xs
xsm
sm
md
lg

ศอ.รส.หนุน ครม.ทูลเกล้าฯ ขอพระบรมราชวินิจฉัยต้องพ้นสภาพหรือไม่ อ้างจ่อถูกฟันเกิน รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ อ่านแถลง ศอ.รส.อ้างมีข้อมูลเหตุรุนแรงจากเงื่อนไขในการวินิจฉัยขององค์กรอิสระ เชื่อศาลรัฐธรรมนูญขับ ครม.พ้นรักษาการแน่ ขู่ ป.ป.ช.อย่า 2 มาตรฐานฟัน “ยิ่งลักษณ์” จำนำข้าว เตือนศาลอย่าตัดสินเกิน รธน. ชี้ช่อง ครม.ทูลเกล้าฯ ขอพระบรมราชวินิจฉัยต้องพ้นสภาพหรือไม่ พร้อมกราบบังคมทูลขอทำงานต่อ รวมกรณี ป.ป.ช.ฟันด้วย อ้าง ม.181 ป้องกันสุญญากาศได้ จี้ กกต.รีบๆ จัดเลือกตั้ง ปัดสวะแกนนำ 2 ม็อบรับผิดชอบ สอน ขรก.เลี่ยงร่วม กปปส. “ชัยเกษม” ย้ำใช้มาตรา 7 แน่



วันนี้ (17 เม.ย.) ที่ บช.ปส. เมื่อเวลา 13.00 น.นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะกรรมการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) แถลงว่า ตลอดเวลา 30 วัน ที่ได้มีการจัดตั้ง ศอ.รส.ให้ทำหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการทั้งปวงให้เกิดความสงบเรียบร้อยได้ตลอดมาในระดับหนึ่งนั้น ขณะนี้มีข้อมูลอย่างเพียงพอที่ได้บ่งชี้ว่าจะเกิดความรุนแรงและเหตุร้ายขึ้นในเขตพื้นที่รับผิดชอบของ ศอ.รส. โดยเฉพาะการระดมจัดมวลชนให้มีการชุมนุมใหญ่ทั้งของ กปปส.และ นปช. และกลุ่มอื่นๆ ในลักษณะท้าทายและแข่งขันกัน ภายใต้เงื่อนไขสำคัญคือ การวินิจฉัยขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ 2 องค์กร คือ คณะกรรมการ ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ

นายธาริตกล่าวว่า ในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญนั้นกำลังจะมีคำวินิจฉัยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีกระทำการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ตามมาตรา266 แห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายกรัฐมนตรีกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 266 ดังกล่าว รัฐมนตรีทั้งคณะก็จะต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 180 ซึ่งแม้มาตรา 181 จะบัญญัติให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ แต่ก็มีการคาดการณ์ล่วงหน้าแล้วว่าศาลรัฐธรรมนูญจะได้วินิจฉัยเกินจากรัฐธรรมนูญ คือวินิจฉัยว่าคณะรัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งโดยจะอยู่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 181 อีกไม่ได้

นายธาริตกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดสุญญากาศตามที่กลุ่ม กปปส.เพื่อนำไปสู่การทูลเกล้าฯ ครม.ชุดใหม่ ขณะที่กลุ่ม นปช. ก็จะไม่ยอมรับการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตลอดจนการวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ซึ่งขณะนี้ก็ได้ปรากฏเป็นข้อมูลและข้อเท็จจริงของการเผชิญหน้าและการท้าทายที่จะจัดการชุมนุมใหญ่ด้วยกันทั้งสองฝ่าย และจะนำไปสู่การปะทะกันและก่อเหตุร้ายต่อกันและกันแล้ว

ทั้งนี้ ศอ.รส.ขอให้แต่ละฝ่ายดำเนินการดังต่อไปนี้ 1. คณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้วยความเคารพต่อองค์กรและเห็นถึงบทบาทอันสำคัญ แต่มีความกังวลในตัวคณะกรรมการบางคน ศอ.รส. จึงขอเรียกร้องให้ ป.ป.ช.พิจารณาดำเนินคดีและมีคำวินิจฉัยต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในกรณีโครงการรับจำนำข้าวอย่างตรงไปตรงมาตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายโดยไม่เลือกปฏิบัติเป็นสองมาตรฐานที่แตกต่างกันระหว่างคนของพรรคฝ่ายค้านและกับพรรคฝ่ายรัฐบาล โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะต้องปฏิบัติตามจริยธรรมอันเป็นมาตรฐานสำคัญของการปฏิบัติหน้าที่ด้วย

2. ศาลรัฐธรรมนูญ ศอ.รส.มีความกังวลในตัวตุลาการบางคน ศอ.รส. จึงขอเรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาและมีคำวินิจฉัยต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ในกรณีการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี อย่างตรงไปตรงมาเพราะเมื่อเป็นการกระทำในอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็ไม่อาจเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงได้ และประการสำคัญอย่างยิ่ง ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องไม่วินิจฉัยเกินเลยไปถึงขนาดว่าหากความเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงแล้ว ครม.ทั้งคณะจะต้องพ้นจากตำแหน่งไปตามมาตรา 180 โดยจะอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมี ครม.ที่ตั้งขึ้นใหม่ตามมาตรา 181 อีกไม่ได้ ซึ่งจะเป็นการวินิจฉัยเกินกว่ารัฐธรรมนูญ โดยศาลรัฐธรรมนูญจะต้องปฏิบัติตามจริยธรรมและคำถวายสัตย์ อันเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องยึดถือในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย

3. ศอ.รส.ขอเรียกร้อง ครม.ว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกินกว่ารัฐธรรมนูญ ครม.จะต้องแก้ไขปัญหามิให้เกิดสุญญากาศ เพราะเมื่อศาลรัฐธรรมนูญจงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญเสียเอง ครม.ก็ชอบที่จะทูลเกล้าฯ ขอพระบรมราชวินิจฉัยว่า ครม.ต้องพ้นจากการอยู่ในตำแหน่งตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกินจากรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะครม.ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง การจะพ้นไปก็สมควรที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พ้นไป มิใช่ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ชี้ขาดเสียเองโดยฝ่าฝืนมาตรา 181 ดังกล่าว โดยในระหว่างทูลเกล้าฯ ขอพระบรมราชวินิจฉัยนั้นให้กราบบังคมทูลด้วยว่า ครม.จะคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามมาตรา 181 การทูลเกล้าฯ ขอพระบรมราชวินิจฉัยเช่นนี้ ก็เพื่อให้เกิดข้อยุติอันจะนำมาซึ่งความสงบสุขของบ้านเมือง โดยมิต้องเกิดการใช้กำลังของกลุ่มคน 2 กลุ่มเข้าก่อเหตุร้ายต่อกัน และป้องกันมิให้คณะรัฐมนตรีกระทำผิดตามมาตรา 181 ด้วย

นายธาริตกล่าวต่อว่า ศอ.รส. เห็นว่ามาตรา 181 เป็นหลักการอันสำคัญของการบริหารประเทศที่ป้องกันไม่ให้เกิดสุญญากาศหรือช่องว่าง โดยจะไม่มีรัฐบาลบริหารประเทศไม่ได้เป็นอันขาดในทุกๆ กรณี ซึ่งในอดีตรัฐธรรมนูญทุกฉบับก็บัญญัติไว้ทำนองเดียวกับมาตรา 181 อนึ่ง ข้อเรียกร้องดังกล่าวข้างต้นนั้น รวมถึงกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะได้วินิจฉัยว่าข้อกล่าวหาต่อนายกรัฐมนตรีมีมูล และนายกรัฐมนตรีต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 272 ด้วย

นอกจากนี้ ศอ.รส.ขอเรียกร้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้รับผิดชอบในการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็ว เพื่อจะได้มีรัฐบาลชุดใหม่เข้าบริหารประเทศ ปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติ และการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ จะยุติลงทันที และการแสดงพฤติกรรมของคณะกรรมการ กกต.บางคนที่ประกาศชัดเจนว่าจำเป็นต้องเอนเอียงเข้าข้างบางฝ่ายนั้น เป็นพฤติกรรมที่ไม่สมควรอย่างยิ่งและเข้าข่ายผิดต่อกฎหมายด้วย

ศอ.รส.ขอเรียกร้อง แกนนำ กปปส.และแกนนำ นปช.ให้ยุติการชุมนุมและไม่ปลุกระดมเรียกคนเข้าร่วมชุมนุมใหญ่ เพราะจะเป็นความเสี่ยงอย่างมากต่อการกระทบกระทั่ง และก่อเหตุร้ายต่อกันและกัน หากแกนนำยังคงฝ่าฝืนจนเกิดเหตุร้าย แกนนำทุกคนทุกกลุ่มจะต้องรับผิดชอบต่อการทำผิดกฎหมาย ทั้งทางอาญาและทางแพ่งอย่างถึงที่สุด

อีกทั้งขอเรียกร้องต่อหัวหน้าส่วนราชการระดับสูง อันได้แก่ ปลัดกระทรวง เลขาธิการ อธิบดี และหัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออื่นๆ ได้ปฏิบัติหน้าที่ในราชการอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะการบริหารจัดการให้ส่วนราชการ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ สามารถปฏิบัติงานให้บริการประชาชนได้อย่างดีตามปกติ โดยไม่ถูกบุกรุกหรือปิดล้อมจนไม่สามารถให้บริการได้ รวมถึงการกำชับ ตักเตือน และดูแลให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่หลีกเลี่ยงการเข้าร่วมกับกิจกรรมใดๆ ที่อาจเข้าข่ายสนับสนุนแกนนำของกลุ่มเรียกร้องที่กระทำผิดกฎหมายและอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดี เช่น กลุ่ม กปปส. และกลุ่มอื่นๆ ซึ่งหัวหน้าส่วนราชการจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีและเหมาะสมด้วย

อย่างไรก็ตาม ศอ.รส.ขอเรียกร้องประชาชนให้งดเว้นการเข้าร่วมชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม กปปส. และกลุ่ม นปช. หรือกลุ่มอื่นใด เพราะนอกจากจะก่อให้เกิดความขัดแย้งและเหตุร้ายที่จะรุนแรงขึ้นแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อสวัสดิภาพของผู้เข้าร่วมชุมนุมด้วย และขณะนี้แกนนำของทุกฝ่ายได้พยายามใช้การปลุกระดมในลักษณะสงครามทางจิตวิทยา เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อฝ่ายตนและเพิ่มความเกลียดชังฝ่ายอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่พี่น้องประชาชนจะต้องมีสติ และใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบให้มากที่สุดก่อนที่จะตัดสินใจเชื่อตามคำยุยงแล้วกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดลงไป

ด้านนายชัยเกษม นิติสิริ รมว.กระทรวงยุติธรรม ในฐานะรอง ผอ.ศอ.รส.กล่าวเสริมว่า ขอยืนยันว่าข้อเสนอเดิมเรื่องนายกรัฐมนตรีพระราชทาน หรือนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 7 มีวัตถุประสงค์นำเสนอขึ้นหากว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจนอกกรอบกฎหมายรัฐธรรมนูญ จึงจะพึ่งมาตรา 7 เพราะนี่คือแนวทางที่ทาง ศอ.รส.คิดว่าดีที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง ทั้งนี้ยืนยันว่าแถลงการณ์ ศอ.รส.ฉบับนี้ไม่ได้ต้องการตอบโต้หรือขู่ฝ่ายใดฝายหนึ่ง แต่ต้องการเตือนให้ทุกฝ่ายได้นึกถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ ดังนั้นการจะดำเนินการใดต้องระมัดระวัง และยืนยันว่าทาง ศอ.รส.ไม่ได้เกี่ยวข้องกับรัฐบาล แต่สิ่งที่ทาง ศอ.รส.เสนอต้องการเตือนทุกฝ่ายที่ควรจะทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้









กำลังโหลดความคิดเห็น