ปธ.กกต.คาดเลือกตั้ง ส.ว.ไร้ปัญหา เตรียมตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร เชื่อลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.ใหม่ได้ 5 เม.ย.รอที่ประชุมเคาะ 11 มี.ค.นี้ ยันไม่ล้วงลูกโผทหาร ดำเนินการตามอำนาจ กม.กำหนด อีกด้าน ผอ.สำนักงานบริหารการเลือกตั้ง แนะ ผอ.กกต.เขตไม่ประกาศอดีตผู้บริหารท้องถิ่นเป็นผู้สมัคร ส.ว.ชี้อาจขัด รธน.ม.115(9) หวังให้ผู้สมัครชงศาลฎีกาวินิจฉัยให้ชัด
วันนี้ (9 มี.ค.) ที่กรีนเนอรี่ รีสอร์ท เขาใหญ่ นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.กล่าวถึงการรับสมัคร ส.ว.เป็นการทั่วไป ว่า ภาพรวมการรับสมัครเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร ซึ่งก็มีการยื่นร้องเรียนเข้ามาในเรื่องคุณสมบัติของผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งนายก อบจ. รองนายก อบจ.ที่ลาออกเพื่อมาลงสมัคร ส.ว.ยังไม่ถึง 5 ปี อาจเป็นขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 115(9) หรือไม่ ซึ่งทาง กกต.จะขอเวลาตรวจสอบคุณสมบัติให้เร็วที่สุด เพราะหากตรวจสอบแล้วผู้สมัครขาดคุณสมบัติ ก็สามารถไปยื่นร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าการเลือกตั้ง ส.ว.ในวันที่ 30 มี.ค.จะไม่มีปัญหาอะไร เพราะทุกฝ่ายก็เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง ส.ว.ทั้งนี้ก็ขอให้ผู้สมัครดำเนินการอยู่ในกรอบของกฎหมาย
นายศุภชัย กล่าวอีกว่า ในการประชุม กกต.ในวันที่ 11 มี.ค.นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง จะนำข้อหารือที่ได้จากการประชุมระหว่างผู้แทนพรรคการเมืองและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องใน 14 จังหวัดภาคใต้ เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ที่ผ่านมา เพื่อหารือข้อสรุปในการกำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ ทั้งนี้ คาดว่าวันลงคะแนนเลือกตั้งใหม่จะมีขึ้นเร็วที่สุดในวันที่ 5 เม.ย.ส่วนข้อเสนอของพรรคการเมืองที่ขอให้จัดวันลงคะแนนเลือกตั้งในวันที่ 30 มี.ค.พร้อมกับการเลือกตั้ง ส.ว.นั้น คงเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากอยากให้การเลือกตั้ง ส.ว.แล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย
“โดยในส่วนของกรุงเทพฯ น่าจะจัดการเลือกตั้งได้โดยเร็ว เพราะถึงแม้จะมีการชุมนุมแต่ไม่ใช่จุดที่เป็นปัญหา กกต.ก็จะพยายามจัดการเลือกตั้งในกรุงเทพฯให้เต็มที่ ซึ่งก่อนหน้านี้ กกต.ก็ได้เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองมาลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาในการจัดการเลือกตั้งใน 14 จังหวัดภาคใต้แล้ว ไม่ใช่ว่า กกต.ไม่อยากจัดการเลือกตั้ง แต่ติดตรงที่ยังมีปัญหาจึงทำให้การเลือกตั้งไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จ” ประธาน กกต.กล่าว
นายศุภชัย ยังกล่าวถึงกรณีที่กระทรวงกลาโหมได้ส่งโผการโยกย้ายนายทหารมาให้ กกต.ทำความเห็นชอบ ว่า ขณะนี้ได้มีการส่งมาแล้วบางส่วน แต่โผโยกย้ายนายทหารระดับนายพลยังไม่ได้ส่งมา ซึ่งเราต้องขอดูรายละเอียดอย่างรอบคอบ และดำเนินการทำให้เสร็จโดยเร็ว อีกทั้งการพิจารณาจะดำเนินไปตามขั้นตอนที่กฎหมายให้อำนาจไว้ แต่หากมีการร้องเรียนเข้ามาในเรื่องของการโยกย้ายไม่เป็นธรรมนั้น ก็คงต้องตรวจสอบต่อไป แต่ยืนยันว่า กกต.จะไม่ล้วงลูกโผทหารแน่นอน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการสัมมนาสื่อมวลชนกับ กกต.เพื่อชี้แจงและเตรียมความพร้อมการเลือกตั้ง ส.ว.ในวันที่ 30 มี.ค.โดยมีเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กกต.มาให้ความรู้กับสื่อ โดยตอนหนึ่งระบุพบว่า จากการที่มีผู้สมัคร ส.ว.ทั่วประเทศ เบื้องต้น 457 คน ในการเปิดรับสมัครทั้ง 5 วัน ระหว่างวันที่ 4-8 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งยังต้องรอการตรวจสอบคุณสมบัติ โดย ผอ.กกต.เขตเลือกตั้ง ภายในวันที่ 15 มี.ค.นั้น ล่าสุดพบประเด็นการตีความคุณสมบัติ เนื่องจากพบว่ามีรองนายก อบจ.และ อบต.ลงสมัครนับสิบราย โดยยังมีปัญหาที่อาจต้องตีความว่าเข้าข่ายเป็นข้าราชการการเมือง ที่จะต้องพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว 5 ปี จึงจะลงสมัครได้หรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 115(9)
ร.ต.วันชัย ใจกุศล รอง ผอ.สำนักงานบริหารการเลือกตั้ง กล่าวในระหว่างการสัมมนาว่า พบว่าในการเลือกตั้ง ส.ว.ครอบครัวนักการเมืองต่างๆ มักจะมีการวางตัวบุคคลในครอบครัวไว้เพื่อเข้าการเมืองระดับต่างๆ ซึ่งในบรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ว.ครั้งนี้ ก็มีส่วนหนึ่งเป็นนักการเมืองท้องถิ่น อาทิ รองนายก อบจ.และรองนายก อบต.ที่มาลงสมัคร ส.ว.ประมาณ 10 คน ซึ่งต้องตีความว่าเป็นตำแหน่งทางการเมือง ที่อยู่ในข่ายคุณสมบัติต้องห้ามในการลงสมัคร ส.ว.หรือไม่
“และหากผมเป็น ผอ.กกต.เขต คงไม่รับรองคุณสมบัตีให้บุคคลเหล่านี้ เพื่อให้เขายื่นให้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งชี้ขาด เพื่อความชัดเจนว่าจะสามารถลงสมัครได้หรือไม่เพราะหากรับรองคุณสมบัติไปแล้วอาจมีปัญหาในภายหลังได้ และขอแนะนำให้ ผอ. กกต.เขต ประกาศรายชื่อผู้สมัครโดยเร็ว อย่าปล่อยให้ถึงวันสุดท้ายคือวันที่ 15 มี.ค. เผื่อเวลากรณีผู้ที่ไม่ได้รับการประกาศชื่อจะได้มีเวลายื่นเรื่องให้ศาลฎีกาพิจารณา โดยเฉพาะรองนายก อบจ.หรือ รอง นายก อบต.ที่ยังมีข้อถกเถียงอยู่จะได้เกิดบรรทัดฐานเรื่องคุณสมบัติผู้สมัครแบบเดียวกันทั่วประเทศ” รอง ผอ.สำนักบริหารการเลือกตั้งกล่าว