“ทักษิณ” เลือกคนถูก “ยิ่งลักษณ์ดื้อตาใส” ไม่รับผิดทางกฎหมาย เหมาะสำหรับรักษาฐานอำนาจตระกูลชินวัตร ด้าน “สกลธี” ซัดรู้อยู่แล้ว รัฐบาล “ดื้อด้าน” ไม่รับความผิดทางกฎหมาย แต่ยัน กปปส.ยังจับตารอคดีทุจริตจำนำข้าวที่ ป.ป.ช.จะชี้มูล คิดว่าเป็นคดีเดียวที่ “ยิ่งลักษณ์” จะหนีความผิดไม่ได้ ทั้งความผิดทางการเมืองที่พรรคการเมืองไม่ได้ทำโครงการเพื่อประชาชนจริง และความผิดฐานทุจริต ที่เชื่อว่าทั้งไทยและต่างชาติรับไม่ได้ ขณะที่ยังเน้นเดินหน้า 2 ยุทธศาสตร์หลัก “ปิดหน่วยราชการ-กดดันธุรกิจตระกูลชิน” เพราะได้ผล
“แล้ว-ยัง-งัย”
ทันทีที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินด้วยมติเอกฉันท์ 8-0 ว่า พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 169 และมาตรา 170 รวมถึงมีมติ 6-2 ว่ากระบวนการตรากฎหมายเป็นไปโดยมิชอบ ไปเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2557
ก็เป็นที่รู้ทันทีว่า “ท่าที” ของนางสาวยิ่งลักษณ์ ต่อเรื่องดังกล่าวจะเป็นอย่างไร
“อยากให้มองที่เจตนา ก็อย่ามองใช้ข้อกฎหมายเป็นข้อที่จะลิดรอนหรือเป็นข้อที่จะตัดสิทธิทุกคนเลย แล้วอย่างนี้เราจะไปกันลำบาก” ประโยคเด็ดที่นางสาวยิ่งลักษณ์ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน
และยังอ้างว่า “ครอบครัวถูกทำร้ายจากสังคมจนไม่มีที่จะยืน” จึงขอความเป็นธรรม ขอความเห็นใจ และตบท้ายด้วยการยืนยันว่า “ดิฉันจะอยู่เพื่อรักษาประชาธิปไตย”
คำพูดทั้งหมดนี้เป็นคำพูดที่นางสาวยิ่งลักษณ์ใช้มาตลอด ไม่ว่าจะมีการตัดสินของศาลหรือองค์กรอิสระในคดีใด
แสดงให้เห็นว่า ณ เวลานี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ไม่ได้สนใจอีกต่อไปแล้วว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยจะมีคำพิพากษาอะไรออกมาอย่างไร เพราะนางสาวยิ่งลักษณ์รู้สึกว่า รัฐบาลของตัวเอง คือรัฐบาลที่ถูกต้อง และแม้จะเป็นเพียงรัฐบาลรักษาการ แต่ก็เป็นสิ่งเดียวที่ครองอำนาจอยู่ และมีอำนาจสูงสุด
ใครจะตัดสินอย่างไร ยิ่งลักษณ์ก็ไม่สน แถมยังให้บรรดาลิ่วล้อออกมาแถลงข่าวหนุนทุกครั้งที่มีการตัดสินคดีต่างๆ เพื่อช่วยให้ยิ่งลักษณ์ไม่ต้องรับผิด หรือแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองอย่างไม่ต้องรู้สึกผิด
กระนั้น การ “ดื้อด้าน” “ดื้อตาใส” แบบนี้ อาจบ่งบอกได้ว่า “พ.ต.ท.ทักษิณ” เลือกคนมาเป็นนายกรัฐมนตรีถูกต้องแล้ว ถ้าเผื่อจะเอาไว้เพียงแค่รับฟังคำสั่งของเขา หรือเพื่อที่จะรักษาฐานอำนาจทางการเมืองของตระกูลชินวัตร
เพราะรักษาฐานอำนาจของตระกูลชินวัตรได้จริงๆ อย่างที่นายสมัคร สุนทรเวช อย่างที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็ทำอย่างนางสาวยิ่งลักษณ์ไม่ได้
คดีอะไรบ้างที่แท้จริงแล้วนางสาวยิ่งลักษณ์ จะต้องรับผิดชอบ แต่สุดท้ายกลับออกมาแถลงข่าวด้วยประเด็นเดิมๆ “ทีม Special scoop หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน” พบว่า จนถึงวันนี้นางสาวยิ่งลักษณ์มีคดีสำคัญๆ ที่ตัดสินไปแล้วว่ามีความผิดถึง 5 คดี
5 คดีใหญ่ศาลตัดสินรัฐบาล “ปู” ผิด
หนึ่งคือคดี 2 ล้านล้านบาท ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปแล้วเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2557 ว่ารัฐบาลมีการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 169 และมาตรา 170 และกระบวนการตรากฎหมายเป็นไปโดยมิชอบ โดยมีการเสียบบัตรแทนกันในการลงคะแนนของสภาผู้แทนราษฎร ไปเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2557
ส่งแต่พลพรรค ทีมทนายบ้าง รัฐมนตรีของพรรคบ้าง มาแก้ตัวแก้ต่างไปวันๆ โดยเฉพาะตัวนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา หนึ่งในคีย์แมนพรรคเพื่อไทยที่ระบุว่านางสาวยิ่งลักษณ์ไม่ต้องลาออก เพราะตอนนี้รัฐบาลได้ยุบสภาไปแล้ว หรือล่าสุดที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ก็ออกมาบอกว่าคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ขัดความเจริญไปเสียอีก
คดีต่อมาเป็นคดีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งคืนตำแหน่งให้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้กับนายถวิล เปลี่ยนศรี ในการย้ายข้าราชการโดยมิชอบ และเป็นการก้าวก่ายการแต่งตั้งข้าราชการประจำ และให้คืนตำแหน่งภายใน 45 วัน เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2557 ผ่านมาแล้วจนขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการคืนตำแหน่งให้นายถวิล
คดีที่สาม คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้นายกฯ เข้ารับทราบ 2 ข้อกล่าวหา กรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว คือ 1.จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 อันเป็นเหตุแห่งการถอดถอนออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 และ 2.เจตนาของผู้ถูกกล่าวหาที่จะปฏิบัติหรือเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ หรือโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ที่ก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.ได้ชี้ไปแล้วว่ากรณีการขายข้าวแบบจีทูจีของรัฐบาลนี้เป็นเท็จ แต่ก็ไม่มีความรับผิดชอบใดๆ นอกจากนั้นนางสาวยิ่งลักษณ์ยังไม่ยอมไปชี้แจงกับ ป.ป.ช.และมีการเลื่อนเป็นครั้งที่ 2 มาเป็นวันที่ 14 มีนาคม 2557 ซึ่งมีแววว่าจะเลื่อนไปอีก
นอกจากหนีไม่รับฟังข้อกล่าวหาแล้ว ครั้งนี้ทีมทนายของนางสาวยิ่งลักษณ์ยังออกมาให้ข่าวกับสื่อมวลชนโดยกล่าวว่า การที่ ป.ป.ช.แจ้งข้อหาโครงการรับจำนำข้าวครั้งนี้เป็นเพียงโวหาร
คดีที่สี่ 8 มกราคม 2557 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยคำร้องที่นายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา และสมาชิกรัฐสภารวม 383 คน ร่วมกันดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ที่จำกัดอำนาจรัฐสภาในการให้ความเห็นชอบการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศของฝ่ายบริหาร เข้าข่ายเป็นการกระทำที่ล้มล้างการปกครองและกระทำการให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ โดยศาลมีมติเสียงข้างมากเห็นว่า การพิจารณาและลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีกระบวนการในการพิจารณามิชอบด้วยกฎหมาย ไม่ชอบด้วยกระบวนการของรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรค 2 และมาตรา 125 วรรคหนึ่ง เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ส่วนการแก้ไขโดยตัดเนื้อหาสำคัญ เป็นการกระทำเพื่อให้บุคคลหรือคณะบุคคลได้อำนาจในการปกครองประเทศมาโดยไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรญนูญ เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 4 5 87 และมาตรา 122 รวมทั้งยังเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่งด้วย
นางสาวยิ่งลักษณ์แก้ตัวในครั้งนี้ว่าเป็นเรื่องของรัฐสภา ฝ่ายบริหารไม่เกี่ยว!
เช่นเดียวกับคดีที่ 5 เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2556 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก วินิจฉัยร่างแก้ไขที่มา ส.ว.เป็นโมฆะ ฐานกระทำความผิดการเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันกระทำหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 มาตรา 83 มาตรา 91
นางสาวยิ่งลักษณ์ ก็ทำมึน ไม่รู้ไม่เห็น เป็นเรื่องของรัฐสภา ฝ่ายบริหารไม่เกี่ยว
ส่วนพรรคเพื่อไทยก็ส่งนายชวลิต วิชยสุทธิ์ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และ พล.ต.อ.วิรุฬห์ พื้นแสง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ไปยื่นคำฟ้องศาลรัฐธรรมนูญต่อศาลอาญาเสียอีก โดยอ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 291 และมาตรา 130 เอกสิทธิ์ ส.ส.และ ส.ว.ในการออกเสียงลงคะแนน
กปปส.รอ ป.ป.ช.ชี้มูลทุจริตจำนำข้าว
แล้วอย่างนี้ การเมืองที่กำลังอึมครึมอยู่จะมีทางออกอย่างไร ในเมื่อฝั่ง กปปส.ก็หวังว่า ท้ายที่สุดแล้วกฎหมายจะเป็นตัวบ่งบอกว่า “ใครคือผู้ชนะ” ในศึกการต่อสู้ครั้งนี้
นายสกลธี ภัททิยกุล อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในแกนนำ กปปส.กล่าวว่า เดิมคิดว่าการต่อสู้ครั้งนี้จะชนะได้ด้วยการออกมารวมตัวกันของประชาชนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นวันที่ 24 พฤศจิกายน 2556 ที่คนมาเรือนล้าน และวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ที่คนออกมาต่อต้านรัฐบาลกว่า 5 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนมาก แต่รัฐบาลกลับมีท่าทีไม่ยี่หระ ก็เลยเข้าใจแล้วว่าวิธีการกดดันทางการเมืองตามปกติใช้ไม่ได้กับรัฐบาลนี้
ดังนั้นจึงรู้ว่า กฎหมายจะเป็นตัวตัดสินที่สำคัญที่สุด!
กระนั้น รัฐบาลนี้ก็ยังทำไม่รู้ไม่ชี้ต่อการตัดสินของศาล และองค์กรอิสระต่างๆ
แล้ว กปปส.จะทำอย่างไร?
นายสกลธี กล่าวว่า เป็นที่แน่ชัดแล้วว่ารัฐบาลนี้มีข้ออ้างต่างๆ นานาที่จะไม่ยอมรับการวินิจฉัยของศาลต่างๆ โดยเฉพาะข้ออ้างที่ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา หนึ่งในคีย์แมนของพรรคเพื่อไทยออกมาบอกว่า นายกฯ ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบอะไรอีก เพราะได้ยุบสภาไปแล้ว หรือตัวนางสาวยิ่งลักษณ์เองที่บอกว่าให้ดูที่เจตนามากกว่าตัวบทกฎหมาย
อีกทั้งยังมีการเตรียมพร้อมที่จะกดดันศาล และองค์กรอิสระอีก อย่างในวันที่ 15 มีนาคมนี้ ก็จะมีการระดมพลคนเสื้อแดงออกมากดดันองค์กรอิสระ ศาล
การเตรียมการอย่างนี้ก็แสดงให้เห็นชัดว่ารัฐบาลจะตะแบงไปต่อ
“ตามหลักการ คนปกติก็จะยอมแล้ว เพราะจนด้วยหลักการ แต่รัฐบาลนี้ก็อ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ระบบยุติธรรมของไทย 2 มาตรฐานตั้งแต่สมัย พ.ต.ท.ทักษิณอ้างมาอย่างนี้จนทุกวันนี้ก็ยังอ้าง”
อย่างไรก็ดี นายสกลธี ยอมรับว่า กฎหมายที่ กปปส.รออยู่จริงๆ นั้นมีแค่ตัวเดียวคือ การชี้มูลความผิดกรณีจำนำข้าว โดย ป.ป.ช.
เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่เป็นนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทย เมื่อมีการพิสูจน์แล้วว่ามีการโกงคนจน หรือชาวนาจริง ก็เท่ากับว่ารัฐบาลนี้ไม่ได้สนใจที่จะทำนโยบายเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง อีกทั้งหลักฐานที่โยงใยไปสู่การทุจริตมิชอบ ก็เป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่ารัฐบาลนี้จะอ้างความไม่รู้ไม่เห็นไม่ได้อีกต่อไป
“โดยส่วนตัวก็ยังคิดว่ารัฐบาลจะตะแบงต่อไปนะ แต่กรณีทุจริต เป็นเรื่องใหญ่ที่ทั้งคนในประเทศและต่างประเทศจะรับไม่ได้ โดยเฉพาะการที่นักการเมืองไม่ยอมรับฟังคำพิพากษาของระบบยุติธรรม ดังนั้นความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับตัวรัฐบาล อาจมีมากกว่าการเมืองในประเทศที่มากดดันให้ลาออกจากรัฐบาลรักษาการไป”
ทีนี้ก็เหลือแต่รอว่า วันใดที่ ป.ป.ช.จะชี้มูลความผิดเรื่องจำนำข้าว ซึ่งสิ่งที่ กปปส.รอดูคือ ป.ป.ช.จะชี้มูลเป็นรายคน คือตัวนางสาวยิ่งลักษณ์ หรือชี้มูลทั้งคณะรัฐมนตรี
ถ้าชี้มูลแค่ตัวนางสาวยิ่งลักษณ์ พรรคเพื่อไทย ก็อาจจะอ้างแบบเดิมคือไม่ได้เป็นรัฐบาลอยู่แล้ว แค่รักษาการ แต่ถ้าชี้มูลผูกพันไปทั้งคณะรัฐมนตรี ทุกคนในคณะรัฐมนตรีก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทั้งหมด กรณีนี้ถึงจะเกิดสุญญากาศทางการเมืองได้จริง
แต่เมื่อวันนี้ยังเดินไปไม่ถึงขั้นนั้น ที่ยังไม่ทราบว่าข้อสรุปทางการเมืองจะจบลงอย่างไร
ยังเดินหน้าปิดราชการ-กดดันธุรกิจตระกูลชิน
นายสกลธี กล่าวต่อว่า กปปส.ก็ยังจะเดินยุทธศาสตร์เดิม คือปิดล้อมหน่วยราชการ และกดดันธุรกิจตระกูลชินวัตรต่อไป
“กำนันสุเทพไม่ใช่ไม่อยากเลิกการชุมนุมนะ ทุกคนก็อยากเลิก แต่วันนี้ไม่ใช่ เพราะการชุมนุมเกิดประโยชน์ในบางประเด็น เช่น การปิดล้อมศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะของหลวงปู่พุทธะอิสระ กลับกลายเป็นการปกป้องคุ้มครองศาลรัฐธรรมนูญให้ทำงานไปได้ โดยไม่ต้องกลัวกลุ่มคนเสื้อแดงจะมาก่อความไม่สงบ ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญทำงานได้อย่างราบรื่น”
ดังนั้นแผนยุทธศาสตร์เดิมต้องเดินหน้าต่อ!
เพียงแต่การเดินขบวนไปที่ต่างๆ อาจจะลดน้อยลง
“การเดินขบวนไปที่ต่างๆ เราลดน้อยลงจริงๆ สาเหตุคือตอนนี้สถานการณ์รุนแรงมาก เราเองก็ไม่สบายใจถ้าพาใครไปที่ไหนแล้วเขาตาย อย่างไปบ้านธาริตล่าสุด หน่วยคอมมานโดของดีเอสไอก็เล็งปืนมาที่กลุ่มผู้ชุมนุม รวมถึงแกนนำด้วย ถ้าเกิดอะไรขึ้นแล้วมีคนตาย เราก็ไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น”
นายสกลธี ยอมรับว่า ฝ่ายตรงข้ามเล่นเกมแรง ใช้อาวุธหนักจัดการมวลชนโดยไม่สนว่าเป็นผู้ใหญ่หรือเด็ก ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เขาประสบความสำเร็จ เพราะทำให้คนลดน้อยลงได้จริง
ดังนั้น ทุกยุทธศาสตร์ที่ กปปส.เดิน จะต้องระมัดระวังอย่างยิ่งยวด! เพราะถ้าไม่ระวังนั่นหมายถึง “แกนนำ-มวลชน” ต้องตายเพิ่มอีก!