหญ่และเดินไปเดินมาเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา หรือเป็นเพียงแค่การย้ายสถานที่ชุมนุมออกจากสวนลุมพินีกลับมาสู่ท้องถนนอีกครั้ง โอกาสที่จะโค่นล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์และถอนรากถอนโคนระบอบทักษิณยิ่งเป็นไปไม่ได้

เหนือสิ่งอื่นใดคือ ตราบใดที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกยังไม่ขยับ ยังคงรอวันเกษียณและไม่ประกาศชัดเจนว่ายืนอยู่ข้าง กปปส. ก็ไม่มีอะไรสามารถล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ แม้ว่านายสุเทพจะประกาศสถาปนารัฏฐาธิปัตย์เพื่อดึงอำนาจอธิปไตยมาสู่มือของปวงชนชาวไทย แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ไม่เอาด้วยและยังคงทำตัวประดุจผนังทองแดงกำแพงเหล็กของรัฐบาล ทุกอย่างก็เหมือนเดิม

เพราะถึงวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์สามารถอ้างได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า รัฐบาลคนเสื้อแดงยังเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

ยังจำได้ไหมกับคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ที่เคยประกาศไว้ว่า “สมมติว่าท่านเป็นผม สมมติละกัน ท่านเป็น ท่านทำงานอยู่ในบริษัทๆ หนึ่ง ท่านทำงานมีผู้บังคับบัญชา มีนายของท่านแล้วท่านประท้วง ประท้วงเจ้าของบริษัท ไม่ใช่นาย เจ้าของบริษัทเขาจ้างคุณมา คุณทำได้ไหม ได้ไหม กลับไปประท้วงสำนักพิมพ์ของคุณมีไหม คุณเป็นตัวแทนใคร คุณไม่เห็นด้วยกับผู้บริหารของคุณ คุณไปไล่เขาออกสิ กล้าไล่เขาออกได้ไหม ถ้าไม่ได้คุณก็ทำหน้าที่ของคุณ เขาให้ผมหน้าที่ตรงไหน ผมก็ทำตรงไหนตรงนั้น ผมจะไม่วิพากษ์วิจารณ์ซึ่งเกินเลยตรงนั้น เพราะว่าผมจำเป็นต้องรักษาสถานภาพผมเพื่อจะต้องทำงานทุกงานให้ได้”

ดังนั้น สิ่งที่นายสุเทพจะต้องทำในวันที่ 9 พฤษภาคมก็คือ การบีบบังคับให้ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศยืนอยู่ข้างมวลมหาประชาชน ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เกิดการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้งสำเร็จ

ถามว่า นายสุเทพจะกล้าทำหรือไม่

ถามว่า สิ่งที่นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย แกนนำ กปปส. ประกาศว่าการปฏิบัติการภารกิจของ กปปส.ในสงครามวันเผด็จศึกจะใช้เวลา 5 - 7 วัน หรือช้าที่สุด 15 วัน และถ้าไม่สำเร็จก็จะยอมติดคุกนั้น ใช่เป็นปฏิบัติการกดดัน พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่

และถามว่า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ไม่เล่นด้วย นายสุเทพจะกล้าวิพากษ์วิจารณ์เหมือนกับที่เคยทำกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เสนอตัวเป็นคนกลางในการทำโรดแมพเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปหรือไม่

ดังนั้น ทางออกของประเทศไทยในวันนี้จึงมองเห็นเพียงแค่ถนนสายเดียวเท่านั้นคือ การเลือกตั้ง และเป็นการเลือกตั้งที่ได้โปรดอย่าถามหา “การปฏิรูป” เพื่อกำจัดนักการเมืองชั่วและโค่นล้มระบอบทักษิณให้พ้นไปจากประเทศ


นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกโทรทัศน์อำลาเก้าอี้นายกรัฐมนตรีที่นั่งมาเป็นเวลา 2 ปี 9 เดือนกับอีก 2 วัน
9 รัฐมนตรีที่หลุดเก้าอี้พร้อมยิ่งลักษณ์- ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ นายสันติ พร้อมพัฒน์ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก และนายปลอดประสพ สุรัสวดี








นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ที่ได้รับการคัดเลือกให้มาปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีแทนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
จดหมายของโกตี๋-นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ ซึ่ง “ลุงยิ้ม ตาสว่าง” แกนนำเสื้อแดงสายฮาร์ดคอร์นำมาเปิดเผย
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศเลื่อนการชุมนุมใหญ่ 9 พฤษภาคม
สภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นหลังมีการยิงเอ็ม 79 เข้าใส่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และบ้านนายสุพจน์ ไขมุกด์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

การปฏิรูปประเทศไทยจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ปฏิเสธไม่ได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก คือกุญแจดอกสำคัญ
กำลังโหลดความคิดเห็น