ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การทำพิธีเปิดโรงสีข้าวชาวนา บริเวณหน้าทางเข้าศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ของหลวงปู่พุทธอิสระ เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ที่ผ่านมา เพื่อช่วยเหลือชาวนาที่ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการรับจำนำข้าวซึ่งถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับเงินจากรัฐบาลทั้งที่เวลาล่วงเลยมาหลายเดือนแล้ว ถือเป็นรูปธรรมก้าวแรกในการเริ่มต้นสภาชาวนาและเกษตรกรแห่งประเทศไทย ตามเจตนาของกระบวนการปฏิรูปการเมืองที่ต้องมีการปฏิรูปชาวนาให้ลืมตาอ้าปาก พึ่งพาตนเอง และขายผลผลิตจากชาวนาสู่ผู้บริโภคโดยตรง ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง หรือรอหวังพึ่งรัฐบาลประทานความเมตตาอีกต่อไป
หลวงปู่ฯได้เบิกฤกษ์เปิดโรงสีสีข้าว 3 ชนิดคือ ข้าวกล้อง ข้าวหอมปทุม และข้าวสารนิล บรรจุถุงแล้วนำมาประมูลขาย ปรากฏว่า ข้าวสารนิลมีคนประมูลไปในราคา 60,000 บาท สำหรับข้าวกล้องและข้าวหอมปทุม มีผู้ประมูลไปถุงละ 19,000 บาท รวมเป็นเงิน 98,000 บาท โดยหลวงปู่ฯ จะนำเงินรายได้ทั้งหมดไปจัดซื้อเครื่องสีข้าวเพิ่มเติม จากที่มีอยู่แล้ว 2 เครื่อง สีข้าวได้วันละ 1.5 ตันต่อเครื่อง
การตั้งโรงสีชั่วคราวครั้งนี้นอกจากจะเป็นการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ที่จะให้ชาวนานำเข้ามาสีเพื่อขายได้เรียนรู้กระบวนการผลิต กระบวนการแปรรูป และจำหน่ายผลผลิตสู่ผู้บริโภคโดยตรงตามแนวทางของสภาชาวนาฯ แล้ว ยังเป็นการวางแผนปรับการชุมนุมที่ยืดเยื้อ พร้อมกับจะนำโรงกลั่นน้ำมันมาติดตั้งและทำการผลิตในเวทีแจ้งวัฒนะอีกด้วย
นอกจากนั้น ในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จะเปิดพื้นที่เป็นตลาดการเกษตรเพื่อให้เกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนต่างๆ ที่มาชุมนุมนำพืชผัก ผลผลิตทางการเกษตร และผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยภูมิปัญญาชาวบ้าน มาเปิดร้านจำหน่ายสินค้าเพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้กับชาวบ้านด้วยอีกทางหนึ่ง
หลวงปู่ฯ ได้ปลุกปลอบใจให้ชาวนาลุกขึ้นสู้เพื่อปลดแอกจากพันธนาการทั้งปวงที่กดขี่ โดยเริ่มต้นจากการรวมกลุ่มกันพึ่งพาตัวเองให้ได้ โดยหลวงปู่ฯ ได้อธิบายผ่านเฟสบุ๊ค เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2557 ว่า “โรงสีข้าว สภาชาวนาและเกษตรกรแห่งประเทศไทย มาแล้วจ้า”
"มาแล้ว มาแล้ว โครงการนำร่องให้ชาวไร่ชาวนาพึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง เป็นโครงการต้นแบบที่พี่น้องชาวนาจะได้รวมตัวกันในแต่ละหมู่บ้าน แต่ละตำบล ที่จะนำเอาผลผลิตของตนมาขาย มาพัฒนา เพิ่มมูลค่า สร้างผลกำไรได้ด้วยตนเอง มิต้องพึ่งพาพ่อค้าคนกลาง นายทุนโรงสี ต่อไปนี้ชาวไร่ชาวนาต้องตื่นจากภวังค์ ที่ให้ความหวัง ความไว้วางใจ แก่นักการเมือง นายทุน พ่อค้าคนกลางและข้าราชการ
"พวกเราไว้วางใจคนพวกนี้มาเป็นร้อยปีแล้ว แต่เราก็มิเคยได้ร่ำรวย มั่งคั่ง เป็นสุขขึ้นเลย มีแต่โง่ จน เจ็บ แล้วก็ต้องเฝ้ารอ พณฯ ท่าน คุณท่าน ท่าน นาย ได้โปรดเมตตา ช่วยกรุณาสงเคราะห์ชาวไร่ชาวนาตาดำๆ โปรดโยนเศษเงิน เยียวยาชีวิตอันต่ำต้อย ไร้ศักดิ์ศรีของพวกเราด้วยเถิดนายจ๋า
"พอที ไม่เอาอีกแล้วต่อไปนี้ พวกเราจะยืนด้วยลำแข้งของพวกเราเอง เราจะปลูกเอง ผลิตเอง แปรรูปเอง พัฒนาผลผลิตเอง และจำหน่ายเอง เราจะไม่หวังพึ่งใครอีกแล้ว เราจะพึ่งตนเองให้ได้มากเท่ามาก โดยเริ่มต้นจากโครงการนำร่อง โรงสีสภาชาวนาและเกษตรกรแห่งประเทศไทย ตามด้วยตลาดสินค้าทางการเกษตร จากผู้ผลิตถึงมือผู้บริโภคโดยตรง ผลกำไรจะได้ตกอยู่กับชาวไร่ชาวนา ไม่ต้องแบ่งปันให้พ่อค้าคนกลาง พวกเราจะได้ลืมตาอ้าปากได้เสียที ทำเดี๋ยวนี้ รวยเดี๋ยวนี้ ทำวันนี้หายจนทันที พวกเราจะได้ไม่มีที่ให้ใครๆ หลอกได้อีกต่อไป
"เชิญชวนพี่น้องชาวไร่ ชาวนา ใครมีข้าวมาขาย ก็มา มีผลหมากรากไม้ที่ขายได้ ก็มา มีกุ้ง หอย อีปู ปลา กะปิ น้ำปลา หอม กระเทียม พืชผลทางการเกษตรที่ขายได้ มีคุณภาพ ก็หอบมาขาย ขายได้ด้วยตนเองที่ตลาดกลางทางการเกษตรที่เวทีแจ้งวัฒนะ ทุกเสาร์ - อาทิตย์ เวลาบ่ายโมง ของวันเสาร์ และวันอาทิตย์ ที่ 29 - 30 มี.ค. 2557 มาช่วยกันอุดหนุน ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่ลำบากให้เขาได้มีรายได้ ซื้อขายด้วยตนเอง พวกเขาจะได้มีรายได้ยาไส้ใช้จ่าย ก่อนที่รัฐบาลจะจ่ายเงินจำนำข้าวให้แก่พวกเขา เขาจะได้ไม่เครียด มีเงินใช้จ่ายในครอบครัว ไม่ต้องคิดฆ่าตัวตาย
"ออกมาช่วยๆ เพื่อนมนุษย์ชาวไร่ชาวนา ให้พวกเขาได้ฝึกซื้อขายได้ด้วยตนเอง จะได้ไม่ต้องเป็นหนี้ มีเงินไปใช้หนี้ ช่วยให้เขามีรายได้ ออกมานะจ๊ะ ออกมาช่วยๆ กัน บ่ายวันเสาร์ - อาทิตย์ ที่ 29 - 30 มี.ค. 2557 นี้"
และโพสเฟสบุ๊คในวันก่อนหน้า "ข้าวจ้า ข้าว ข้าวร้อนๆ" เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2557 ที่เผยกลยุทธ์เทข้าวเปลือกขายให้กองสลาก โดยหวังจะขายข้าวสารในอนาคต ดังที่ว่า "ปลูกเอง สีเอง ขายเอง จากสองมือของชาวนา เพื่อปากท้องของครอบครัวชาวนา พึ่งพาภูมิปัญญาด้วยลำแข้งของตนเอง ไม่ต้องอาศัยโรงสี ไม่ต้องอาศัยพ่อค้าคนกลาง ไม่ต้องให้ใครมากำหนดราคา ไม่ต้องให้ใครมาเป็นเจ้าหน้าหนี้บุญคุณ ต่อไปนี้ชาวนา ชาวไร่ จะประกาศความเป็นไทย ไม่เอาอีกแล้วกับขบวนการประชานิยมสามานย์ ยิ่งคบยิ่งใกล้ ยิ่งโง่ ยิ่งจน ยิ่งเจ็บ ยิ่งทุกข์ และต้องตกเป็นทาส ของพวกแสวงหาอำนาจ
"ต่อไปนี้เวทีแจ้งวัฒนะ จะหาทางออกให้พี่น้องชาวนาและเกษตรกรไทย ให้มีทางออกและต้องเดินด้วยลำแข้งตนเอง ด้วยวิธีคิดที่ว่า อัตตาหิ อัตตโนนาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน และชาวนาต้องมีตัวตนที่แข็งแรง ไม่ใช่ต้องอาศัยผู้อื่นตลอดเวลา
"การที่ฉันนำข้าวเปลือกไปขายให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (กองสลากฯ) ก็ด้วยเพราะกองสลากฯ มีเงินที่ได้มาเปล่าๆ จากกระเป๋าของคนที่หาเช้ากินค่ำ แล้วกองสลากฯ ก็นำเงินส่วนหนึ่งไปบริจาคแจกจ่ายให้แก่มูลนิธิ องค์กรการกุศล และนักการเมืองที่ขอมา เงินก้อนนี้ กองสลากฯ ต้องโยนทิ้งน้ำอยู่แล้ว หากจะทิ้งก็ควรจะทิ้งอย่างมีประโยชน์ย้อนกลับมาสู่กองสลากฯ บ้าง
"วันนี้ชาวนากำลังเดือดร้อน ขายข้าวไม่ได้เงินจำนำตามโครงการของรัฐบาล รัฐบาลก็ไม่จ่ายเงินจนทำให้ชาวนาต้องฆ่าตัวตาย หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้แล้ว รัฐบาลก็ไม่คิดหาทางออกให้เป็นรูปธรรม ทั้งที่ถ้าคิดก็น่าจะมีวิธีหลากหลาย ฉันก็เลยต้องใช้มุกซ้อนมุก โดยการนำข้าวเปลือกไปขาย แต่เป้าหมายต้องการจะเจรจาขายข้าวสารถุง ที่ชาวนาผลิตเอง บรรจุใส่ถุงเอง และต้องการจะเป็นผู้ขายเอง ซึ่งก็จะทำให้ชาวนาได้เรียนรู้ทำความเข้าใจต่อขบวนการผลิต การตลาด รวมทั้งพึ่งพาอาศัยตนเองให้ได้ถึงที่สุด
"เมื่อเขาได้เงินมา เขาจะได้ภาคภูมิใจว่านี้คือเงินจากความรู้ความสามารถของเขา และคุ้มค่าเหนื่อยที่ลงแรงไป อีกทั้งกองสลากฯ ก็ยังได้ช่วยเพื่อนมนุษย์ และมีเงินหมุนกลับคืนมาด้วยการขายข้าวสารที่ซื้อมาให้แก่พนักงานและหน่วยงานที่สังกัด ฉันจึงมั่นใจว่า หลักคิดของสภาชาวนาและเกษตรกรแห่งประเทศไทย ทำได้จริง เห็นผล จริง จับต้องได้
"ชั่วชีวิตฉันคิดอยู่เสมอว่า ขอสองขาเรายืนและเดินได้ สองมือทำได้ทุกเรื่อง หนึ่งตัวตั้งมั่นอย่างแข็งแรง หนึ่งหัวคิดออกได้ทุกเรื่อง หนึ่งใจมั่นคงมีชัยชนะแก่ตัวเอง ฉันเชื่อว่า ไม่มีอะไรที่ฉันทำไม่ได้ คิดไม่ออก นี่คือหลักคิดในการก่อร่างสร้างสภาชาวนาและเกษตรกรแห่งประเทศไทย ซึ่งฉันสู้เพื่อสิ่งนี้ สู้เพื่อปลดเปลื้องความทุกข์ยากเดือดร้อนของพี่น้องชาวนาและเกษตรกรไทย สู้เพื่อให้คนไทยได้ใช้พลังงานราคาถูก สู้เพื่อคนไทยทุกเพศทุกวัย ทุกศาสนา ได้มีมาตรฐานทางศีลธรรม คุณธรรม ให้เป็นที่ยอมรับได้ แล้วนำพาชาติบ้านเมืองให้พ้นภัย อยู่ร่วมกันได้อย่างสุขสงบ พบแสงสว่าง นี้คือความฝันอันสูงสุด”
หากย้อนกลับไปดูแผนแม่บทสภาชาวนาและเกษตรกรแห่งประเทศไทยนั้น จะเห็นว่ามีแนวทางที่ชัดเจนในเรื่องการพึ่งพาตัวเองให้ได้ของชาวนา โดยตามแผนฯจะมีการจัดการพัฒนาผลผลิตของชาวนาและเกษตรกร ให้แพร่หลายและขายได้ด้วยตัวของสภาชาวนาและเกษตรกรเอง และกำหนดคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร ให้ตรงกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค
ขณะเดียวกัน ก็จัดให้มีการอบรมความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการ การตลาด การผลิต การต่อยอดผลผลิตของเกษตรกรไทย สภาชาวนาและเกษตรกรแห่งประเทศไทย จะต้องเป็นผู้รวบรวมและเป็นผู้ขายผลผลิตทุกชนิดด้วยตนเอง โดยไม่ต้องใช้บริการของพ่อค้าคนกลาง
การกำหนดคุณภาพของผลผลิตให้ตรงกับคุณภาพความต้องการของตลาดและผู้บริโภค เหตุที่ต้องทำเช่นนั้นเพราะปัจจุบัน ข้าวของไทยไม่สามารถขายได้เพราะเป็นข้าวนาปรัง หุงก็แข็งไม่ขึ้นหม้อ ต้มข้าวต้มกินก็ไม่อร่อย ไม่เหมือนข้าวนาปี หอมมะลิ ซึ่งเป็นข้าวชั้นหนึ่งของโลก เพราะทุกคนอยากได้เงินจำนำข้าวจึงเร่งผลิต เพื่อให้ได้เงินมากๆ สุดท้ายเงินก็ไม่ได้ ข้าวก็ไม่ได้ขายไม่มีใครซื้อ เป็นวงจรอุบาทว์ ชาวนาจนตรอก จากที่เคยขายเป็นอันดับหนึ่งก็เป็นอันดับแปด เป็นความล่มสลายของอาชีพชาวนา โดยนักการเมืองที่หวังแต่คะแนนนิยม โดยไม่สนใจว่าคนจะอยู่ได้หรือไม่ได้
ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมาเราทำตามความต้องการของตัวเงิน โดยไม่สนใจผู้บริโภคจึงขายไม่ได้ เมื่อมีสภาชาวนาต้องมีการวิจัยตลาด ผู้บริโภค วิธีการเพาะปลูกเพื่อให้ขายได้ราคา ตัวอย่างเช่น ข้าวสังข์หยด ราคาโลละ 150 บาท ข้าวนาปรังขายได้โลละ 6 บาท อย่างนี้ทำต่อไปไม่ได้แล้ว ข้าวหอมนิล ขายพันธุ์ข้าวโลละ 200 บาท ขายจมูกข้าวโลละ 1,000 บาท
ส่วนเรื่องการตลาด จะจัดให้มียุ้งฉางและลานตากผลผลิตให้ เกษตรกรในแต่ละตำบล เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต ขายให้สภาเก็บเอาไว้ในยุ้งฉาง เมื่อราคาตลาดสูงจึงขายออกไป มีส่วนต่างที่ได้กำไรจากต้นทุนที่รับซื้อไว้ก็คืนให้ชาวนา รวมทั้งจัดให้มีการอบรมความรู้การพัฒนาตลาด ให้แก่เกษตรกร เช่น การปลูกข้าวหอมนิล จมูกข้าวมีราคาสูงมาก กิโลละเป็นพัน ถ้ามีความรู้ในเรื่องนี้ เราก็จะมีกระบวนการพัฒนาเรียนรู้ศึกษา ให้มีการอบรมการผลิต การตลาด การเงิน บัญชี แก่เกษตรกรอย่างครบถ้วน เราจะมีนายธนาคารที่มาจากลูกหลานชาวนา
นั่นเป็นเป้าหมายที่หลวงปู่ฯ พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะปลุกให้ชาวนาลุกขึ้นมาพึ่งพาตัวเองให้ได้ ไม่ใช่เป็น "สมาร์ทชาวนา" ที่มีบัตรเครดิตพร้อมกับหนี้สินรุงรังจนต้องคิดสั้นฆ่าตัวตายเพราะหาทางออกไม่ได้
แต่ทว่าขณะที่หลวงปู่ฯ กำลังหาทางช่วยชาวนาอย่างสุดกำลัง ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำประเทศอย่างนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ที่ดันทุรังสร้างปัญหานี้มากับมือ กลับไม่คิดอะไรมากกว่าไปกว่าเอาตัวรอด ทำแม้กระทั่งการส่งทนายไปยื่นคำร้องให้เปลี่ยนตัวนายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. ที่สอบคดีนายกรัฐมนตรีพัวพันโครงการทุจริตจำนำข้าว โดยอ้างเหตุผลข้างๆ คูๆ ว่า นายวิชาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในลักษณะเย้ยหยัน มีอคติเอนเอียง ดีแต่ที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.ไม่บ้าจี้ตาม จึงมีความเห็นว่า เหตุผลฟังไม่ขึ้น จึงไม่เป็นเหตุให้ต้องเปลี่ยนตัวนายวิชา ตามที่มีคำร้องจากทีมทนายความของนางสาวยิ่งลักษณ์
นอกจากนั้น ยังมีกระแสข่าวว่า รัฐบาลได้ใช้วิชามารยืดการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวในฤดูกาลผลิต 2555/2556 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด เพราะเกรงจะโชว์ตัวเลขการขาดทุนจะมากกว่าฤดูกาลผลิตในปี 2554/2555 โดยอาจสูงถึง 400,000 - 500,000 ล้านบาท ตามที่มีนักวิชาการหลายสำนักประเมินไว้ล่วงหน้า เพราะรัฐบาลได้เร่งระบายข้าวจำนวนมากในราคาถูกเพื่อนำเงินไปจ่ายหนี้ให้ชาวนาที่ยังค้างอยู่กว่าแสนล้านบาท โดยราคาข้าวสารที่รัฐบาลระบายจากสต็อกตกประมาณตันละ 8,000 - 9,000บาท ขณะที่ต้นทุนราคาข้าวสารที่ตกตันละ 24,000 ล้านบาท จากราคาจำนำข้าวเปลือกตันละ 15,000 บาท รวมค่าบริหารจัดการและดอกเบี้ยเงินกู้
นี่ยังไม่นับว่า อาจจะมีข้าวสารหายไปจากสต็อกอีกจำนวนมาก เช่น เมื่อครั้งที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีจำนำข้าว สมัยที่นางสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2555 ที่พบว่ามีข้าวสารหายไปถึง 1 ล้านตัน
เอาเฉพาะตัวเลขการขาดทุนตามที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ระบุในหนังสือที่แจ้งไปยังนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2557 ที่ผ่านมาก็อ่วมแล้ว เพราะ สตง. ระบุชัดว่า การดำเนินโครงการจำนำข้าวมีผลขาดทุนจำนวนสูงมาก จากการรายงานผลการปิดบัญชีโครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตรของรัฐบาล โดยคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเลือกตามนโยบายรัฐบาล พิจารณาจากผลการดำเนินงานโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2555 และโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปี การผลิต 2555/56 (ครั้งที่ 1) พบว่า สิ้นสุด วันที่ 31 พฤษภาคม 2556 มีผลขาดทุนจำนวน 332,372.32 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสูงกว่ายอดการปิดบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 มกราคม 2556 (ซึ่งมีผลขาดทุนจำนวน 220,968.78 ล้านบาท) จำนวนมากถึง 111,403.54 ล้านบาท ชี้ให้เห็นแนวโน้มผลการขาดทุนสูงขึ้น
ส่วนความเคลื่อนไหวของชาวนาที่รอคอยความหวังว่าจะได้เงินจากการจำนำข้าว ก็คอยแล้วคอยเล่า เฝ้าคอยไม่ไหวเพราะหนี้สินไล่หลัง ชิงฆ่าตัวตายหนีปัญหาก็ยังเกิดขึ้น โดยล่าสุด ชาวนาในพื้นที่อำเภอปากท่อ จ.ราชบุรี เครียดตาย เพราะเป็นหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) และหนี้นอกระบบ รวมแล้วเกือบล้านบาท ขณะที่ค่าจำนำข้าว 5 แสนบาท ยังไม่ได้รับจากรัฐบาล
นางวเรศว์ ห่างไกลพุ่ม อายุ 43 ปี อาชีพเกษตรทำนา คู่ชีวิตของนายสำราญ ห่างไกลพุ่ม อายุ 49 ปี สามีนางวเรศว์ ที่เกิดอาการเครียดจนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา เล่าว่า ครอบครัวของมีลูก 3 คน ที่บ้านทำนาจำนวน 45 ไร่และได้เกี่ยวข้าวไปแล้วเมื่อเดือนธ.ค. 2556 โดยมีลำดับใบประทวนเลขที่ 121 และได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าวมาแล้วในใบประทวนใบแรกจำนวน 90,000 บาท ยังไม่ได้รับจากรัฐบาลอีก 5 แสนบาท ทำให้ต้องไปทำเรื่องขอกู้เงินที่ ธ.ก.ส. ทั้งรอบเก่าและรอบใหม่รวมเป็น 2 แสนบาท เพื่อนำมาลงทุนซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวและซื้อน้ำมันเพื่อหว่านข้าวนารอบใหม่ได้ประมาณ 20 กว่าไร่
"ทุกวันนี้ ฉันมีทั้งหนี้ในระบบของ ธ.ก.ส.ประมาณ 2 แสนบาท และหนี้นอกระบบอีกประมาณ 5 แสนบาท เสียดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี และยังได้ไปกู้ยืมเงินส่วนอื่นมาอีกกว่าแสนบาทเพื่อมาต่อเติมบ้านที่อยู่ ส่วนการเสียชีวิตของสามีนั้น เข้าใจว่าน่าจะเกิดจากความเครียด” คู่ชีวิตนายสำราญ บอกเล่า
จะต้องมีชาวนาอีกกี่รายต้องมาตายสังเวยโครงการรับจำนำข้าวและประชานิยมระทมทุกข์ ถึงเวลาที่ชาวนาต้องตื่นจากภวังค์ ลุกขึ้นมาพึ่งพาตัวเองให้ได้ดังที่หลวงปู่พุทธอิสระทำให้เห็นเป็นรูปธรรมนำร่อง ซึ่งนอกจากจะเปรียบเสมือนกับตบหน้ารัฐบาลฉาดใหญ่แล้ว ยังส่งสัญญาณไปถึงกำนันเทพด้วยว่า อย่าเอาแต่เดิน และอย่าเอาแต่พูด จงลงมือปฏิบัติให้เห็น แล้วกำนันจะสะกดคำว่า ปฏิรูปประเทศไทยสำเร็จแล้ว ได้สักที