ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ความน่าสนใจของ “วุฒิสมาชิก” ในห้วงเวลานี้มีอยู่ 2 ประเด็นด้วยกัน
ประเด็นแรกคือการรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ที่กำลังเปิดรับสมัคร และกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 30 มีนาคม 2557 ซึ่งเป็นที่แน่ชัดแล้วว่ามีแนวโน้มจะกลายเป็นสภาผัว-เมีย แถมผู้สมัครหลายรายยังมีความเชื่อมโยงกับระบอบทักษิณ
ประเด็นที่สองคือข้อถกเถียงเรื่องอำนาจรักษาการของประธานวุฒิสภาว่าจะหมดสิ้นลงเหมือนกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรหรือไม่ เนื่องจากไม่สามารถเปิดประชุมสภาได้ภายใน 30 วัน
สำหรับกรณีอำนาจรักษาการของประธานวุฒิสภานั้น ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ความพยายามปิดช่องทางที่จะให้มี “นายกรัฐมนตรีคนกลาง” ตามมาตรา 7 ซึ่งฝ่ายรัฐบาลยื้อสุดลิ่มทิ่มประตูพร้อมสั่งการให้นายนิคม ไวยรัชพานิช ส.ว.ฉะเชิงเทรา กอดเก้าอี้ประธานวุฒิสภาเอาไว้อย่างสุดความสามารถ พร้อมประกาศชัดเจนว่า ต้องอยู่รักษาการประธานวุฒิสภาแบบนี้ไปจนกว่าจะมีส.ว.ชุดใหม่เข้ามา
ขณะที่ส.ว.ส่วนหนึ่งเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้นายนิคมลาออกจากตำแหน่ง หลังจากดำรงตำแหน่งส.ว.ครบ 6 ปี เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 57ที่ผ่านมา เพื่อรักษาระเบียบปฏิบัติอันดีงามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 124 วรรคสี่(1) ที่ระบุเอาไว้ว่า ให้ส.ว.พ้นจากตำแหน่งประธานหรือรองประธานวุฒิสภาก่อนวาระ เมื่อสิ้นสภาพในสภาที่ตนเป็นสมาชิก
ทั้งนี้ นายอนุรักษ์ นิยมเวช ส.ว.สรรหาในฐานะประธานกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา อธิบายเหตุผลเอาไว้ว่า นายนิคมต้องออกจากตำแหน่งประธานวุฒิสภาทันทีหลังดำรงตำแหน่งครบวาระ เมื่อวันที่ 2 มี.ค. ที่ผ่านมา ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 124 วรรคสี่ (1) กำหนดไว้ โดยไม่สามารถละเว้น หรือนำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 124 เฉพาะวรรคสอง ที่ว่าด้วยประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรดำรงตำแหน่งจนสิ้นอายุของสภาหรือมีการยุบสภา หรือวรรคสามที่ว่าด้วยประธานและรองประธานวุฒิสภาดำรงตำแหน่งจนถึงวันก่อนวันเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภาใหม่ มาพิจารณาเพื่อรับรองการคงอยู่ในตำแหน่งได้
ขณะที่นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ในกลุ่ม 40 ส.ว. ได้ให้ความเห็นต่อประเด็นเรื่องนี้ว่า การดำรงตำแหน่งของประธานวุฒิสภาของนายนิคมมีปัญหาข้อกฎหมายที่มีความขัดแย้งและควรนำส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตีความว่า เมื่อส.ว.ดำรงตำแหน่งจนครบวาระแล้ว แต่รัฐธรรมนูญถือว่ายังสามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะรักษาการต่อไปได้ จะถือว่าการครบวาระดังกล่าวเป็นการสิ้นสภาพส.ว.ที่เป็นผลให้ต้องพ้นจากตำแหน่งประธานวุฒิสภาหรือไม่ แต่หากจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญจริงอาจใช้เวลานาน ดังนั้นเพื่อระงับปัญหาความก้ำกึ่งของความชัดเจน เรื่องกฎหมายผู้ที่เกี่ยวข้องควรจะลาออกจากตำแหน่งประธานวุฒิสภาจะดีที่สุด”
ด้านนายนิคมก็ได้ดิ้นทุรนทุทุรายออกมาโต้ตอบทันที ทั้งนั่งยัน นอนยันและยืนยันว่า ตนเองนั้นยังคงอยู่ในตำแหน่งดังกล่าวได้ ไม่สนใจข้อครหาใดๆทั้งสิ้น
“รัฐธรรมนูญมาตรา 124 บัญญัติให้ส.ว.ที่ครบวาระดำรงตำแหน่งสามารถอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้ จนกว่าจะมีส.ว.ชุดใหม่ ดังนั้นในเมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดเจนเช่นนี้ จะตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากตนเองจะต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ประธานวุฒิสภาต่อไปจนกว่าที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองส.ว.ชุดใหม่ จำนวน 95% และจนกว่าจะมีการเลือกประธานวุฒิสภาคนใหม่ เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไม่ต้องการให้เกิดสุญญากาศของประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติ”
“กรณีนี้ก็เหมือนกับการอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อไปของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่แม้จะไม่ได้เป็นส.ส.แล้ว ด้วยผลจากการยุบสภา แต่รัฐธรรมนูญก็ยังให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งเช่นเดียวกันกับการอยู่ในตำแหน่งประธานวุฒิสภา ของนายประสพสุข บุญเดช ในระหว่างที่มีการสรรหา ส.ว. ชุดใหม่ เมื่อปี 2554 ที่นายประสพสุขแม้จะพ้นจากตำแหน่งส.ว.สรรหาแล้ว แต่ยังคงปฏิบัติหน้าที่ประธานวุฒิสภาต่อไปจนถึงวันเลือกประธานวุฒิสภาคนใหม่” นายนิคมให้สัมภาษณ์ถึงกรณีถูกยื่นถอดถอน
เรียกว่า นายนิคมก็สู้ฟัดไม่แพ้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรที่ไม่ยอมปล่อยเก้าอี้ง่ายๆ
ส่วนเรื่องราวการรับสมัครเลือกตั้งส.ว.ก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะเปิดหน้าให้เห็นกันบ้างแล้วว่ามีคนสายตรงพรรคเพื่อไทยลงสมัครครั้งนี้ไม่น้อยโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน
กล่าวได้ว่า มีแต่ภาคเหนือกับภาคอีสานที่คึกคักเป็นพิเศษ ยกเว้นในกรุงเทพฯมีคนมาลงสมัครรับเลือกตั้งค่อนข้างน้อย บรรยากาศก็เงียบเหงา ดูไม่คึกคักเท่าไหร่นัก โดยในวันแรกที่กรุงเทพฯ มีผู้เดินทางมารับสมัคร 5 คน แต่มี 2 คนที่ติดขัดเรื่องเอกสาร เลยทำให้นายวีระ ยี่แพร ผู้อำนวยการเลือกตั้งกรุงเทพฯ จับสลากลำดับให้ว่าที่ผู้สมัครจับหมายเลข ซึ่งพล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ อดีตผู้บังคับกองปราบปราม(ผบก.ป.) จับสลากได้หมายเลข 1 ขณะที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้หมายเลข 2 และนางลีน่า จังจรรยา ได้หมายเลข 3
ในส่วนผู้สมัคร จ.เชียงใหม่ มีผู้สมัครรวม 11 คน โดยผู้สมัครที่ถูกจับตามองก็คือ หมายเลข 3 นายอดิศร กำเนิดศิริ อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเจ๊ซาลาเปา นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย และหมายเลข 6 นายถาวร เกียรติไชยากร อดีต ส.ว. เชียงใหม่ เป็นน้องชายนายสุรพล เกียรติไชยากร อดีต ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ที่มีความใกล้ชิดกับ พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย อดีต ส.ว.เชียงใหม่ และนายอุดรพันธ์ จันทรวิโรจน์ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ 2 สมัย และมีกระแสข่าววงในมาว่า นายอุดม สุวิทย์ศักดานนท์ อดีตส.ว.เชียงใหม่ ผู้บริหารบริษัท นิ่มซีเส็ง จำกัด ให้การสนับสนุนในครั้งนี้ด้วย
ไปกันที่ภาคอีสานถิ่นฐานของคนเสื้อแดงจังหวัดอุดรธานีกันบ้าง งานนี้มีผู้มาสมัคร 4 คน หมายเลข 1 เมียขวัญไชย สาราคำหรือไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร ทาสในเรือนเบี้ยตระกูลชินวัตร ในขณะที่หมายเลข 2 นางอมรรัตน์ ชัยนาม ประธานกลุ่มสตรีอำเภอหนองวัวซอ ส่วนหมายเลข 3 นายสมคิด หอมเนตร นักวิชาการอิสระ และหมายเลข 4 นายวัลลภ จันดาเบ้า อดีตข้าราชการบำนาญ สำนักงานเกษตร จังหวัดอุดรธานี
และอีกคนที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือผู้สมัครที่จังหวัดอุบลราชธานี หมายเลข 4 นางณัฐณิชาช์ เพิ่มทองอินทร์ อดีตนายกเทศมนตรีตำบลคำขวาง และเป็นภรรยาของ พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม
ในส่วนจังหวัดนครราชสีมา มีผู้มายื่นหลักฐานสมัครแค่ 2 คน คือหมายเลข 1 นายพงษ์ศิริ กุสุมภ์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด และรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีความใกล้ชิดกับนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา และหมายเลข 2 นายปรีชา กำพุฒกลาง อดีตรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา นครราชสีมา เขต 1
ต่อมา ผู้สมัครจังหวัดร้อยเอ็ดที่สังกัดกลุ่มคนเสื้อแดง มีนางจีรภา ซึ่งเป็นภรรยานายจาตุรงค์ ธีระกนก อดีตส.ว.ร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นบุคคลที่เคลื่อนไหวในกลุ่มคนเสื้อแดง ได้ส่งภรรยาลงสมัครแทนในครั้งนี้ และหมายเลข 4 นายสมเกียรติ ฟื้นแสน ซึ่งเป็นน้องชาย พล.ต.ต.วิรุฬ ฟื้นแสน อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย คนสนิทของนายนิสิต สินธุไพร ผู้อำนวยการโรงเรียนนปช. แดงทั้งแผ่นดินร้อยเอ็ด
แน่นอน คงต้องติดตามกันต่อไปว่า กรณีประธานวุฒิสภาจะจบลงอย่างไร เช่นเดียวกับการเปิดตัวผู้สมัคร ซึ่งสังคมกำลังเฝ้าจับตาว่า จะยังคงเป็นสภาข้าทาสและสภาผัวเมียเหมือนเช่นที่ผ่านมาหรือไม่