ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ผลจากการที่ผู้บริหารธนาคารออมสินแอบมุมมิบอนุมัติวงเงินกู้แบบอินเตอร์แบงก์ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เพื่อนำไปจ่ายให้ชาวนาตามโครงการรับจำนำข้าว ส่งผลอย่างคาดไม่ถึงต่อสถานะของธนาคาร จนสุดท้ายบอร์ดของธนาคารต้องยอมถอย และนายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารต้องยื่นใบลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ
กระแสข่าวการอนุมัติเงินกู้ของธนาคารออมสินให้ ธ.ก.ส.ถูกแพร่ออกไปตั้งแต่ก่อนวันที่มาฆบูชา 14 ก.พ. โดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้สั่งการให้ ธ.ก.ส.กู้เงินจากธนาคารออมสิน โดยการออก “หนังสือกล่อมใจ (Letter of Comfort)” ให้ทั้งสองธนาคารแทนการออกหนังสือค้ำประกัน เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมาย เพราะหากออกเป็นหนังสือค้ำประกันจะกลายเป็นหลักฐานเอาผิดรัฐบาลฐานกระทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 ที่ห้ามไม่ให้รัฐบาลรักษาการใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐ เพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง
ต่อมา ในวันที่ 14 ก.พ.นายวรวิทย์ ยอมรับว่าธนาคารออมสินจะให้กู้ ธ.ก.ส.แบบอินเตอร์แบงก์ หรือการกู้เงินระหว่างธนาคาร ส่วนเงินกู้ดังกล่าว ธ.ก.ส.จะนำไปใช้เรื่องจำนำข้าวหรือไม่ ตนไม่ทราบ ขณะที่นางเบญจา หลุยเจริญ รักษาการ รมช.คลัง พูดชัดว่ารัฐบาลจะกู้เงิน ธ.ก.ส.เพื่อโครงการรับจำนำข้าว
ซึ่งนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง และประธาน ธ.ก.ส.ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเอง ตั้งข้อสังเกตว่า หากเป็นการให้กู้อินเตอร์แบงก์ตามปกติ ทำไมต้องมีรัฐมนตรีคลังนัดผู้บริหารทั้งสองธนาคารมาประชุมร่วมกัน เพราะการกู้อินเตอร์แบงก์กันนั้น ผู้ติดต่อกันระหว่างแบงก์คือเจ้าหน้าที่บริหารเงิน ในห้องค้าเงินของแต่ละแบงก์จะติดต่อกันทางโทรศัพท์ หรือผ่านจอรอยเตอร์ ไม่เคยมีการนัดคุยกันต่อหน้า ที่สำคัญคือ ไม่เคยมีการเจรจาตกลงกันผ่านรัฐมนตรีคลังแม้แต่ครั้งเดียว ในประวัติศาสตร์การธนาคารของไทยและทั่วโลก การกู้อินเตอร์แบงก์ในครรลองปกตินั้นไม่มีประเทศใดเคยมีการนัดพูดกันระหว่างสองแบงก์ผ่านรัฐมนตรีคลัง
นอกจากนี้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ยังให้สัมภาษณ์สื่อไว้ล่วงหน้าว่า จะจ่ายเงินให้ชาวนาได้ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 17 ก.พ.เป็นต้นไป โดยไม่ระบุให้ชัดเจนว่าจะได้เงินมาจากไหน
การปล่อยเงินกู้ของธนาคารออมสินให้ ธ.ก.ส.ครั้งนี้ จึงเป็นนิติกรรมอำพราง เพื่อเอาเงินไปจ่ายค่ารับจำนำข้าว โดยหลีกความผิดทางกฎหมายนั่นเอง
ยิ่งเมื่อนายวรวิทย์เปิดแถลงข่าวด่วนในช่วงบ่ายวันอาทิตย์ที่ 16 ก.พ.ยอมรับว่าธนาคารออมสินได้มีการปล่อยกู้แบบอินเตอร์แบงก์ให้กับ ธ.ก.ส.จริง ในวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท แต่เป็นการปล่อยในระยะเวลา 30 วัน ไม่ใช่ 9 เดือนตามที่มีกระแสข่าว โดยถึงปัจจุบัน ธ.ก.ส.ใช้เงินไปในหลักพันล้านบาท ก็ยิ่งเพิ่มความน่าสงสัย นั่นเพราะตามปกติ การปล่อยกู้อินเตอร์แบงก์จะมีระยะเวลาชั่วข้ามคืนเท่านั้น หรืออย่างมากก็ไม่เกิน 7 วัน
นอกจากนี้ การที่นายวรวิทย์อ้างว่าไม่ทราบว่า ธ.ก.ส.จะนำเงินดังกล่าวไปใช้อะไร ไปจ่ายค่ารับจำนำข้าวหรือไม่ เพราะการให้กู้ดังกล่าวเป็นไปเพื่อเสริมสภาพคล่องของธนาคารเท่านั้น ยิ่งเป็นการเพิ่มพิรุธยิ่งขึ้น นั่นเพราะ ธ.ก.ส.ไม่ได้มีปัญหาการขาดสภาพคล่องแต่อย่างใด เพียงแต่ไม่สามารถนำเงินไปจ่ายชาวนาได้ เพราะจะเป็นการผิดกฎหมาย เนื่องจากได้ใช้เงินเกินว่าที่ ครม.เคยอนุมัติไว้แล้ว
ช่วงเย็นวันที่ 16 ก.พ.สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจธนาคารออมสิน (สร.อส.) จึงออกแถลงการณ์ด่วน ขอให้ธนาคารออมสินยกเลิกการปล่อยกู้อินเตอร์แบงก์ให้กับ ธ.ก.ส. เนื่องจากการปล่อยกู้ดังกล่าวทำให้ผู้ฝากและสาธารณชนทั่วไปเกิดข้อกังขา
เมื่อย่างเข้าสู่วันจันทร์ที่ 17 ก.พ.สิ่งที่เกิดขึ้นกับธนาคารออมสินก็ไม่ผิดจากความคาดหมาย เมื่อลูกค้าพากันไปถอนเงินฝากกันเป็นจำนวนมาก เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยในการปล่อยกู้ให้ ธ.ก.ส. จนบางสาขาไม่มีเงินสดจ่ายให้ลูกค้า รวมยอดการถอนเงินวันแรกประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ขณะที่ยอดฝากมีเพียง 1 หมื่นล้านบาท
วันที่ 18 ก.พ.กระแสการถอนเงินจากธนาคารออมสินยังดำเนินไปต่อเนื่อง โดยมียอดรวมการถอนเงินของวันนั้นประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งสถานการณ์รุนแรงถึงขั้นผู้จัดการบางสาขาต้องร้องไห้ ขณะที่พนักงานธนาคารออมสินจำนวนมากได้แต่งชุดดำมาทำงานเพื่อประท้วงผู้บริหาร
ในที่สุด ช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายวรวิทย์ได้ตัดสินใจยื่นลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น โดยให้มีผลใน 30 วัน ขณะที่คณะกรรมการ(บอร์ด)ธนาคารออมสินมีมติให้ยกเลิกวงเงินกู้อินเตอร์แบงก์แก่ ธ.ก.ส.จำนวน 2 หมื่นล้านบาท พร้อมให้เรียกเงินที่ปล่อยให้ไปแล้ว 5 พันล้านบาทคืน
สถานการณ์ที่สั่นคลอนต่อความมั่นคงของธนาคารออมสินจึงคลี่คลายลง
นั่นเท่ากับว่าแผนการใช้วิธีนิติกรรมอำพรางมุบมิบเงินจากธนาคารออมสินไปจ่ายเป็นค่ารับจำนำข้าวนั้นถูกจับได้ และต้องยอมคืนของกลางในที่สุด
รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงต้องเผชิญกับแรงบีบจากกลุ่มชาวนาที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องเงินค่าจำนำข้าวต่อไป และนี่เป็นจุดตายที่ทำให้ระบอบทักษิณต้องสูญเสียฐานคะแนนเสียงที่ค้ำจุนอำนาจทางการเมืองมานานไปในที่สุด
สิ่งที่เครือข่ายระบอบทักษิณทำได้ จึงมีเพียงการออกมาตอบโต้อย่างไร้สติปัญญา ต่อกระแสการคัดค้านการใช้นิติกรรมอำพรางดูดเงินธนาคารออมสินไปใช้รับจำนำข้าว
เครือข่ายบริวารของ นช.ทักษิณพยายามบิดเบือนว่า การถอนเงินจากธนาคารออมสินคือการไม่อยากช่วยชาวนา คนพวกนี้คือพรรคพวกอำมาตย์ไม่ต้องการให้รัฐบาลเอาเงินไปจ่ายค่ารับจำนำข้าวให้ชาวนา พร้อมยัดข้อหา “ใจดำ” ให้คนที่ไปถอนเงินทันที
ขณะเดียวกันพวกเขาก็พยายามสร้างภาพว่า ยังมีคนจำนวนมากที่เห็นด้วยกับรัฐบาลและอยากจะช่วยชาวนา จึงช่วยกันป่าวประกาศให้คนเสื้อแดงเอาเงินไปฝากในธนาคารออมสิน สวนกระแสคนที่ไปถอนเงิน
วันที่ 18 ก.พ.นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยของ นช.ทักษิณ พร้อมเครือข่ายบริวาร อาทิ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เดินทางไปฝากเงินที่ธนาคารออมสิน สาขาบางกอกทาวเวอร์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ โดยอ้างว่าเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ธนาคารออมสินในการนำเงินไปปล่อยกู้ช่วยชาวนา
แต่เมื่อรวมยอดเงินฝากทั้งหมดแล้วก็มีแค่ 3 ล้านบาท ไม่มีทางเทียบกันได้กับยอดถอนในวันนั้นที่สูงถึง 4 หมื่นล้านบาท มิหนำซ้ำยังถูกประชาชนที่ทำงานในอาคารบางกอกทาวเวอร์ มาเป่านกหวีด ชูป้ายด่า พร้อมตะโกนขับไล่ จนหนีออกมาแทบไม่ทัน
ส่วนนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ได้เดินทางไปที่ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท อ้างว่าได้นำกลุ่มผู้ที่พร้อมจะช่วยเหลือชาวนามาฝากเงิน แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนใจเนื่องจากไม่พอใจที่เห็นพนักงานส่วนใหญ่แต่งชุดดำต่อต้าน และพนักงานไม่เต็มใจให้ฝาก แต่บริการเป็นอย่างดีกับลูกค้าที่มาถอนเงินหรือปิดบัญชี
แคมเปญระดมคนไปฝากเงินในธนาคารออมสินจึงล้มเหลวไม่เป็นท่า
และที่จริงแล้ว ถึงไปฝากเงินในธนาคารออมสินให้มากกว่าเงินที่ถูกถอนออกไป ก็ไม่อาจช่วยชาวนาได้ เพราะไม่มีช่องทางที่จะปล่อยให้กู้ได้อย่างถูกกฎหมาย ที่สำคัญคือบอร์ดได้ยกเลิกวงเงินกู้ที่จะปล่อยให้ ธ.ก.ส.เรียบร้อยแล้ว
ขณะที่การไปถอนเงินจากธนาคารออมสินก็ไม่ได้หมายถึงการไม่อยากช่วยชาวนาตามที่โดนคนเสื้อแดงกล่าวหา แต่เป็นเพราะไม่อยากให้มีการปล่อยกู้อย่างผิดหลักเกณฑ์จนกระทบต่อความน่าเชื่อถือของธนาคารต่างหาก
กรณีที่เกิดกับธนาคารออมสินสะท้อนว่าโครงการรับจำนำข้าวที่ใช้เงินไปแล้ว 9.3 แสนล้านบาทตลอดช่วง 3 ฤดูการผลิตที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์มาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะไม่สามารถระบายข้าวออกจากสต๊อก จนหมดปัญญาจะหาเงินมารับจำนำต่อ ต้องใช้เล่ห์เพทุบายล้วงเงินจากที่ไหนก็ได้มาให้ชาวนา
และยังสะท้อนถึงความไร้สติปัญญาของคนในเครือข่ายทักษิณ ที่มุ่งแต่จะรับใช้นายใหญ่ โดยไม่สนใจเหตุผลหรือความถูกผิด
นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หนึ่งในเครือข่ายบริวารทักษิณ พาคนเสื้อแดงไปฝากเงินที่ธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่ โดยอ้างว่าเพื่อช่วยชาวนา แต่ในที่สุดก็เปลี่ยนใจ เมื่อเห็นพนักงานใส่ชุดดำประท้วงผู้บริหาร เมื่อ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา