xs
xsm
sm
md
lg

ศาลรับวินิจฉัยเด้ง"ถวิล" "ปู-ครม."ส่อขาเก้าอี้หัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน-ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ รับวินิจฉัยสถานะนายกรัฐมนตรีกรณีสั่งย้าย "ถวิล" ไม่ชอบ สั่งให้ชี้แจงใน 15 วัน พร้อมมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้อง ศรส. ขอให้สั่ง กปปส. ยุติการชุมนุม ชี้ข้ออ้างปิดถนน ปิดสถานที่ราชการ ขัดขวางเลือกตั้ง เป็นความผิดอาญา ไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ต้องไปจัดการเอง เผยขั้นตอนตามกฎหมาย "ปู" มีสิทธิ์ตกเก้าอี้พ่วง ครม. ทั้งคณะ เหตุต้องยึดตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด จับตาจุดเปลี่ยนตั้งนายกฯ ใหม่ พึ่งมาตรา 7 หรือไม่

นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ รับคำร้องที่ประธานวุฒิสภา ส่งความเห็นของสมาชิกวุฒิสภา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 (7) ประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 หรือไม่ จากกรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้คืนตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แก่นายถวิล เปลี่ยนศรี ซึ่งนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา และคณะรวม 28 คน เห็นว่าการที่นายกรัฐมนตรี โยกย้ายนายถวิล พ้นจากการเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาตินั้น ไม่ใช่เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่การบริหารราชการตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อสภา แต่เป็นการใช้ตำแหน่งการเป็นนายกรัฐมนตรีเข้าไปแทรกแซงการเพื่อประโยชน์ของตนเอง เครือญาติ พรรคเพื่อไทย ที่นายกรัฐมนตรี สังกัด เข้าข่ายต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ประกอบ มาตรา 266 (2) และ (3) ไว้พิจารณาวินิจฉัย

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า กรณีตามคำร้อง เป็นการยื่นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ประกอบ มาตรา 182 วรรคสาม ที่ให้ ส.ว.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่สิทธิเข้าชื่อยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภาเพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีที่มีการกระทำอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง จึงอยู่ในอำนาจที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้วินิจฉัย โดยให้นายกรัฐมนตรี ยื่นคำชี้แจ้งแก้ข้อกล่าวหากลับมาภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับสำเนาหนังสือ

นอกจากนี้ ยังมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ในฐานะส่วนตัว และฐานะผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. กับพวกรวม 54 คน กระทำการเพื่อล้มล้างการปกครอง หรือกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิถีทางที่ไมได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ และขอให้ศาลสั่งระงับการชุมนุมดังกล่าว

โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ที่ร.ต.อ.เฉลิมระบุตามคำร้องว่านายสุเทพ กระทำการปิดเส้นทางจราจร จัดการชุมนุมในลักษณะดาวกระจายไปตามเส้นทางต่างๆ นำกลุ่มผู้ขุมนุมเข้ายึดพื้นที่ของหน่วยงานราชการเพื่อมิให้ข้าราชการเข้าทำงาน ปิดล้อมสถานที่รับสมัครส.ส. และหน่วยเลือกตั้ง ขัดขวางการใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งส.ส. ทำร้ายร่างกายประชาชน เจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมทั้งสะสมอาวุธปืน วัตถุระเบิดและอาวุธอื่นๆ โดยมีการพกพาไปตามสถานที่สาธารณะต่างๆ นั้น เป็นการกล่าวอ้างว่า นายสุเทพ กับพวกกระทำการที่เป็นความผิดอาญา และกฎหมายฉบับต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ซึ่งต้องรับผิดชอบในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายนั้น และได้มีการดำเนินการจนกระทั่งศาลอาญาได้ออกหมายจับผู้ถูกร้องจำนวนหนี่งไว้แล้ว กรณีตามคำร้องจึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสอง ได้ และเมื่อไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้ว คำขออื่นก็ไม่จำเป็นต้องพิจารณา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องสถานภาพความเป็นรัฐมนตรีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ไว้พิจารณาแล้ว มีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ดังนี้

มาตรา 182 (7) ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อกระทำการอันต้องห้ามตาม มาตรา 267 มาตรา 268 หรือ มาตรา 269

มาตรา 180 (1) รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ตามมาตรา 182

มาตรา 268 นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี จะกระทำการใดที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 266 มิได้ เว้นแต่เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภา หรือตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา 266 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ต้องไม่ใช้สถานะ หรือตำแหน่งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาเข้าไปก้าวก่าย หรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) การปฏิบัติราชการ หรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น

(2) การบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง และเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่ง หรือเงินเดือนประจำ และมิใช่ข้าราชการการเมือง พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือ

(3) การให้ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่ง หรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมืองพนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น พ้นจากตำแหน่ง

ดังนั้น จะมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ คือ มาตรา 268, 266, 182 (7), 180 (1) ช่องทาง มาตรา 182 วรรคสาม ประกอบ มาตรา 91

ส่วนข้อเท็จจริงว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีความผิดมาตรา 268 หรือไม่ อาจไม่ต้องสืบ เพราะคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ระบุไว้ชัดเจนแล้ว หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดว่า การโยกย้ายนายถวิล เข้าข่ายเป็นการกระทำอันต้องห้าม ตามมาตรา 268 นายกฯ จะพ้นตำแหน่งไปตาม มาตรา 182 (7) ทันที โดยไม่ต้องมีกระบวนการถอดถอนแต่อย่างใดอีกแล้ว และเมื่อความเป็นนายกรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ สิ้นสุดลง คณะรัฐมนตรี ก็จะพ้นตำแหน่งไปทั้งหมด ตามมาตรา 180 ซึ่งก็จะต้องมีการแต่ตั้งนายกฯ และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ทันที

อย่างไรก็ตาม การแต่งตั้งนายกฯ และครม. ดังกล่าวจะมีปัญหาตามมา เพราะมาตรา 171 กำหนดไว้ว่า "นายกรัฐมนตรี ต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร" ซึ่งขณะนี้ ไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แม้แต่คนเดียว จึงต้องจับตาว่า หากไปถึงจุดนั้น จะมีการตั้งนายกรัฐมนตรี โดยอาศัยมาตรา 7 หรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า หลังจากทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญได้รับเรื่องสถานภาพนายกฯ ไว้พิจารณา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้หารือร่วมกับนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรมช.เกษตรและสหกรณ์ นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี พร้อมทีมทนาย นำโดยนายพิชิต ชื่นบาน คณะทำงานฝ่ายกฏหมายพรรคเพื่อไทย โดยนายกฯ ได้สอบถามทีมทนายว่า ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ทันทีเลยหรือไม่ ซึ่งนายพิชิต บอกว่า ไม่จำเป็นต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยถึงที่สุดก่อน และเรื่องนี้ นายกฯ สามารถส่งเอกสารชี้แจงได้ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปด้วยตัวเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น