xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ คนกลางมาแน่ มาตามวิถีรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
หากนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีทั้งคณะต้องหมดสภาพไปด้วย ถ้าตุลาการศาลรัฐธรรมนูณวินิจฉัยว่า การโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ.2554 เป็นการกระทำอันต้องห้ามตามมาตรา 266 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ก็จะเป็นเรื่องที่โชคชะตาเล่นตลกกับ นช.ทักษิณ ชินวัตร แบบหัวร่อมิได้ร่ำไห้มิออก

เพราะสาเหตุที่ทำให้น้องสาว นช.ทักษิณ หลุดจากอำนาจที่พยายามดิ้นรนรักษาไว้ทุกวิถีทาง ก็คือความต้องการให้พี่เมียของ นช.ทักษิณ พลตำรวจเอกเพรียวพันธุ์ ดามาพงศ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ในปีสุดท้ายของอายุราชการ เพื่อเป็นเกียรติประวัติแห่งตระกูลดามาพงศ์

เรื่องนี้ถูกจัดเป็นภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1 หลังแถลงนโยบายต่อสภาฯ ไม่ถึงเดือน ในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรก ก็มีการย้ายนายถวิล เพื่อโยกพลตำรวจเอกวิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร.ในขณะนั้นมาเป็นเลชา สมช. แล้วดันพี่เมีย นช. ทักษิณ ขึ้นมาเป็นผู้ผบ.ตร.แทน ในเวลาต่อมา พลตำรวจเอกวิเชียรก็ถูกย้ายไปเป็นปลัดกระทรวงคมนาคม แล้วเสียบพลโทภราดร พัฒนถาบุตร หลานชายนายเก่าของ นช.ทักษิณ เข้ามาเป็น เลขาธิการ สมช.แทน

หากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของนายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกวุฒิสภาและพวก และวินิจฉัยว่านางสาวยิ่งลักษณ์ ทำผิดมาตรา 266 แห่งรัฐธรรมนูญ ต้องพ้นจากตำแหน่ง พร้อมกับคณะรัฐมนตรีรักษาการทั้งคณะทันที โดยไม่ต้องมีการถอดถอนจากวุฒิสภา เรื่องนี้ก็จะเข้าตำรา “เถาถั่ว เผาต้มถั่ว ร่ำระรัวถั่วในกะทะ ร่วมรากเกิดแล้วจะ เร่งเผาผลาญกันทำไม” แบบไม่ตั้งใจ คาดไม่ถึงว่า ดาบนั้นจะคืนสนองกลับมาเช่นนี้ เพราะความเหิมเกริม มั่นใจในอำนาจของตัวเองมากเกินไป จนไม่คำนึงถึงความถูกต้องของ นช.ทักษิณ


มาตรา182 (7) ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติว่า ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อกระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา 267 มาตรา 268 หรือมาตรา 269

มาตรา 180(1) รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งเมื่อ ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 182

มาตรา 268 นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะกระทำการใดที่บัญญัติไว้ในมาตรา 266 มิได้ เว้นแต่เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภา หรือตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา 266 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา เข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในเรื่องดังต่อไปนี้

( 1) การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น

(2) การบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอนเลื่อนตำแหน่ง และเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ และมิใช่ข้าราชการการเมือง พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น

(3) การให้ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่ง หรือเงินเดือนประจำ และมิใช่ข้าราชการการเมือง พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น พ้นจากตำแหน่ง

คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 7 มีนาคม วินิจฉัยว่า ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่ให้นายถวิลพ้นจากตำแหน่ง เลขา สมช. เป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ว่า การโยกย้ายเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร แต่ไม่มีเหตุผลที่อธิบายได้ว่า ผู้ถูกฟ้องบกพร่องอย่างไร และไม่มีประสิทธิภาพในการทำหน้าที่อย่างไร

หากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องและเห็นพ้องตามคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทั้งคณะ จะหมดสภาพการรักษาการไปทันที บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่สามารถนำมาใช้บังคับได้ เพราะไม่มี ส.ส.แล้ว มีแต่วุฒิสมาชิก แต่ประเทศต้องมีรัฐบาล ต้องมีนายกรัฐมนตรี และรัฐธรรมนูญมีทางออกในเรื่องนี้ไว้ใน มาตรา 7 ซึ่งระบุว่า ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นเป็นไปตามประเพณีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

คือ นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ตามมาตรา 171 และ 172 ของรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น แต่เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาตามบทบัญญัติตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ

ใครละที่ผูกปมสร้างเงื่อนไข บนพื้นฐานของผลประโยชน์ส่วนตัว ที่นำไปสู่สถานการณ์เช่นนี้ ??


เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์
กำลังโหลดความคิดเห็น