“คำนูณ” เชื่อคดีย้าย “ถวิล เปลี่ยนศรี” เป็นหมัดน็อกเขี่ย “นายกฯ-ครม.” พ้นตำแหน่งไม่ก่อนก็หลังสงกรานต์ ชี้ “ปู” ผิดมาตรา 268 ชัดเจนตามคำวินิจฉัยศาลปกครองสูงสุด ต้องพ้นตำแหน่งตามมาตรา 182 (7) ส่งผลให้รัฐมนตรีทั้งคณะสิ้นสภาพด้วยตามมาตรา 180 (1)
วันนี้ (26 มี.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 22.30 น. นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า “ยังเชื่อครับว่าประเด็นมาตรา 268 ย้ายคุณถวิล เปลี่ยนศรี อาจจะเป็นหมัดน็อก ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีอาจจะสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เป็นผลให้ ครม.ทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง ถ้าไม่ก่อนสงกรานต์ก็หลังสงกรานต์ รอผลการพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับของศาลรัฐธรรมนูญต้นเดือนเมษายนก่อน
ทบทวนข้อกฎหมายนะ
มาตรา 182 (7) ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อ... กระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา 267 มาตรา 268 หรือมาตรา 269
มาตรา 180 (1) รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ... ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 182
มาตรา 268 นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีจะกระทำการใดที่บัญญัติไว้ในมาตรา 266 มิได้ เว้นแต่เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภา หรือตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา 266 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ใช้สถานะ หรือตำแหน่งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) การปฏิบัติราชการ หรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น
(2) การบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง และเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่ง หรือเงินเดือนประจำ และมิใช่ข้าราชการการเมือง พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือ
(3) การให้ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่ง หรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมืองพนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น พ้นจากตำแหน่ง
กรณีนี้คือมาตรา 268, 266, 182 (7), 180 (1) ช่องทางมาตรา 182 วรรคสามประกอบมาตรา 91
ข้อเท็จจริงว่าผิดมาตรา 268 หรือไม่ ไม่ต้องสืบ เพราะคำวินิจฉัยศาลปกครองสูงสุดระบุไว้ชัดเจนแล้ว
ส่วนที่เหลือก็เป็นข้อกฎหมายตรงไปตรงมา” นายคำนูณ ระบุ
สำหรับคดีดังกล่าวนั้น เมื่อวันที่ 10 มี.ค. นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ได้นำรายชื่อ ส.ว.27 คน เข้ายื่นคำร้องต่อ นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ผ่าน นพ.อนันต์ อริยชัยพานิชย์ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 เป็นผู้รับคำร้องแทน โดยให้ช่องทางตามมาตรา 91 เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ที่ได้เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตัวเอง และผู้อื่นในการแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนสี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จนเป็นเหตุให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งคืนตำแหน่งให้แก่นายถวิล ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องสิ้นสุดเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182(7) หรือไม่
โดยวันนี้ (26 มี.ค.) นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงศ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ ได้เปิดเผยว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ยังไม่มีการพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับคำร้องดังกล่าว เนื่องจากคณะตุลาการงดการประชุมในสัปดาห์นี้ อย่างไรก็ตาม คำร้องดังกล่าวประธานวุฒิสภาได้ส่งมาถึงสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา ดังนั้น คาดว่าในการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสัปดาห์หน้า (2 เม.ย.) คงจะได้มีการพิจารณา