ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ถ้าจะหา “จำเลย” ว่าใครคือบุคคลสำคัญที่ทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องมีอันเป็นไป คงหนีไม่พ้นที่จะต้องปรากฏชื่อ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เจ้าของฉายา “โต้งไวต์ไล” ติดโผเป็นตัวเต็งอันดับต้นๆ ทั้งนี้ เพราะวีรกรรมวีรเวรที่โต้ง ไวต์ไล ได้สรรสร้างเอาไว้ให้กับรัฐบาลยิ่งลักษณ์นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องใหญ่เรื่องโตที่ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินการคลังของประเทศชาติ และความเป็นไปของรัฐบาลทั้งสิ้น
ยิ่งเมื่อเห็นผลงานโบว์แดงชิ้นล่าสุดในการบากหน้ามาเจรจาความเมืองกับชาวนาที่ลุกฮือขึ้นมาทวงเงินจากโครงการรับจำนำข้าวที่รัฐบาลและกระทรวงการคลังซึ่งโต้งไวท์ไลน์รับผิดชอบด้วยแล้ว ก็ยิ่งน่าสมเพช เพราะการอาสามาทำหน้าที่แทนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะเด็กนายกฯ ล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า เนื่องจากการไม่สามารถทำให้ชาวนาไว้วางใจได้ แม้จะใช้มุกเดิมพ่นลมปากหวังซื้อใจชาวนาก็ไม่เป็นผล เจรจาล้มเหลวไม่เป็นท่า กระทั่งชาวนาพร้อมใจกันโห่ฮาป่า ปาขวดน้ำเข้าใส่ด้วยความไม่พอใจ จนเดอะโต้งต้องเปิดตูดหนีไปแบบเนื้อตัวสั่นท่ามกลางการอารักขาของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารหลายสิบนาย
กระนั้นก็ดี นอกเหนือจากเรื่องโครงการรับจำนำข้าวแล้ว ต้องบอกว่า โต้ง ไวท์ไลน์มีผลงานอันเอกอุที่สร้างปัญหาคาราคาซังให้กับชาติบ้านเมืองนับตั้งแต่นั่งเก้าอี้ตัวสำคัญมาจนถึงทุกวันนี้ ทั้งเรื่องโครงการรถยนต์คันแรก การกู้เงิน 2.2 ล้านบาท เป็นต้น จนอาจกล่าวได้ว่า เขาคือขุนคลังและรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจที่ทำให้คนไทยเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้าเลยก็ว่าได้
เริ่มกันตั้งแต่โครงการรับจำนำข้าว นโยบายประชาชานิยมสุดติ่งด้วยการประกาศรับจำนำข้าวทุกเมล็ดจากชาวนาในราคาเกวียนละ 15,000 บาทที่ชาวนาต้องตบเท้าออกมาทวงเงินกันถึงกรุงเทพฯ ล่าสุดก็ที่สำนักปลัดกระทรวงกลาโหมเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา โดยตัวแทนชาวนา 10 คน นำโดยนายระวี รุ่งเรือง ประธานศูนย์ข้าวชุมชนภาคตะวันตก นายณัฐวัฒน์ ชั้นอินงาม ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวนาไทย เข้าทวงเงินจำนำข้าวกับทางรัฐบาลรักษาการ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่น.ส.ยิ่งลักษณ์กลับไม่กล้ามาเจอนาชาวนา และส่งนายกิตติรัตน์ เป็นหนังหน้าไฟมาเป็นตัวแทนในการเจรจาแทน
ทันทีที่ได้ลงมาพบผู้ชุมนุมท่ามกลางการอารักขาจากเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจนับสิบคนที่ใช้ยุทธวิธีดาวล้อมเดือน นายกิตติรัตน์ได้ชี้แจงกับกลุ่มผู้ชุมนุมถึงมาตรการการจ่ายเงินค่าข้าวตามโครงการรับจำนำข้าวว่า รัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา และขอโทษที่จ่ายเงินล่าช้า ซึ่งตลอด 4 ฤดูกาลที่ได้เปิดโครงการมาสามารถจ่ายเงินได้ตามปกติ
“รู้สึกตกใจเรื่องการค้างจ่ายเงินในช่วงเดือนตุลาคม ของบางจังหวัด ซึ่งน่าจะมีการจ่ายไปครบแล้ว จึงขอเวลาในการตรวจสอบกับทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.และจะรับไปดำเนินการโดยเร็วที่สุด รวมถึงผู้ที่ตกค้างในช่วงเดือนพฤศจิกายนด้วย ขณะเดียวกันรัฐบาลมีเป้าหมายให้ ธ.ก.ส.จ่ายเงินให้กับชาวนาในวันปกติวันละ 4,000 ล้านบาท โดยจะมีการดำเนินการให้เร็วที่สุด ไม่ปล่อยเวลาให้เนิ่นนานสร้างความไม่พอใจให้กับชาวนา”
ด้วยความที่เป็นเด็กในสังกัดที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรไว้วางใจใช้บริการ นายกิตติรัตน์ก็พยายามชี้แจงกับผู้ชุมนุมเต็มที่ หวังว่าจะเดินทางกลับไปด้วยความเข้าใจ ยื้อเวลาได้หายใจหายคอต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง
แต่ระหว่างที่นายกิตติรัตน์ชี้แจงอยู่นั่นเอง กลุ่มชาวนาเกิดความไม่พอใจ ตะโกนโห่ร้องไล่ตะเพิดไม่ยอมรับการชี้แจงครั้งนี้ เพราะสิ่งที่เขาต้องการคำตอบก็คือ จะได้เงินจากรัฐบาลเมื่อไหร่เพียงสถานเดียว ไม่ใช่มาฟังคำหวานหู เนื่องจากทุกวันนี้เดือดร้อนกันอย่างสาหัส จากนั้นก็ตามมาด้วยการปาขวดน้ำ ส้ม แตงโม และหัวเสาธง เข้าใส่เป็นของรางวัลตอบแทน จนนายกิตติรัตน์รีบวิ่งหนีหางจุกตูดกลับเข้าอาคาร
แน่นอน ปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่สามารถหาเงินมาให้ชาวนาได้ ก็เพราะนายกิตติรัตน์ไม่มีปัญหา แม้จะเค้นสมองสักเพียงใดก็ไม่มีเครดิตเพียงพอที่จะทำให้สถาบันการเงินใดๆ ปล่อยกู้ให้กับรัฐบาลได้ แม้จะยอมปล่อยกู้เช่นในกรณีของธนาคารออมสิน แต่สุดท้ายด้วยพลังของมวลมหาประชาชนที่พร้อมใจกันแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านด้วยการแห่ไปถอนเงิน ธนาคารออมสินจึงต้องล้มเลิกการให้เงินกู้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.) และตามมาด้วยการลาออกของนายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสินต้องตัดสินใจลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ
กรณีดังกล่าวเป็นผลมาจากกระทรวงการคลังของนายกิตติรัตน์ได้พยายามเล่นแร่แปรธาตุเพื่อหาแหล่งเงินกู้ที่จะนำมาชำระหนี้ให้กับชาวนาในโครงการรับจำนำข้าว โดยให้ธนาคารออมสินปล่อยกู้ให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในรูปแบบอินเตอร์แบงก์ (การปล่อยกู้ระหว่างธนาคาร) จากที่เคยให้วงเงินปกติ 5,000 ล้านบาท เป็น 20,000 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลัง จะทำ Letter of comfort ค้ำประกันให้ ซึ่งการดำเนินการด้วยวิธีการนี้ จะต้องมีการนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบก่อน ซึ่งในระหว่างการประชุมหารือร่วมกันครั้งนี้ นายกิตติรัตน์ ได้นำหนังสือ Letter of comfort ที่จัดทำไว้แล้ว มาเปิดเผยให้กับตัวแทนได้ดู ก่อนที่จะดึงหนังสือคืนกลับไปเก็บไว้เองซึ่งกรณีการทำ Letter of comfort นี้ อันที่จริงแล้วต้องเข้าครม.อนุมัติ และถือว่าผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 181 (3) (4) โดยหนังสือLetter of comfort นั้นนายกิตติรัตน์เก็บไว้ แต่ในหนังสือLetter of comfornt แจ้งว่าได้ส่งให้ ธ.ก.ส.แล้ว ทำนองหลอก ธ.ก.ส. เพราะธ.ก.ส.จะกู้ต่อเมื่อกระทรวงการคลังค้ำประกัน
จึงเท่ากับว่านายกิตติรัตน์พยายามเก็บหลักฐานไว้ เพื่อไม่ให้สาวไส้เอาผิดได้ จึงทำให้ไม่มีหลักฐาน Letter of comfort นั่นเอง
แต่ปรากฏว่าทันทีที่มีกระแสข่าวออกมาว่าธนาคารออมสินอนุมัติให้ ธ.ก.ส. กู้เงินแล้วนั้น ทางโซเชียลเน็ตเวิร์คก็ได้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการทำนิติกรรมอำพราง
โดยที่ทางด้านนายกิตติรัตน์ได้พยายามบีบธนาคารออมสินให้ปล่อยกู้เงินให้ธ.ก.ส.นั้นเป็นเรื่องระหว่างธนาคารด้วยกันเอง ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล พยายามทำให้ดูเหมือนว่าเป็นการกู้อินเตอร์แบงค์ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วการกู้แบบอินเตอร์แบงก์นั้น วัตถุประสงค์คือเพื่อเสริมสภาพคล่อง เข้าใจได้ง่ายว่า เป็นการกู้ระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งปกติแล้วเพียงแค่วันเดียวหรือสองวัน อย่างที่เรียกกันว่า over night ไม่ใช่ 9 เดือนอย่างทั้งสองธนาคารตกลงกัน
งานนี้รัฐบาลก็ฉาวโฉ่ขึ้นมาปิดไม่มิด เมื่อมีคนจับพิรุธได้ถึงความไม่ชอบมาพากล โดยนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ที่ใช้ชื่อว่า Thirachai Phuvanatnaranubala เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมาว่า
“หากเป็นการให้กู้อินเตอร์แบงก์ตามปกติ ทำไมต้องมีรัฐมนตรีคลังนัดมาประชุมร่วมกัน เวลาแบงก์เขากู้อินเตอร์แบงก์กันนั้น ผู้ติดต่อกันระหว่างแบงก์ คือเจ้าหน้าที่บริหารเงิน ในห้องค้าเงินของแต่ละแบงก์ครับ พวกบริหารเงินนั้น เขาติดต่อกันทางโทรศัพท์ หรือจอรอยเตอร์ ไม่เคยมีการนัดคุยกันต่อหน้าด้วยซ้ำ
ที่สำคัญคือ ไม่เคยมีการเจรจาตกลงกัน ผ่านรัฐมนตรีคลัง แม้แต่ครั้งเดียว ในประวัติศาสตร์การธนาคารของไทยทั่วโลก เขาก็ทำกันอย่างนี้ การกู้อินเตอร์แบงก์ในครรลองปกตินั้น ไม่มีประเทศใด เคยมีการนัดพูดกันระหว่างสองแบงก์ ผ่านรัฐมนตรีคลังและการกู้อินเตอร์แบงก์ในครรลองปกตินั้น ไม่มีประเทศใด เคยมีกระทรวงการคลัง ออกหนังสือรับรู้การกู้ดังกล่าว ใดๆ ทั้งสิ้น หาก ธ. ออมสิน เกิดจะเห็นว่า ธ.ก.ส มีฐานะเข้มแข็ง ทำไมต้องมีจดหมายคอมฟอร์ต จากกระทรวงการคลังล่ะครับ”
โดยวิธีการที่นายกิตติรัตน์พยายามซิกแซกทำนิติกรรมอำพรางเพื่อหาเงินมาอุดรูรั่วโครงการรับจำนำข้าวแทนที่จะลดกระแสคนประท้วงรัฐบาลรักษาการลง กลับกลายเป็นการตอกย้ำสร้างปรากฏการณ์ให้ทั่วโลกต้องตะลึง คือประชาชนแห่แหนออกไปถอนเงินที่ธนาคารออมสินจนเงินเกลี้ยงคลังต้องออกเป็นเช็คแทน
ก็เท่ากับว่า การตัดสินใจบีบธนาคารออมสินให้ปล่อยกู้เงินครั้งนี้ ล้มไม่เป็นท่า เพราะเท่ากับว่า เป็นการท้าทายพลังของประชาชนชนิดที่ว่า ยิ่งกว่าไฟลามทั่วทุ่งเสียอีก
สถานภาพของรัฐบาลรักษาการตอนนี้จึงร่อแร่ พ่ายแพ้หมดสภาพในแง่ที่จะกุมอำนาจไว้ในมือได้อีกต่อไป เรื่องเงินๆทองๆที่นายใหญ่หวังจะกอบโกยจึงเป็นหนทางที่ริบหรี่เกินทน เพราะนายกิตติรัตน์ไม่สามารถสานฝันให้เป็นจริงได้
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ได้ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2554 ว่า“ถ้ารัฐบาลทำโครงการรับจำนำข้าวแล้ว ทำให้รัฐเสียหายมากกว่า 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นงบที่รัฐบาลชุดก่อนใช้ชดเชยในระบบประกันรายได้เกษตรกร รัฐบาลพรรคเพื่อไทยคงอยู่ไม่ได้ ไม่ต้องตั้งคำถามเลยว่า ในฐานะรองนายกฯเศรษฐกิจจะรับผิดชอบอย่างไร”
นายกิตติรัตน์ยังคงจำคำพูดของตัวเองได้หรือไม่
ถัดจากเรื่องข้าว ก็มาถึงอภิมหาโครงการขนาดใหญ่ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์และนายกิตติรัตน์หมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงด้วยการมอบหมายให้กระทรวงการคลังออก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท มาใช้ลงทุนสร้างรถไฟความเร็วสูง โดยไม่สนใจว่า ประชาชนคนไทยจะต้องแบกภาระไปอีกสักกี่สิบกี่ร้อยปีถึงจะใช้หนี้หมด
“การลงทุนครั้งนี้อยู่ในกรอบวินัยการคลังสูงที่สุด ส่วนการชำระหนี้เชื่อว่า ในกรณีที่ชำระหนี้เงินต้นน้อยๆ จะสามารถใช้หนี้จนบาทสุดท้ายหมดภายใน 50 ปีจากนี้ แต่ถ้าอยากจะใช้หนี้เร็วขึ้นก็ทำได้โดยเพิ่มการชำระเงินต้น แต่ตอนนี้ขอสมมุติเรื่องการชำระเงินต้นไว้แบบช้าๆ เหมือนคนที่เคยผ่อนบ้านจะเข้าใจว่าการผ่อนบ้าน ถ้าต้องการที่จะหมดเร็วเราก็เพิ่มเงินต้นอีก และเมื่อชำระหนี้หมด ก็ไม่ได้ส่งผลเสียอะไร เพราะประเทศไทยจะมีทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจากการลงทุน ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่า 2 ล้านล้านบาทหลายเท่า” นายกิตติรัตน์อธิบาย
เค้กชิ้นใหญ่ที่หวังจะสวาปามเวลานี้จึงเป็นที่น่าเสียดาย เพราะรัฐบาลประกาศยุบสภาไปเสียก่อน นอกจากนี้ยังตกเป็นคดีความใหญ่โตเมื่อมีผู้ฟ้องร้องคดีไปสู่ชั้นศาล ซึ่งล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญได้นัดไต่สวนคดีร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา โดยมีนายพิสิฐ ลี้อาธรรม อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นผู้เบิกความ และจะนัดหมายให้นายคํานูณ สิทธิสมาน และคณะ รวมทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคณะ ในฐานะผู้เสนอความคิดในคดี รวมถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในฐานะหัวหน้าคณะรัฐมนตรี ที่เป็นผู้เสนอร่างพ.ร.บ.กู้เงิน2 ล้านล้านบาท ให้มายื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีเป็นหนังสือต่อศาล ภายในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2557
เท่ากับว่า โอกาสจะได้ใช้เงิน 2 ล้านล้านในชาตินี้ก็เป็นอันต้องหยุดชะงักและมีสิทธิ์ต้องโทษดำเนินคดีอีกต่างหาก
เรื่องต่อมาก็คือ โครงการรถยนต์คันแรก ซึ่งนายกิตติรัตน์ได้ให้ความเห็นต่อโครงการนี้ไว้ว่า “จะทำให้คุณภาพชีวิตครอบครัวคนไทยดีขึ้น เช่นเราอาจเคยเห็นพ่อ แม่ ลูก ซ้อนมอเตอร์ไซค์ 3 คน - ซึ่งเป็นอันตราย พอมีโครงการคืนภาษีรถยนต์คันแรก ก็ทำให้พวกเขาซื้อรถยนต์ได้ง่ายขึ้น คุณภาพชีวิตก็ดีขึ้น”
ทั้งนี้ประชาชนที่สนใจเข้าโครงการก็จะต้องมีการตรวจสอบว่ามีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการตามข้อกำหนดหรือไม่ ซึ่งสามารถจองรถและลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์เพื่อรับเงินคืนภาษีรถยนต์คันแรกไม่เกิน 1 แสนบาท จนกระทั่งมียอดผู้มาใช้สิทธิ์รถคันแรกเกือบ 6 แสนคัน เมื่อปลายปี 2555 จนทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆมากมายว่านำภาษีของประเทศชาติไปใช้ไม่เหมาะสม
“โดยส่วนตัวมั่นใจว่า ปัจจัยดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของประเทศอย่างแน่นอน ส่วนหนึ่งเพราะการคืนเงินในโครงการดังกล่าวนั้นเป็นการใช้เงินภาษีจากที่เก็บจากผู้ซื้อรถยนต์ก่อนหน้านี้อยู่แล้ว รัฐบาลไม่ต้องหางบประมาณในส่วนอื่นมาใช้ดำเนินการโครงการนี้แต่อย่างใด ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้เดือดร้อนแต่อย่างใดกับโครงการรถยนต์คันแรก แม้ว่าปัจจุบัน จะมีประชาชนมาขอใช้สิทธิในโครงการเป็นจำนวนมากก็ตาม แต่อยากให้มองในทางกลับกันว่า การมาขอใช้สิทธิที่เพิ่มมากขึ้นนั้นรัฐบาลจะได้ประโยชน์มากกว่า เพราะช่วยสนับสนุนรายได้ในส่วนของภาษีรถยนต์ให้เพิ่มมากขึ้น”นายกิตติรัตน์ประกาศด้วยความมั่นใจ
แต่มาในวันนี้ นโยบายของโต้ง ไวต์ไล ที่เคยใช้เป็นไม้เด็ดให้กับรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์เจ๊งย่อยยับไม่มีชิ้นดี เนื่องจากค่ายรถยนต์ได้ประกาศยุติโครงการรถคันแรกเพราะประชาชนได้ทิ้งใบสั่งจองกว่า 100,000 คัน
สืบเนื่องจากวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. สรุปจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการรถยนต์คันแรกจำนวนทั้งสิ้น 1.13 ล้านคัน ซึ่งปรากฏว่ามียอดตกค้างจากการทิ้งใบจองกว่า 100,000 คัน งานนี้ทำเอาค่ายรถยนต์ต่างๆได้แจ้งขอยุติการเข้าร่วมโครงการกับภาครัฐเนื่องจากก่อนหน้านี้ค่ายรถยนต์ต่างเร่งกำลังการผลิตรถยนต์คันแรก เพื่อส่งมอบให้เอเย่นต์หรือผู้แทนจำหน่าย แต่เมื่อมีการทิ้งใบสั่งจองจำนวนมากจึงส่งผลกระทบให้รถยนต์ในโครงการ 130,000 คันไปตกค้างอยู่ในสต็อกของโชว์รูมรถยนต์ และที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้นก็คือ บางโชว์รูมต้องเสียค่าเช่าที่จอดรถยนต์เพิ่มขึ้นรวมถึงเสียดอกเบี้ยให้ไฟแนนซ์ ทำให้ค่ายรถยนต์ต้องเปลี่ยนแผนหันไป ผลิตเพื่อการส่งออกเพิ่มมากขึ้น
“ภาคเอกชนขอวิงวอนว่า ไม่ว่ารัฐบาลใหม่จะเป็นพรรคการเมืองใด หรือในการหาเสียงเลือกตั้งในอนาคต ขออย่าให้พรรคการเมืองนำโครงการดังกล่าว มาใช้หาเสียงอีกเพื่อหวังคะแนนเสียงจากประชาชน เพราะผลที่เกิดขึ้นแม้กระทรวงการคลังจะสามารถจัดสรรงบประมาณมาจ่ายคืนภาษีรถยนต์ให้กับผู้เข้าร่วมโครงการได้ แต่ในข้อเท็จจริงปรากฏว่า โครงการนี้ทำให้แผนการผลิตรถยนต์ของประเทศไทยผิดเพี้ยนไปจากปกติ”
สำหรับการคืนเงินภาษีสรรพสามิตจำนวนไม่เกิน 100,000 บาทให้แก่ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการนั้น ล่าสุดมีผู้ได้รับเงินไปแล้ว 845,983 ราย คิดเป็นเงิน 60,377 ล้านบาท โดยได้เบิกจ่ายเงินไปทั้งหมด 28 ครั้ง ทุกๆวันที่ 9 ของเดือนโดยสรุป ปี 2555 ได้ปิดโครงการรถคันแรก ที่ 1.255 ล้านคัน โดยใช้งบกลางมา คืนภาษี กว่า 9.1 หมื่นล้านบาท
นี่ไม่นับรวมถึงที่มาของฉายา"ไวต์ไล" หรือ โกหกสีขาว ของนายกิตติรัตน์ที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่ไปกล่าวปราศรัยในงานสัมมนา “1 ปี ยิ่งลักษณ์กับอนาคตเศรษฐกิจไทย” ที่โรงแรมดุสิตธานี เมื่อวันที่ 23 ส.ค.55 โดยออกมายอมรับว่า ตัวเลขเป้าการส่งออกในปี 2555 เติบโตไม่ถึง 15 % อย่างที่คาดการณ์ก่อนหน้านี้ พร้อมทั้งระบุว่า ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจแต่อย่างใด เพราะพูดในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และรมว.คลัง จึงได้รับอนุญาตให้พูดไม่จริงในบ้างเรื่องก็ได้ ซึ่งนอกจากจะเป็นตราประทับลงบนหน้าผากของนายกิตติรัตน์เองแล้ว ยังทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลพินาศฉิบหายไปพร้อมๆ กันอีกต่างหาก
งานนี้จึงเรียกว่าทุกโครงการที่โต้ง ไวต์ไลดูแลอยู่ล้วนเป็นยุทธศาสตร์หลักของรัฐบาลที่หวังจะใช้นโยบายประชานิยมซื้อใจประชาชนให้อยู่มือ แต่เวลานี้ได้สวนทาง พ่นพิษใส่รัฐบาลชนิดที่ว่าย่อยยับไม่มีชิ้นดี จึงเป็นบทสรุปปิดฉากส่งท้ายนโยบายหลักของรัฐบาลชุดนี้ว่าไปไม่รอด ชาวนาก็ไม่เอา คนกรุงก็ไม่เอา เหลือแต่นายใหญ่ทักษิณ ชินวัตรที่ตอนนี้กำลังโดนรุกฆาตทุกทิศ ทุกทาง จะเอาเดอะโต้ง ไวต์ไลไปกอดคอกันตายที่ไหนดี...ก็เท่านั้น