xs
xsm
sm
md
lg

40ส.ว.บีบ"ยิ่งลักษณ์-ตระกูลชินฯ" ต้องเลิกยุ่งการเมือง!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 13.40 น. วานนี้ (2 ธ.ค.) ที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา อาคารสุขประพฤติ กลุ่ม 40 ส.ว. ร่วมกันแถลงข่าว นำโดย นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ยืนยันข้อเสนอต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ว่า ทางกลุ่มเป็นห่วงสถานการณ์ปัจจุบันจึงได้หารือกันและมีข้อสรุป โดยขอยืนยันข้อเรียกร้องเดิมที่เสนอไปเมื่อ วันที่ 29 พ.ย. ว่า รัฐบาลและนายกฯ จะต้องยอมรับ และเสียสละเพื่อคลี่คลายวิกฤติของบ้านเมือง และขอให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการกำกับการบริหารงานของรัฐบาลให้ยอมถอย เพื่อให้ประเทศผ่านพ้น วิกฤติ นายกฯ และตระกูลชินวัตร จะต้องเสียสละช่วยกันตัดสินใจให้สัญญาประชาคมว่า จะไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองอีก ถือเป็นการใช้กุศลจิตเพื่อให้ประเทศผ่านไปได้ เพราะขณะนี้มีการสูญเสียชีวิต มีการใช้อาวุธสังหารนักศึกษารามคำแหงถึง 3 ราย ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้แก๊สน้ำตา จนทำให้ประชาชนผู้ร่วมชุมนุมบาดเจ็บจำนวนมาก และในวันที่ 2ธ.ค. ยังใช้กระสุนยางยิ่งใส่ผู้ชุมนุมอีก หรืออาจใช้กระสุนจริงด้วย
น.พ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา กล่าวว่า จากการตรวจสอบจำนวนผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บจากการชุมนุมที่ศูนย์นเรนทร และศูนย์เอราวัณ ล่าสุดเมื่อเวลา 08.00 น. (2ธ.ค.) มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 127 ราย โดยเฉพาะการบาดเจ็บจากแก๊สน้ำตา และน้ำผสมสารเคมี Sulfuric Acid ซึ่งไม่ทราบว่าได้ใช้ปริมาณเข้มข้นเท่าไร ทำให้ระคายเคืองต่อเหยื่อบุหายใจ และทางเดินอาหาร ซึ่งจะตรวจสอบต่อไป และขอเรียกร้องให้รัฐบาล โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจทนต่อความยั่วยุ โดยใช้หลักเมตตาธรรม คำนึงถึงประชาชนที่มาชุมนุมอย่างสงบ และอย่าใช้วิธีเช่นนี้กับประชาชน
พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ส.ว.สรรหา ในฐานะรองประธานกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวว่า รัฐบาลต้องยึดหลักว่า กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ใช่อาชญากร เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 พ.ย. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องดูแลไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอาวุธปืน แต่จากสภาพที่เกิดขึ้น ถือว่าตำรวจขาดการเอาใจใส่ดูแล และหลักปฏิบัติสากลที่จะควบคุมมวลชนต้องใช้น้ำเปล่า ไม่ใช่ผสมสารเคมี ดังนั้น คณะกรรมาธิการจะตรวจสอบต่อไปว่า การดำเนินการเหล่านี้เข้าหลักตามมาตรฐานสากลหรือไม่ และล่าสุดมีการใช้กระสุนยาง ถือว่า สตช.ข้ามขั้นตอนตามหลักปฏิบัติสากลทั่วไป ที่จะต้องใช้ตาข่าย
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า เท่าที่ฟังนายกรัฐมนตรี ระบุว่า พร้อมเปิดทุกช่องทางเพื่อนำไปสู่การเจรจา เป็นแค่การเรียกร้องความเห็นใจ แต่ตนยังไม่เห็นความสำนึกผิดของนายกฯ คณะรัฐบาล และรัฐสภาเสียงข้างมาก รับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ซึ่งถือว่าขาดความชอบธรรม นายกฯ ต้องลดความไม่พอใจของมวลชน โดยขอพระราชทานร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กลับลงมา ซึ่งเป็นการทำให้เห็นว่า ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ที่ได้วินิจฉัย จะต้องทำทันที แม้จะไม่ทำให้สถานการณ์คลี่คลาย แต่ก็ยังดี
ด้าน พญ.พรพันธ์ บุญยรัตนพันธุ์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ ผบ.ทบ.โทรศัพท์ให้ตำรวจหยุดใช้แก๊สน้ำตากับประชาชน แต่ยังไม่พอ เพราะมีการใช้อย่างต่อเนื่อง จึงอยากให้ ผบ.ทบ.ใช้วิธีอื่นที่จะไม่ให้พี่น้องบาดเจ็บมากกว่านี้
เมื่อถามว่า กลุ่ม 40 ส.ว. ได้ประเมินสถานการณ์ม็อบยังอยู่ในขอบเขตหรือไม่ ซึ่งนายสมชาย ยืนยันว่า ถือว่าเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการชุมนุมอย่างสงบ ปราศจากอาวุธ เมื่อถามย้ำว่า มีการตรวจสอบเหตุการณ์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง หรือไม่ ซึ่งมีคนเสื้อแดงเสียชีวิต นายสมชาย แย้งว่า ไม่มี ไม่ทราบว่าตายที่ไหน ตรงจุดไหน ผู้สื่อข่าวถามย้ำ กลุ่ม 40 ส.ว.ยืนยันใช่หรือไม่ว่า ไม่มีกลุ่มคนเสื้อแดงตายในที่ดังกล่าว
นพ.เจตน์ ชี้แจงแทนว่า เราทราบแต่ชื่อ ต้องขอไปตรวจสอบรายละเอียด แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ มีเท่านี้

**"รสนา"โต้ข้อแก้ตัวรัฐบาล ฟังไม่ขึ้น

ด้าน น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯได้ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า เป็นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.ต.อ ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี จากการแถลงการณ์ของรัฐบาล โดย รองนายกฯ พร้อมคณะรัฐมนตรี ในค่ำวันที่ 1ธ.ค. ที่ผ่านมา เพื่อชี้แจงถึงความชอบธรรมของรัฐบาล ในการบริหารราชการแผ่นดิน ด้วยเหตุผลที่สรุปได้ดังนี้
1. ข้อกล่าวหาที่ว่า รัฐบาลไม่เคารพศาลรัฐธรรมนูญ กรณีแก้ไขที่มาของส.ว นั้น รัฐบาลขอแจ้งให้ทราบว่า รัฐบาลไม่เคยมีแถลงการณ์ใดๆ หรือมีการแสดงใดๆ ที่เป็นการไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรธน. การแถลงการณ์ดังกล่าว เป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภา ไม่ใช่รัฐบาล
2. เรื่อง ร่าง พ.ร.บ นิรโทษกรรม ที่เป็นประเด็นเริ่มต้นในการชุมนุมคัดค้านรัฐบาล และรัฐสภา นั้นไม่ใช่ร่างของครม. แต่เป็นร่างของส.ส. ซึ่งเป็นอำนาจนิติบัญญัติ แยกออกจากอำนาจฝ่ายบริหาร และขณะนี้เมื่อสมาชิกวุฒิสภามีมติไม่รับหลักการอย่างเป็นเอกฉันท์แล้ว ทางสภาผู้แทนราษฎร ก็จะไม่สนับสนุนร่างฯ ฉบับนี้ต่อไป ถือได้ว่าร่างฯ ฉบับนี้ตกไป ไม่มีโอกาสบังคับใช้แน่นอนแล้ว
ด้วยเหตุผลหลัก 2 ประการดังกล่าว รองนายกฯ ก็ทึกทักเอาว่า ประชาชนไม่มีเงื่อนไขที่จะชุมนุมคัดค้านรัฐบาลอีกแล้ว การที่ ประชาชนยังไม่ยุติการชุมนุม จึงเป็นการส่อนัยว่าประชาชนถูกชักจูง หรือใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล
ทั้งนี้ ตนเห็นว่า ข้ออ้างในแถลงการณ์ของรัฐบาลในสายตาประชาชน ขาดน้ำหนัก และฟังไม่ขึ้น เพราะ
1. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมาก ก็เป็นสมาชิกของพรรคเพื่อไทย นายกรัฐมนตรี ก็เป็นสมาชิกอันดับหนึ่ง ของพรรคเพื่อไทย และในการลงมติ วาระ 3 ของ ร่าง รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ว่าด้วยที่มาของ ส.ว นายกรัฐมนตรี ก็ได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับการแก้ไขดังกล่าว นายกรัฐมนตรีจึงเป็นทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้ารัฐบาล ดังนั้น ข้อกล่าวอ้างที่ว่า การไม่ยอมรับอำนาจวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภา ไม่ใช่รัฐบาล จึงไม่อาจรับฟังได้
2. นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่นายกฯ และรองนายกฯ เป็นลูกพรรค ได้เปิดแถลงข่าวที่พรรคเพื่อไทยพร้อมด้วยกรรมการบริหารพรรค ประกาศไม่รับอำนาจวินิจฉัยของศาลรธน. การที่นายกฯ และตัวท่านเองก็เป็นผู้ใหญ่ในพรรค และเป็นพรรคที่จัดตั้งรัฐบาล คำแถลงของหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหาร จึงผูกพันสมาชิกพรรคทุกคน
3. ข้อกล่าวอ้าง ที่ว่า รัฐบาลไม่เคยมีแถลงการณ์ หรือมีการแสดงใดๆ ที่เป็นการไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรธน.นั้น แต่ก็ไม่เคยมีคำแถลงจากปากของนายกฯ ว่า ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรธน.เช่นกัน ดังเมื่อนักข่าวถามนายกฯ ถึงเรื่องนี้ ท่านตอบว่า กำลังให้กฤษฎีกาพิจารณาคำวินิจฉัยของศาลรธน. ทั้งที่คำวินิจฉัยของศาลชัดเจนอยู่แล้ว หรือว่านายกฯ เห็นว่า คำวินิจฉัยของกฤษฎีกา เหนือกว่าคำวินิจฉัยของศาล รธน. และเมื่อไหร่ จึงจะได้คำตอบจากกฤษฎีกา ที่จะทำให้ท่านนายกฯ มั่นใจว่า จะทำตาม หรือไม่ทำตามคำวินิจฉัยของศาลรธน.
แต่พฤติกรรม ที่เป็นเครื่องแสดงว่าท่านนายกฯ ยังไม่ยอมรับอำนาจการวินิจฉัยของศาล ก็คือ การไม่ขอพระราชทานคืน ร่าง รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยที่มาของ ส.ว ที่ศาลรธน.วินิจฉัยว่า เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายรธน.
การที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทยอ้างว่า ร่าง รธน.ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม อยู่ในพระบรมวินิจฉัยแล้ว ศาล รธน. จึงไม่มีอำนาจวินิจฉัย ซึ่งถือได้ว่าเป็นความเข้าใจผิด ( หากไม่ใช่ความจงใจ) ที่ประชาชนไม่อาจให้อภัยได้ เพราะในความเป็นจริงคำวินิจฉัยของศาลรธน. เป็นที่สุด
ในเมื่อคำกล่าวอ้างของท่านไม่สามารถหักล้างข้อกล่าวหาของประชาชนว่า รัฐบาลของท่าน เป็นกบฎต่อรธน. ประชาชนจึงใช้อำนาจอธิปไตยทางตรง ในการต่อต้านการกระทำอันเป็นกบฎ ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า หลังจากที่ท่านแถลงการณ์ ประชาชนกลับจะรวมตัวกันต่อต้านท่านมากขึ้น ไม่ใช่เพราะถูกชักจูงโดยแกนนำ หรือพรรคการเมืองใด แต่เป็นเพราะหมดความไว้วางใจรัฐบาล ที่ขาดความสำนึกขั้นพื้นฐาน ที่ต้องเคารพต่อคำวินิจฉัยของศาลสูงสุด ดังเช่นวิญญูชนทั่วไปพึงกระทำ แม้แต่สื่อมวลชนยักษ์ใหญ่อย่าง นสพ.ไทยรัฐ ที่คนทั่วไปเห็นว่าเป็น กระบอกเสียงให้รัฐบาล ก็ยังมีบทบรรณาธิการเมื่อ วันที่ 30 พ.ย. ชื่อ "ทรราชข้างมาก" เนื้อความตอนหนึ่งว่า
"ระบบพรรคการเมืองของไทยยังไม่เป็น ' พรรค' การเมืองที่แท้จริง เหมือนกับ นานาอารยประชาธิปไตย ไม่ใช่พรรคของมวลชน บางพรรคไม่ได้เป็นแม้แต่พรรคของสมาชิก หรือ ส.ส แต่เป็นพรรคของนายทุน ส.ส เป็นคล้ายกับพนักงานบริษัท ต้องออกเสียงลงประชามติตามคำสั่งเจ้าของพรรค จึงไม่อาจตรวจสอบรัฐมนตรี ที่เป็นระดับผู้ใหญ่ของพรรค "
ดังนั้นตราบใดที่รัฐบาล " ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ" ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่เชื่อฟังศาลรธน. ตราบนั้นก็อย่าหวังเรียกร้องการเชื่อฟังจากประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น