xs
xsm
sm
md
lg

วุฒิฯ ถกนิรโทษกรรมเดือด ไล่ 2 ส.ว.ออกนอกห้อง - 40 ส.ว.แจงบอยคอตประชุมฉาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประชุมวุฒิสภาเดือด 2 ส.ว.ถูกไล่ออกจากห้อง หลัง “วิชาญ” ส.ว.สรรหา กล่าวหา กลุ่ม 40 ส.ว.ต้องการถ่วงเวลาการประชุมจนถึงช่วงศาลโลกจะตัดสินคดีพิพาทพระวิหาร จนเกิดการโต้เถียงกัน เรียกร้องให้ถอนคำพูดแต่นายวิชาญไม่ยอมถอน ขณะที่ “นพ.เฉลิมชัย” ส.ว.สรรหาจวกวุฒิสภาเป็นสภาทาส ทำให้ ปธ.วุฒิฯ ไล่ทั้งสองคนออกจากที่ประชุม ขณะ “คำนูณ” ส.ว.สรรหา และกลุ่ม 40 ส.ว.แจงเหตุที่ไม่เข้าประชุมเมื่อวันที่ 8 พ.ย.อัด “นิคม” ไม่ชอบธรรม มีเจตนามุ่งรับใช้รัฐบาล พร้อมเรียกร้องให้ รบ.ถ่ายทอดสดการประชุมผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย

การประชุมวุฒิสภา เริ่มขึ้นในเวลา 10.00 น. ที่มีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม แก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง ซึ่งวุฒิสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 ที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบในวาระ 3 โดยจะเป็นการพิจารณาในวาระ 1 ขั้นรับหลักการ ที่เลื่อนมาจากการประชุมวุฒิสภาเป็นพิเศษ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพราะเป็นกฎหมายสำคัญที่ประชาชนให้ความสนใจมาก

ทั้งนี้ ก่อนเข้าสู่วาระ ประธานอ่านรายชื่อ 44 องค์กรที่ยื่นหนังสือคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ ขณะเดียวกันมีสมาชิกจำนวนหนึ่งได้ขอเพิ่มเติมรายชื่อองค์ที่มีความประสงค์คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการหารือกลุ่ม 40 ส.ว.ได้พยายามขอใช้สิทธิ์พาดพิง หลังถูกวุฒิสภาโจมตีในเรื่องการไม่เข้าประชุมในวันที่ 8 พ.ย. ขณะที่ ส.ว.เลือกตั้งก็พยายามประท้วง เพราะเลยกำหนดระยะเวลาการชี้แจงไปแล้ว และหากอยากทำอะไรก็ไปอธิบายกับสื่อมวลชน พร้อมกล่าวหาว่ากลุ่ม 40 ส.ว.ทำอะไรสังคมเขารู้กันหมดแล้ว นอกจากนี้ ส.ว.สายเลือกตั้งยังต้องการพิจารณากฎหมายดังกล่าวให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อหาทางออกของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายก็ยังไม่ยอมยุติและประท้วงกันวุ่นวายเพิ่มมากขึ้น ทำให้นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ส.ว.สรรหา ได้เสนอญัตติให้กลับเข้าสู่ระเบียบวาระคือการพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรม พร้อมให้เหตุผลว่า ไม่ต้องการให้ถ่วงเวลาให้เกิน 18 .00 น. ทำให้นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ให้นายวิชาญถอนคำพูดว่าถ่วงเวลา ขณะที่กลุ่ม 40 ส.ว.คนอื่นก็ตะโกนกลับไปว่านักประชาธิปไตยต้องใจกว้าง เพราะที่ผ่านมาก็ด่าเขาไปแล้ว 10 กว่าชั่วโมง จากนั้นนายนิคมก็ขอร้องให้นายวิชาญถอนญัตติ และถอนคำพูดว่าถ่วงเวลา แต่นายวิชาญไม่ถอนและขอเดินออกจากห้องประชุม จึงทำให้ พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว.สรรหา ระบุว่าหากไม่ถอนเท่ากับให้สภาแห่งนี้เป็นสภาทาส ทำให้ ส.ว.สายเลือกตั้งประท้วงกลับบ้าง และให้ถอนคำพูดว่าสภาทาส จากนั้นนายนิคมพยายามไกล่เกลี่ยและขอให้ พล.อ.ต.เฉลิมชัยถอนคำพูด แต่ก็ไม่ยอมปฏิบัติตาม จนทำให้นายนิคมเชิญออกจากห้องประชุมไปเช่นกัน

นายนิคมพยายามตัดบทโดยไม่ให้มีการหารือและนำเข้าสู่ระเบียบวาระท่ามกลาง กลุ่ม 40 ส.ว.พยายามประท้วงอย่างไม่ลดละ ขณะที่นายนิคม ได้ขอร้องให้ผู้ที่ถูกพาดพิงไปแก้ข้อกล่าวหาในคิวการอภิปรายของแต่ละคน แต่สุดท้าย นายนิคมได้อนุญาตให้นายคำนูณใช้สิทธิ์พาดพิง รวมทั้งส.ว.สรรหาคนอื่นๆ

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ลุกขึ้นตำหนินายนิคมว่าที่ผ่านมาได้สร้างความอึดอัดให้ประชาชนมากน้อยแค่ไหน ต้องสกัดเอาออกมาและต้องเร่งทำปฏิญญาได้หรือไม่ว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก ไม่ว่าการรวบรัดใช้อำนาจบาตรใหญ่ รวบรัดประชุมสภา ใช้ช่องโหว่ของระบบรัฐสภากลายเป็นสิ่งสามานย์ ที่นึกว่าจะเอาร่างใดขึ้นมาก็ได้ รวมถึงการตัดสิทธิ์การสงวนคำแปรญัตติของสมาชิก สถานการณ์

ขณะนี้ ส.ว.พึงจะทำคือ สะท้อนความรู้สึกอึดอัดเดือดร้อนของประชาชนกลับไปให้รัฐบาลพิจารณาว่ามากกว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้แล้ว การยุติเพียงแค่ให้สลบแล้วไปค้างอยู่ในสภา รอวัดดวงว่าอีก 180 วันจะฟื้นคืนมาหรือไม่นั้นไม่เพียงพอ สิ่งที่พวกตนทำไปคือความถูกต้อง ต้องการให้บ้านเมืองสงบสุข โดยการช่วยกันแก้ไขปัญหาสมมติฐานนี้

“ความเป็นจริงที่ประธานยืนยันได้ว่า สิ่งที่พวกผมพูดกับประธานในห้อง 306 ประธานกรุณากล่าวขอโทษพวกผม และพวกผมได้ยกมือไหว้ กราบขอโทษ และเดินไปยกมือสัมผัสประธาน หากประธานยังจะเป็นประธานพวกผมและทุกๆคนที่ไม่ว่ามาจากส.ว.สรรหา หรือ ส.ว.เลือกตั้ง ท่านต้องกรุณาส่องกระจกดูตัวเอง ผมไม่บังอาจสอนผู้ใหญ่ แต่คำเล็กคำน้อยอดออมไว้ได้ ไม่ดีกว่าหรือ ต้องพูดทำไมว่าก็เพราะมีคนรายงานเข้ามาเยอะแบบนี้ถึงเรียกประชุม 8 พ.ย. ไม่จำเป็นต้องพูด ท่านรู้ดีว่าเรื่องมันเป็นอย่างไร เวลาที่เหลืออยู่ ผมเชื่อว่าสำนึกส่วนดีของท่านยังมีอยู่ อยากจะขอร้องช่วย มองสมาชิกไม่ว่าจะมาจากประเภทไหนได้อย่างเท่าเทียม หากวันที่ท่านลงมาแถลงข่าวจะยับยั้งร่างนิรโทษกรรม ถ้าเชิญพวกผมแบะทุกคนไปสำแดงพลังของวุฒิสภาสักครั้ง แถลงว่าเราจะไม่รับร่าง คิดว่าพวกผมใจไม้ไส้ระกำเพียงพอที่จะไม่ร่วมมือหรือ ดูหมิ่นน้ำใจพวกผมไปหรือไม่ เวลาที่เหลืออยู่ชีวิตคนเราสั้นนัก อยากให้ประธานกรุณาเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ ตนยินดีน้อมรับที่จะปรับปรุงตัว สำหรับสมาชิกที่อภิปรายในวันนั้นผมจะจดจำจนวันตาย เพื่อนำไปปรับปรุงตัวเอง ที่สอนสั่งแต่อยากให้ท่านเปิดหูอีกข้างรับฟังเหตุผลพวกตนไปใคร่ครวญใช้วิจารณญาณประกอบวุฒิภาวะ อย่าปิดหู ปิดใจที่จะรับฟังพวกผมเชื่อว่าเราเดินหน้าไปได้”

นายพิเชต สุนทรพิพิธ ส.ว.สรรหา กล่าวชี้แจงถึงการไม่เข้าร่วมประชุมเมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมาโดย ยืนยันว่าไม่ได้รับจ๊อบใครมาไม่ให้เข้าร่วมประชุม อีกทั้งที่ผ่านดำรงตำแหน่งต่างๆ มาเยอะ ไม่มีใครสั่งได้ แต่ที่ไม่เข้าเพราะได้รับเอกสารไม่ครบ และไม่มั่นใจว่าถ้าส.ว.คว่ำร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแล้วพ้นระยะเวลา 180 สภาผู้แทนราษฎรจะไม่มีการหยิบขึ้นมาพิจารณาอีก และผมไม่เชื่อว่าเมื่อวุฒิสภาคว่ำร่าง พ.ร.บ.นี้แล้วการชุมนุมต่อต้านที่มีอยู่จะยุติลง เพราะต้องเข้าใจว่า ม็อบที่ออกมาชุมนุมมี 2 กลุ่ม กลุ่มแรก เป็นม็อบของกลุ่มคนมีความรู้เป็นครูอาจารย์ ออกมาชุมนุมโดยเชื่อด้วยความบริสุทธิ์ใจว่า การออกร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ถูกต้อง ซึ่งการแสดงออกแม้จะกระทบภาพลักษณ์ของประเทศไปบ้าง แต่ก็ถือเป็นบทเรียนที่ดีให้กับรัฐบาล ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งเป็นม็อบการเมือง นำร่าง พ.ร.บ.มาอ้างเป็นตัวนำ ต่อให้วุฒิสภามีมติคว่ำร่างเขาก็ไม่เลิก

“แม้วุฒิสภาไม่ประชุมเมื่อวันที่ 8 พ.ย. สิ่งที่หลายคนเกรงว่าอาจจะมีความรุนแรงเกิดขึ้น มีเลือดตกยางออก แต่ช่วงวันหยุดที่ผ่านมาก็ไม่ปรากฏ รวมทั้งเรายังได้หลักประกันเป็นสัตยาบันของพรรคร่วมรัฐบาล 4 พรรคว่าหากวุฒิสภาคว่ำร่างกฎหมายนี้แล้วจะไม่นำกลับร่างกฎหมายนี้กลับมาพิจารณาอีก ถือว่าเราได้กำไร ไม่ขาดทุน วันนี้ตนจึงพร้อมแล้วที่จะโหวต โหวตไปในทางเดียวกับสมาชิกไม่รับร่างกฎหมายฉบับนี้”

ขณะที่นายมงคล ศรีคำแหง ส.ว.จันทบุรี มองว่าสิ่งที่ประชาชนต้องการทราบคือท่าทีของวุฒิสภาว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ ไม่ใช่การเปิดโอกาสให้ ส.ว.ที่ไม่เข้าร่วมประชุมใช้สิทธิ์พาดพิงเพื่อแก้ไขข้อกล่าวหา

จากนั้นนายนิคมได้เปิดโอกาสให้สมาชิกได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง จนเวลาล่วงไป 2 ชั่วโมงแล้วก็ยังไม่สามมรถเข้าสู่วาระการพิจารณาได้

จากนั้นจึงเข้าสู่การประชุม ทั้งนี้สมาชิกส่วนใหญ่ อาทิ นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ และนายตวง อันทะไชย ส.ว.แบบสรรหา เรียกร้องให้ประธานวุฒิสภาประสานกับทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย หรือ NBT เพื่อให้มีการถ่ายทอดสดการประชุม เนื่องจากเป็นกฎหมายสำคัญที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก















กำลังโหลดความคิดเห็น