xs
xsm
sm
md
lg

วุฒิฯโหวตพลิกกลับมาตรา6 เงินกู้2ล้านล.ไม่ต้องนำส่งคลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การประชุมวุฒิสภา วานนี้(19 พ.ย.) เริ่มเวลา 10.00 น. มีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยเป็นการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ในวาระ 2 ต่อเป็นวันที่สอง ซึ่งเริ่มที่การพิจารณา มาตรา 4 ที่ระบุว่า ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ โดยการอภิปรายของ ส.ว.ส่วนใหญ่ เสนอให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการ ตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ เช่น พลอากาศตรีเฉลิมชัย เครืองาม ส.ว.สรรหา กล่าวว่า เนื่องจาก ร่าง พ.ร.บ.นี้ มีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง โดยมีทั้งกระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม ซึ่งเห็นว่าควรให้รมว.คมนาคม และนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รักษาการด้วย
ด้านพลเรือเอกสุรศักดิ์ ศรีอรุณ ส.ว.สรรหา เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีวงเงินที่สูง และมีรายละเอียดมาก ซึ่งอาจเป็นช่องทางก่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน อีกทั้งการเปิดให้บริษัทเอกชนเข้าร่วมทุนจำนวนมาก อาจส่งผลให้มีการทำขัดต่อกฏหมายได้ จึงเห็นควรให้นายกรัฐมนตรี ผู้มีอำนาจสูงสุดเป็นผู้รักษาการ ตามพ.ร.บ.ดังกล่าว ร่วมกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่นายธวัช บวรวนิชยกูร ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า ตั้งแต่เริ่มดำเนินการโครงการรวมถึงรายละเอียดการปฏิบัติงาน นายกรัฐมนตรี รวมถึงคณะรัฐมนตรี ได้รับทราบถึงรายละเอียด และกำหนดให้รมว.คลังเป็นผู้รักษาการ จึงไม่ต้องกังวล เพราะการดำเนินการทุกอย่างนายกรัฐมนตรี และที่ประชุมครม.รับทราบแล้ว
จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติ โดยมีมติเห็นชอบตามกรรมาธิการ ให้รมว.คลัง เป็นผู้รักษาการ ด้วยคะแนน 62 ต่อ 42 และงดออกเสียง 2 เสียง และพิจารณาต่อ มาตรา 5 ซึ่งเป็นบทบัญญัตติที่กำหนดให้กระทรวงการคลังมีอำนาจกู้เงินบาท หรือเงินตราต่างประเทศในนามรัฐบาลไทย เพื่อนำไปใช้จ่ายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ซึ่งการกู้เงินจะต้องไม่เกิน 2 ล้านล้านบาท และให้กระทำได้ภายในกำหนดเวลา ไม่เกินวันที่ 31ธ.ค.2563

**ผ่านมาตรา 5ให้อำนาจคลังกู้ 7 ปี

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การกำหนดให้กู้เงินสิ้นสุดในปี 2563 หรืออีกประมาณ 6-7 ปี ต่อจากนี้ จะทำให้เกิดการตึงตัวมากเกินไป เนื่องจากโครงการก่อสร้างตาม ร่าง พ.ร.บ.นี้ส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่ต้องผ่านศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 57 และ 67 ซึ่งจำเป็นใช้เวลาค่อนข้างมาก
ดังนั้น ถ้าเกิดโครงการหลายโครงการไม่ผ่านขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญ และมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เวลาอีกพอสมควร เพื่อไปดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ อาจจะมีผลให้ไม่สามารถเบิกเงินกู้ได้ทันตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงคิดว่าควรมีการขยายเวลาออกไป
นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ขอเสนอให้การกู้เงินจะต้องไม่เป็นการทำให้ไทยสละสิทธิในอำนาจอธิปไตยทั้งทางตรง และทางอ้อม เนื่องจากการให้น้ำหนักกับการกู้เงินเป็นสกุลเงินต่างประเทศ จะทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงจากความผันผวนในอัตราแลกเปลี่ยนได้ จึงมีความเป็นห่วงว่าถ้าในอนาคตเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นมา ความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศไทยมีปัญหา
" ปัจจุบันเราไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤต แต่กฎหมายฉบับนี้กำลังพาเราเข้าสู่ภาวะวิกฤต ในอดีตเราไปเคยกู้เงินกับต่างประเทศ และถูกบีบให้ต้องแก้กฎหมายภายในประเทศจำนวนมาก ประเทศกำลังอยู่ดีๆ อยู่แล้วแต่กฎหมายฉบับนี้กำลังพาพวกเราลงเหว แต่ก่อนจะพาพวกผมลงเหว ช่วยเอาลูกหลานผมไว้หน่อยด้วยการเพิ่มข้อความที่ผมเสนอเข้าไป เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า อย่าขายทั้งประเทศ อย่าจำนำอธิปไตยของไทย" นายเดชอุดม กล่าว
ทั้งนี้หลังการอภิปรายและมีการชี้แจงจาก น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ในฐานะกรรมาธิการ ที่ยืนยันว่า การกู้ครั้งนี้มีความรัดกุม ไม่ใช่ตีเช็คเปล่า ในที่สุด ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเสียงข้างมาก 63 ต่อ 39 เสียง เห็นชอบกับ มาตรา 5

ส่วนการพิจารณาใน มาตรา 6 ว่าด้วยการกำหนดให้เงินที่ได้จากการกู้ให้นำไปจ่ายตามวัตถุประสงค์โดยต้องนำส่งคลังตามกฎหมาย ว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง ซึ่งเป็นประเด็นที่คณะกรรมาธิการวิสามัญเสียงข้างมากได้ทำการแก้ไข เนื่องจาก ร่าง พ.ร.บ.ที่สภาผู้แทนราษฎรส่งมาให้วุฒิสภา ไม่ได้กำหนดให้เงินกู้ต้องเป็นเงินที่ต้องนำส่งคลังตามกฎหมาย
ทั้งนี้การอภิปรายในมาตรา 6 นี้ ส่วนใหญ่ เป็น ส.ว.เลือกตั้ง นำโดย นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ส.ว.ราชบุรี และ น.ส.จารุวรรณ เฮงตระกูล ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กมธ. ต่างเห็นควรให้กลับมาใช่ร่างของสภาฯ ที่เห็นชอบคือ “การกู้เงินไม่ต้องนำส่งคลัง”ตามกฎหมาย ว่าด้วยกฎหมายวิธีงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยการเงินการคลัง เพราะเห็นว่าเป็นโครงการระยะยาว ที่ไม่สามารถก่องบผูกพันได้ ที่ให้ระยะเวลา เพียง 3 ปีเท่านั้น และจะทำให้โครงการเร่งด่วน อาทิ ซ่อมแซมถนน ต้องหยุดชะงักไป
นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ส.ว.ราชบุรี ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ อภิปรายว่า เสียงข้างมากของคณะกรรมาธิการที่แก้ไขมาตรานี้ ให้เป็นเงินที่ต้องนำส่งเข้าคลัง มีเพียง 6 เสียงเท่านั้น โดยมีองค์ประชุมขณะนั้น 13 คน จากคณะกรรมาธิการทั้งหมด 25 คน
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวว่า หากวุฒิสภาลงมติกลับไปยืนตามร่างเดิมของสภาฯ อาจขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 ได้ ปัญหาของกฎหมายฉบับนี้คือ เรื่องความโปร่งใส อาจมีการใช้เงินไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ เพราะบางโครงการยังไม่ผ่านการศึกษาให้รอบคอบ โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง อย่างไรก็ตาม หากที่ประชุมผ่านร่างพ.ร.บ.นี้ และให้กลับไปใช้ร่างเดิม ก็จะยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อยับยั้งการนำขึ้นทูลเกล้าฯ
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามร่างฯเดิมของสภาฯ ด้วยคะแนน 68 ต่อ 44 งดออกเสียง 4
กำลังโหลดความคิดเห็น