xs
xsm
sm
md
lg

คำต่อคำ ศาล รธน.วินิจฉัยฟัน “ปู” และพวก ย้าย “ถวิล” มิชอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เปิดรายละเอียดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ขาดสถานภาพความเป็นรัฐมนตรีของ “ยิ่งลักษณ์” และ ครม. ทั้งคณะ กรณีโยกย้าย “ถวิล” โดยมิชอบ ระบุใช้อำนาจก้าวก่ายแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้าย เอื้อประโยชน์ “เพรียวพันธ์” ญาตินายกฯ เข้าข่ายขัด รธน. มาตรา 268 มาตรา 266(1), (2) ส่งผลให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีเป็นการเฉพาะตัว พร้อมกับรัฐมนตรีที่ร่วมลงมติ เมื่อ 6 ก.ย. 54

เมื่อเวลา 12.22 น. วันที่ 7 พ.ค. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์เพื่ออ่านคำวินิจฉัยในคำร้องที่ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กับคณะ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีว่าจะสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) ประกอบมาตรา 268 หรือไม่ กรณีการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ออกจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาไว้แล้ว “เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์” ถอดละเอียดการอ่านคำวินิจฉัยตามที่มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ดังนี้

“…..หรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร (3) คณะรัฐมนตรีลาออก มาตรา 181 บัญญัติว่า คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ มาตรา 182 วรรค 1 บัญญัติว่า ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อ (1) ตาย (2) ลาออก (3) ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่เป็นกรณีที่คดียังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท (4) สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ไว้วางใจ ตามมาตรา 158 หรือมาตรา 159(5) ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 174(6) มีพระบรมราชโองการให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี ตามมาตรา 183(7) กระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา 267, 268 หรือมาตรา 269(8) วุฒิสภามีมติตามมาตรา 274 ให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง

และมาตรา 182 วรรค 2 บัญญัติว่า นอกจากเหตุที่ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามวรรค 1 แล้ว ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดเวลา ตามมาตรา 181 วรรค 4 ด้วย

รัฐธรรมนูญได้บัญญัติถึงกรณีที่รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง แยกต่างหากจากกรณีที่ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีแต่ละคน สิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว กล่าวคือ ในกรณีที่ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวนั้น รัฐธรรมนูญ บัญญัติไว้ในมาตรา 182 ตามมาตรา 182 วรรค 1(1) ถึง (8) และวรรค 2

ทั้งนี้ โดยไม่มีบทบัญญัติให้ผู้ที่ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงแล้ว ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้อีกเลย ต่างจากกรณีที่รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 180 วรรค 1 ที่ยังต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ตามมาตรา 181 จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ทั้งนี้ โดยไม่รวมถึงนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่ความเป็นรัฐมนตรีได้สิ้นสุดลงไปแล้ว ตามมาตรา 182 วรรค 1(7) ประกอบมาตรา 268 และมาตรา 266 นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีคนนั้น ย่อมไม่อยู่ในฐานะที่จะอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 ได้อีกต่อไป

การพ้นจากตำแหน่งของคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 180 วรรค 1 จึงเป็นคนละกรณีกับการที่ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรค 1 กล่าวคือ เฉพาะการพ้นจากตำแหน่งของคณะรัฐมนตรี ตามมาตรา 180 วรรค 1 นั้น ยังมิได้ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี สิ้นสุดลง ตามมาตรา 182 วรรค 1 เนื่องจากมาตรา 181 บัญญัติให้ยังต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 มีผลให้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 และรัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 วรรค 1(2) โดยไม่มีเหตุที่ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ตามมาตรา 182 วรรค 1 แต่อย่างใด การพ้นจากตำแหน่งดังกล่าว จึงอยู่ในบังคับรัฐธรรมนูญมาตรา 181 ซึ่งบัญญัติให้ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ซึ่งหมายความว่ายังมิได้พ้นจากตำแหน่งไปเป็นการเด็ดขาด เพราะยังคงต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

ดังนั้น กรณีของผู้ถูกร้องตามคำร้องนี้ จึงแตกต่างจากการที่ความเป็นรัฐมนตรี หรือสมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 และมาตรา 106 ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำสั่งให้จำหน่ายคำร้อง ภายหลังจากที่บุคคลเหล่านั้นสิ้นสุดการดำรงตำแหน่ง ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือด้วยการลาออกจากตำแหน่ง ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ซึ่งในคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ คำสั่งที่ 23/2551 ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องของสมาชิกวุฒิสภา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ ผู้ถูกร้อง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรค 1(7) ประกอบมาตรา 269 หรือไม่

คำสั่งที่ 4/2553 คณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายมานิต นพอมรบดี ผู้ถูกร้อง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรค 1(7) หรือไม่

คำสั่งที่ 63/2555 ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ผู้ถูกร้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สิ้นสุดลงเนื่องจากเป็นบุคคลที่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106(5) ประกอบมาตรา 102(6) หรือไม่

คำสั่งที่ 19/2557 ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้ถูกร้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สิ้นสุดลง เนื่องจากเคยถูกปลดออกจากราชการ กรณีจึงถือว่าเป็นบุคคลต้องห้าม มิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 102(6) และทำให้สมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106(5) หรือไม่

จะเห็นได้ว่า กรณีตามคำสั่งดังกล่าวข้างต้น ทั้งกรณีความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว หรือสมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง เป็นกรณีที่ไม่อยู่ในบังคับแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 ที่ให้ต้องอยู่ในตำแหน่งต่อไป ผู้ถูกร้องเหล่านั้นจึงไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติในตำแหน่งที่สิ้นสุดลงแล้ว แต่อย่างใด แต่การพ้นจากตำแหน่งของผู้ถูกร้องในคดีนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 181 ยังกำหนดให้ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่

มีปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปว่า ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงแล้วหรือไม่ เมื่อพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 180 วรรค 1 ซึ่งกำหนดเหตุที่ทำให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งเป็น 3 กรณี คือ (1) ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ตามมาตรา 182 หรือ (2) อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง หรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร หรือ (3) คณะรัฐมนตรีลาออก แล้ว เห็นว่ามีการแบ่งแยกเหตุที่ทำให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งไว้อย่างชัดเจน โดยกรณี (2) และ (3) เมื่อรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง รัฐธรรมนูญ มาตรา 181 บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง รวมทั้งนายกรัฐมนตรี ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ แต่กรณีรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 180 วรรค 1 (1) นั้น ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงตามมาตรา 182 คณะรัฐมนตรีที่ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามมาตรา 181 จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่นั้น ไม่รวมถึงนายกรัฐมนตรีด้วย เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 วรรค 2 บัญญัติว่า ในกรณีที่ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตาม มาตรา 182(1) (2) (3) (4) (5) (7) หรือ (8) ให้ดำเนินการตาม มาตรา 172 และมาตรา 173 โดยอนุโลม ด้วยการดำเนินการให้มีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีขึ้นใหม่ ซึ่งหมายความว่า เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 นายกรัฐมนตรีจะยังอยู่ในตำแหน่ง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปไม่ได้ เนื่องจากเหตุที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ตามมาตรา 182 วรรค 1 นอกจากกรณี ตาย และลาออกแล้ว ล้วนเป็นกรณีที่บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งนั้น ขาดคุณสมบัติ มีลักษณะต้องห้าม หรือกระทำการอันต้องห้าม ซึ่งถือเป็นกรณีร้ายแรง จนถึงขนาดเป็นผลให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่มุ่งจะคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ หรือประโยชน์มหาชน มิให้บุคคลที่ขาดคุณสมบัติ มีลักษณะต้องห้าาม หรือกระทำการอันต้องห้ามมาปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี อันเป็นตำแหน่งสำคัญ โดยเฉพาะตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดในฝ่ายบริหารต่อไปอีก

สำหรับกรณีความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวนั้น ศาลรัฐธรรมนูญกรณีคำวินิจฉัยไว้แล้วคือ คำวินิจฉัย 12 13/2551 ลงวันที่ 9 กันยายน 2551 ซึ่งวินิจฉัยว่า นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้อง กระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 มีผลให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรค 1(7) และเมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรค 1 จึงเป็นเหตุให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 วรรค 1(1) แต่ด้วยความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีเป็นการสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ทำให้รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่เหลือ จึงยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 และคำวินิจฉัยที่ 20/2551 ลงวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ซึ่งวินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคพลังประชาชน และกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะที่กระทำความผิด เป็นระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 วรรค 2 ประกอบมาตรา 68 วรรค 4 ซึ่งผลคำวินิจฉัยนี้ ทำให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ในขณะนั้น ต้องสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรค 1(5) เนื่องจากเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้าม มิใช้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่รัฐมนตรีที่ความเป็นรัฐมนตรีมิได้สิ้นสุดลง ยังต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่

จึงเห็นได้ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 วรรค 2 จึงเป็นผลให้นายกรัฐมนตรีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้วว่า ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ไม่อาจที่จะอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีได้ต่อไป จึงเห็นว่า กรณีรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง เมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 วรรค 1(2) ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีทุกคนยังไม่สิ้นสุดลง เพราะยังอยู่ตำแหน่ง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีจะสิ้นสุดลงก็ต่อเมื่อ มีเหตุตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 วรรค 1 และศาลรัฐธรรมนูญต้องมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรค 1(2) (3) (5) หรือ (7) หรือวรรค 2

ดังนั้น กรณีตามคำร้องนี้ จึงแตกต่างจากการสิ้นสุดจากตำแหน่งของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำสั่งให้จำหน่ายคำร้องภายหลังจากที่ความเป็นรัฐมนตรี หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ของบุคคลเหล่านั้น สิ้นสุดลง ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย เพราะกรณีดังกล่าว ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเหล่านั้น ไม่มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติในตำแหน่งที่สิ้นสุดลงแล้วแต่อย่างใด ประกอบกับบทบัญญัติในมาตรา 182 มีเจตนารมณ์มุ่งคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ หรือประโยชน์มหาชน มิให้บุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติ มีลักษณะต้องห้าม หรือกระทำการอันต้องห้าม ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี มาปฏิบัติหน้าที่อันมีความสำคัญต่อการบริหารราชการแผ่นดิน และเพื่อคุ้มครองมิให้มีการละเมิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรานี้ เพื่อให้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมีความศักดิ์สิทธิ์ รัฐธรรมนูญจึงกำหนดกลไกในการคุ้มครองความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่นี้ ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 182 วรรค 3

ดังนั้น เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรค 1(7) ประกอบมาตรา 268 และ มาตรา 266 ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจ และชอบที่จะรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย


จึงมีปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปในประเด็นที่ 2 ว่า การกระทำของผู้ถูกร้องต้องด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266(2) หรือ (3) หรือไม่ ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย ตามที่ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยเป็นที่สุดไว้ในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ.992/2556 คดีหมายเลขแดงที่ อ.33/2557 เป็นข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับคดีนี้ คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว ย่อมมีผลผูกพันผู้ถูกร้อง ซึ่งเป็นคู่ความคดีดังกล่าว เป็นอันเด็ดขาด มิอาจกล่าวอ้าง โต้แย้งเป็นอย่างอื่นได้ จึงชอบที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องรับฟังมาใช้เป็นฐานตั้งต้น ประกอบการตรวจค้นหาความจริง และความชอบด้วยรัฐธรรมนูญคดีนี้ต่อไป

ข้อเท็จจริงเบื้องต้น ปรากฏตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเกี่ยวกับคดีนี้ว่า ผู้ฟ้องคดีนายถวิล เปลี่ยนศรี ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา ต่อมา คณะรัฐมนตรี โดยผู้ถูกฟ้อง คดีที่ 1 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 จากนั้น สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือลับมากที่ นร. 0401.2/2418 ลงวันที่ 4 กันยายน 2554 ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ ถึงรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์ แจ้งว่า สำนักนายกรัฐมนตรีมีตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ นักบริหารระดับสูง ตำแหน่งเลขที่ 6 ว่างอยู่ เห็นควรให้ความเห็นชอบและยินยอมการรับโอนผู้ฟ้องคดีมาดำรงตำแหน่งดังกล่าว และดำเนินการขอทาบทาม ขอรับความเห็นชอบและยินยอมการโอนผู้ฟ้องคดี จากรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ในฐานะรัฐมนตรีเจ้าสังกัดของหน่วยงานที่ผู้ฟ้องคดีสังกัดอยู่ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี น.ส.กฤษณา ได้เห็นชอบการรับโอนผู้ฟ้องคดี ในวันที่ 5 กันยายน 2554 ซึ่งเป็นวันจันทร์ ตามที่เสนอ โดยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีหนังสือลับมาก ที่ นร. 0401.2/8303 ลงวันที่ 4 กันยายน 2554 ถึงรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.โกวิท แจ้งว่า รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเห็นชอบ และมีความประสงค์จะขอรับโอนผู้ฟ้องคดี มาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีได้ลงนามเห็นชอบการให้โอนผู้ฟ้องคดีในวันที่ 5 กันยายน 2554 และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือลับมาก ที่ นร. 0401.2/8302 ลงวันที่ 5 กันยายน 2554 ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ขอให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเป็นวาระทราบจร ในวันที่ 6 กันยายน 2554 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้อนุมัติให้นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีตามที่เสนอ

ต่อมา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือลับมาก ที่ นร. 0508/18614 ลงวันที่ 6 กันยายน 2554 แจ้งว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2554 อนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ขอให้สำนักราชเลขาธิการนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งเดิม และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใหม่ต่อไป ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ซึ่งมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 152/2554 ลงวันที่ 7 กันยายน 2554 ให้ผู้ฟ้องคดีไปปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้ได้รับเงินเดือนทางสังกัดเดิมไปพลางก่อน โดยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร. 0401.2/8402 ในวันที่ 7 กันยายน 2554 แจ้งคำสั่งดังกล่าวให้ผู้ฟ้องคดีทราบ ต่อมาผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำร้องทุกข์เป็นหนังสือ ลงวันที่ 12 กันยายน 2554 ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ซึ่งต่อมาได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 30 กันยายน 2554 ให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ นักบริหารระดับสูง สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ นักบริหารระดับสูง สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2554 และต่อมาได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2554 ให้ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี พ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2554 และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2554 ให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พ้นจากตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2554 ตามลำดับ

นอกจากนั้น ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงอีกว่า แม้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล และในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการประจำ ของราชการส่วนกลาง และราชการส่วนภูมิภาค จะมีอำนาจดุลพินิจในการบริหารบุคคล หมุนเวียน สับเปลี่ยน บทบาทหรือการทำหน้าที่ของข้าราชการ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปตามแนวนโยบายที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา และแม้ว่าผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่ปฏิบัติราชการรับผิดชอบงานด้านความมั่นคงของประเทศ จะต้องเป็นผู้ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ว่าจะสามารถปฏิบัติตามนโยบายด้านความมั่นคงของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ตาม แต่การใช้อำนาจดุลพินิจดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 นอกจากจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว ยังจะต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของกฎหมาย และอยู่ภายในขอบเขตของกฎหมายอีกด้วย

นอกจากนี้ การใช้อำนาจดุลพินิจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในการโอนผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกรม หรือระดับกระทรวง ไปดำรงตำแหน่งอื่น ก็จะต้องมีความเหมาะสมและเป็นธรรมแก่ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวด้วย อีกทั้งข้อเท็จจริงได้ความจากการไต่สวน และบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากผู้ร้องว่า คดีนี้ผู้ถูกร้องมีความมุ่งหมายที่จะผลักดันให้เครือญาติของผู้ถูกร้อง คือ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พี่ชายของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร อดีตภริยาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พี่ชายของผู้ถูกร้อง ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เนื่องจากกำหนดเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2555 ซึ่งเป็นกำหนดเวลาเกษียณอายุก่อนที่ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2556 ซึ่งสอดคล้องกับบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริง และความเห็นของนายถวิล เปลี่ยนศรี ในฐานะพยาน ว่า กระบวนการในการโอนย้ายพยานนั้น ไม่เป็นไปตามหลักการของระบบคุณธรรม หรือเพื่อประโยชน์ทางราชการ แต่เป็นไปเพื่อทำให้ตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่พยานครองอยู่ ว่างลง เพื่อให้สามารถโอน พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น มาดำรงตำแหน่งแทน และเปิดช่องให้สามารถแต่งตั้ง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แทน โดยพยานยืนยันข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขแดงที่ 847/2556 ศาลปกครองสูงสุดคดีหมายเลขแดงที่ อ. 33/2557

ส่วนฝ่ายผู้ถูกร้องได้ให้ถ้อยคำเพิ่มเติมว่า การโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ผู้ถูกร้อง มิได้ใช้สถานะ หรือตำแหน่งของการเป็นนายกรัฐมนตรี ในการสั่งอนุมัติโดยลำพัง แต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี และการดำเนินการดังกล่าวก็มิได้เกิดจากการริเริ่มของผู้ถูกร้อง แต่ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับการบริหารราชการ และปฏิบัติราชการแทนผู้ถูกร้อง เป็นผู้พิจารณา และใช้ดุลพินิจทั้งสิ้น และผู้ถูกร้องได้ให้ถ้อยคำอีกว่า พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ได้แจ้งผู้ถูกร้องตอนเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 6 กันยายน 2554 ว่า ตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นตำแหน่งที่สำคัญ และต้องเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมที่จะปฏิบัติงานสนองนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภาได้ และเป็นบุคคลที่รัฐบาลให้ความไว้วางใจในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย ที่ผ่านมานายถวิล เปลี่ยนศรี ในฐานะกรรมการและเลขานุการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) แสดงออกต่อสาธารณะในการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่เหมาะสมหลายประการ

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ในการประชุมคณะรัฐมนตรีจึงมีมติโอนย้ายนายถวิล ซึ่งผู้ถูกร้องก็มิได้ทักท้วงแต่อย่างใด ส่วนเหตุผลการย้ายนายถวิล ก็เพราะเกี่ยวด้วยความไว้วางใจ และเห็นว่านายถวิลมีความเหมาะสมในตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เพราะเป็นผู้มีความรู้ความสามารถที่จะให้คำปรึกษาแก่นายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี เพื่อประกอบการตัดสินใจ แต่มิอาจล่วงรู้ถึงการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรี และไม่อาจนำความลับไปเปิดเผยได้

นอกจากนั้น ผู้ถูกร้องยังให้ถ้อยคำต่อไปว่า พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ก็ไม่ขัดข้อง และสมัครใจในการมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ส่วนในการแต่งตั้ง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ นั้น ผู้ถูกร้องกระทำการตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 โดยผู้ถูกร้องเป็นผู้คัดเลือกบุคคล เสนอให้คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) พิจารณา หากคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติพิจารณาแล้ว ไม่ให้ความเห็นชอบตามที่ผู้ถูกร้องเสนอ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ก็ไม่อาจได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้ ซึ่งผู้ถูกร้องคัดเลือกจากความอาวุโส ความรู้ ความสามารถ ผลการปฏิบัติงานในการปราบปรามยาเสพติด ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา

ส่วน พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ในฐานะพยาน ได้ให้ถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงและความเห็นว่า พยานจบการศึกษาด้านรัฐประศาสนศาสตร์ ด้านบริหารธุรกิจ และด้านกฎหมายเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังจบหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงสถาบันวิทยาการตลาดทุน หลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สำหรับนักบริหารระดับสูง และหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง โดยเข้ารับราชการตำรวจ เริ่มตั้งแต่ตำแหน่งรองสารวัตรแผนก 5 กองกำกับการสืบสวนพระนครเหนือ สารวัตรแผนกศึกษาอบรม กองกำกับการนโยบายและแผน กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล รองสารวัตรแผนก 1 กองกำกับการสืบสวนพระนครใต้ ผู้ช่วยนายเวรอธิบดีกรมตำรวจ นอกจากนั้น ได้ดำรงตำแหน่งนายตำรวจราชสำนักประจำมาโดยตลอด

ต่อมา จึงดำรงตำแหน่งประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติฝ่ายความมั่นคง ที่ปรึกษา สบ10 ด้านความมั่นคงและกิจการพิเศษ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ งานบริหาร 1 ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และปลัดกระทรวงคมนาคม ตามลำดับ พยานมีความภาคภูมิใจและเป็นเกียรติประวัติสูงสุด ที่ได้มีโอกาสรับราชการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ พยานมีความตั้งใจว่าจะรับราชการสนองเบื้องพระยุคลบาทตลอดไป ตราบจนเกษียณอายุราชการ และไม่เคยคิดที่จะย้ายไปรับราชการในตำแหน่งอื่นใดอีก อีกทั้งยังตั้งใจว่าจะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้ดีที่สุดจนเกษียณอายุราชการ

อย่างไรก็ตาม พยานมีหลักปฏิบัติราชการที่ยึดถือมาโดยตลอดว่า พยานจะไม่ยึดติดกับตำแหน่งหน้าที่ราชการ และจะปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม ต่อประเทศชาติ ประชาชนและองค์กร โดยพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้กรอบกฎหมายและความถูกต้อง ซึ่งหากผู้บังคับบัญชาต้องการให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการในตำแหน่งใดที่คิดว่าจะเกิดผลดี ก็พร้อมที่จะปฏิบัติตาม พยานมีความถนัด หรือความพึงพอใจในการดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เนื่องจากได้รับราชการตำรวจตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตราชการ โดยได้มีโอกาสปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัยเป็นระยะเวลา 25 ปีเศษ ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจและเป็นเกียรติประวัติสูงสุดในการทำงาน

ส่วนความรู้สึกที่ปรากฏผ่านสื่อต่างๆ ที่มีลักษณะเสียใจ และน้ำตาคลอ เกิดจากความเสียใจในฐานะผู้นำองค์กร ที่ไม่สามารถกำกับดูแลการทำงานของบุคลากรในองค์กร และมีการตำหนิติเตียนการทำงานของตำรวจ จนทำให้มีผลถึงความเชื่อถือ ความศรัทธาที่ประชาชนมีต่อองค์กรตำรวจ และภาพลักษณ์ขององค์กรตกต่ำในยุคที่ตนเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยงาน พยานไม่เคยยึดติดกับตำแหน่ง และเตรียมพร้อมสำหรับการไปทำหน้าที่อื่น หากเห็นว่าไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้ดี ก่อนการย้ายไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ พยานได้มีการปรึกษาหารือกับ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ แต่ไม่เคยมีการพูดคุย หรือปรึกษาหารือกับนายถวิล เปลี่ยนศรี และก่อนการดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ พยานได้มีโอกาสพบกับนายกรัฐมนตรีหลายครั้ง แต่ไม่เคยถูกตำหนิเรื่องงาน หรือทาบทามให้ย้าย รวมทั้งไม่มีผู้ใดเคยยื่นข้อเสนอ หรือให้คำมั่นแต่อย่างใด สำหรับตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้นเป็นผู้ทาบทาม แต่ก็ไม่ได้ให้คำมั่นอะไรไว้แต่ประการใด

เมื่อพิจารณาประกอบกันแล้ว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ผู้ถูกร้องไม่มีส่วนในการดำเนินการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี และให้นายถวิล เปลี่ยนศรี พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยเป็นผู้อนุมัติให้นำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติในวันที่ 6 กันยายน 2554 ทั้งผู้ถูกร้อง ได้ร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี และร่วมลงมติอนุมัติให้นายถวิล เปลี่ยนศรี พ้นจากตำแหน่งด้วย เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ผู้ถูกร้องก็ได้ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 152/2554 ลงวันที่ 7 กันยายน 2554 ให้นายถวิล เปลี่ยนศรี ไปปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ถึงแม้ผู้ถูกร้องจะอ้างว่า การดำเนินการดังกล่าวมิได้เกิดจากการริเริ่มของผู้ถูกร้อง แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจนว่า ผู้ถูกร้องมีส่วนกระทำการในเรื่องนี้ด้วยหลายอย่างหลายประการ ก็ย่อมเป็นการก้าวก่าย หรือแทรกแซง ในการโยกย้ายข้าราชการประจำ หรือให้ข้าราชการประจำพ้นจากตำแหน่งโดยตรงอยู่แล้ว หาจำต้องเข้าไปเป็นผู้เริ่มแต่อย่างใดไม่

คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การกระทำของผู้ถูกร้องต้องด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266(2) หรือ (3) อันจะเป็นการทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 181 วรรค 1(7) หรือไม่

พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 268 ประกอบมาตรา 266(2) และ (3) เป็นบทบัญญัติในหมวด 12 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ส่วนที่ 2 การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ โดยบัญญัติว่า นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี จะต้องไม่ใช้สถานะ หรือตำแหน่ง เข้าไปก้าวก่าย หรือแทรกแซง เพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในการบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง และเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ และมิใช่ข้าราชการการเมือง พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือการให้ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่ง หรือเงินเดือนประจำ และมิใช่ข้าราชการการเมือง พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น พ้นจากตำแหน่ง ล้วนแต่เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภา หรือตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมีเจตนารมณ์เพื่อให้เป็นหลักประกันแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ จากการถูกแทรกแซงทางการเมือง เว้นแต่เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่เท่านั้น

หลักการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 266(2) และ (3) นี้ มาตรา 268 บัญญัติให้นำไปใช้บังคับแก่นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ในฐานะฝ่ายบริหารด้วย หลักการตามมาตรา 266 บัญญัติห้ามฝ่ายนิติบัญญัติเข้ามาก้าวก่าย หรือแทรกแซงการทำหน้าที่การบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง เลื่อนเงินเดือน และการพ้นจากตำแหน่งของข้าราชการประจำ ส่วนตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ถือว่าเป็นฝ่ายบริหาร ก็จะถูกห้ามการใช้อำนาจในลักษณะทำนองเดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี เป็นไปโดยชอบ ป้องกันมิให้เกิดการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ อันจะก่อให้เกิดสถานการณ์ขาดจริยธรรม ซึ่งยากต่อการตัดสินใจ ทำให้ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างประโยชน์ส่วนตัว กับประโยชน์สาธารณะ

เมื่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคำนึงถึงประโยชน์ส่วนตัว มากกว่าประโยชน์สาธารณะ การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตัว กับประโยชน์สาธารณะ อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งหน้าที่ จึงขัดกันในลักษณะที่ประโยชน์ส่วนตัวจะได้มาจากการเสียไปซึ่งประโยชน์สาธารณะ อย่างไรก็ดี มาตรา 268 ก็ได้บัญญัติข้อยกเว้นไว้ หากเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภา หรือตามที่กฎหมายบัญญัติ

เหตุที่มาตรา 268 มีข้อยกเว้นให้แก่นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเช่นนี้ เนื่องมาจากผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องกำหนดนโยบาย และทิศทางในการบริหารประเทศ ให้เกิดผลดีที่สุดต่อประเทศชาติและประชาชน จึงจำเป็นต้องยกเว้นให้มีอำนาจบังคับบัญชา และมีอำนาจสั่งบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง เลื่อนเงินเดือน และการให้พ้นจากตำแหน่งของผู้ปฏิบัติหน้าที่ในระบบราชการได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการทำหน้าที่ของข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานในสังกัดแต่อย่างใด

บทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าวข้างต้นได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญส่วนที่เกี่ยวกับการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ซึ่งการขัดกันแห่งผลประโยชน์ในนานาอารยประเทศนั้น ถือเป็นเรื่องที่ผิดต่อกฎหมาย และต่อจริยธรรม ขัดต่อหลักความเป็นธรรม และระบบการบริหารจัดการที่ดี

ดังนั้น การกระทำของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี จึงจำต้องกระทำการตามหลักของความชอบด้วยกฎหมาย เสริมเข้ากับหลักของความสุจริต โดยการใช้อำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายได้ให้อำนาจไว้ ในการบริหารประเทศ เพื่อประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารทรัพยากรบุคคลของรัฐ โดยเริ่มตั้งแต่การสรรหาคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสม เข้ามารับการแต่งตั้งโยกย้าย หากการบริหารทรัพยากรบุคคลของรัฐขาดประสิทธิภาพ ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อการบริหารงานด้านอื่นทั้งหมด

นอกจากนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายบุคคลในตำแหน่งต่างๆ ต้องสอดคล้องกับระบบธรรมาภิบาลด้วย กล่าวคือ ควรมีกรอบในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ โดยใช้หลักความรู้ ความสามารถ และประสิทธิภาพของการปฏิบัติงานในตำแหน่งนั้นเป็นสำคัญ และยึดหลักความโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยมีขั้นตอนการพิจารณาที่ชัดเจน เพื่อสร้างความสมดุลของความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างข้าราชการการเมือง กับข้าราชการประจำ รวมทั้งยึดหลักคุณธรรมเป็นแนวทางกำหนดหลักเกณฑ์การโยกย้าย แต่งตั้งข้าราชการในระบบธรรมาภิบาล ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 และเป็นไปตามหลักความรับผิดชอบในการกระทำ และย่อมต้องสอดคล้องกับพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ที่กำหนดในมาตรา 42 วรรค 1(2), (3) และ (5) ให้การจัดระเบียบข้าราชการพลเรือนสามัญ ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ต้องคำนึงถึงระบบคุณธรรม โดยการบริหารทรัพยากรบุคคล ต้องคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์ และประสิทธิภาพขององค์กร และลักษณะของงาน โดยไม่เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม

การพิจารณาความดีความชอบ การเลื่อนตำแหน่ง และการให้ประโยชน์อื่นแก่ข้าราชการ ต้องเป็นไปอย่างเป็นธรรม โดยพิจารณาจากผลงาน ศักยภาพ และความประพฤติ และจะนำความคิดเห็นทางการเมือง หรือสังกัดพรรคการเมือง มาประกอบการพิจารณามิได้ ประกอบกับการบริหารทรัพยากรบุคคลต้องมีความเป็นกลางทางการเมืองด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังได้บัญญัติจำกัดอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรมใน มาตรา 3 วรรค 2 ว่า การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรมด้วย จะกระทำไปตามอำเภอใจ โดยมีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือมีวาระซ่อนเร้น อันเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตหาได้ไม่ จากบทบัญญัติกฎหมายและหลักการดังกล่าวข้างต้น

มีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า การดำเนินการจนมีผลให้นายถวิล เปลี่ยนศรี ต้องพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ สำนักนายกรัฐมนตรี และมีการแต่งตั้งโยกย้ายให้ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี จากตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ แทนนายถวิล เปลี่ยนศรี จากนั้น จึงมีการแต่งตั้ง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แทน ถือเป็นการใช้สถานะ หรือตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกฟ้อง เข้าไปก้าวก่าย หรือแทรกแซงในเรื่องการแต่งตั้ง โยกย้าย โอน และการให้พ้นจากตำแหน่งของเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (นักบริหารระดับสูง) สำนักนายกรัฐมนตรี และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา นายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ (นักบริหารระดับสูง) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 วรรค 1(2) และ (3) หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คำเบิกความด้วยวาจา และบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริง เป็นหนังสือประกอบกันแล้วเห็นว่า ผู้ถูกต้องได้เข้าไปมีส่วนกระทำการเกี่ยวข้องกับการให้นายถวิล เปลี่ยนศรี พ้นจากตำแหน่ง เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และไปดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ สำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีกระบวนการเริ่มต้นจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือลับมากที่ นร. 0401.2/2418 ลงวันที่ 4 กันยายน 2554 ถึงรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์) แจ้งว่า เห็นควรให้ความเห็นชอบ และยินยอมการรับโอนนายถวิล เปลี่ยนศรี และดำเนินการขอทาบทาม ขอรับความเห็นชอบ และยินยอมจากรองนายกรัฐมนตรี (พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ) ในฐานะรัฐมนตรีเจ้าสังกัดของหน่วยงานที่ นายถวิล เปลี่ยนศรี สังกัดอยู่ และก่อนที่ น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์ จะพิจารณาให้ความเห็นชอบการโอนในวันที่ 5 กันยายน 2554 สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือลับมากที่ นร. 0401.2/8303 ลงวันที่ 4 กันยายน 2554 ถึงรองนายกรัฐมนตรี (พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ) แจ้งว่า รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์) ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบและมีความประสงค์จะขอรับโอน นายถวิล เปลี่ยนศรี มาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ ตำแหน่งเลขที่ 6 สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งปรากฏหลักฐานการให้ความเห็นชอบการรับโอน นายถวิล เปลี่ยนศรี ของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์) ในวันที่ 5 กันยายน 2554 ไม่ตรงกับข้อความที่เลขาธิการนายกรัฐมนตรีทำเสนอต่อ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ตามหนังสือลับมากที่ นร. 0401.2/8303 ลงวันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน 2554 ระบุว่า รัฐมนตรี กฤษณา สีหลักษณ์ ให้ความเห็นชอบ และยินยอมการรับโอนแล้ว ซึ่งไม่เป็นไปตามการปฏิบัติราชการตามปกติ จึงเป็นการแจ้งข้อความที่ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง หรือมีลักษณะเป็นการปกปิดความผิดสิ่งที่ควรแจ้งให้อีกฝ่ายทราบ เพื่อพิจารณายินยอมให้โอน แม้ต่อมาเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2554 รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์) จะได้พิจารณาให้ความเห็นชอบก็ตาม ประกอบกับข้อเท็จจริงเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า วันที่ 4 กันยายน 2554 เป็นวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดทำการประจำสัปดาห์ แต่การที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์) และรองนายกรัฐมนตรี (พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ) เพื่อขอความเห็นชอบ และยินยอมให้โอน นายถวิล เปลี่ยนศรี โดยปรากฎข้อเท็จจริงต่อมาว่า รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือลับมากที่ นร.0401.2/8302 ลงวันที่ 5 กันยายน 2554 ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ขอให้นำเสนอคณะรัฐมนตรี เป็นวาระทราบจรในวันที่ 6 กันยายน 2554 โดยผู้ถูกร้องเป็นผู้อนุมัติให้นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีตามที่เสนอ

ต่อมา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหนังสือลับมากที่ นร. 0508/18614 ลงวันที่ 6 กันยายน 2554 แจ้งว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2554 อนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ขอให้สำนักราชเลขาธิการ นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายถวิล เปลี่ยนศรี พ้นจากตำแหน่งเดิม และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใหม่ต่อไป และผู้ถูกร้องได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 152/2554 ลงวันที่ 7 กันยายน 2554 ให้นายถวิล เปลี่ยนศรี ไปปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้ได้รับเงินเดือนทางสังกัดเดิมไปพรางก่อน โดยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร. 0401.2/8402 ลงวันที่ 7 กันยายน 2554 แจ้งคำสั่งดังกล่าวให้นายถวิล เปลี่ยนศรี ทราบนั้น เห็นว่า เป็นการดำเนินการในการขอรับโอน ขอทาบทาม ขอรับความเห็นชอบ และขั้นตอนการนำเสนอ และคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ รวมทั้งที่ผู้ถูกร้องมีคำสั่งให้ นายถวิล เปลี่ยนศรี ไปปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ใช้ระยะเวลาเพียง 4 วัน แสดงให้เห็นว่า เป็นการดำเนินการอย่างเร่งรีบผิดสังเกต เป็นการกระทำโดยรวบรัด ปราศจากเหตุผลอันสมควร ที่จะต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว ทั้งยังปรากฏการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จให้เห็นเป็นพิรุธ โดยปรากฏว่าภาพถ่ายเอกสารราชการสำคัญ ได้แก่ บันทึกข้อความของสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ นร. 0401.2/8303 ที่ศาลมีคำสั่งเรียกมาจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระบุวันที่ที่ทำหนังสือดังกล่าวเป็นวันที่ 5 กันยายน 2554 แต่ภาพถ่ายบันทึกข้อความฉบับเดียวกัน ที่ได้มาจากนายถวิลเปลี่ยนศรี ก่อนหน้านั้น ระบุวันที่ เป็นวันที่ 4 กันยายน 2554 ซึ่งแสดงว่าภาพถ่ายเอกสาร 2 ฉบับนี้ ต้องมีการแก้ไขวันที่ที่ทำเอกสารให้ผิดเพี้ยนไปจากความจริง โดยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพื่อปกปิดความจริงที่มีความขัดแย้งกันอยู่ในกระบวนการขอความเห็นชอบนี้ กรณีจึงส่อแสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นปกติของการดำเนินการอันเป็นการพิรุธโจ่งแจ้ง จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อการกระทำดังกล่าว เป็นไปในทางเอื้อประโยชน์ให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ซึ่งเป็นญาติของผู้ถูกร้อง มีโอกาสขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ การกระทำของผู้ถูกร้องจึงมีลักษณะเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่ง โดยมีผลประโยชน์ทับซ้อนและมีวาระซ่อนเร้น ถือว่าเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต การดำเนินการดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรค 2 อีกประการหนึ่งด้วย

พิจารณาเหตุผลที่แท้จริงในการโอนย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี ซึ่งผู้ถูกร้องอ้างว่า ผู้ถูกร้องในฐานะหัวหน้ารัฐบาลได้แถลงนโยบายในการบริหารประเทศต่อรัฐสภา โดยนโยบายความมั่นคงของรัฐ ถือเป็นนโยบายเร่งด่วน ที่ผู้ถูกร้องแถลงต่อรัฐสภาว่า จะต้องเร่งดำเนินการภายในปีแรกของการเข้าบริหารราชการแผ่นดิน และเป็นหน้าที่ของผู้ถูกร้องในการกำหนด หรือใช้ยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของนโยบายต่างๆ ที่ได้แถลงต่อรัฐสภา
ดังนั้น ผู้ถูกร้องจึงมีความต้องการบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ยาวนานในการปฏิบัติราชการ เกี่ยวกับความมั่นคง เพื่อมาช่วยปฏิบัติราชการในฝ่ายนโยบายให้บรรลุผลสำฤทธิ์ของงานด้านความมั่นคงของประเทศ และเห็นว่า นายถวิล เปลี่ยนศรี ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติมีคุณสมบัติครบถ้วน ตรงตามความต้องการสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จึงมีหนังสือขอรับโอน ขอทาบทาม และขอรับความเห็นชอบให้โอน นายถวิล เปลี่ยนศรี มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีนั้น พิจารณาแล้วเห็นว่า ตำแหน่งเลขาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ คือบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบมากกว่าตำแหน่ง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และเมื่อพิจารณาในภาพรวมการใช้อำนาจ ทั้งในบริหาร และบังคับบัญชาแล้ว ตำแหน่ง เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ นอกจากต้องกำกับดูแล และบริหารราชการในหน่วยงานที่รับผิดชอบแล้ว ยังสามารถให้คำปรึกษาและเสนอแนะความเห็นแก่ผู้ถูกร้องได้ โดยไม่จำต้องแต่งตั้งให้นายถวิล เปลี่ยนศรี ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี แต่อย่างใด

ส่วนตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีนั้น แม้จะมีหน้าที่ให้คำปรึกษาและเสนอแนะความเห็นแก่ผู้ถูกร้องก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาสถานการณ์ปฏิบัติงานจริงแล้ว ย่อมไม่อาจใช้อำนาจบริหาร รวมถึงการบังคับบัญชาข้าราชการได้ดังเช่น การดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพราะตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่มีอำนาจ และหน้าที่อย่างกว้างขวาง ทั้งตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบ บริหารราชการแผ่นดิน และกฎหมายว่าด้วยสภาความมั่นคงแห่งชาติ แต่ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำนั้น มีเพียงหน้าที่ให้คำปรึกษา และเสนอแนะแก่ผู้บังคับบัญชา คือ รองนายกรัฐมนตรี (พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ) เฉพาะในงานที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น ประกอบกับข้อเท็จจริงปรากฏว่า เลขาธิการ นายกรัฐมนตรีมีหนังสือที่ สบก. (กบค/2554) ลงวันที่ 7 กันยายน 2554 ถึงผู้ร้องความว่า สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้ว เห็นควรให้ผู้ฟ้องคดีอยู่ในบังคับบัญชาของรองนายกรัฐมนตรี (พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ) และมอบหมายให้ปฏิบัติราชการ เกี่ยวกับงานด้านความมั่นคงของประเทศ ในการอำนวยการด้านประสานปฏิบัติตามนโยบาย และยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ กับหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน สถาบันวิชาการ และสถาบันการศึกษาให้สอดคล้องกันและมีบูรณาการ และจัดทำนโยบาย อำนวยการพัฒนาประสานการจัดการ และติดตามประเมินผลด้านการข่าวกรอง การต่อต้านข่าวกรอง การรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ รวมทั้งการเสนอแนะแนวทางในการพัฒนานโยบาย อำนวยการข่าวกรอง การพัฒนาองค์กรข่าวกรอง และการต่อต้านข่าวกรอง รวมทั้งปฏิบัติราชการอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งผู้ถูกร้องรับทราบ และเห็นชอบให้ดำเนินการต่อไปตามที่เสนอ และตามคำสั่งสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีที่ 166/2555 ลงวันที่ 6 กันยายน 2555 เรื่อง มอบหมายให้ที่ปรึกษานายกัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ รับผิดชอบปฏิบัติราชการ ให้นายถวิล เปลี่ยนศรี รับผิดชอบการติดตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา เกี่ยวกับนโยบายยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน นโยบายพัฒนาระบบประกันสุขภาพ การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ด้านการค้า การลงทุน และความร่วมมือในการพัฒนาระหว่างประเทศ เห็นได้ว่า เหตุผลตามข้ออ้างของผู้ถูกร้องยังไม่เพียงพอจะรับฟังได้ว่า การออกคำสั่งให้นายถวิล เปลี่ยนศรี ไปปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ราชการ ตามนโยบายของคณะรัฐมนตรี ที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา ประกอบกับกระบวนการโอนนายถวิล เปลี่ยนศรี ดำเนินการอย่างเร่งรีบ ไม่เป็นไปตามการปฏิบัติราชการตามปกติ จึงมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า ปัจจัยอันเป็นที่มาของการโอนนายถวิล เปลี่ยนศรี จากการดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ คือความประสงค์ให้ตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ว่างลง เพื่อโอนย้ายผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ดำรงอยู่ในขณะนั้น มาดำรงตำแหน่งแทน อันจะทำให้ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ว่างลง เปิดโอกาสให้สามารถแต่งตั้งเครือญาติของผู้ถูกร้อง ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แทน

ข้อเท็จจริงในชั้นไต่สวนรับฟังได้ว่า พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ในฐานะพยาน ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2553 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2553 และมีกำหนดเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2556 ในขณะที่ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ มีกำหนดเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2555 ข้อเท็จจริงในขณะที่เป็นเหตุแห่งคำร้องนี้ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ยังมีอายุราชการคงเหลืออีก 2 ปี หากมีความต้องการให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ซึ่งมีกำหนดเกษียณอายุราชการก่อน พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ ก็จะต้องมีการโอนให้ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ไปดำรงตำแหน่งในส่วนราชการอื่นแทน แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 62 บัญญัติว่า การโอนข้าราชการตำรวจไปรับราชการในส่วนราชการ หรือหน่วยงานอื่น จะกระทำได้ต่อเมื่อ เจ้าตัวสมัครใจ และส่วนราชการ หรือหน่วยงาน ต้องการจะรับโอนผู้นั้น โดยให้ส่วนราชการ หรือหน่วยงาน ที่ขอรับโอน ทำความตกลงกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งถึงแม้พยานจะรับสมอ้างว่าการโอนย้ายไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นความสมัครใจของพยานเอง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 62 ก็ตาม แต่พยานก็ให้การด้วยว่า พยานตั้งใจจะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาตินั้น จนครบเกษียณอายุราชการ แต่จะไม่ยึดติดกับตำแหน่งหน้าที่ราชการ และจะปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม ต่อประเทศชาติ ประชาชน และองค์กร โดยพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้กรอบกฎหมายและความถูกต้อง ซึ่งหากผู้บังคับบัญชาต้องการให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการในตำแหน่งใดที่คิดว่าจะเกิดผลดี ก็พร้อมจะปฏิบัติตาม แสดงให้เห็นว่า การตัดสินใจของพยานนั้น ขึ้นอยู่กับความประสงค์ของผู้บังคับบัญชา ซึ่งก็คือนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้อง ด้วย

หากต้องการให้พยานไปปฏิบัติหน้าที่ราชการในตำแหน่งใด พยานก็พร้อมที่จะปฏิบัติตาม จึงเห็นได้ว่า การดำเนินการให้นายถวิล เปลี่ยนศรี พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และต่อมาก็ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี พ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2554 แทนนายถวิล เปลี่ยนศรี ทำให้ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น ว่างลงนั้น ก็ด้วยความประสงค์ที่จะให้มีการดำเนินการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่

พิจารณาพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 53(1) ที่บัญญัติให้การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้นายกรัฐมนตรีคัดรายชื่อข้าราชการตำรวจ แล้วเสนอคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ซึ่งประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 4 คน เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง แล้วเห็นว่า การแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะเริ่มต้นจากนายกรัฐมนตรีคัดเลือกข้าราชการตำรวจผู้มียศพลตำรวจเอก เพื่อเสนอต่อ ก.ต.ช.พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏต่อมาว่า วันที่ 19 ตุลาคม 2554 ผู้ถูกร้อง ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2554 เพื่อพิจารณาวาระการแต่งตั้ง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แทน พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ที่ย้ายไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ ก็ได้มีมติเอกฉันท์ให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตามที่ผู้ถูกร้องเสนอ

ต่อมาก็ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พ้นจากตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2554

จึงมีเหตุให้เชื่อได้ว่า การกระทำของผู้ถูกร้อง เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของตนเองในทางการเมือง เพื่อประโยชน์ของผู้อื่น คือ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ซึ่งเป็นเครือญาติของผู้ถูกร้อง เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อันเป็นการก้าวก่าย แทรกแซง การบรรจุ แต่งตั้ง การโยกย้าย และการให้ข้าราชการประจำพ้นจากตำแหน่งโดยตรง เนื่องด้วยปรากฏข้อเท็จจริงที่รู้กันโดยทั่วไปว่า พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ เป็นพี่ชายของคุณหญิง พจมาน ณ ป้อมเพ็ชร อดีตภริยาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พี่ชายของผู้ถูกร้อง และเป็นลุงของหลานอา ของผู้ถูกร้อง ย่อมถือว่า พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ เป็นเครือญาติของผู้ถูกร้อง จึงมีเหตุให้เชื่อได้ว่า การกระทำของผู้ถูกร้องมิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และของประชาชนแต่อย่างใด แต่เป็นการกระทำที่มีเจตนาอำพราง หรือแอบแฝง เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือพวกพ้อง อันเป็นการกระทำที่ขาดจริยธรรม คุณธรรม และความถูกต้องชอบธรรม ในการใช้อำนาจหน้าที่ ภายใต้วัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการใช้อำนาจหน้าที่ของผู้บริหารงานบุคคลภาครัฐไว้ ซึ่งมีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนว่า บริหารบุคคลโดยระบบคุณธรรม ราชการต้องปฏิบัติต่อข้าราชการด้วยระบบบริหารทรัพยากรบุคคลที่คำนึงถึงความรู้ ความสามารถ ความเสมอภาค ความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ปราศจากอคติ และมีความเป็นกลางทางการเมือง

เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานพฤติการณ์ทั้งปวงแห่งคดีประกอบกันแล้ว เห็นว่า การดำเนินการแต่งตั้ง โยกย้าย และให้นายถวิล เปลี่ยนศรี พ้นจากตำแหน่ง เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเดียวกัน และมีความเชื่อมโยงกันกับการบรรจุแต่งตั้ง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อันแสดงให้เห็นถึงการมีผลประโยชน์ทับซ้อน และมีวาระซ่อนเร้น โดยที่ผู้ถูกร้องได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ถือได้ว่าเป็นการเข้าไปแทรกแซงและก้าวก่ายการแต่งตั้ง โยกย้าย หรือการให้พ้นจากตำแหน่งของข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่ หรือเงินเดือนประจำ และมิใช่ข้าราชการการเมือง และเป็นไปประโยชน์ของผู้อื่น คือ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ซึ่งเป็นเครือญาติของผู้ถูกร้อง อันเป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266(2) และ (3)

สำหรับข้ออ้างที่ผู้ถูกร้องได้อ้างในคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาว่าเป็นการกระทำตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้นั้น เห็นว่ามิได้เป็นไปตามที่ผู้ถูกร้องกล่าวอ้าง โดยศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า ผู้ถูกร้อง ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล และในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการประจำ ของราชการส่วนกลาง และราชการส่วนภูมิภาค ย่อมมีอำนาจดุลวินิจในการบริหารงานบุคคล หมุนเวียนสับเปลี่ยนบทบาท หรือการทำหน้าที่ของข้าราชการ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปตามแนวนโยบายที่ผู้ถูกร้องได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาได้ แต่ในการใช้อำนาจดุลวินิจดังกล่าวของผู้ถูกร้องนั้น นอกจากจะต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของกฎหมาย และอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายแล้ว ยังจะต้องมีเหตุผลรองรับที่มีอยู่จริง และอธิบายได้ ซึ่งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ถูกร้องได้อ้างเหตุผลในการโอนนายถวิล เปลี่ยนศรี ว่า นายถวิลเ ปลี่ยนศรี ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีประสิทธิภาพ มีข้อบกพร่อง หรือไม่สนองนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะถือได้ว่ามีเหตุผลอันสมควรที่ผู้บังคับบัญชาสามารถสั่งโอนได้ตามความเหมาะสม จึงถือได้ว่าเป็นการใช้ดุลวินิจโดยมิชอบ อันเป็นเหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประการหนึ่ง ตามมาตรา 9 วรรค 1(1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

ดังนั้น การโอนนายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ มาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 30 กันยายน 2554 จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องที่ว่า ผู้ถูกร้องมิได้เข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการบรรจุ การแต่งตั้ง โยกย้าย หรือโอน หรือให้ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ และมิใช่ข้าราชการการเมือง พ้นจากตำแหน่ง หากแต่เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งของผู้ถูกร้อง และคณะรัฐมนตรีเองนั้น เห็นว่าแม้เพียงแค่การเข้าไปก้าวก่าย หรือแทรกแซงผู้อื่น ยังต้องห้ามมิให้กระทำ ดังนั้น การเข้าไปกระทำการอันมิชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวเสียเอง เพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง จึงยิ่งต้องถูกห้ามไปด้วย

ความสำคัญของข้อห้ามอยู่ที่เป็นการใช้สถานะ หรือตำแหน่งทางการเมืองเข้าไปแทรกแซง หรือกระทำการบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน หรือให้ข้าราชการประจำพ้นจากตำแหน่ง เพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อม หรือไม่ หากเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ และประชาชน มิได้มีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือวาระซ่อนเร้น เพื่อประโยชน์ส่วนบุคคลของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมืองใดแอบแฝงอยู่ การกระทำนั้นก็เข้าข้อยกเว้น ให้กระทำได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ตอนท้าย เพราะถือว่าเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ถ้ามิได้กระทำไปโดยสุจริต เพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือมีวาระซ่อนเร้นแอบแฝงอยู่ เพื่อประโยชน์ส่วนบุคคลของผู้ใด หรือพรรคการเมืองใดก็ตาม ย่อมมิใช่เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้รับยกเว้นให้กระทำการได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ตอนท้าย

ด้วยเหตุผลดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติว่า ผู้ถูกร้องใช้สถานะ หรือตำแหน่งการเป็นนายกรัฐมนตรี เข้าไปก้าวก่าย หรือแทรกแซง เพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ในเรื่องการบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง เลื่อนเงินเดือน หรือการพ้นจากตำแหน่งของข้าราชการ หรือมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ และมิใช่ข้าราชการการเมือง จึงต้องด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 266(2) และ (3) และถือเป็นการกระทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 อันมีผลทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง เป็นการเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรค 1(7)

มีปัญหาต้องพิจารณาต่อไปว่า หากความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรค 1(7) แล้ว ผู้ถูกร้องยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 181 ได้หรือไม่ พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 181 วรรค 1 บัญญัติว่า คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ส่วนมาตรา 182 วรรค 1 บัญญัติว่า ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเมื่อ (7) กระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา 267 มาตรา 268 หรือมาตรา 269 จากข้อความที่ปรากฏในบทบัญญัติทั้งสองมาตรา แสดงให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 181 ได้บัญญัติให้เฉพาะกรณีที่คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 180 วรรค 1 เท่านั้น ที่ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า คณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ แต่ไม่ได้หมาย รวมถึงกรณีที่ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามมาตรา 182 ด้วย ดังนั้น คดีนี้ เมื่อผู้ถูกร้องได้กระทำการต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 ประกอบ มาตรา 266 วรรค 1(2) และ (3) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรค 1(7) แล้ว ผู้ถูกร้องจึงไม่อาจอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 181 ได้อีกต่อไป

มีประเด็นต้องพิจารณาต่อไปว่า เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรค 1(7) แล้ว จะเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของคณะรัฐมนตรีทั้งคณะสิ้นสุดลงด้วยหรือไม่ พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 180 วรรค 1(1) บัญญัติว่า รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง เมื่อความเป็นนายกรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ตามมาตรา 182 และมาตรา 181 บัญญัติว่า คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อประโยชน์หน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่เข้ารับหน้าที่ จึงเป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ ให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ตามมาตรา 182 ยังคงต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ จะเข้ารับหน้าที่

ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 12-13/2551 ลงวันที่ 9 กันยายน 2551 เรื่อง ประธานวุฒิสภาส่งคำร้อง ของสมาชิกวุฒิสภา เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย การสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี (นายสมัคร สุนทรเวช) ซึ่งวินิจฉัยว่า ผู้ถูกร้องกระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 มีผลให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรค 1(7) และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายกรัฐมนตรีผู้ถูกร้องกระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว และเมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 จึงเป็นเหตุให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 วรรค 1(1) แต่ด้วยความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีเป็นการสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ทำให้รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่เหลือ จึงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้จนกว่ารัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 และคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 44/2557 ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2551 เรื่อง ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องของสมาชิกวุฒิสภา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของคณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลง (คณะรัฐมนตรีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์) โดยนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล ผู้ถูกร้อง รองนายกรัฐมนตรีรักษานายกรัฐมนตรี วินิจฉัยว่า ตามคำร้องเป็นกรณีที่ผู้ร้องใช้สิทธิต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 182 วรรค 1(5) และวรรค 3 ประกอบมาตรา 91 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเมื่อใด ซึ่งการที่รัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่อใดนั้น เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 และศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 12-13/2551 ลงวันที่ 9 กันยายน 2551 ไว้แล้วว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 แล้ว ย่อมเป็นเหตุให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 วรรค 1(1) แต่ด้วยความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัว จึงทำให้เฉพาะรัฐมนตรีในรัฐมนตรีที่เหลืออยู่คงต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่ารัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181

ดังนั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 20/2551 ลงวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ให้ยุบพรรคพลังประชาชน เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ กรรมการบริหารพรรค ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง เป็นการเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 แล้ว รัฐมนตรีที่เหลืออยู่ที่ไม่ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามของความเป็นรัฐมนตรีจึงต้องอยู่ในตำแหน่ง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า รัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ดังนั้น คดีนี้ เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องในคดีนี้สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรค 1(7) เป็นเหตุให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 วรรค 1(1) แต่ด้วยความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ย่อมทำให้รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่เหลือ ที่ไม่ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามของความเป็นรัฐมนตรี อยู่ตำแหน่งต่อไปจนกว่ารัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 ได้

อย่างไรก็ตาม หากรัฐมนตรีคนใด ได้กระทำการอันเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง เป็นการเฉพาะตัว ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ใน มาตรา 182 วรรค 1(1) ถึง (8) ย่อมมีผลให้รัฐมนตรีคนนั้น ไม่อาจอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่ารัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตามมาตรา 181 ได้เช่นกัน ในกรณีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำระดับสูง จะต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีก่อน ดังนั้น คดีนี้ หากรัฐมนตรีคนใดมีส่วนร่วมในการลงมติอันเป็นการก้าวก่าย หรือแทรกแซงข้าราชการประจำ โดยการโอนย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี ซึ่งเป็นกระทำอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ประกอบมาตรา 206 ด้วย ไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อม ย่อมเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีผู้นั้นสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรค 1(7) ตามไปด้วย และไม่อาจอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 ได้อีกต่อไป

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจนว่า มีการนำเรื่องการโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี และการให้นายถวิล เปลี่ยนศรี พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เพื่ออนุมัติอย่างเร่งรีบ รวบรัด ในลักษณะที่ไม่เป็นไปตามปกติ เป็นวาระเพื่อทราบจร ในวันที่ 6 กันยายน 2554 และคณะรัฐมนตรีมีมติเอกฉันท์อนุมัติให้กระทำการโยกย้าย และให้ข้าราชการประจำพ้นจากตำแหน่ง โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปในวันเดียวกันนั้นเอง รัฐมนตรีทุกคนที่ร่วมประชุมและลงมติในวันนั้น จึงมีส่วนร่วมในทางอ้อมในการก้าวก่าย และแทรกแซงข้าราชการประจำ อันเป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 ประกอบมาตรา 266(2) และ (3) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีเหล่านั้น ต้องสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรค 1(7) ไปด้วย


สำหรับประเด็นตามคำขอผู้ร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ดำเนินการแต่งตั้ง นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 และมาตรา 173 โดยรวมนั้น ไม่อยู่ในขอบเขตเสนอคำร้อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับพิจารณาวินิจฉัย จึงให้ยกคำขอส่วนนี้

อาศัยเหตุผลที่ได้กล่าวมาข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเอกฉันท์จึงวินิจฉัยว่า ผู้ถูกร้องใช้สถานะ หรือตำแหน่งการเป็นนายกรัฐมนตรีเข้าไปก้าวก่าย หรือแทรกแซง เพื่อประโยชน์ของตนเองและของผู้อื่น ในเรื่องการบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน หรือการพ้นจากตำแหน่งของข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ และมิใช่ข้าราชการการเมือง จึงต้องด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 266(2) และ (3) และถือเป็นการกระทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 อันมีผลทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรค 1(7) และรัฐมนตรีที่ร่วมมีมติในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2554 จึงมีส่วนร่วมในการก้าวก่าย และแทรกแซง ข้าราชการประจำ อันเป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266(2) และ (3) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีเหล่านั้นต้องสิ้นสุดเป็นการเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรค 1(7) ไปด้วย


ผู้ร้องและผู้แทนผู้ร้องฟังบันทึกการอ่านคำวินิจฉัย

รับฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ ผู้ร้องและผู้แทนผู้ถูกร้องมาตามกำหนดนัดแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยที่ 9/2557 ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 เรื่อง ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของสมาชิกวุฒิสภา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ประกอบมาตรา 182 วรรค 3 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรค 1(7) หรือไม่ ให้คู่กรณีทราบ ให้คู่กรณีคัดถ่ายสำเนาคำวินิจฉัยได้ เมื่อพ้นกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ศาลได้อ่านคำวินิจฉัย”





กำลังโหลดความคิดเห็น