ปธ.วุฒิฯ อ้างไร้อำนาจ หลัง 40 ส.ว.บี้ คืนร่างนิรโทษฯกลับสภา ชี้เป็น พ.ร.บ.การเงิน นายกฯไม่ลงนามก็พ้นสภา-บ่ายโมงเริ่มถกวาระ 1 วิปวุฒิฯโยน ปธ.ขี้ข้าเคลียร์ เหตุคิวอภิปรายยาว ส.ว.สุราษฎร์ ชี้ กม.ผิดแต่ต้น กรอบเวลาล้างผิดเข้าใจยาก “รสนา” แนะถอนร่างอย่านำ กม.แบบนี้เข้ามาอีก “สมชาย” บี้ รมว.ยธ.แจงข่าวสไนเปอร์เขมร เจ้าตัวโบ้ย “เทือก” กุเรื่อง “สุรศักดิ์” ไล่ ส.ว.หนุนล้างผิดลาออก เหตุทำชาติป่วน “วิชาญ” โต้ใส่ร้าย ยันบริสุทธิ์ใจ
วันนี้ (11 พ.ย.) การประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ....ในวาระที่ 1 ยังอยู่ในระหว่างการชี้แจงของกลุ่ม 40 ส.ว.ถึงสาเหตุที่ไม่เข้าร่วมประชุมเมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา พร้อมกับเรียกร้องให้ประธานวุฒิสภาส่งร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคืนให้สภา โดยให้ทำความเห็นไปว่ากฎหมายดังกล่าวมีลักษณะเป็นร่าง พ.ร.บ.ทางการเงินตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สภาส่งคืนไปยังนายกรัฐมนตรี และเมื่อนายกฯไม่ลงนามรับรองก็เท่ากับว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะพ้นไปจากสภา
ขณะที่ นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ชี้แจงว่า วุฒิสภาไม่มีอำนาจในการพิจารณาว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับใดเป็นร่าง พ.ร.บ.การเงิน เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 143 กำหนดให้เป็นอำนาจของประธานสภาผู้แทนราษฎรที่จะเรียกประชุมประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาทั้ง 35 คน เพื่อขอความเห็นร่วม ซึ่งตอนนี้ผ่านพ้นขั้นตอนนั้นมาแล้วและเมื่อกฎหมายเข้ามาสู่วุฒิสภา แล้ววุฒิสภาจะมีหน้าที่เพียงอย่างเดียว คือ การพิจารณากฎหมายตามขั้นตอน 3 วาระ เท่านั้น
ภายหลังจากใช้เวลานานกว่า 3 ชั่วโมงต่อมาในเวลา 13.00 น.นายนิคม ได้เข้าสู่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในวาระที่ 1 โดยเริ่มจากการอ่านหลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ.
ทั้งนี้ นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ส.ว.ชลบุรี ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ที่ประชุมวิปวุฒิสภามีมติเห็นชอบร่วมกันแล้วว่าการพิจารณาในวาระที่ 1 จะต้องให้เสร็จสิ้นภายในวันนี้ไม่เกิน 22.00 น.แต่ปรากฏว่ามี ส.ว.ขอใช้สิทธิ์อภิปรายถึง 91 คน ทำให้ ส.ว.ไม่สามารถอภิปรายได้คนละ 10 นาที ตามที่ได้ตกลงกันไว้ จึงขอให้ประธานวุฒิสภาวินิจฉัยด้วยว่าจะดำเนินการประชุมอย่างไร
พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ ส.ว.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมถือเป็นการตรากฎหมายที่ผิดมาตั้งแต่ต้น นอกจากนั้นแล้วในชั้นกรรมาธิการ ที่มีการแก้ไขรายละเอียดโดยเฉพาะมาตรา 3 ว่าด้วยการกระทำที่เข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรม และขยายเวลาให้ครอบคลุม ตั้งแต่ปี 2547-2556 ทำให้เข้าใจยาก และจะมีปัญหาต่อการทำงานในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งคนที่รักษากฎหมายหรือในกระบวนการยุติธรรมที่พยายามรักษากฎหมายหาตัวคนทำผิดกฎหมายมาลงโทษ แต่เมื่อมีการออกกฎหมายที่มีลักษณะกลับไปกลับมาอาจทำให้เกิดปัญหา
น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.กล่าวว่าการยับยั้งร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ด้วยการลงมติคว่ำร่างของ ส.ว.ไม่ใช่เป็นการแช่แข็งกฎหมายอีก 180 วัน แต่เป็นเสมือนแนวทางที่ให้สภาออกใบมรณบัตร ฌาปนกิจร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ด้วยการพิจารณาถอนออกจากระเบียบวาระการประชุม หากไม่ทำเชื่อว่าจะไม่สามารถแก้วิกฤตของประชาชนได้ แม้หัวหน้าพรรคการเมือง 4 พรรคจะร่วมลงสัตยาบัน แต่ไม่มีผลผูกพันต่อการใช้เอกสิทธิ์ของ ส.ส.ในสภาได้ ดังนั้นสิ่งที่ลดกระแสความขัดแย้ง คือต้องไม่นำร่างกฎหมายประเภทเดียวกัน ทั้งในรูปแบบของ พ.ร.ก., พระราชกฤษฎีกา เข้ามาสู่สภา ไม่เช่นนั้นการชุมนุมของประชาชนจะไม่ยุติ แม้ ส.ว.จะลงมติคว่ำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแล้ว
นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่าตนได้รับข้อความข่าวระบุว่าขณะนี้มีสไนเปอร์ชาวกัมพูชา เข้ามาในประเทศ ตนขอให้ นายชัยเกษม นิติศิริ รมว.ยุติธรรม ตรวจสอบว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ ทำให้ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภา คนที่ 1 ระบุว่าขอให้ นายชัยเกษม ไปตรวจสอบข้อเท็จจริง
ขณะที่ นายชัยเกษม ชี้แจงว่าตนไม่เคยได้ยินในเรื่องนี้ และรัฐบาลไม่เคยพูดถึง แต่เป็นการพูดของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมที่เวทีถนนราชดำเนินเอง ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล
พล.ร.อ.สุรศักดิ์ ศรีอรุณ ส.ว.สรรหา อภิปรายต่อที่ประชุมวุฒิสภา ซึ่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม วาระแรก ตอนหนึ่งว่าขอเรียกร้องให้ ส.ส.ที่ลงมติผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อแสดงความรับผิดชอบที่เป็นเหตุให้เกิดเหตุความขัดแย้งทางการเมืองจากร่างกฎหมายดังกล่าว
ด้าน นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่ร่วมประชุม ชี้แจงว่ากรณีที่ ส.ว.เรียกร้องให้ ส.ว.ทั้ง 310 คนที่ลงมติผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ลาออกนั้น เป็นความเห็น แต่พวกตนไม่สามารถทิ้งความรับผิดชอบได้ อย่างไรก็ตามการอภิปรายของ ส.ว.เป็นการกล่าวหาพวกตน ทั้งที่ได้มีการร่างกฎหมายนี้ด้วยความบริสุทธิ์ ทั้งนี้ กรรมาธิการได้มองภาพรวม ต้องการแก้ปัญหาของบ้านเมือง ดังนั้นขอความกรุณาอย่าอภิปรายใส่ร้าย
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า จะเป็นบทเรียนสำคัญที่น่าภูมิใจที่สังคมไทยตื่นรู้ขึ้นมาปกป้องประเด็นเหล่านี้ แม้ผู้มาชี้แจงจะบอดไม่รวมของคดีปปช.ทำก็ตาม สาเหตุกระแสต่อต้านขยายเป็นวงกว้าง ทำให้เห็นว่าสังคมนี้ยังมีหวัง องค์กรทุกภาคส่วนต่างออกมาคัดค้านต่อต้าน ดังนั้นขอให้รัฐบาลดูเรื่องนี้เป็นบทเรียนว่าอย่าดูถูกเหยียบย่ำประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากสมาชิกได้ทยอยอภิปรายไปในทิศทางเดียวกันคือไม่เห็นด้วยที่จะให้มีกฎหมายนิรโทษกรรม จนในช่วงดึกที่ประชุมได้มีมติคว่ำกฎหมายดังกล่าวในที่สุด