“หมอแอร์” แถลงผลถก ศอ.รส. ยกจดหมาย คอ.นธ. ชี้ศาลไร้อำนาจรับคำร้องกรณีนายกฯ ย้าย “ถวิล” สอดรับแถลง ศอ.รส. ที่หวั่นศาลวินิจฉัยเกิน รธน. ปัดก้าวก่ายดิสเครดิต หวังตรงไปตรงมาตาม กม. ให้ ปชช.ศรัทธา ห่วงตัดสินไม่ถูกใจมีรุนแรง ขุดคดี “สมัคร” เคยตัดสินพ้นนายกฯ เหตุผิดเฉพาะตัว แต่ ครม.ยังอยู่ แจงวานนี้ส่งหนังสือผู้บริหารแต่ละกระทรวง สั่งฟัน กปปส.มาเยือน ชี้ชุมนุมเสียหาย 3 แสนล้าน จี้ตระหนักร่วมแก้ปัญหา
วันนี้ (22 เม.ย.) ที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) พ.ต.ท.หญิง อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล คณะทำงานศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) แถลงผลการประชุม ศอ.รส.ว่า ศอ.รส.ได้พิจารณาจดหมายเปิดผนึก 2 ฉบับ ของนายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ที่ระบุว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้องให้พิจารณากรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เนื่องจากนายกฯ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งคณะได้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีไปแล้ว เมื่อมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พร้อมทั้งเห็นว่ากระบวนพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมว่า ศอ.รส.เห็นว่าแถลงการณ์ของนายอุกฤษสอดคล้องกับแถลงการณ์ ศอ.รส.ฉบับที่ 1 และแสดงให้เห็นว่าความกังวลของ ศอ.รส.ว่าศาลรัฐธรรมนูญอาจวินิจฉัยเกินกว่ารัฐธรรมนูญนั้น มิได้เป็นการคาดการณ์ที่ไร้มูลความจริง และศอ.รส.มิได้มุ่งหวังที่จะก้าวก่าย ทำลายชื่อเสียง หรือความเชื่อถือศรัทธาของศาลรัฐธรรมนูญตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา ในทางกลับกันหากศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยกรณีนี้อย่างตรงไปตรงมาตามข้อกฎหมายก็จะเป็นการพิสูจน์ว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่ธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม และจะได้รับความเชื่อถือศรัทธาจากประชาชน
พ.ต.ท.หญิง อัญชุลีกล่าวอีกว่า ศอ.รส.ห่วงใยว่าการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ จะนำไปสู่ประเด็นก่อให้เกิดความรุนแรงระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนฝ่ายต่างๆ และจากการตรวจสอบย้อนไป พบว่าเมื่อครั้งมีกรณีวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ต่อกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และกลุ่มสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดยนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ และคณะได้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี คือ นายสมัคร สุนทรเวช ในขณะนั้น โดยมีคำวินิจฉัยไว้ชัดเจน เป็นมติเอกฉันท์วินิจฉัยกรณีดังกล่าวนี้ว่า “ผู้ถูกร้องกระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 มีผลให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้อง สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้อง กระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว และเมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 จึงเป็นเหตุให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 วรรคหนึ่ง (1) แต่ด้วยความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีเป็นการสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ทำให้รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่เหลือจึงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181” โดยคำวินิจฉัยนี้ได้พิจารณาโดยคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 8 ใน 9 ท่าน ซึ่งยังคงดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบัน
พ.ต.ท.หญิง อัญชุลีกล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา ศอ.รส.ได้มีหนังสือถึงปลัดกระทรวง เลขาธิการ หรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่เทียบเท่า รวมทั้งสิ้น 37 หน่วยงาน เพื่อแจ้งข้อสั่งการของ ศอ.รส.ให้หัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า อธิบดีหรือเทียบเท่า ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น และรัฐวิสาหกิจ ดำเนินคดีอาญาและดำเนินคดีแพ่งโดยเร่งด่วนในกรณีที่กลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางมายังสถานที่ราชการหรือหน่วยงานของรัฐ แล้วทำการปิดล้อม บุกรุก หรือข่มขู่ หรือทำให้เสียทรัพย์ รวมถึงให้หลีกเลี่ยงการต้อนรับหรือกระทำการใดๆ ที่เข้าข่ายเป็นการสนับสนุน หรือเห็นด้วยกับการกระทำของแกนนำกลุ่ม กปปส. หรือกลุ่มอื่นใด ซึ่งอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีด้วย
ทั้งนี้ ศอ.รส.เชื่อมั่นว่าการสั่งการเช่นนี้จะช่วยป้องกัน และบรรเทาเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรได้ เนื่องจากเป็นการปฏิบัติตามกรอบของกฎหมาย และลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ศอ.รส.มีข้อห่วงใยต่อความเสียหายทางเศรษฐกิจอันเกิดจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.ซึ่งยืดเยื้อมาเป็นเวลานาน ซึ่งจากการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา พบว่าความขัดแย้งทางการเมืองทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจมากกว่า 3 แสนล้านบาทแล้ว ศอ.รส.จึงขอเรียกร้องให้ประชาชน ผู้เข้าร่วมชุมนุม และแกนนำกลุ่มต่างๆ ได้ตระหนักถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นกับประเทศ และร่วมกันแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นด้วยสันติวิธีโดยเร็ว เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ เพราะหากเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาวแล้วก็ยากที่จะแก้ไขได้