xs
xsm
sm
md
lg

40 ส.ว.จวก พ.ร.บ.กู้รัฐเท่างบประจำปีแต่เอกสารไม่ชัด เชื่อติดใจเหตุสอบยาก วุฒิฯผ่าน ม.1-2

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“คำนูณ” ชี้งบกู้ 2 ล้านล้าน เกือบเท่างบประจำปี ย้ำรายจ่ายชาติต้องมีเอกสารแจง หวังใช้เงินยาวไม่ขออนุมัติ 7 ปี “ตวง” ขอเปลี่ยนชื่อร่างเพิ่มการศึกษา มติวุฒิฯคงชื่อเดิม “สมชาย” ขอปรับแหลกเหตุดอกเบี้ยเพียบ ขอวุฒิฯอย่าโหวตตามรัฐ ฉะผลาญเอื้อโกง ผอ.สนข.แจงโครงการพร้อมเกินครึ่ง ปัดเซ็นเช็คเปล่า “รสนา” โต้ผลาญงบเพียบมองไม่เห็นผล ทำงบประจำปีไร้ค่า เลือกกู้แทนเหตุสอบยาก ส.ว.กาฬสินธุ์ หนุนเพิ่มงบสร้างรถไฟให้ถึงหนองคาย ก่อนลงมติผ่าน ม.1-2


วันนี้ (18 พ.ย.) การประชุมวุฒิสภาได้เริ่มพิจารณาพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ในวาระที่ 2 เป็นรายมาตรา ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 18 มาตรา หลังจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ของวุฒิสภา ที่มี นายธวัช บวรวนิชยกูร ส.ว.สรรหา เป็นประธานได้พิจารณาเสร็จแล้ว

ทั้งนี้ การพิจารณาของวุฒิสภาได้เริ่มตั้งแต่ชื่อของร่าง พ.ร.บ.โดยนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้อภิปรายเป็นคนแรกว่า ได้เสนอคำแปรญัตติเพื่อแก้ไขชื่อร่าง พ.ร.บ.ใหม่เป็นร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกำหนดเงินให้จ่ายเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศ ตนไม่คัดค้านการลงทุนรายใหญ่ของรัฐบาล และไม่คัดค้านยอดเงินรวม 2 ล้านล้านบาท แต่คัดค้านการออกกฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินนอกระบบงบประมาณ และใช้เงินโดยไม่ส่งเข้าสู่ตามระบบปกติ ตามที่กรรมาธิการแก้ไขใน ม.6 แต่ตนเห็นว่า ควรมีการแก้ไขทั้งระบบโดยไม่มีการกู้เงินและใช้เงินนอกงบประมาณโดยกฎหมายพิเศษ เนื่องจากการจ่ายเงินแผ่นดินรัฐธรรมนูญบัญญัติว่าต้องกระทำผ่านกฎหมาย 4 ลักษณะเท่านั้น ประกอบด้วย 1.กฎหมายงบประมาณรายจ่าย 2.กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ 3.กฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ และ 4.กฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง

นายคำนูณ กล่าวว่า นอกจากนี้ในมาตรา 166 และ 167 บัญญัติชัดเจนว่างบประมาณรายจ่ายของแผ่นดินให้ทำเป็นร่าง พ.ร.บ.และต้องมีเอกสารรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งรวมถึงการประมาณการรายรับ วัตถุประสงค์ กิจกรรม แผนงาน โครงการ ในแต่ละรายการของการใช้จ่ายงบประมาณให้ชัดเจน รวมทั้งต้องแสดงฐานะการเงินการคลังของประเทศเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่เกิดจากการใช้จ่ายและการจัดหารายได้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญว่าต้องการให้เกิดการใช้จ่ายเงินให้เกิดความรอบคอบ แต่ปรากฏว่าการเสนอกฎหมายพิเศษกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทที่มีเม็ดเงินเกือบเท่ากับการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีกลับไม่มีเอกสารรายละเอียดชัดเจน แม้ว่าในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะกำหนดให้รัฐบาลต้องทำรายงานการใช้เงินต่อฝ่ายนิติบัญญัติ แต่เป็นเพียงการให้รับทราบเท่านั้น โดยไม่ได้ให้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติในการอนุมัติ

“หมายความว่า ฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศนี้กำลังที่จะลงคะแนนเสียงครั้งเดียว เพื่อให้เกิดการกู้เงินจำนวนมหาศาลเทียบเท่างบประมาณประจำปี โดยมีรายละเอียดที่นำเสนอต่อฝ่ายนิติบัญญัติน้อยกว่าการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี และเป็นการอนุมัติรวดเดียวเพื่อให้ฝ่ายบริหารไปดำเนินโครงการตามที่เสนอไว้โดยสังเขปในร่าง พ.ร.บ.นี้ตลอดระยะเวลา 7 ปีหรือมากกว่านั้นโดยไม่ต้องกลับเข้ามาขออนุมัติจากสภาอีกเลย” นายคำนูณ กล่าว

นายตวง อันทะไชย สว.สรรหา กล่าวว่า ขอเสนอแก้ไขชื่อร่าง พ.ร.บ.ใหม่ให้มีชื่อว่าร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งและการศึกษาของประเทศ เพราะความสามารถในการแข่งขันของโลกยุคใหม่วัดจากการมีนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ คือ คุณภาพการศึกษา ไม่ใช่วัดความเจริญของประเทศจากการดูว่าประเทศไหนมีถนนใหญ่และดีกว่ากัน

นายธวัช ชี้แจงว่า สาเหตุที่คณะ กมธ.ต้องคงชื่อร่าง พ.ร.บ.ไว้ตามเดิมเพื่อกระทรวงการคลังมีอำนาจกู้เงิน เพราะในมาตรา 6 คณะ กมธ.ก็ได้แก้ไขให้เงินที่รัฐบาลกู้มาต้องเป็นเงินคงคลังและเป็นของแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติสามมารถตรวจสอบได้ระบบงบประมาณ จึงไม่เห็นความจำเป็นว่าจะต้องเปลี่ยนชื่อร่าง พ.ร.บ.แต่อย่างใด ส่วนการไม่เพิ่มคำว่าการศึกษาเข้าไปตามข้อเสนอของ ส.ว.เพราะคณะกรรมาธิการเห็นว่าเป็นการเสนอแก้ไขที่ขัดกับหลักการของร่าง พ.ร.บ.ที่ระบุว่าให้การกู้เงินมาลงทุนเฉพาะด้านการคมนาคมเท่านั้น ซึ่งข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาบัญญัติให้การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ที่ขัดกับหลักการไม่สามารถกระทำได้

ต่อมาที่ประชุมวุฒิสภามีมติ 62 ต่อ 50 เสียงเห็นชอบให้คงชื่อร่าง พ.ร.บ.ไว้ตามเดิม และเข้าสู่การพิจารณาในส่วนของคำปรารภมีถ้อยคำว่า “โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ มีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 2 ล้านล้านบาท”

ทั้งนี้ นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ขอปรับลดวงเงินจาก 2 ล้านล้านบาท ให้เหลือเพียง 4 แสนล้านบาท เพราะนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ยอมรับในที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภาว่ามีอัตราดอกเบี้ยที่ต้องใช้หนี้เงินกู้ถึงร้อยละ 5 คิดเป็น 3.1 ล้านล้านบาท ในช่วงระยะเวลา 50 ปี ขอเรียกร้องให้วุฒิสภาอย่าใช้เสียงข้างมากโหวตไปตามความต้องการของรัฐบาล ทางที่ดีควรมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันกับสภาผู้แทนราษฎร เพื่อทำกฎหมายฉบับนี้ให้ดีที่สุด

“ไม่ใช่เอะอะก็ยื่นไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ คิดแบบพ่อค้าส่งมันไปทั้งหมด 5 เรื่อง ได้มาสักเรื่องก็กำไร ได้มา 2 เรื่องก็กำไรมากขึ้น ได้มา 3 เรื่องกำไรยิ่งกว่า วิธีนี้คิดแบบนี้ไม่ถูกต้อง ถ้าวุฒิสภาจะทำหน้าที่ก็อยากขอวิงวอนให้ช่วยกันทำกฎหมายให้ดี 5 ปีที่ผ่านมาเรากลั่นกรองได้ดีพอสมควร” นายสมชาย กล่าว

นายสมชาย กล่าวว่า การจัดทำงบประมาณสำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเพียงโครงการเดียวใช้เงินถึง 7.8 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 39.2 ของวงเงินทั้งหมด ทั้งที่ควรจะเน้นการลงทุนโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ โดยมีหลายฝ่ายในภาควิชาการระบุว่าจะเป็นการลงทุนที่คุ้มมากที่สุด แต่รัฐบาลกลับลงทุนประมาณ 4 แสนล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเหมือนกับเอาของดีจำนวน 4 แสนล้านบาท มาปนกับของเสียอีกประมาณ 8 แสนล้านบาท จึงอยากขอให้ ส.ว.ภาคอีสานเข้าใจด้วยว่าวันนี้โครงการรถไฟความเร็วสูงจะสิ้นสุดแค่ จ.นครราชสีมา ไปไม่ถึง จ.หนองคาย และไม่ได้เชื่อมต่อกับสาธารณรัฐประชาชนจีนตามที่รัฐบาลกล่าวอ้าง เพราะถูกขโมยเอาไว้ไปที่เส้นทางระหว่าง กทม.-เชียงใหม่ ส่วนรถไฟความเร็วสูงจาก กทม.-หัวหิน มีเจตนาเพื่อปั่นราคาที่ดินบริเวณชะอำและหัวหิน ซึ่งขณะนี้ราคาที่ดินพุ่งสูงขึ้นไป 5 เท่า มีบริษัทอสังหาริมทรัพย์ได้เข้าไปเก็งราคาที่ดินเพื่อสร้างความร่ำรวยให้กับตัวเอง เพราะข้อเท็จจริงเวลาประชาชนจะเดินทางไปหัวหิน ก็อาศัยการขับรถไปเอง และไม่มีทางที่จะนั่งรถไฟความเร็วสูงที่มีราคาแพงแน่นอน ซึ่งไม่คุ้มค่ากับการเดินทาง

“ไม่เข้าใจว่าจะมีงบประมาณก่อสร้างของกรมทางหลวงชนบท 3.4 หมื่นล้านบาท และกรมทางหลวง 2.4 แสนล้านบาท ไว้ในร่าง พ.ร.บ.นี้เพื่ออะไร ทั้งที่มีอยู่ในงบประมาณปกติมาโดยตลอดไม่รู้กี่ปี เอาอยู่นอกงบประมาณเพื่อจะได้ทุจริต”

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสํานักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในฐานะกรรมาธิการ ชี้แจงว่า มี 53 กลุ่มโครงการ ขณะนี้มีความพร้อมมากกว่าครึ่งหนึ่ง หมายความว่า มีการศึกษาไปหมด จะมีอยู่ 28 โครงการที่ยังศึกษาไม่เสร็จ โดยมีเพียง 7 โครงการ นอกจากนี้มีโครงการที่ผ่านการศึกษาด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วจำนวน 28 โครงการ และอยู่ในระหว่างการศึกษาเพื่อรอความเห็นชอบจากสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จำนวน 18โครงการ จากภาพดังกล่าวจึงถือว่ามีความพร้อมพอสมควร

นายจุฬา กล่าวอีกว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ.นี้ไม่ใช่การขอให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิภาอนุมัติโครงการแต่เป็นการขออนุมัติในหลักการเพื่อให้กระทรวงการคลังสามารถกู้เงินมาทำโครงการได้ และการจะทำโครงการใดได้จะต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ก่อนด้วย จึงไม่เป็นการทำเช็คเปล่าตามที่มีการระบุก่อนหน้านี้ ส่วนการจ้างบริษัทที่ปรึกษาได้มีการจ้างเอาไว้ 7 ประเภท ได้แก่ 1.ศึกษาความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ 2.ด้านวิศวกรรม 3.สิ่งแวดล้อม 4.การออกแบบการก่อสร้าง 5.ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม 6.สำรวจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการเวนคืน และ 7.ควบคุมงานก่อสร้างและบริหารโครงการ ซึ่งการจ้างบริษัทที่ปรึกษาทั้งหมดนี้ก็เป็นไปตามระบบปกติ

น.ส.รสนา โตสิสกุล ส.ว.สรรหา อภิปราย การใช้จ่ายเงินมหาศาลในเวลารวดเร็วโดยไม่มองเห็นผลว่าจะเกิดอย่างไร โดยเฉพาะจากเงินกู้นอกงบประมาณแผ่นดินที่เป็นยอดเกือบเท่ากับงบประมาณในแต่ละปี หากปล่อยให้ร่าง พ.ร.บ.แบบนี้เกิดขึ้นในสภา ต่อไป พ.ร.บ.ประมาณประจำปีจะไม่มีความหมายเลย เพราะจะมีวิธีการแยกออกมาหาทางที่จะกู้เงินแบบนี้ ซึ่งการตรวจสอบมีน้อย ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 167 จำเป็นต้องมีกฎหมายกำหนดวินัยการเงินการคลัง เราใช้รัฐธรรมนูญปี 50 มาแล้ว 6 ปี แต่ยังไม่มีการออกกฎหมายเรื่องนี้ ประเทศไทยมีการทุจริตเข้มข้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ถ้ากู้มา 2 ล้านล้าน เท่ากับจะสูญเสียเงินถึง 6 แสนล้านบาท ตนจึงเสนอให้ลดวงเงินกู้เหลือ 3.5 แสนล้าน เพราะเป็นการกู้ข้ามช่วงเวลาปกติของสภา ไม่มีความเป็นธรรมสำหรับรัฐบาลชุดอื่นเพราะรัฐบาลนี้เหลือเวลาบริหารอีก 2 ปี ขณะที่โครงการมีอายุ 7 ปี และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ สามารถแยกออกมาทำได้

“เชื่อว่าสังคมเห็นด้วยกับการสร้างรถไฟรางคู่ แต่การเอาทุกโครงการมารวมแบบเหมาเข่ง ไม่ต่างจาก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งสุดซอย ทำไมเอาโครงการที่ดีมีประโยชน์มารวมกับโครงการอื่นๆ ที่ไม่ได้มีการทำการประเมินเรื่องต่างๆ หวังให้บังคับรับไปทั้งเข่ง และยังมีการทำตัวเลขกลมๆ เป็นเหมือนเซ็นเช็คเปล่าให้ผู้บริหาร โดยไม่มีรายละเอียดที่มากพอ รถไฟความเร็วสูงไม่ใช่สาธารณูปโภคพื้นฐาน ที่จำเป็น แต่เป็นทางเลือกดังนั้นรัฐบาลไม่ควรลงทุนเอง เพราะจะไม่สนใจเรื่องของทุน ทั้งที่ควรมีการประเมินผลตอบแทนหรอการคุ้มทุน เหมือนกรณีแอร์พอร์ตลิงก์ สมาชิกควรพิจารณาให้ดีอย่าคิดแต่ลงมติไปตามรัฐบาลแล้วทิ้งหนี้สินไปถึงลูกหลาน”

นายสิทธิศักดิ์ ยนต์ตระกูล ส.ว.กาฬสินธุ์ เสนอแปรญัตติเพิ่มขึ้น เป็น 2.2 ล้านล้าน โดยระบุว่า สนับสนุนให้มีรถไฟความเร็วสูงโดยเฉพาะอีสาน ถ้าถึงแค่โคราช ภาคอีสานเกือบไม่ได้อะไรเลย ถ้าสร้างไปถึงหนองคายจะเกิดความเจริญภาคอีสาน สร้างงานในพื้นที่ทำให้แรงงานกลับคืนสู่อีสาน

จากนั้นที่ประชุมลงมติ เห็นชอบตามกรรมาธิการ ด้วยคะแนนเสียง 74-41 เสียง ส่วนมาตรา 1 ที่ประชุมให้ผ่านไปเพราะไม่มีใครติดใจ ส่วนมาตรา 2 วันใช้บังคับกฎหมาย กรรมาธิการไม่ได้มีการแก้ไข ให้คงตามร่างเดิม คือให้บังคับใช้หลังจากลงราชกิจานุเบกษา ที่ประชุมมีมติ 75 ต่อ 35 เสียง เห็นชอบตามกรรมาธิการ












กำลังโหลดความคิดเห็น