xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

พิษคดีย้าย “ถวิล” ไม่ชอบ “ยิ่งลักษณ์-ครม.” ตายยกรัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายถวิล เปลี่ยนศรี
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - มติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญที่รับคำร้องขอให้ความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงกลาโหม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 182(7) เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2557 ในคดีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ทำให้อุณหภูมิการเมืองร้อนฉ่าขึ้นมาทันที

ฝ่ายที่รุกไล่รัฐบาลก็มีลุ้นว่าคราวนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตกเก้าอี้ไปพร้อมกับคณะรัฐมนตรีทั้งคณะแน่ ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลและกองกำลัง นปช.ก็ใช้เงื่อนไขนี้เป็นน้ำมันราดกองไฟปลุกระดมมวลชนยกทัพเข้ากรุงเพื่อปกป้องไข่ในหิน ไม่ให้มีอันเป็นไปเพราะตุลาการภิวัฒน์

หลายคดีที่งวดเข้ามารุมกระหน่ำซ้ำเติม น.ส.ยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทย ในเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นคดีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี โดยไม่ชอบ คดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวที่อยู่ในมือของคณะกรรมการป้องกันและปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) คดีนายนิคม ไวรัชพานิช ที่ถูก ป.ป.ช.ถอดถอนออกจากตำแหน่งประธานวุฒิสภา เช่นเดียวกันนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ที่ถูก ป.ป.ช.ถอดถอนจากตำแหน่งประธานรัฐสภา ฐานจงใจใช้อำนาจหน้าที่มิชอบกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่มาของ ส.ว.ชนิดที่ว่าไล่เรียงเป็นลูกระนาดหายใจหายคอแทบไม่ทัน และโอกาสถูกล้างทั้งกระดานก็มีสูงอย่างยิ่ง

สำหรับคำร้องของคดีที่ศาล รธน.เพิ่งรับไว้พิจารณานั้น คดีนี้ ประธานวุฒิสภา ส่งความเห็นของสมาชิกวุฒิสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182(7) ประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 268 หรือไม่ จากกรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้คืนตำแหน่ง เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แก่นายถวิล เปลี่ยนศรี

และนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา และคณะรวม 28 คน เห็นว่า การที่นายกรัฐมนตรี โยกย้ายนายถวิล พ้นจากการเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาตินั้น ไม่ใช่เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่การบริหารราชการตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อสภา แต่เป็นการใช้ตำแหน่งการเป็นนายกรัฐมนตรีเข้าไปแทรกแซงการเพื่อประโยชน์ของตนเอง เครือญาติ พรรคเพื่อไทยที่นายกรัฐมนตรีสังกัด เข้าข่ายต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 ประกอบมาตรา 266(2) และ (3)

ศาล รธน.ได้ให้เหตุผลในการรับคดีไว้พิจารณาเนื่องจากเห็นว่ากรณีตามคำร้องเป็นการยื่นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ประกอบมาตรา 182 วรรคสาม ที่ให้ ส.ว.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่สิทธิเข้าชื่อยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภาเพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีที่มีการกระทำอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง อยู่ในอำนาจที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้วินิจฉัย โดยให้นายกรัฐมนตรี ยื่นคำชี้แจ้งแก้ข้อกล่าวหากลับมาภายใน 15 วันนับแต่วันได้รับสำเนาหนังสือ

ทันทีที่ศาลรธน.มีมติออกมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ระดมทีมที่ปรึกษา อาทิ นายวราเทพ รัตนากร ปฏิบัติหน้าที่ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ รมช.เกษตรและสหกรณ์ นายธงทอง จันทรางศุ, นายอำพน กิตติอำพน พร้อมทีมทนายความ นำโดยนายพิชิต ชื่นบาน นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง และนายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ เข้าหารืออย่างเคร่งเครียด โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ สอบถามทีมทนายความว่า ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีทันทีเลยหรือไม่ นายพิชิต จึงบอกว่าต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยถึงที่สุดก่อน และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ สามารถส่งเอกสารชี้แจงได้ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปด้วยตัวเอง

หากดูตามไทม์ไลน์แล้ว หลังจากศาลรธน.ให้เวลานายกรัฐมนตรี 15 วันในการชี้แจงข้อกล่าวหา ก็คาดว่าสิ้นเดือนเม.ย.นี้อาจจะรู้ว่าผลของคดีว่าจะออกหัวหรือก้อย

แต่จากมุมมองของนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา วิเคราะห์ล่วงหน้าว่า “ชนะอีกศึก(ค่อนข้าง)แน่ แต่จะชนะสงครามหรือไม่?” โดยโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยเปรียบเทียบกับกรณีของนายสมัคร สุนทรเวช เอาไว้ว่า “นายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพราะเหตุความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 182 (7) มาแล้ว โดยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 12-13/2551 วันที่ 9 กันยายน 2551 เพราะกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 267 (เป็นลูกจ้างบริษัทเอกชนค้ากำไร) จากการยื่นคำร้องตามช่องทางมาตรา 182 วรรคสามประกอบมาตรา 91 โดยคณะ ส.ว.จำนวน 29 คน

“นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประสบชะตากรรมเดียวกันแล้วในวันนี้ ถูกร้องให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 182(7) เช่นกัน ตามช่องทางเดิมคือมาตรา 182 วรรคสามประกอบมาตรา 91 โดยคณะ ส.ว.จำนวน 28 คน โดยบางคนมีส่วนร่วมอยู่ในการร้องเมื่อปี 2551 ต่างกันนิดเดียวคือกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 268 (ย้ายข้าราชการโดยมิชอบ) ไม่ใช่มาตรา 267 คือมาตรา 182(7) นี่ท่านห้ามกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 267, 268 และ 269 หากกระทำลงไปความเป็นรัฐมนตรีจะสิ้นสุดลงเฉพาะตัว

“เมื่อปี 2551 เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 180(7) เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2551 จากผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ครม.ทั้งคณะก็พ้นจากตำแหน่งทันทีตามมาตรา 180(1) ต้องมีการสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ในสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 172

“ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยแค่ไหน ? อย่างไร ? หรือไม่?”

“ข้อแตกต่างของสถานการณ์คือเมื่อปี 2551 อยู่ในสถานการณ์ปกติ แต่วันนี้อยู่ในสถานการณ์ยุบสภาที่ ครม.ทั้งคณะพ้นตำแหน่งไปแล้วตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2556 ตามมาตรา 180(2) แต่อยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อตามมาตรา 181 และหากเราย้อนกลับไปดูคำวินิจฉัยที่ 12-13/2551 ศาลรัฐธรรมนูญท่านจะวินิจฉัยเฉพาะประเด็นความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 182(7) เท่านั้น แต่หลังจากนั้น การพ้นจากตำแหน่งของ ครม.ทั้งคณะตามมาตรา 180(1) เป็นผลที่เกิดขึ้นตามมาทันทีโดยความยินยอมพร้อมใจของทุกฝ่าย ไม่มีใครคัดค้าน แข็งขืน หรือไม่ปฏิบัติตามในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เพราะมีกระบวนการสรรหานายกรัฐมนตรีในสภาผู้แทนราษฎรตามปรกติตามมาตรา 172 อยู่แล้ว

“วันนี้ สมมติว่าศาลรัฐธรรมนูญท่านวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 182(7) เช่นกันกับเมื่อ 6 ปีก่อน ซึ่งมีความเป็นได้สูงมาก แต่อย่างไรเสียก็จะไม่วินิจฉัยเลยมาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาตามมาตรา 180(1) ที่ทุกคนต้องการ เพราะไม่ได้อยู่ในคำร้อง

“อะไรจะเกิดขึ้น?”

“ครม.ทั้งคณะก็จะพร้อมใจกันบอกว่าพวกเขาพ้นจากตำแหน่งไปตามมาตรา 180(2) ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2556 เพราะเหตุยุบสภาอยู่แล้ว ไม่อาจจะพ้นจากตำแหน่งซ้ำอีกตามมาตรา 180(1) เพราะความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ครม.คนอื่นก็จะยังคงรักษาการต่อไปตามมาตรา 181 คล้ายๆ กับกรณีที่ ป.ป.ช.จะชี้มูลความผิดนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่ เพียงแต่กรณีนี้จะรุนแรงกว่าเท่านั้น คือความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงแล้วไม่ใช่แค่ยังอยู่แต่หยุดการปฏิบัติหน้าที่

แต่ ครม.คนอื่นและเครือข่ายของรัฐบาลก็จะบอกว่ารอกระบวนการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ตามมาตรา 172 หลังการเลือกตั้งทั่วไปที่กกต.จะต้องจัดขึ้นใหม่ จะสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ซ้อนขึ้นมา-ไม่ง่ายนัก เว้นแต่จะมีสถานการณ์พิเศษกว่านี้ซ้อนขึ้นมา!”

“ชนะศึก (ค่อนข้าง) แน่ แต่จะชนะสงครามหรือไม่?”

อาการส่อจะเพลี่ยงพล้ำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และ ครม.ทั้งคณะจากคดีดังกล่าว ทำให้นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ ออกมาข่มขู่ว่าถ้าศาล รธน.ตัดสินไม่เป็นธรรมจะเกิดความรุนแรง บ้านเมืองไม่สงบแน่

“หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ ครม.พ้นสภาพทั้งคณะ เป็นไปได้ว่าจะเกิดการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดง และอาจจะสร้างความรุนแรงให้เกิดขึ้น เพราะสุญญากาศลักษณะนี้ไม่สร้างสรรค์เลย ตนไม่ได้ชี้นำ แต่ตนดูแล้วแรงกดดันต่างๆ ที่เกิดขึ้น คนไทยเป็นคนอารมณ์ร้อน ทั้งนี้ การให้ความเห็นแบบนี้ไม่ได้เป็นการขู่ศาล เพราะตนเอาความจริงมาพูด ตลอดชีวิตตนเอาแต่ความจริงมาพูด ขอเรียกร้องให้องค์กรอิสระหันหน้ามาพิสูจน์ตนเอง แก้ทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความโปร่งใส” นายสุรพงษ์ สำทับ

แถมยังบอกว่ากรณีที่ ส.ว.บางส่วนออกมาจะหาช่องคัดเลือกนายกรัฐมนตรีคนกลางจากส.ว.ด้วยกันเองนั้นเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ แต่ถ้าดันทุรังหานายกฯคนกลางมาบริหาร ก็จะเกิดความวุ่นวายตามมา เพราะ นปช.อาจทำอย่างที่ กปปส.ทำ นปช.อาจจะไปตามราวีอย่างปิดศูนย์ราชการเหมือนกัน

เปิดหน้าไพ่ ไม่มีกั๊ก ตาต่อตา ฟันต่อฟัน กันเช่นนี้ ดูท่าจะ “เอวัง” ประเทศไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น