xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ผู้สมัครส.ว.เป็นร่างทรงนักการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพล) ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 1,090 คน ในหัวข้อเรื่อง “คนไทยกับการเลือกตั้งส.ว. ปี 57” โดยประชาชน 63 % ทราบว่า 30 มี.ค.จะมีการเลือกตั้งส.ว. แต่มีกลุ่มตัวอย่างมากถึง 64 % บอกไม่รู้ว่าส.ว. ทำหน้าที่อะไร
ทั้งนี้ ประชาชน ร้อยละ 63.0 ทราบว่า วันที่ 30 มีนาคมที่จะถึงนี้ เป็นวันเลือกตั้งส.ว. ขณะที่ร้อยละ 37.0 ไม่ทราบ โดยประชาชนร้อยละ 55.9 บอกว่า ตั้งใจออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งแน่นอน และร้อยละ 18.8 บอกว่า คงไม่ออกไปใช้สิทธิ์ เพราะติดธุระ ส่วนอีกร้อยละ 25.3 บอกว่า ยังไม่แน่ใจ
เมื่อถามว่าหน้าที่หลักของส.ว. คืออะไร ประชาชน ร้อยละ 64.3 บอกว่า ไม่ทราบ ที่เหลือร้อยละ 35.7 บอกว่า ทราบ โดยระบุว่าส.ว. ทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ตรวจสอบการใช้งบประมาณของแผ่นดิน เป็นต้น
เมื่อถามต่อว่า ผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภาที่ลงเลือกตั้งในรอบนี้ มีนักการเมือง หรือพรรคการเมืองหนุนหลังอยู่หรือไม่ ประชาชนร้อยละ 53.8 คิดว่า มี ขณะที่ร้อยละ 10.5 คิดว่า ไม่มี และร้อยละ 35.7 บอก ไม่แน่ใจ
สำหรับผลกระทบจากปัญหาการเมืองที่เป็นอยู่ในขณะนี้ จะส่งผลทำให้ประชาชนเบื่อการออกไปเลือกตั้งส.ว. ในครั้งนี้หรือไม่ ประชาชนร้อยละ 57.5 ระบุว่า“ส่งผลทำให้เบื่อ”ขณะที่ ประชาชนร้อยละ 42.5 ระบุว่า “ไม่เบื่อ ไม่ส่งผล”
ด้านความเห็นต่อข้อคำถามที่ว่า “การเลือกตั้ง ส.ว. ในครั้งนี้ จะมีปัญหาเหมือนการเลือกตั้งส.ส. เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาหรือไม่” ประชาชน ร้อยละ 48.8 คิดว่า คงไม่มี และร้อยละ 29.5 คิดว่า น่าจะมี ที่เหลือร้อยละ 21.7 ยังไม่แน่ใจ
ส่วนเกณฑ์ที่ใช้ในการตัดสินใจเลือกบุคคลที่สมัครเป็นส.ว. ในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ ดูจากความรู้ความสามารถและผลงานที่ผ่านมา (ร้อยละ 73.9) รองลงมาคือ ดูจากชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักในสังคม (ร้อยละ 6.8) และการประชาสัมพันธ์ตัวเองให้สังคมได้รับรู้ (ร้อยละ 6.8)

**นักการเมืองท้องถิ่นสมัครส.ว.ส่อวืด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการสัมมนาสื่อมวลชนกับ กกต. เพื่อชี้แจง และเตรียมความพร้อมการเลือกตั้งส.ว.ในวันที่ 30 มี.ค. โดยมีเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กกต.มาให้ความรู้กับสื่อ โดยตอนหนึ่งระบุ ว่า จากการที่มีผู้สมัคร ส.ว. ทั่วประเทศเบื้องต้น 457 คน ในการเปิดรับสมัครทั้ง 5 วัน ระหว่าง 4 - 8 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งยังต้องรอการตรวจสอบคุณสมบัติ โดย ผอ.กกต. เขตเลือกตั้ง ภายในวันที่ 15 มี.ค. นั้น
ล่าสุด พบประเด็นการตีความคุณสมบัติ เนื่องจากพบว่า มีรองนายกฯ อบจ. และอบต. ลงสมัครนับสิบราย โดยยังมีปัญหาที่อาจต้องตีความว่าเข้าข่ายเป็นข้าราชการการเมือง ที่จะต้องพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว 5 ปี จึงจะลงสมัครได้หรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 115 (9)
ร.ต.วันชัย ใจกุศล รอง ผอ.สำนักงานบริหารการเลือกตั้ง กล่าวในระหว่างการสัมมนาว่า พบว่าในการเลือกตั้งส.ว. ครอบครัวนักการเมืองต่างๆ มักจะมีการวางตัวบุคคลในครอบครัวไว้ เพื่อเข้าการเมืองระดับต่างๆ ซึ่งในบรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ว. ครั้งนี้ ก็มีส่วนหนึ่งเป็นนักการเมืองท้องถิ่น อาทิ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ที่มาลงสมัครส.ว.ประมาณ 10 คน ซึ่งต้องตีความว่า เป็นตำแหน่งทางการเมือง ที่อยู่ใน ข่ายคุณสมบัติต้องห้ามในการลงสมัครส.ว.หรือไม่
"และหากผมเป็น ผอ. กกต.เขต คงไม่รับรองคุณสมบัตีให้บุคคลเหล่านี้ เพื่อให้เขายื่นให้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งชี้ขาด เพื่อความชัดเจนว่า จะสามารถลงสมัครได้หรือไม่ เพราะหากรับรองคุณสมบัติไปแล้วอาจมีปัญหาในภายหลังได้ และขอแนะนำให้ ผอ. กกต.เขต ประกาศรายชื่อผู้สมัครโดยเร็ว อย่าปล่อยให้ถึงวันสุดท้าย คือวันที่ 15 มี.ค. เผื่อเวลากรณีผู้ที่ไม่ได้รับการประกาศชื่อ จะได้มีเวลายื่นเรื่องให้ศาลฎีกาพิจารณา โดยเฉพาะ รองนายก อบจ. หรือ รอง นายก อบต. ที่ยังมีข้อถกเถียงอยู่ จะได้เกิดบรรทัดฐานเรื่องคุณสมบัติผู้สมัครแบบเดียวกันทั่วประเทศ" รอง ผอ. สำนักบริหารการเลือกตั้งกล่าว

**คาดลงคะแนนเลือกตั้งใหม่5 เม.ย.

นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. กล่าวถึงการรับสมัคร ส.ว. เป็นการทั่วไปว่า ภาพรวมการรับสมัครเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร ซึ่งก็มีการยื่นร้องเรียนเข้ามาในเรื่องคุณสมบัติของผู้ที่เคยดำรงตำแหน่ง นายก อบจ. รองนายก อบจ. ที่ลาออกเพื่อมาลงสมัครส.ว. ยังไม่ถึง 5 ปี อาจเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 115 (9) หรือไม่ ซึ่งทางกกต.จะขอเวลาตรวจสอบคุณสมบัติให้เร็วที่สุด เพราะหากตรวจสอบแล้วผู้ สมัครขาดคุณสมบัติ ก็สามารถไปยื่นร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้
อย่างไรก็ตาม คาดว่าการเลือกตั้ง ส.ว. ในวันที่ 30 มี.ค. จะไม่มีปัญหาอะไร เพราะทุกฝ่ายก็เห็ยด้วยกับการเลือกตั้งส.ว. ทั้งนี้ก็ขอให้ผู้สมัครดำเนินการอยู่ในกรอบของกฎหมาย
นายศุภชัย กล่าวอีกว่า ในการประชุม กกต.ในวันที่ 11 มี.ค. นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง จะนำข้อหารือที่ได้จากการประชุมระหว่างผู้แทนพรรคการเมืองและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องใน 14 จังหวัดภาคใต้ เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ที่ผ่านมา เพื่อหารือข้อสรุป ในการกำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ ทั้งนี้คาดว่าวันลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ จะมีขึ้นเร็วที่สุดในวันที่ 5 เม.ย. ส่วนข้อเสนอของพรรคการเมือง ที่ขอให้จัดวันลงคะแนนเลือกตั้งในวันที่ 30 มี.ค. พร้อมกับการเลือกตั้ง ส.ว. นั้น คงเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากอยากให้การเลือกตั้งส.ว.แล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย
"โดยในส่วนของกรุงเทพฯ น่าจะจัดการเลือกตั้งได้โดยเร็ว เพราะถึงแม้จะมีการชุมนุม แต่ไม่ใช่จุดที่เป็นปัญหา กกต.ก็จะพยายามจัดการเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ให้เต็มที่ ซึ่งก่อนหน้านี้ กกต.ก็ได้เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองมาลงพื้นที่ เพื่อรับฟังปัญหาในการจัดการเลือกตั้งใน 14 จังหวัดภาคใต้แล้ว ไม่ใช่ว่ากกต.ไม่อยากจัดการเลือกตั้ง แต่ติดตรงที่ยังมีปัญหาจึงทำให้การเลือกตั้งไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จ" ประธาน กกต. กล่าว

**กกต.หวังปชช.ใช้สิทธิร้อยละ 70

นายประวิช รัตนเพียร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านการมีส่วนร่วม กล่าวแสดงความพอใจต่อจำนวนผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภาทั่วประเทศ รวม 457 คน แม้ว่าหากเปรียบเทียบจำนวนผู้สมัครในปีนี้ จะพบว่ามีจำนวนน้อยกว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 51 ร้อยละ 10 แต่ในทุกจังหวัด ก็มีตัวเลือกให้ประชาชนในการเลือกตั้งอย่างมีเสรีภาพ ทั้งที่การที่มีผู้สมาสมัครน้อยนั้นไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมือง แม้จะมีการตั้งข้อสังเกตว่า เหตุที่ผู้สมัครน้อย เพราะกลัวการ
เลือกตั้งส.ว. สะดุด เหมือนการเลือกตั้งส.ส. ซึ่งกระบวนการเลือกตั้งส.ว. จนถึงวันนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั่งในเรื่องของอุปกรณ์ สถานที่และกรรมการประจำหน่วย และเชื่อว่าการเลือกตั้ง ส.ว. ในครั้งนี้ จะไม่มีการขัดขวาง มั่นใจว่า วันที่ 30 มี.ค. ประชาชนจะออกมาใช้สิทธิ์อย่างเต็มที่ และหวังว่าจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 70 เนื่องจากการเลือกตั้งส.ว. เมื่อปี 51 มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ร้อยละ 56 และการเลือกตั้ง ส.ว. เมื่อปี 54 มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ ร้อยละ 75
ส่วนกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความว่าการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. เป็นโมฆะ หรือไม่ นายประวิช กล่าวว่า กกต. ไม่ได้กังวล ว่าจะถูกร้องว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ เราทำงานเต็มที่ ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคำวินิจฉัยออกมาทางใด กกต.ก็พร้อมจะดำเนินการตาม

**พท.ขู่เอาผิดกกต.ไม่แจ้งจับ"เทือก"

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายสมชัย ระบุถึงผลการหารือระหว่าง กกต.กับเจ้าหน้าที่จัดการเลือกตั้งที่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ที่มีข้อสรุป ไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งส.ส. และส.ว.ในวันเดียวกันว่า รู้สึกแปลกใจ เพราะหลายฝ่ายต้องการให้มีการเลือกตั้ง เพื่อแก้สุญญากาศทางการเมือง หาก กกต.ดำเนินการเลือกตั้งนานเกินไป จะเกิดปัญหาการบริหารราชการแผ่นดิน ขณะนี้สถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว กกต. ควรสั่งให้เลือกตั้งเร็วที่สุด ขอให้ทบทวนข้อเสนอจากการประชุมที่ จ.สงขลา ควรให้มีเลือกตั้ง ส.ส.พร้อมกับการเลือกตั้ง ส.ว.ในวันที่ 30 มี.ค.นี้ จะช่วยประหยัดงบประมาณ และแก้ปัญหาขัดขวางการเลือกตั้งจากกลุ่มกปปส.ได้ เพราะผู้สมัคร ส.ว.ภาคใต้ส่วนใหญ่ เป็นญาติพี่น้องนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ และผู้สมัครบางส่วนเป็นแกนนำ กปปส. ที่ผ่านมามีคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 366 คดี แต่แปลกใจว่า เหตุใด กกต.ไม่ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาเอาผิด นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกปปส. กับพวก ข้อหาขัดขวางการเลือกตั้ง ดังนั้นในวันที่ 10 มี.ค. พรรคเพื่อไทยจะไปแจ้งความต่อกองปราบ เอาผิด กกต. ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
กำลังโหลดความคิดเห็น