โฆษกเพื่อไทย เผย พรรคนัด กก.กิจการคุยจัดเลือกตั้งก่อนชง กกต. ยันส่งคนมีอำนาจตัดสินใจไปแน่ ยันโหวตภายใน 90 วันนานไป ท่องคาถาเดิมต้องเลือกตั้งๆ อ้างเฉยไม่มี ส.ว. เป็นเครื่องมือของรัฐบาล ด้านอดีตประธานวิปรัฐบาล ยัน “ยิ่งลักษณ์” ย้าย “ถวิล” ได้
วันนี้ (16 เม.ย.) นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าวันที่ 17 เม.ย. พรรคเพื่อไทยจะมีการประชุมคณะกรรมการกิจการพรรคเพื่อไทย เพื่อหารือถึงข้อเสนอแนวทางจัดการเลือกตั้ง ก่อนที่จะสรุปเสนอต่อ กกต. รวมถึงการพิจารณาคัดสรรบุคคลที่จะเป็นตัวแทนไปร่วมประชุมกับ กกต. ในวันที่ 22 เม.ย.ด้วย ยืนยันว่าเมื่อพรรคมอบหมายบุคคลใดไปร่วมประชุมกับ กกต. แล้ว ย่อมมีอำนาจตัดสินใจแทนพรรคอย่างแน่นอน ส่วนที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถามถึงบุคคลที่มีอำนาจเต็มที่จะมาร่วมประชุมกับ กกต. นั้น เมื่อถึงเวลาพรรคประชาธิปัตย์จะทราบเอง นายอภิสิทธิ์ กำลังทำตัวยกตนข่มท่านหรือไม่ ขอเพียงแค่พรรคประชาธิปัตย์ไปร่วมประชุมกับ กกต. และขอให้พรรคประชาธิปัตย์มีข้อสรุปว่าจะสนับสนุนการเลือกตั้งก็พอ
นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ระบุว่า กกต. จะหารือกับรัฐบาลเรื่องจัดการเลือกตั้งในวันที่ 17 เม.ย. นั้น เป็นเรื่องดีที่ แต่ไม่อยากให้ กกต. ตั้งเงื่อนไขว่าถ้าหารือกับรัฐบาลแล้วไม่ได้ข้อยุติ ก็จะยังไม่จัดการเลือกตั้ง เพราะจะแสดงให้เห็นถึงความรับไม่ผิดชอบ ส่วนวันที่ 22 เม.ย. ที่ 53 พรรคการเมืองจะหารือกับ กกต. นั้น จะมีการเน้นย้ำให้ กกต. ดำเนินการจัดการเลือกตั้งภายใน 60 วันตามมติของ 53 พรรคการเมืองที่เคยเสนอ กกต. ไปก่อนหน้านี้ ไม่อยากให้ กกต. ตั้งธงว่าจะจัดการเลือกตั้งภายใน 90 วันซึ่งจะนานเกินไป วันนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากการขัดขวางของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ดังนั้นหาก กกต. มีความจริงใจ ขอให้ไปพูดกับนายสุเทพ ให้หยุดขัดขวางการเลือกตั้ง หากนายสุเทพไม่ทำตาม ก็จะขาดการยอมรับจากประชาชนไปเอง ขณะเดียวกันขอให้ดำเนินคดีกับนายสุเทพด้วย เพื่อไม่ให้นายสุเทพเหิมเกริมอีก โดย กกต. ต้องทำคู่ขนานกันไป หาก กกต. ไม่ทำและยื้อเวลาออกไปอีก ความขัดแย้งก็จะไม่คลี่คลาย
นายพร้อมพงศ์ กล่าวถึงกรณีที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์การเมืองหลังเทศกาลสงกรานต์รวม 5 ข้อ โดยระบุว่ารัฐบาลกำลังยื้อเวลาอยู่ในอำนาจต่อไปให้นานที่สุดว่า เป็นการพูดแบบแผ่นเสียงตกร่อง พูดกล่าวหารัฐบาลและบิดเบือนข้อเท็จจริง หากพรรคประชาธิปัตย์อยากให้รัฐบาลพ้นจากอำนาจควรออกมาสนับสนุนการเลือกตั้ง และลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย เพื่อให้มีรัฐบาลและสภาชุดใหม่ เพราะรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ เป็นเพียงรัฐบาลรักษาการเท่านั้น นายจุรินทร์ พูดเหมือนแกล้งโง่ เมื่อรัฐบาลประกาศยุบสภา ก็ต้องอยู่เพื่อรักษาการ รู้สึกแปลกใจที่นายจุรินทร์ และพรรคประชาธิปัตย์กลัวการเลือกตั้ง หรือไม่มั่นใจและกลัวว่าจะกลับไปเป็นฝ่ายค้าน ดังนั้นขอท้านายจุรินทร์ และพรรคประชาธิปัตย์ให้ประกาศในวันที่ประชุมร่วมกับ กกต. ในวันที่ 22 เม.ย.นี้เลยว่าจะลงเลือกตั้ง แบบนี้ถึงจะเรียกได้ว่าเป็นการปฏิรูปอย่างแท้จริง และขอเรียกร้องให้นายจุรินทร์ เรียกสมาชิกที่แตกแถว เล่นการเมืองข้างถนนกลับเข้ามาอยู่ในพรรค เล่นการเมืองตามระบบจะดีกว่า
นายพร้อมพงศ์ กล่าวอีกว่า ส่วนที่นายจุรินทร์ระบุว่ารัฐบาลเตรียมใช้วุฒิสภาชุดใหม่ เป็นเครื่องมือปกป้องการกระทำผิด ทั้งในส่วนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตประธานสภา และประธานวุฒิสภา กรณีถูกถอดถอน เพื่อให้เสียงถอดถอนไม่ถึง 3 ใน 5 นั้น ถือเป็นการดูถูกสมาชิกรัฐสภา รวมทั้งประชาชนด้วย อยากถามว่าคนที่คิดเหมือนกับนายจุรินทร์ จะเป็นคนดี แล้วคนที่เห็นต่างจะต้องเป็นคนไม่ดีใช่หรือไม่ ยืนยันว่าไม่มี ส.ว. คนไหนจะตกเป็นเครื่องมือของรัฐบาล ทั้งนี้ แปลกใจที่คำพูดลักษณะนี้ควรหลุดออกจากปากของพวกเผด็จการ และกลุ่มการเมืองที่จะล้มระบอบประชาธิปไตย มากกว่าจะหลุดออกจากปากสมาชิกพรรคการเมืองเก่าแก่แบบนี้
ด้าน นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี และอดีตประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า อยากจะหยิบยกรัฐธรรมนูญมากระตุกเตือนสังคมถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำตัดสินสถานภาพความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม สืบเนื่องจากการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สมช. ความจริงแล้วการโยกย้ายข้าราชการเป็นอำนาจโดยเด็ดขาดของนายกฯ ในฐานะผู้นำสูงสุดของฝ่ายบริหาร สามารถทำได้ แต่ถ้าทำในนาม ส.ส. อาจจะทำไม่ได้ ตนเป็นห่วงว่าคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญอาจทำให้เกิดผลกระทบตามมามากมาย ไม่อยากให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย ที่ผ่านมารัฐบาลทำทุกอย่างตามกติกา แต่ฝ่ายตรงข้าม ฝ่าย กปปส. เล่นเลยเถิดเกินไป ตอนนี้ทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือ กกต. ต้องเร่งจัดการเลือกตั้งภายใน 180 วันนับจากวันยุบสภา 9 ธ.ค. 2556 ตามที่กฎหมายกำหนด