xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

หมัดน็อก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะรู้ชะตากรรมดีว่าจะไปไม่รอด จากการชี้มูลความผิดของป.ป.ช. กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจรติในนโยบายรับจำนำข้าว

เห็นได้จากการส่งมวลชนเสื้อแดง กวป.ไปปิดล้อมสำนักงานป.ป.ช. ไม่ให้ทำงานได้ และที่ประชุมพรรคเพื่อไทยในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีการคุยกันถึงเรื่องนี้ ถึงขั้นเตรียมดัน พงศ์เทพ เทพกาญจนา ขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 แทน ยิ่งลักษณ์ ถ้ามีการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ถ้ามองในมุมของฝ่ายไล่รัฐบาล นโยบายรับจำนำข้าว เป็นนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น ครม.ต้องร่วมกันรับผิดชอบด้วย ถ้า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกชี้มูลความผิด

แต่เชื่อเถอะ ถ้าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกชี้มูลความผิด ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี รัฐบาลก็ต้องตะแบงว่าเป็นความผิดเฉพาะตัวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แล้วก็จะให้รองนายกฯ ขึ้นมารักษาการแทน ซึ่งก็เคยเปิดตัวมาแล้วว่าจะให้ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 ขึ้นรักษาการแทน เพราะถือว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ แค่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ยังไม่ถูกที่ประชุมวุฒิสภาถอดถอนจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต่อเนื่อง และเมื่อถึงขั้นนั้นก็ไม่รู้ว่าจะถอดถอนได้หรือเปล่า เพราะต้องใช้เสียง 3 ใน 5 ของสมาชิกวุฒิสภาที่มีอยู่

ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ก็จะยกข้อกฎหมายและรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 ขึ้นมายัน เพราะมาตรานี้ระบุว่า รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ สิ้นสุดลง ฉะนั้นเมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พ้นสภาพความเป็นรัฐมนตรี จากการต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ครม. ทั้งคณะก็ต้องพ้นสภาพไปด้วยทันที

เมื่อต่างฝ่ายต่างตีความกฎหมายแบบเข้าข้างตัวเอง สุดท้ายแล้วปัญหานี้ก็คงไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกพอสมควร

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้มีอีกประเด็นที่เพิ่มขึ้นมา ซึ่งนักกฎหมายหลายท่าน โดยเฉพาะสมาชิกวุฒิสภา ในกลุ่ม 40 ส.ว.เห็นว่าจะเป็น"หมัดน็อก" รัฐบาลได้แบบไม่ยืดเยื้อ

ถ้าเป็นมวยก็โป้งเดียวหลับ กรรมการไม่ต้องนับ

นั่นคือกรณี การโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี จากเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ซึ่งศาลปกครองชี้ออกมาแล้วว่า เป็นการโยกย้ายโดยมิชอบ พร้อมสั่งให้คืนตำแหน่งให้นายถวิล ภายใน 45 วัน ซึ่งครม.ก็มีมติคืนตำแหน่งให้ไปแล้ว เมื่อวันอังคาร (25 มี.ค.) ที่ผ่านมา

เรื่องนี้ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ได้รวบรวมรายชื่อ ส.ว. 27 คน เข้ายื่นคำร้องต่อ ประธานวุฒิสภา โดยใช้ช่องทางตาม มาตรา 91 เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ที่ได้เข้าไปก้าวก่าย แทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตัวเอง และผู้อื่น ในการแต่งตั้งโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี จนเป็นเหตุให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งคืนตำแหน่งให้แก่ นายถวิล ซึ่ง

การกระทำดังกล่าว เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องสิ้นสุดเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 (7) หรือไม่

ขณะนี้ เรื่องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค. รอเพียงแค่ขั้นตอนนำเข้าที่ประชุม เพื่อลงมติว่าจะรับเรื่องไว้พิจารณาหรือไม่ ซึ่งคาดว่าจะมีการนำเข้าที่ประชุมคณะตุลาการฯ ในวันพุธ ที่ 2 เม.ย.นี้

ถ้าศาลฯรับไว้พิจารณา เราก็น่าจะมาดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

มาตรา 182 (7) ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อ... กระทำการอันต้องห้ามตาม มาตรา 267 มาตรา 268 หรือ มาตรา 269

มาตรา 180 (1) รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ... ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ตามมาตรา 182

มาตรา 268 นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี จะกระทำการใดที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 266 มิได้ เว้นแต่เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภา หรือ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา 266 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ต้องไม่ใช้สถานะ หรือตำแหน่งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาเข้าไปก้าวก่าย หรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) การปฏิบัติราชการ หรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น

(2) การบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง และเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่ง หรือเงินเดือนประจำ และมิใช่ข้าราชการการเมือง พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือ

(3) การให้ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่ง หรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมืองพนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น พ้นจากตำแหน่ง

ดังนั้น จะมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ คือ มาตรา 268, 266, 182 (7), 180 (1) ช่องทาง มาตรา 182 วรรคสาม ประกอบ มาตรา 91

ส่วนข้อเท็จจริงว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีความผิดมาตรา 268 หรือไม่ ไม่ต้องสืบ เพราะคำวินิจฉัยศาลปกครองสูงสุดระบุไว้ชัดเจนแล้ว

ดังนั้นหากศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดว่า การโยกย้าย นายถวิล เข้าข่ายเป็นการกระทำอันต้องห้าม ตามมาตรา 268 นายกฯยิ่งลักษณ์ จะพ้นตำแหน่งไปตาม มาตรา 182 (7) ทันที โดยไม่ต้องมีกระบวนการถอดถอนแต่อย่างใดอีกแล้ว

เมื่อความเป็นนายกรัฐมนตรีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ สิ้นสุดลง คณะรัฐมนตรี ก็จะพ้นตำแหน่งไปทั้งหมด ตามมาตรา 180 ซึ่งก็จะต้องมีการแต่ตั้งนายกฯ และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ทันที

แต่การแต่งตั้งนายกดฯ และครม. ดังกล่าวจะมีปัญหาตามมา เพราะ มาตรา 171 กำหนดไว้ว่า " ..นายกรัฐมนตรี ต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร.." ซึ่งขณะนี้ ไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แม้แต่คนเดียว

เมื่อมาถึงจุดนี้ ก็คงจะไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากการตั้งนายกรัฐมนตรี โดยอาศัย มาตรา 7


กำลังโหลดความคิดเห็น