ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -นับตั้งแต่ศาลและองค์กรอิสระได้รับพิจารณาคดีสำคัญซึ่งจะมีผลต่อสถานภาพการอยู่ในตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คนในเครือข่ายระบอบทักษิณก็ได้ออกมาแสดงพฤติกรรมข่มขู่คุกคาม ทั้งทางตรงและทางอ้อมมาโดยตลอดเพื่อไม่ให้มีคำตัดสินออกมาเป็นลบ และส่งผลกระทบต่อการกุมอำนาจรัฐของพวกตน
ทั้งกรณีที่คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเรียก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไปชี้แจงกรณีทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.สรรหาและคณะ ให้วินิจฉัยสถานภาพความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาว่าการย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ออกจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
หากมองย้อนกลับไปในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาจะพบว่า เครือข่ายระบอบทักษิณแต่ละภาคส่วนได้แบ่งงานกันทำอย่างประสานสอดคล้อง ตั้งแต่ระดับถ่อยเถื่อนอย่างกลุ่มวิทยุเสื้อแดง ที่ตั้งชื่อกลุ่มของตัวเองอย่างเลิศหรูว่า กลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ กวป.ที่ไปชุมนุมก่อกวนอยู่บริเวณหน้า ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ ในบริเวณศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ไปจนถึงระดับหัวอย่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่วันดีคืนดีก็ไปโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก กล่าวหาศาลรัฐธรรมนูญและ ป.ป.ช.ว่า ไม่ยึดหลักนิติธรรม ดำเนินการสองมาตรฐาน ไม่ให้ความเป็นธรรมเท่าเทียมกับคดีของคนอื่นๆ
ขณะที่หัวขบวนลิ่วล้อ อย่าง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ก็ออกมาให้สัมภาษ์สื่อมวลชนในทำนองข่มขู่ศาลและองค์กรอิสระมาโดยตลอดว่า หากมีคำตัดสินออกมาไม่ถูกใจ คนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยจะไม่ยอม และเกิดการนองเลือดแน่
ร.ต.อ.เฉลิม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 11 เม.ย.ว่า คดีที่อยู่ใน ป.ป.ช.และศาลรัฐธรรมนูญ จะทำให้เกิดปัญหาแน่นอน เพราะอีกฝ่ายหนึ่งมองว่าคดีของพรรคประชาธิปัตย์ล่าช้า แต่พอคดีนายกฯ และพรรคเพื่อไทยเร็วอย่างกับรถด่วนไฮสปีด ลักษณะแบบนี้ฝ่ายที่เชียร์พรรคเพื่อไทยมองว่าถ้าไม่ได้รับความเป็นธรรม มีเรื่องแน่ ตนไม่อยากให้เกิด เพราะเป็นคนไทยด้วยกัน
วันที่ 17 เม.ย. ร.ต.อ.เฉลิม อ้างว่า ตำรวจสันติบาล สภาความมั่นคงแห่งชาติ และแหล่งข่าวที่ตนมีอยู่รายงานตรงกันว่า บ้านเมืองจะเกิดความไม่สงบจากกรณีของ ป.ป.ช. ที่จะตัดสินทุจริตโครงการรับจำนำข้าว เหตุผลไม่ใช่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่เคารพกฎหมายหรือไม่ฟังกฎหมาย แต่ฝ่ายสนับสนุนพรรคเพื่อไทยมีมากและมีความเชื่อว่าสองมาตรฐาน
ต่อมา วันที่ 18 เม.ย.ร.ต.อ.เฉลิมให้สัมภาษณ์ข่มขู่อีกว่า ถ้าอยากให้คนฆ่ากันก็ตัดสินตามที่นายไพบูลย์ นิติตะวันร้องมา แล้วเมื่อแก่ตัวลงจะมานั่งร้องไห้ว่าได้สร้างตราบาปไว้ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน ศอ.รส.จะพยายามดูแลไม่ให้ทั้งสองฝ่ายทะเลาะกัน แต่ก็ห่วงเรื่องอารมณ์ของทั้งสองฝ่าย และกลัวจะเอาไม่อยู่
ถัดจากนั้น วันที่ 21 เม.ย. ร.ต.อ.เฉลิม อ้างว่า จากการข่าวมีความพยายามของศาลรัฐธรรมนูญที่จะตัดสินให้ ครม.ต้องพ้นสภาพทั้งคณะ ซึ่งหากทำกันขนาดนั้นจะนองเลือด เพราะคนทั้งประเทศที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยจะไม่ยอม เนื่องจากเห็นว่าตัดสินเกินรัฐธรรมนูญ
วันที่ 24 เม.ย. ร.ต.อ.เฉลิม ให้สัมภาษณ์ย้ำอีกว่า สมัยนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินไว้อย่างไร มาคราวนี้จะเป็นอย่างอื่น แล้วจะอยู่อย่างไรประเทศไทย
การให้สัมภาษณ์สื่อของเฉลิม ถ้าไม่เป็นการประจานความชุ่ยของตัวเองในฐานะเป็น ผอ.ศอ.รส.ที่ไร้ความสามารถที่จะควบคุมไม่ให้เกิดความรุนแรง ก็เป็นการแสดงพฤติกรรมกุ๊ยของตัวเอง ออกมาข่มขู่ศาลและองค์กรอิสระให้ตัดสินไปในทางที่เป็นประโยชน์ต่อพรรคพวกของตนเองเท่านั้น
การออกมาพูดทุกวันของ ร.ต.อ.เฉลิม อีกด้านหนึ่งยังเป็นการฝังหัวมวลชนคนเสื้อแดงที่เป็นฐานเสียงว่า ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระไม่ให้ความเป็นธรรมแก่พวกตน และปลุกเร้าอารมณ์ให้มวลชนของตนเตรียมพร้อมเคลื่อนไหว หากคำตัดสินออกมาไม่เป็นที่ถูกใจ
กระบวนการฝังหัวคนเสื้อแดงว่าศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระไม่มีความยุติธรรมนั้น ยังได้ได้รับการตอกย้ำจากเนติบริกรเฒ่า อย่างนายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ หรือ คอ.นธ. ที่เขียนจดหมายเปิดผนึก 2 ฉบับ โดยฉบับที่ 1 กล่าวถึงการที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยกรณีสถานภาพของนางสาวยิ่งลักษณ์กรณีโยกย้ายนายถวิล ว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการรับคำร้องให้พิจารณากรณีดังกล่าว เนื่องจากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทั้งคณะได้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีไปแล้ว เมื่อมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 และการโอนย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ก็เป็นการใช้อำนาจบริหารตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน จึงไม่เป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 แต่อย่างใด
ส่วนจดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 2 นายอุกฤษ อ้างว่า กระบวนพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม เนื่องจากการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญในปัจจุบันเป็นการใช้ข้อกำหนดที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดขึ้นเองฝ่ายเดียว โดยมิได้ตราขึ้นเป็นกฎหมาย โดยองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนดังเช่นกระบวนพิจารณาของศาลอื่นๆ
ศาลรัฐธรรมนูญได้ตอบโต้นายอุกฤษว่า รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญเสนอร่าง พ.ร.บ.ภายในเวลา 1 ปี ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ดำเนินการแล้วถึง 2 ครั้ง แต่ปรากฏว่าเกิดการยุบสภาเสียก่อนทั้ง 2 ครั้ง ร่างกฎหมายที่ค้างอยู่ในการพิจารณาของสภาจึงตกไป ศาลรัฐธรรมนูญจึงได้ออกข้อกำหนดวิธีพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญมาบังคับใช้ ซึ่งถือว่าข้อกำหนดนี้มีศักดิ์ทางกฎหมายเทียบเท่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว และการออกข้อกำหนดก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาจึงไม่ได้เป็นการขัดต่อหลักนิติบัญญัติแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม จดหมายเปิดผนึกของนายอุกฤษก็ถูกนำไปขยายผลโดย ศอ.รส.ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 22 เม.ย.ว่า ศอ.รส.เห็นด้วยกับเนื้อหาในจดหมายเปิดผนึกของนายอุกฤษและสอดคล้องกับแถลงการณ์ของ ศอ.รส.ฉบับที่ 1 ที่ออกมาเมื่อวันที่ 17 เม.ย. และสมอ้างว่า แสดงให้เห็นว่าความกังวลของ ศอ.รส. ว่าศาลรัฐธรรมนูญอาจวินิจฉัยเกินกว่ารัฐธรรมนูญนั้น มิได้เป็นการคาดการณ์ที่ไร้มูลความจริง และ ศอ.รส. มิได้มุ่งหวังที่จะก้าวก่าย ทำลายชื่อเสียงหรือความเชื่อถือศรัทธาของศาลรัฐธรรมนูญ
ขณะที่นายลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิตและนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีจากคดียุบพรรคเมื่อปี 2550 ก็ออกมาร่วมผสมโรงว่า หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในลักษณะที่รู้หรืออนุมานได้ก่อนแล้วว่าอาจนำมาซึ่งภาวะสุญญากาศทางการเมืองจนเกิดการนองเลือดของคนในชาติแล้วยังดำเนินการ จะต้องรับผิดชอบต่อการตัดสิน ใจที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพฤติกรรมผู้คนในเครือข่ายระบอบทักษิณที่เป็น“ใบเสร็จ”หรือหลักฐานที่จะลากคอมาเข้าคุกในฐานความผิดข่มขู่คุกคามการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระและศาล เพื่อไม่ให้คนพวกนี้แสดงอาการเหิมเกริม กร่างคับประเทศอีกต่อไป
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(ศอ.รส.) ให้สัมภาษณ์ข่มขู่รายวันว่าจะมีการนองเลือดแน่นอน หากศาลหรือองค์กรอิสระตัดสินไม่ถูกใจคนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทย