xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” แจงวุฒิฯ รอเงื่อนไขสมบูรณ์ตั้งนายกฯ - หวั่นรีบร้อนกระทบสถาบัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา (ภาพจากแฟ้ม)
“ส.ว.คำนูณ” โพสต์เฟซบุ๊ก แจงวุฒิฯ ตัดสินใจยังไม่ตั้งนายกฯ หลังชั่งน้ำหนักความเสียหายของบ้านเมือง เผยแม้ทำได้ แต่หวั่นกระทบสถาบัน เหตุยังไม่เข้าเงื่อนไขโดยสมบูรณ์ คือ รมต.รักษาการ ยอมลาออก หรือการเลือกตั้งเกิดขึ้นไม่ได้อย่างแน่นอน ย้ำวุฒิสภายังเดินหน้าทำงาน พร้อมตัดสินใจอีกครั้ง หากสถานการณ์เปลี่ยน

วันนี้ (17 พ.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. สรรหา ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว “คำนูณ สิทธิสมาน” ในหัวข้อ “การตัดสินใจในฐานะสมาชิกวุฒิสภา” มีใจความสรุปได้ว่า กรณีการเรียกร้องให้วุฒิสภาดำเนินการเพื่อให้ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่โดยเร็ว แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับวินิจฉัยว่าจะต้องกระทำอย่างไรต่อไป แต่ก็เป็นที่ปรากฏชัดเจนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 180 วรรคสองว่าจะต้องมีการดำเนินการเพื่อให้ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ทันที โดยให้ดำเนินการตามมาตรา 172 โดยอนุโลม

แต่ปัญหาก็คือขณะนี้ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ที่จะดำเนินกระบวนการตามมาตรา 172 และสถานการณ์ล่าสุด ณ วันนี้ แนวโน้มที่จะมีสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็วยังไม่เห็น เพราะยังไม่มีการตราพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ และยังไม่มีแนวโน้มที่จะตราขึ้นได้ในเร็ววัน เพราะ กกต.ยังคงมีความเห็นทางกฎหมายแตกต่างกับรัฐบาลใน 2 ประเด็นสำคัญ

และโดยความเป็นจริงของสถานการณ์การเมือง หากแม้ผ่านอุปสรรค 2 ประการนี้จนกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ได้ ก็หาได้มีหลักประกันว่าจะสามารถดำเนินกระบวนการเลือกตั้งทั่วไปจนสำเร็จทุกขั้นตอนจนสามารถเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อดำเนินการให้ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ตามมาตรา 172 ได้

หนทางที่จะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่โดยกระบวนการเลือกตั้งทั่วไปจึงแทบเป็นไปไม่ได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังไม่ถึงกับจะเป็นไปไม่ได้เสียทีเดียว เพียงแต่ไม่รู้ว่าจะต้องรออีกนานเท่าไร และคุ้มกับความเสียหายของประเทศชาติทุกด้านที่เกิดขึ้นทุกวันหรือไม่

สถานการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นต่อหน้าทำให้วุฒิสภาไม่อาจนิ่งดูดายได้ จึงต้องเปิดประชุมเพื่อหารืออย่างไม่เป็นทางการ โดยมีกระบวนการรับฟังความเห็นและขัอเสนอแนะจากทุกฝ่ายอย่างกว้างขวาง หนึ่งในข้อเสนอคือขอให้วุฒิสภาดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีโดยเร็ว โดยอาศัยความในรัฐธรรมนูญมาตรา 7 ประกอบมาตรา 3 มาตรา 122 และมาตราอื่นๆ วุฒิสภาซึ่งเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยและเป็นองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติองค์กรเดียวที่เหลืออยู่ย่อมสามารถเข้ามาดำเนินการเพื่อให้ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้ ซึ่งเป็นวิธีการภายในกรอบรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่วิธีการนอกรัฐธรรมนูญ และไม่ใช่การขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีที่ไม่มีกรอบรัฐธรรมนูญรองรับ และไม่ตัองตามพระราชกระแสเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549

แต่แน่นอนว่าลักษณะพิเศษของสถานการณ์ปัจจุบันมี “ข้อย้อนแย้ง” ที่มีน้ำหนักต่อการกระทำหน้าที่ดังกล่าวของวุฒิสภาด้วยเช่นกัน ประเด็นย้อนแย้งที่นำมาใคร่ครวญสำคัญที่สุดไม่ใช่เพียงข้อกฎหมาย หากแต่เป็นความเป็นจริงพื้นฐานประการสำคัญที่สุดที่ว่าหากวุฒิสภาดำเนินการให้ได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ตามมาตรา 180 วรรคสองประกอบมาตรา 172 กระบวนการนี้ไม่ได้จบอยู่ที่วุฒิสภา หากแต่อยู่ที่สถาบันพระมหากษัตริย์

ถึงแม้จะไม่ใช่การขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีที่ไม่มีกรอบรัฐธรรมนูญรองรับและไม่ต้องตามพระราชกระแส แต่ในท่ามกลางความขัดแย้งที่มีประชาชนแตกแยกทางความคิดเป็น 2 ขั้วใหญ่ โดยขั้วหนึ่งปฏิเสธอย่างแข็งกร้าวต่อการกระทำหน้าที่ของวุฒิสภา การนำรายชื่อผู้ที่เหมาะสมจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งในขณะที่เงื่อนไขยังไม่สมบูรณ์พรัอม คือยังไม่มีการเปิดทางยินยอมพรัอมใจลาออกจากรัฐมนตรีทั้ง 25 คนที่ยังคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 181 และ/หรือการเลือกตั้งทั่วไปยังคงอยู่ในขั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้แต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นไปไม่ได้ จะเป็นการสร้างความลำบากพระทัยอย่างยิ่งต่อองค์พระประมุขที่จะต้องทรงตัดสิน

กล่าวโดยสรุป แม้โดยหลักการแล้วจะเห็นว่า วุฒิสภาสามารถดำเนินการให้มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ตามมาตรา 180 วรรคสองได้ โดยอาศัยช่องทางตามมาตรา 7 ประกอบมาตรา 3 มาตรา 122 และมาตราอื่นๆ ก็ตาม แต่คำถามสำคัญคือจะกระทำได้ทันทีหรือไม่ ตัองเลือกระหว่าง 2 คำตอบ คำตอบที่หนึ่ง - ตัองดำเนินการโดยทันที ด้วยเหตุผลที่ไม่อาจปล่อยให้บ้านเมืองเสียหายไปมากกว่านี้ ตัองตัดสินใจวันนี้ ไม่อาจรอไปเรื่อยๆ อย่างไร้ความหวัง

คำตอบที่สอง - ดำเนินการเมื่อเงื่อนไขสถานการณ์สมบูรณ์ ด้วยเหตุผลที่จะไม่อาจยอมให้เกิดเป็นปัจจัยสร้างความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์แม้แต่นัอย แม้บ้านเมืองอาจจะเกิดความเสียหายมากขึ้นกว่าจะเกิดเงื่อนไขสถานการณ์สมบูรณ์ แต่เมื่อชั่งน้ำหนักกันแล้ว ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์แม้แต่น้อยในสถานการณ์ปัจจุบันอาจจะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงให้แก่ชาติบ้านเมืองในอนาคตอันใกล้มากกว่ามากนัก เงื่อนไขสถานการณ์ที่สมบูรณ์คือ เงื่อนไขที่หนึ่ง - มีการเปิดทางจาก 24 รัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อตามมาตรา 181 ยินยอมพรัอมใจลาออก เงื่อนไขที่สอง - หนทางไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปเป็นไปไม่ได้โดยสมบูรณ์

การตัดสินใจของสมาชิกวุฒิสภาไม่ใช่เรื่องของความกล้าหาญ หรือความขลาดเขลา ไม่ใช่เรื่องของความรับผิดชอบ หรือไม่รับผิดชอบ หากเป็นเรื่องของการตัดสินใจชั่งน้ำหนักความเสียหายของบ้านเมือง เมื่อได้ไตร่ตรอง และปรึกษาหารือรอบด้านแล้ว เห็นว่าคำตอบใดเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดที่ต้องกระทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ก็ต้องเลือกคำตอบนั้น และต้องเดินหน้าไป โดยอาศัยความสุจริตเป็นที่ตั้ง

หลังการตัดสินใจของวุฒิสภาเมื่อวานนี้ วุฒิสภายังคงเดินหน้าทำงานต่อไป เมื่อเงื่อนไขสถานการณ์สมบูรณ์และ/หรือมีปัจจัยแปรเปลี่ยนมีเงื่อนไขสถานการณ์ใหม่เกิดขึ้น วุฒิสภาต้องตัดสินใจอีกครั้ง

รายละเอียดข้อความในเฟซบุ๊ก “คำนูณ สิทธิสมาน”

การตัดสินใจในฐานะสมาชิกวุฒิสภา

ทำไมจึงมีข้อเรียกร้องให้วุฒิสภาดำเนินการเพื่อให้ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่โดยเร็ว ?

ก็เพราะประเทศไทยมีคณะรัฐมนตรีที่มีอำนาจจำกัดมาตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2556 ไม่อาจแก้ปัญหาของประเทศชาติได้

และตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2557 สถานการณ์เลวร้ายลงเมื่อประเทศไทยไร้นายกรัฐมนตรีอันเนื่องมาจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 6/2557 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2557

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 ดังนี้

1. ให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามมาตรา 182 (7) เพราะกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 และไม่สามารถอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อได้อีก

2. ให้ความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีที่อยู่ร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2554 สิ้นสุดลงเฉพาะตัว เพราะกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 และไม่สามารถอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อได้อีกเช่นกัน

3. คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันทั้งคณะจึงพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 180(1) แต่เฉพาะรัฐมนตรีที่ไม่ได้อยู่ร่วมในการประชุมเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2554 คงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตามมาตรา 181

แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับวินิจฉัยว่าจะต้องกระทำอย่างไรต่อไป แต่ก็เป็นที่ปรากฎชัดเจนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 180 วรรคสองว่าจะต้องมีการดำเนินการเพื่อให้ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ทันที โดยให้ดำเนินการตามมาตรา 172 โดยอนุโลม

“ในกรณีที่ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 182(1) (2) (3) (4) (5) (7) หรือ (8) ให้ดำเนินการตามมาตรา 172 และมาตรา 173 โดยอนุโลม” (มาตรา 180 วรรคสอง)

“ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกตามมาตรา 127...” (มาตรา 172 วรรคแรก)

เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 180 วรรคสองนี้ตราไว้เพื่อแก้ปัญหากรณีที่คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะเพราะเหตุที่ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเพราะเหตุต่างๆ ตามมาตรา 182 เท่านั้น

ไม่ได้รวมเหตุคณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะเพราะเหตุยุบสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรครบอายุ

เพราะแม้ในมาตราต่อไปคือมาตรา 181 จะบัญญัติรองรับไว้ในทุกกรณีที่คณะรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง ให้คณะรัฐมนตรีนั้นยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเพื่อรอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ก็จริง

แต่การที่คณะรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุที่ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 182 จะมีผลที่แตกต่างออกไป

เพราะคณะรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งเพื่อรอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะไม่มีนายกรัฐมนตรี

การมีแต่รัฐมนตรีที่ขาดนายกรัฐมนตรีย่อมจะเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดินอย่างใหญ่หลวง

ดังนั้นมาตรา 180 วรรคสองจึงบัญญัติทางออกของปัญหาไว้ให้ดำเนินการเพื่อให้ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ภายใน 30 วันนับแต่เกิดเหตุคณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่ปี 2476 จนถึงล่าสุดเมื่อวันทึ่ 7 พฤษภาคม 2557 มีเหตุการณ์นายกรัฐมนตรีลาออก คณะรัฐมนตรีทั้งคณะลาออก หรือความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง จำนวนทั้งสิ้นก่อนหน้านี้ 11 ครั้ง และทุกครั้งมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีใหม่โดยเร็ว เพราะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญในขณะนั้น

เหตุการณ์ 2 ครั้งล่าสุดเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2551 นี่เอง

แต่ปัญหาก็คือขณะนี้ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ที่จะดำเนินกระบวนการตามมาตรา 172

และสถานการณ์ล่าสุด ณ วันนี้ แนวโน้มที่จะมีสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็วยังไม่เห็น เพราะยังไม่มีการตราพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ และยังไม่มีแนวโน้มที่จะตราขึ้นได้ในเร็ววัน เพราะ กกต. ยังคงมีความเห็นทางกฎหมายแตกต่างกับรัฐบาลใน 2 ประเด็นสำคัญ

และโดยความเป็นจริงของสถานการณ์การเมือง หากแม้นผ่านอุปสรรค 2 ประการนี้จนกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ได้ ก็หาได้มีหลักประกันว่าจะสามารถดำเนินกระบวนการเลือกตั้งทั่วไปจนสำเร็จทุกขั้นตอนจนสามารถเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อดำเนินการให้ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ตามมาตรา 172 ได้
หนทางที่จะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่โดยกระบวนการเลือกตั้งทั่วไปจึงแทบเป็นไปไม่ได้

แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังไม่ถึงกับจะเป็นไปไม่ได้เสียทีเดียว

เพียงแต่ไม่รู้ว่าจะต้องรออีกนานเท่าไร

และคุ้มกับความเสียหายของประเทศชาติทุกด้านที่เกิดขึ้นทุกวันหรือไม่

แต่อย่างไรก็ตาม คำว่า “แทบเป็นไปได้” และ “เป็นไปไม่ได้” มีความสำคัญอย่างยิ่ง และอาจสำคัญที่สุดต่อการตัดสินใจ

เพราะโดยโครงสร้างของระบอบการเมืองและโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะถูกหรือผิด ถือการเลือกตั้งเป็นหลัก ถือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นหลัก ถือสภาผู้แทนราษฎรเป็นสภาหลัก

และต้องไม่ลืมว่า ณ วันนี้ประเทศไทยยังคงอยู่ในบังคับของพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 มาตรา 3

“ให้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรและเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่”

แต่สถานการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นต่อหน้าทำให้วุฒิสภาไม่อาจนิ่งดูดายได้ จึงต้องเปิดประชุมเพื่อหารืออย่างไม่เป็นทางการ โดยมีกระบวนการรับฟังความเห็นและขัอเสนอแนะจากทุกฝ่ายอย่างกว้างขวาง

หนึ่งในข้อเสนอคือขอให้วุฒิสภาดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีโดยเร็ว

โดยอาศัยความในรัฐธรรมนูญมาตรา 7 ประกอบมาตรา 3 มาตรา 122 และมาตราอื่น ๆ วุฒิสภาซึ่งเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยและเป็นองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติองค์กรเดียวที่เหลืออยู่ย่อมสามารถเข้ามาดำเนินการเพื่อให้ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้

“ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (มาตรา 7)

คำว่า “กรณีใด” ในมาตรา 7 ปรับใช้กับสถานการณ์ปัจจุบันคือการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ตามมาตรา 180 วรรคสองประกอบมาตรา 172

แม้ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร แต่ยังมีวุฒิสภา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสภา สมาชิกวุฒิสภาถือเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยด้วยเช่นกัน
“อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้” (มาตรา 3)

“สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์” (มาตรา 122)

เป็นวิธีการภายในกรอบรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่วิธีการนอกรัฐธรรมนูญ

และไม่ใช่การขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีที่ไม่มีกรอบรัฐธรรมนูญรองรับ และไม่ตัองตามพระราชกระแสเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549

หากแต่เป็นการกระทำตามหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาซึ่งเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ และที่สำคัญกว่านั้นคือเป็นการกระทำตามหน้าที่พื้นฐานของคนไทยทุกคนที่ไม่อาจนิ่งดูดายให้ประเทศค่อยๆ วิบัติลงไปต่อหน้าต่อตา

แต่แน่นอนว่าลักษณะพิเศษของสถานการณ์ปัจจุบันมี “ข้อย้อนแย้ง” ที่มีน้ำหนักต่อการกระทำหน้าที่ดังกล่าวของวุฒิสภาด้วยเช่นกัน

ประเด็นย้อนแย้งที่นำมาใคร่ครวญสำคัญที่สุดไม่ใช่เพียงข้อกฎหมาย หากแต่เป็นความเป็นจริงพื้นฐานประการสำคัญที่สุดที่ว่าหากวุฒิสภาดำเนินการให้ได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ตามมาตรา 180 วรรคสองประกอบมาตรา 172 กระบวนการนี้ไม่ได้จบอยู่ที่วุฒิสภา หากแต่อยู่ที่สถาบันพระมหากษัตริย์

ถึงแม้จะไม่ใช่การขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีที่ไม่มีกรอบรัฐธรรมนูญรองรับและไม่ต้องตามพระราชกระแส แต่ในท่ามกลางความขัดแย้งที่มีประชาชนแตกแยกทางความคิดเป็น 2 ขั้วใหญ่ โดยขั้วหนึ่งปฏิเสธอย่างแข็งกร้าวต่อการกระทำหน้าที่ของวุฒิสภา การนำรายชื่อผู้ที่เหมาะสมจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งในขณะที่เงื่อนไขยังไม่สมบูรณ์พรัอม คือยังไม่มีการเปิดทางยินยอมพรัอมใจลาออกจากรัฐมนตรีทั้ง 25 คนที่ยังคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 181 และ/หรือการเลือกตั้งทั่วไปยังคงอยู่ในขั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้แต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นไปไม่ได้ จะเป็นการสร้างความลำบากพระทัยอย่างยิ่งต่อองค์พระประมุขที่จะต้องทรงตัดสิน

สมาชิกวุฒิสภาต้องตัดสินใจ

กล่าวโดยสรุป แม้โดยหลักการแล้วจะเห็นว่า วุฒิสภาสามารถดำเนินการให้มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ตามมาตรา 180 วรรคสองได้ โดยอาศัยช่องทางตามมาตรา 7 ประกอบมาตรา 3 มาตรา 122 และมาตราอื่น ๆ ก็ตาม

แต่คำถามสำคัญคือจะกระทำได้ทันทีหรือไม่

ตัองเลือกระหว่าง 2 คำตอบ

คำตอบที่หนึ่ง - ตัองดำเนินการโดยทันที ด้วยเหตุผลที่ไม่อาจปล่อยให้บ้านเมืองเสียหายไปมากกว่านี้ ตัองตัดสินใจวันนี้ ไม่อาจรอไปเรื่อยๆ อย่างไร้ความหวัง

คำตอบที่สอง - ดำเนินการเมื่อเงื่อนไขสถานการณ์สมบูรณ์ ด้วยเหตุผลที่จะไม่อาจยอมให้เกิดเป็นปัจจัยสร้างความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์แม้แต่นัอย แม้บ้านเมืองอาจจะเกิดความเสียหายมากขึ้นกว่าจะเกิดเงื่อนไขสถานการณ์สมบูรณ์ แต่เมื่อชั่งน้ำหนักกันแล้ว ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์แม้แต่น้อยในสถานการณ์ปัจจุบันอาจจะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงให้แก่ชาติบ้านเมืองในอนาคตอันใกล้มากกว่ามากนัก

เงื่อนไขสถานการณ์ที่สมบูรณ์คือ

เงื่อนไขที่หนึ่ง - มีการเปิดทางจาก 24 รัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อตามมาตรา 181 ยินยอมพรัอมใจลาออก

เงื่อนไขที่สอง - หนทางไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปเป็นไปไม่ได้โดยสมบูรณ์ อาจจะเป็นเพราะมีองค์กรที่น่าเชื่อถือและ/หรือมีอำนาจชี้ขาดตามรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารองนายกรัฐมนตรีผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจเป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 และ/หรือรัฐบาลงกับกกต.ไม่สามารถตกลงเนื้อหาของร่างพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมฯ กันได้

การตัดสินใจของสมาชิกวุฒิสภาไม่ใช่เรื่องของความกล้าหาญ หรือความขลาดเขลา ไม่ใช่เรื่องของความรับผิดชอบ หรือไม่รับผิดชอบ

หากเป็นเรื่องของการตัดสินใจชั่งน้ำหนักความเสียหายของบ้านเมือง

เมื่อได้ไตร่ตรอง และปรึกษาหารือรอบด้านแล้ว เห็นว่าคำตอบใดเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดที่ต้องกระทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ก็ต้องเลือกคำตอบนั้น และต้องเดินหน้าไป โดยอาศัยความสุจริตเป็นที่ตั้ง

หลังการตัดสินใจของวุฒิสภาเมื่อวานนี้ วุฒิสภายังคงเดินหน้าทำงานต่อไป

เมื่อเงื่อนไขสถานการณ์สมบูรณ์และ/หรือมีปัจจัยแปรเปลี่ยนมีเงื่อนไขสถานการณ์ใหม่เกิดขึ้น วุฒิสภาต้องตัดสินใจอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น