xs
xsm
sm
md
lg

ส.ว.ถล่ม"โคตรกู้2ล้านล้าน" โหวตถลุงเงินได้ตามใจชอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวานนี้ (18 พ.ย.) มีการประชุมวุฒิสภา เพื่อพิจารณา พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ในวาระที่ 2 เป็นรายมาตรา ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 18 มาตรา หลังจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ของวุฒิสภา ที่มีนายธวัช บวรวนิชยกูร ส.ว.สรรหา เป็นประธาน ได้พิจารณาเสร็จแล้ว
ทั้งนี้ การพิจารณาของวุฒิสภาได้เริ่มตั้งแต่ชื่อของ ร่าง พ.ร.บ. โดยนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้อภิปรายเป็นคนแรกว่า ได้เสนอคำแปรญัตติเพื่อแก้ไขชื่อ ร่าง พ.ร.บ.ใหม่ เป็นร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกำหนดเงินให้จ่ายเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศ ตนไม่คัดค้านการลงทุนรายใหญ่ของรัฐบาล และไม่คัดค้านยอดเงินรวม 2 ล้านล้านบาท แต่คัดค้านการออกกฎหมายพิเศษ เพื่อกู้เงินนอกระบบงบประมาณ และใช้เงินโดยไม่ส่งเข้าสู่ตามระบบปกติ ตามที่กรรมาธิการแก้ไขใน มาตรา 6 แต่ตนเห็นว่า ควรมีการแก้ไขทั้งระบบ โดยไม่มีการกู้เงิน และใช้เงินนอกงบประมาณโดยกฎหมายพิเศษ เนื่องจากการจ่ายเงินแผ่นดิน รัฐธรรมนูญบัญญัติว่า ต้องกระทำผ่านกฎหมาย 4 ลักษณะ เท่านั้น ประกอบด้วย 1.กฎหมายงบประมาณรายจ่าย 2. กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ 3. กฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ และ 4. กฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง
นอกจากนี้ใน มาตรา 166 และ 167 บัญญัติชัดเจนว่า งบประมาณรายจ่ายของแผ่นดินให้ทำเป็น ร่าง พ.ร.บ.และต้องมีเอกสารรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งรวมถึงการประมาณการรายรับ วัตถุประสงค์ กิจกรรม แผนงาน โครงการ ในแต่ละรายการของการใช้จ่ายงบประมาณให้ชัดเจน รวมทั้งต้องแสดงฐานะการเงินการคลังของประเทศ เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่เกิดจากการใช้จ่าย และการจัดหารายได้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญว่า ต้องการให้เกิดการใช้จ่ายเงินให้เกิดความรอบคอบ แต่ปรากฏว่า การเสนอกฎหมายพิเศษกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ที่มีเม็ดเงินเกือบเท่ากับการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี กลับไม่มีเอกสารรายละเอียดชัดเจน แม้ว่าใน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะกำหนดให้รัฐบาลต้องทำรายงานการใช้เงินต่อฝ่ายนิติบัญญัติ แต่เป็นเพียงการให้รับทราบเท่านั้น โดยไม่ได้ให้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ในการอนุมัติ
"หมายความว่า ฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศนี้ กำลังที่จะลงคะแนนเสียงครั้งเดียว เพื่อให้เกิดการกู้เงินจำนวนมหาศาลเทียบเท่างบประมาณประจำปี โดยมีรายละเอียดที่นำเสนอต่อฝ่ายนิติบัญญัติน้อยกว่าการนำเสนอ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี และเป็นการอนุมัติรวดเดียว เพื่อให้ฝ่ายบริหารไปดำเนินโครงการตามที่เสนอไว้โดยสังเขปใน ร่าง พ.ร.บ.นี้ ตลอดระยะเวลา 7 ปี หรือมากกว่านั้น โดยไม่ต้องกลับเข้ามาขออนุมัติจากสภาอีกเลย" นายคำนูณ กล่าว
นายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ขอเสนอแก้ไขชื่อ ร่าง พ.ร.บ.ใหม่ ให้มีชื่อว่า ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งและการศึกษาของประเทศ เพราะความสามารถในการแข่งขันของโลกยุคใหม่ วัดจากการมีนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ คือ คุณภาพการศึกษา ไม่ใช่วัดความเจริญของประเทศจากการดูว่า ประเทศไหนมีถนนใหญ่ และดีกว่ากัน
ด้านนายธวัช ชี้แจงว่า สาเหตุที่คณะกมธ. ต้องคงชื่อ ร่าง พ.ร.บ.ไว้ตามเดิมเพื่อกระทรวงการคลังมีอำนาจกู้เงินเพราะใน มาตรา 6 คณะกมธ.ก็ได้แก้ไขให้เงินที่รัฐบาลกู้มา ต้องเป็นเงินคงคลัง และเป็นของแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถตรวจสอบได้ เหมือนระบบงบประมาณ จึงไม่เห็นความจำเป็นว่าจะต้องเปลี่ยนชื่อ ร่าง พ.ร.บ.แต่อย่างใด
ส่วนการไม่เพิ่มคำว่า การศึกษา เข้าไปตามข้อเสนอของส.ว.เพราะคณะกรรมาธิการเห็นว่า เป็นการเสนอแก้ไขที่ขัดกับหลักการของ ร่าง พ.ร.บ.ที่ระบุว่า ให้การกู้เงินมาลงทุนเฉพาะด้านการคมนาคมเท่านั้น ซึ่งข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาบัญญัติให้การแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.ที่ขัดกับหลักการไม่สามารถกระทำได้
ต่อมาที่ประชุมวุฒิสภา มีมติ 62 ต่อ 50 เสียง เห็นชอบให้คงชื่อ ร่าง พ.ร.บ.ไว้ตามเดิม และเข้าสู่การพิจารณาในส่วนของคำปรารภ มีถ้อยคำว่า "โดยที่เป็นการสมควร มีกฎหมายว่าด้วยการให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ มีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 2 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ขอปรับลดวงเงินจาก 2 ล้านล้านบาท ให้เหลือเพียง 4 แสนล้านบาท เพราะนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ยอมรับในที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภาว่า มีอัตราดอกเบี้ยที่ต้องใช้หนี้เงินกู้ถึงร้อยละ 5 คิดเป็น 3.1 ล้านล้านบาท ในช่วงระยะเวลา 50 ปี ขอเรียกร้องให้วุฒิสภา อย่าใช้เสียงข้างมากโหวตไปตามความต้องการของรัฐบาล ทางที่ดีควรมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันกับสภาผู้แทนราษฎร เพื่อทำกฎหมายฉบับนี้ให้ดีที่สุด
"ไม่ใช่เอะอะก็ยื่นไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ คิดแบบพ่อค้า ส่งมันไปทั้งหมด 5 เรื่อง ได้มาสักเรื่องก็กำไร ได้มา 2 เรื่องก็กำไรมากขึ้น ได้มา 3 เรื่องกำไรยิ่งกว่า วิธีนี้คิดแบบนี้ไม่ถูกต้อง ถ้าวุฒิสภาจะทำหน้าที่ ก็อยากขอวิงวอนให้ช่วยกันทำกฎหมายให้ดี 5 ปีที่ผ่านมา เรากลั่นกรองได้ดีพอสมควร " นายสมชาย กล่าว
นายสมชาย กล่าวว่า การจัดทำงบประมาณสำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเพียงโครงการเดียวใช้เงินถึง 7.8 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 39.2 ของวงเงินทั้งหมด ทั้งที่ควรจะเน้นการลงทุนโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ โดยมีหลายฝ่ายในภาควิชาการระบุว่า จะเป็นการลงทุนที่คุ้มมากที่สุด แต่รัฐบาลกลับลงทุนประมาณ 4 แสนล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเหมือนกับเอาของดีจำนวน 4 แสนล้านบาท มาปนกับของเสียอีกประมาณ 8 แสนล้านบาท จึงอยากขอให้ ส.ว.ภาคอีสานเข้าใจด้วยว่า วันนี้โครงการรถไฟความเร็วสูงจะสิ้นสุดแค่ จ.นครราชสีมาไปไม่ถึง จ.หนองคาย และไม่ได้เชื่อมต่อกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามที่รัฐบาลกล่าวอ้างเพราะถูกขโมยเอาไว้ไปที่เส้นทางระหว่าง กทม.-เชียงใหม่ ส่วนรถไฟความเร็วสูงจาก กทม.-หัวหิน มีเจตนาเพื่อปั่นราคาที่ดิน บริเวณชะอำ และหัวหิน ซึ่งขณะนี้ราคาที่ดินพุ่งสูงขึ้นไป 5 เท่า มีบริษัทอสังหาริมทรัพย์ได้เข้าไปเก็งราคาที่ดิน เพื่อสร้างความร่ำรวยให้กับตัวเอง เพราะข้อเท็จจริงเวลาประชาชนจะเดินทางไปหัวหินก็อาศัยการขับรถไปเอง และไม่มีทางที่จะนั่งรถไฟความเร็วสูงที่มีราคาแพงแน่นอน ซึ่งไม่คุ้มค่ากับการเดินทาง
"ไม่เข้าใจว่าจะมีงบประมาณก่อสร้างของกรมทางหลวงชนบท 3.4 หมื่นล้านบาท และกรมทางหลวง 2.4 แสนล้านบาทไว้ใน ร่าง พ.ร.บ.นี้เพื่ออะไรทั้งที่มีอยู่ในงบประมาณปกติมาโดยตลอดไม่รู้กี่ปี เอาอยู่นอกงบประมาณเพื่อจะได้ทุจริต" นายสมชาย กล่าว
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสํานักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในฐานะกรรมาธิการ ชี้แจงว่า มี 53 กลุ่มโครงการ ขณะนี้มีความพร้อมมากกว่าครึ่งหนึ่ง หมายความว่า มีการศึกษาไปหมด จะมีอยู่ 28 โครงการ ที่ยังศึกษาไม่เสร็จ โดยมีเพียง 7 โครงการ นอกจากนี้มีโครงการที่ผ่านการศึกษาด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วจำนวน 28 โครงการ และอยู่ในระหว่างการศึกษาเพื่อรอความเห็นชอบจากสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จำนวน 18 โครงการ จากภาพดังกล่าวจึงถือว่า มีความพร้อมพอสมควร
ทั้งนี้ การเสนอ ร่าง พ.ร.บ.นี้ ไม่ใช่การขอให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิภาอนุมัติโครงการ แต่เป็นการขออนุมัติในหลักการ เพื่อให้กระทรวงการคลังสามารถกู้เงินมาทำโครงการได้ และการจะทำโครงการใดได้ จะต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ก่อนด้วย จึงไม่เป็นการทำเช็คเปล่าตามที่มีการระบุก่อนหน้านี้
ส่วนการจ้างบริษัทที่ปรึกษาได้มีการจ้างเอาไว้ 7 ประเภท ได้แก่ 1. ศึกษาความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ 2. ด้านวิศวกรรม 3. สิ่งแวดล้อม 4. การออกแบบการก่อสร้าง 5. ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม 6. สำรวจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการเวนคืน และ 7. ควบคุมงานก่อสร้างและบริหารโครงการ ซึ่งการจ้างบริษัทที่ปรึกษาทั้งหมดนี้ก็เป็นไปตามระบบปกติ
น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. อภิปรายว่า การใช้จ่ายเงินมหาศาลในเวลารวดเร็วโดยไม่มองเห็นผลว่าจะเกิดอย่างไร โดยเฉพาะจากเงินกู้นอกงบประมาณแผ่นดินที่เป็นยอดเกือบเท่ากับงบประมาณในแต่ละปี หากปล่อยให้ ร่าง พ.ร.บ.แบบนี้เกิดขึ้นในสภา ต่อไป พ.ร.บ.ประมาณประจำปี จะไม่มีความหมายเลย เพราะจะมีวิธีการแยกออกมาหาทางที่จะกู้เงินแบบนี้ ซึ่งการตรวจสอบมีน้อย ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 167 จำเป็นต้องมีกฎหมายกำหนดวินัยการเงินการคลัง เราใช้รัฐธรรมนูญปี 50 มาแล้ว 6 ปี แต่ยังไม่มีการออกกฎหมายเรื่องนี้ ประเทศไทยมีการทุจริตเข้มข้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ถ้ากู้มา 2 ล้านล้าน เท่ากับจะสูญเสียเงินถึง 6 แสนล้านบาท ตนจึงเสนอให้ลดวงเงินกู้เหลือ 3.5 แสนล้าน เพราะเป็นการกู้ข้ามช่วงเวลาปกติของสภา ไม่มีความเป็นธรรมสำหรับรัฐบาลชุดอื่น เพราะรัฐบาลนี้เหลือเวลาบริหารอีก 2 ปี ขณะที่โครงการมีอายุ 7 ปี และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ สามารถแยกออกมาทำได้
“เชื่อว่าสังคมเห็นด้วยกับการสร้างรถไฟรางคู่ แต่การเอาทุกโครงการมารวมแบบเหมาเข่ง ไม่ต่างจาก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งสุดซอย ทำไมเอาโครงการที่ดี มีประโยชน์ มารวมกับโครงการอื่นๆ ที่ไม่ได้มีการทำการประเมินเรื่องต่างๆ หวังให้บังคับรับไปทั้งเข่ง และยังมีการทำตัวเลขกลมๆ เป็นเหมือนเซ็นเช็คเปล่าให้ผู้บริหาร โดยไม่มีรายละเอียดที่มากพอ รถไฟความเร็วสูงไม่ใช่สาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็น แต่เป็นทางเลือก ดังนั้นรัฐบาลไม่ควรลงทุนเอง เพราะจะไม่สนใจเรื่องของทุน ทั้งที่ควรมีการประเมินผลตอบแทนหรือการคุ้มทุน เหมือนกรณีแอร์พอร์ตลิงค์ สมาชิกควรพิจารณาให้ดี อย่าคิดแต่ลงมติไปตามรัฐบาลแล้วทิ้งหนี้สินไปถึงลูกหลาน”น.ส.รสนา กล่าว
นายสิทธิศักดิ์ ยนต์ตระกูล ส.ว.กาฬสินธุ์ เสนอแปรญัตติเพิ่มขึ้น เป็น 2.2 ล้านล้าน โดยระบุว่า สนับสนุนให้มีรถไฟความเร็วสูง โดยเฉพาะอีสาน ถ้าถึงแค่โคราช ภาคอีสานเกือบไม่ได้อะไรเลย ถ้าสร้างไปถึงหนองคาย จะเกิดความเจริญภาคอีสาน สร้างงานในพื้นที่ ทำให้แรงงานกลับคืนสู่อีสาน
จากนั้นที่ประชุมลงมติ เห็นชอบตามกรรมาธิการ ด้วยคะแนนเสียง 74-41 เสียง ส่วน มาตรา 1 ที่ประชุมให้ผ่านไป เพราะไม่มีใครติดใจ ส่วนมาตรา 2 วันใช้บังคับกฎหมาย กรรมาธิการไม่ได้มีการแก้ไข ให้คงตามร่างเดิมคือ ให้บังคับใช้หลังจากลงราชกิจานุเบกษา ที่ ประชุมมีมติ 75 ต่อ 35 เสียง เห็นชอบตามกรรมาธิการ

** ใช้เงินตามใจชอบไม่ต้องแจ้งโครงการ

ต่อมามีการพิจารณา มาตรา 3 การกำหนดนิยามต่างๆ โดยกรรมาธิการเสียงข้างมาก ได้มีการเพิ่มคำว่า " โครงการ หมายถึงโครงการตามที่กำหนดไว้ในบัญชีท้าย พ.ร.บ.นี้ " ซึ่งสมาชิกสงวนความเห็น และอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยแบ่งเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ที่ไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มคำดังกล่าว ได้สงวนคำแปรญัตติให้ตัดการเพิ่มคำว่า"โครงการ" ออกไปจากบัญชีแนบท้าย โดยอ้างว่า เพื่อให้เกิดความคล่องตัว ยืดหยุ่น หลายโครงการยังต้องรอการศึกษาให้ถี่ถ้วน ที่อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยน ส่วนยุทธศาสตร์มีการกำหนดไว้ชัดเจนแล้วว่า สิ่งไหนทำได้ ไม่ได้ ส่วนที่ห่วงว่าจะมีการไปทำทิศทางอย่างอื่น นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ รมว.คมนาคม ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมกรรมาธิการแล้วว่า รัฐบาลจะยึดถือยุทธ์ศาสตร์เป็นหลัก บางโครงการที่ต้องมีการปรับเปลี่ยน จะมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นสภาพัฒน์ฯ สำนักแผนขนส่งจราจรทางบก
นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ส.ว.ราชบุรี กรรมาธิการเสียงข้างน้อย ไม่เห็นด้วยให้ใส่โครงการ จะทำให้บางโครงการที่เชื่อมต่อไม่สามารถดำเนินการได้ รัฐบาลไม่ขยับได้ กรณีปรับปรุงเพิ่มเติม จึงไม่มีความจำเป็น เพราะนิยามยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ในบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.ฉบับนี้ ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ที่ครม.มีมติเห็นชอบ ไม่ใช่อยู่ๆ หน่วยงานจะสามารถดำเนินการเปลี่ยนแปลงโครงการได้ทันที ส่วนแผนงานที่กำหนดไว้ ก็มีความชัดเจนแล้ว จะไปเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ส่วนหน่วยงานของรัฐที่หมายถึง ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานเจ้าของโครงการ หมายถึง หน่วยงานของรัฐที่ได้รับอนุมัติ หรือได้รับมอบหมายให้ดำเนินโครงการ ถือว่าครบและครอบคลุมที่จะดำเนินการเรื่องโครงสร้างพื้นฐานได้อย่างสมบูรณ์แล้ว
นายสุโข วุฒฑิโชติ ส.ว.สมุทรปราการ กรรมาธิการเสียงข้างน้อย อภิปรายเห็นด้วย ว่า เชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้ทำงานเพื่อประชาชน ไม่น่าจะมีอะไรเคลือบแฝงหมกเม็ด เราอาจจะคิดมากเจตนาดีเกินไปหรือเปล่า ทำให้บางสิ่งบางอย่างที่ควรเป็นไปตามกำหนดกลับช้าไป สิ่งที่ผ่านสภามาแล้วมีการกลั่นกรองมาดีแล้วควรจะยึดตามนั้น
ส่วนฝ่ายที่สนับสนุนการแก้ไขของกรรมาธิการเสียงข้างมาก อาทิ นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ควรมีการเขียนให้ชัดเจน เพราะมีการลักไก่อยู่บ่อยๆ เขียนไปมา กลายเป็นสุดซอยเหมาเข่ง จึงควรมีการเขียนเติมคำว่า "แผนงาน" "โครงการ" "หน่วยงานของรัฐ" "โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศ" เพื่อความโปร่งใส และตรวจสอบได้ และอย่างน้อยที่สุด เป็นการป้องกันการทุจริตโกงกิน คอร์รัปชั่น ไม่อย่างนั้นเราต้องมาออกกฎหมายนิรโทษกรรมล้างผิดกันอีก ตนคิดว่า ยิ่งมีโครงการใหญ่ๆ เป็นที่ครหากันมากว่า ใครจะได้ผลประโยชน์ต่างๆ จึงเป็นการป้องกันการทุจริต โปร่งใส และให้โครงการต่างๆ ตรวจสอบได้ การเขียนไป ไม่ได้เพิ่มทำให้เกิดความเสียหาย กลับมีแต่ดียิ่งขึ้น การอนุมัติจะต้องปฏิบัติตามที่เสนอตามโครงการแผนงานต่างๆ เชื่อว่าสิ่งใดที่สามารถต่อเนื่อง หรือยืดหยุ่นที่ไม่มีลักษณะโกงกิน ย่อมไม่มีข้อตำหนิ เชื่อว่าสามารถทำได้ แต่ถ้าไม่เขียนไว้ แล้วเอาไปกระทำ มีแต่ข้อครหาว่ามีผลประโยชน์ได้เสีย หรือไม่
“อำนาจนิติบัญญัติ เป็นอำนาจที่ควบคุม กลั่นกรอง ตรวจสอบ แต่รัฐบาลกลับลักไก่เอาอำนาจนี้ไปอยู่กับตนเองเต็มๆ ถ้าเราไม่คงหลักการนี้ไว้เขียนให้เกิดความโปร่งใส ชัดเจน เราจะไม่สามารถป้องกันการคอร์รัปชั่นได้ สิ่งที่ตนเสนอให้ระบุ"แผนงาน" ต้องรวมทั้งรายละเอียด ข้อมูลเอกสาร ผลการศึกษา รวมทั้งข้อมูลเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวกับโครงการต่างๆ ตามแผนงานดังกล่าวที่ ครม.เสนอต่อสภา เป็นเอกสารประกอบ ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน หรือที่เป็นเอกสารชี้แจง ต่อที่ประชุมสภาในการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ในวาระ1 เป็นการมัดตราสังว่า สิ่งที่ชี้แจงในสภาหรือเอกสารจำนวนมากมายให้ถือว่าเป็นแผนงานที่เกี่ยวเนื่องในโครงการนี้ทั้งสิ้น อย่างน้อยก็ดิ้นไม่ได้ เพราะมีพวกหัวหมอ หาทางบิดพลิ้วต่างๆ ถ้าเราเขียนให้รัดกุม จะทำให้คนที่จ้องจะโกงกิน เกิดความระมัดระวังมากขึ้น”
พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ส.ว.สรรหา กล่าวสนับสนุนการแก้ไขของกรรมาธิการเสียงข้างมาก กฎหมายฉบับนี้ เมื่อผ่านขั้นตอนส.ส.- ส.ว แล้ว มีเพียงหลักการเหตุผล กฎหมาย 18 มาตรา แต่ให้อนุมัติให้รัฐบาลไปกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อนำไปสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เงินที่จะใช้หนี้ก็มาจากเงินภาษีอากรประชาชน กว่า 50 ปี ความเป็นธรรมถูกต้องชัดเจนจะต้องมี ฉะนั้นสิ่งที่ต้องลงในราชกิจจาฯ ย่อมต้องไม่คลุมเครือ ชัดเจน ป้องกันการไปบิดเบือนในอนาคต
“ผมขอถามกรรมาธิการเสียงข้างน้อยว่า กล้าเซ็นต์เช็ค 2 ล้านล้านบาท ให้ไปซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ โดยไม่บอกว่าเป็นแบบไหน นั้นไม่เป็นธรรม เราให้เงินไป 7 ปี แล้วบอกแค่ให้ไปทำโครงสร้างพื้นฐาน แต่อะไรบ้าง ไม่บอก ผมกลัวอย่างยิ่งคือ การผลุบๆโผล่ตามใบสั่ง ไม่มีใครบอกว่ามันจะจีรังยั่งยืนอยู่รอดปลอดภัย 7 ปี รัฐบาลชุดหน้าจะหยิบส่วนไหนขึ้นมาทำก็ได้ โดยอ้างว่าเป็นไปตามยุทธศาสตร์แผนงานที่มีเพียง 3 หน้ากว่า บัญชีแนบท้ายอีก 3 หน้ากว่าๆ อนุมัติ 2 ล้านล้านบาท ที่ใส่โครงการไว้ได้สร้างคุโณปการให้กับประเทศชาติอย่างใหญ่หลวงแล้ว เรากำลังช่วยทำให้กฎหมายฉบับนี้จากเดิมที่เทาๆ คลุมเครือ ถ้าจะทำให้มีความชัดเจนจะทำให้กฎหมายสมบูรณ์มากขึ้น สิ่งที่กังวลว่าขัดรัฐธรรมนูญก็จะหมดไป”
นายสุริยา ปันจอ ส.ว.สตูล อภิปรายสนับสนุนให้เพิ่มนิยามคำว่า”โครงการ”เข้าไป กรรมาธิการ โครงการที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพ.ร.บ.ฉบับนี้ สละสลวยเข้าใจง่าย แต่หากพิจารณาดูแผนงานยุทธศาสตร์ที่ปรากฏอยู่ในเอกสาร บัญชีท้ายพ.ร.บ.เป็นบัญชีนำเสนอเพื่อให้ส.ส.ส.ว. พิจารณา ถ้าไม่อยู่ในบัญชีถือว่าไม่เข้าประเด็น
ขณะที่นายมงคล ศรีคำแหง ส.ว.จันทรบุรี เปิดเผยว่า ตนมั่นใจว่า เสียงข้างมากในสภา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฝ่าย ส.ว.เลือกตั้งทั้งหมด และ ส.ว.สรรหาบางส่วน จะสนับสนุนเห็นชอบตามกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ที่ไม่เห็นด้วยกับการเอาโครงการไปใสในบัญชีแนบท้ายของ ร่าง พ.ร.บ. เพราะจำนวนเสียงของกลุ่มที่เห็นด้วยกับกรรมาธิการเสียงข้างมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม 40 ส.ว. มีคะแนนสนับสนุนอยู่เพียง 50 คนเท่านั้น
หลังจากที่มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ในที่สุดเมื่อมีการลงมติปรากฏว่า ที่ประชุมลงมติด้วยเสียง 63 ต่อ 52 เสียง ให้ตัดคำว่า"โครงการ"ออกไป ตามกรรมาธิการเสียงข้างน้อย

**ปชป.ยื่นศาลรธน.ตีความแน่

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวตนขอทำนายผลล่วงหน้าว่า วุฒิสมาชิกสายรัฐบาล หรือสายรับใช้รัฐบาล จะคว่ำ ร่าง พ.ร.บ. นี้ เพราะในการประชุมของกรรมาธิการ ได้มีการแก้ไขใน 2 มาตรา คือ มาตรา 3 และ มาตรา 6
ทั้งนี้ มาตรา 3 กรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่ แก้ไขให้ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน มีการระบุโครงการที่ชัดเจนเพื่อผูกมัดรัฐบาล ไม่ให้สามารถนำเงินกู้ไปใช้ตามใจชอบ ตรงนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลอาจไม่พอใจแน่นอน เพราะมีการเติมรายละเอียดผูกมัดการกระทำของรัฐบาล และมีการแก้ไข มาตรา 6 โดยนำ ร่างของส.ส. ให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงิน และเมื่อเบิกจ่ายนำไปใช้ ไม่ต้องส่งเงินเข้าคลัง แต่ของวุฒิสมาชิก ตัดคำว่า ไม่ ออก คือ ส่งเงินเข้าคลังของแผ่นดิน ก่อนที่จะนำมาเบิกใช้จ่าย จากเดิมที่ไม่ต้องส่งเข้าคลังแต่อย่างใด รัฐบาลย่อมไม่พอใจ เพราะโกงยาก
"ผลที่จะออกมาจึงไม่ยากที่จะคาดเดาว่า วุฒิสมาชิกสายขี้ข้า จะคว่ำร่าง นี้ เพื่อให้ร่างเดิมที่ไม่มีการแก้ไข ก็จะถูกส่งกลับไปที่สภาฯ และเมื่อร่างนี้เป็นกฎหมายการเงินชัดเจน จึงไม่จำเป็นต้องแช่แข็ง หรือถูกฉีดยาสลบ 180 วัน แต่รัฐบาสามารถที่จะสั่งการให้ ส.ส.ในฝั่งรัฐบาลยืนยันในร่างเดิมแล้วประกาศใช้ได้เลย ตรงนี้อันตราย”โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว
ทั้งนี้ เชื่อว่าเป็นเป้าหมายหลักของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ และพ.ต.ททักษิณ ชินวัตร ในขณะนี้ ดังนั้นทางพรรคปชป. ทราบดีว่าเหตุการณ์เหล่านี้อาจเกิดขึ้น ทางพรรคได้เตรียมเอกสารเพื่อเตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความแล้ว ซึ่งร่าง กฎหมายนี้ขัดรัฐธรรมนูญทั้งในกระบวนการตราที่มีการกดบัตรแทนกันของ ส.ส.เพื่อไทย การออกเป็น พ.ร.บ.ที่ล่วงละเมิดอำนาจบริหาร และในเนื้อหาสาระที่ขัดกรอบวินัยการเงินการคลัง รวมถึงปราศจากการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการรับฟังความเห็นประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น