ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-เมื่อรัฐบาลประกาศยุบสภา หนึ่งในนโยบายประชาชนนิยมที่ ถูกจับตามองอีกเรื่องหนึ่ง นอกจากโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดที่กำลังเสื่อมสลาย หรือโครงการแท็บเล็ตนักเรียนที่เอกชนชิ่งหนี
หนึ่งในนั้นคือประชานิยมที่เรียกว่าสุดหรูว่า“โครงการรถคันแรก”
จากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีข่าว ค่ายรถยนต์ประกาศยุติโครงการรถคันแรก หลังพบว่าลูกค้าทิ้งใบจองกว่า 100,000 คัน วอนอย่าใช้เป็นนโยบายการหาเสียงทางการเมืองอีก
ข่าวระบุว่า กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. สรุปจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการรถยนต์คันแรกจำนวนทั้งสิ้น 1.13 ล้านคัน และมียอดตกค้างจากการทิ้งใบจองกว่า 100,000 คัน โดยค่ายรถยนต์ต่างๆได้แจ้งขอยุติการเข้าร่วมโครงการกับภาครัฐ เนื่องจากก่อนหน้านี้ค่ายรถยนต์ต่างเร่งกำลังการผลิตรถยนต์คันแรก เพื่อส่งมอบให้เอเย่นต์หรือผู้แทนจำหน่าย แต่เมื่อมีการทิ้งใบจอง ส่งผลให้รถยนต์ในโครงการ 130,000 คันไปตกค้างอยู่ในสต็อกของโชว์รูมรถยนต์ ในขณะที่บางโชว์รูมต้องเสียค่าเช่าที่จอดรถยนต์เพิ่มขึ้น รวมถึงเสียดอกเบี้ยให้ไฟแนนซ์ ทำให้ค่ายรถยนต์ต้องเปลี่ยนแผนหันไปผลิตเพื่อการส่งออกเพิ่มมากขึ้น
โดย นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒน์พงษ์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) บอกว่า กรณีได้รับแจ้งจากผู้ที่ถือใบจอง ทั้งการขอทิ้งใบจองและทิ้งเงินมัดจำ ขณะที่บางรายแจ้งว่าได้ซื้อรถยนต์รุ่นอื่นและยี่ห้อใหม่แล้วเพราะข้อเสนอที่ดีกว่าโครงการรถคันแรก ทำให้ไม่มีปัญหาการฟ้องร้องของลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการ
ย้ำอีกที เป็นจำนวนของประชาชนที่เข้าร่วมโครงการรถยนต์คันแรก ที่ล่าสุดมาขอรับรถยนต์จากผู้ผลิตรถยนต์ไปแล้วรวม 1.13 ล้านคัน และมียอดตกค้างราว 100,000 คัน
“ภาคเอกชนขอวิงวอนว่า ไม่ว่ารัฐบาลใหม่จะเป็นพรรคการเมืองใด หรือในการหาเสียงเลือกตั้งในอนาคต ขออย่าให้พรรคการเมืองนำโครงการดังกล่าว มาใช้หาเสียงอีกเพื่อหวังคะแนนเสียงจากประชาชน เพราะผลที่เกิดขึ้นแม้กระทรวงการคลังจะสามารถจัดสรรงบประมาณมาจ่ายคืนภาษีรถยนต์ให้กับผู้เข้าร่วมโครงการได้”
แต่ในข้อเท็จจริงปรากฏว่า โครงการนี้ทำให้แผนการผลิตรถยนต์ของประเทศไทยผิดเพี้ยนไปจากปกติ เพราะก่อนหน้านี้ค่ายรถยนต์ก็เร่งกำลังการผลิตรถยนต์คนแรกเพื่อส่งมอบให้เอเย่นต์หรือผู้แทนจำหน่าย แต่เมื่อมีการทิ้งใบจอง ได้ทำให้รถยนต์ในโครงการ 130,000 คัน ไปตกค้างในสต๊อกที่โชว์รูมรถยนต์ และบางโชว์รูมต้องเสียค่าเช่าที่จอดรถยนต์เพิ่มขึ้น และเสียดอกเบี้ยให้ไฟแนนซ์ ทำให้ค่ายรถยนต์ต้องเปลี่ยนแผนเพื่อหันไปผลิตเพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ เมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ค่ายรถยนต์ในประเทศได้เริ่มกลับสู่ภาวะปกติ สามารถผลิตรถยนต์เพื่อส่งมอบให้โชว์รูมทั่วประเทศได้รวม 100,000 คัน โดยในจำนวนนี้มาจากยอดใบจองจากงานมอเตอร์เอ็กซ์โปในช่วงเวลาดังกล่าว 41,000 คัน
มีการยืนยันว่า ผลจากดีมานด์เทียมเริ่มแสดงตัวเป็นระยะๆตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เมื่อผู้ใช้สิทธิเริ่มปฏิเสธการรับรถ หรือทิ้งใบจอง และสถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้นๆ ล่าสุดขึ้นไปถึง 144,610 ราย (ตัวเลขต้นปี 2556)
ขณะที่ “นายสมชาย พูลสวัสดิ์” อธิบดีกรมสรรพสามิต สรุปว่า ปัจจุบันมีประชาชนที่เข้าร่วมโครงการรถยนต์คันแรกและได้ใช้สิทธิ์ โดยแบ่งออกเป็นได้รับรถยนต์ไปแล้ว 1,125,627 คัน ยังคงเหลือผู้ที่ยังไม่มารับรถยนต์ 120,622 คัน ทำให้เกิดยอดคงค้างที่ไม่สามารถสรุปได้ว่าจะมีคนมาใช้สิทธิ์หรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ กรมสรรพสามิตได้หารือกับผู้ประกอบการรถยนต์ โดยจะเปิดโอกาสให้บริษัทรถยนต์ติดต่อสอบถามกับลูกค้าที่ถือใบจองเข้าร่วมโครงการว่า ยังมีความต้องการเข้าร่วมโครงการอีกหรือไม่ หากไม่เข้าร่วมโครงการก็จะตัดสิทธิ์ทันที”
ส่วนกรณีที่มีความประสงค์จะร่วมโครงการต่อไป แต่ไม่ยอมมารับรถยนต์จะด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม ได้หารือกับผู้ประกอบการว่า ควรผ่อนผันเรื่องระยะเวลา แต่ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าจะรับรถยนต์ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ซึ่งประเด็นนี้ในใบจองของรถยนต์บางยี่ห้อบางรุ่น ได้มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าจะรับรถได้ภายในกี่เดือน นับจากวันที่จองรถยนต์ แต่ก็ยอมรับว่ามีใบจองอยู่จำนวนหนึ่งไม่ได้ระบุระยะเวลารับรถยนต์ที่ชัดเจน ซึ่งประเด็นนี้ บริษัทรถยนต์ได้รับปากจะไปหารือกับลูกค้าเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน
ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตมีความต้องการที่จะปิดโครงการดังกล่าว หลังจากได้ดำเนินโครงการมาตั้งแต่เดือน ต.ค.54 และได้ขยายระยะเวลาเข้าร่วมโครงการจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.55 เนื่องจากในช่วงปลายปี 54 ประเทศไทยประสบกับภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ ทำให้ประชาชนชะลอเข้าร่วมโครงการ ขณะที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนหลายรายประสบปัญหาน้ำท่วมโรงงานจนไม่สามารถเปิดไลน์การผลิตได้
หากประเมินจากตัวเลขยอดรถยนต์คงค้าง 120,622 คัน มั่นใจว่าจะมีผู้มาใช้สิทธิเพิ่มอีกประมาณ 20,000 คัน ทำให้ยอดคงค้างที่จองรถยนต์ไว้แต่ไม่มารับรถยนต์มีเหลืออยู่ประมาณ 100,000 คัน หรือไม่ถึง 10% จากยอดจองรถยนต์ที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมดจึงไม่น่ามีผลกระทบต่อกระบวนการผลิตรถยนต์ภายในประเทศ เนื่องจากผู้ประกอบการปรับตัวได้ทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
สำหรับการคืนเงินภาษีสรรพสามิตจำนวนไม่เกิน 100,000 บาทให้แก่ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการนั้น ล่าสุดมีผู้ได้รับเงินไปแล้ว 845,983 ราย คิดเป็นเงิน 60,377 ล้านบาท โดยได้เบิกจ่ายเงินไปทั้งหมด 28 ครั้ง ทุกๆวันที่ 9 ของเดือน ส่วนเงื่อนไขที่สำคัญของโครงการรถยนต์คันแรกคือ ผู้ซื้อรถยนต์คันแรกต้องมีอายุ 21 ปีขึ้นไป โดยเป็นรถยนต์ใหม่อัตรากำลังไม่เกิน 1,500 ซีซี ส่วนรถกระบะไม่กำหนดซีซี มีราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ห้ามเปลี่ยนมือภายใน 5 ปี และกำหนดระยะเวลาของมาตรการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.54 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.55
โดยสรุปปี2555 ได้ปิดโครงการรถคันแรก ที่ 1.255 ล้านคัน โดยใช้งบกลางมา คืนภาษี กว่า 9.1 หมื่นล้านบาท
ย้อนกลับไปดูข่าวเก่า ๆ ของโครงการรถยนต์คันแรก พบว่า เมื่อปี 2555หลังเริ่มโครงการไม่นาน “สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย” ได้ประเมินกันว่าจะมีการยกเลิกการใช้สิทธิ์ประมาณ 20-30% จึงอาจทำให้เหลือยอดผู้ใช้สิทธิ์รถยนต์คันแรกจริงประมาณ 8-9 แสนคันเท่านั้น
"ตอนนี้มีลูกค้าที่ได้รับเงินคืนตามสิทธิ์รถยนต์คันแรกไปแล้วและเป็นลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้กับสถาบันการเงิน ทำให้ต้องยึดรถ เพื่อนำออกประมูลขายทอดตลาดเกือบ 300 คัน"
จะเห็นได้ว่าเป็นตัวเลข เฉพาะปี2555 ที่มีการยึดขึ้นไปแล้วกว่า 300 คัน ตอนนี้กรมสรรพสามิต กับสมาคมธุรกิจเช่าซื้อยังไม่มีการเปิดเผยตัวเลขของปี 2556 ที่อาจจะเพิ่มขึ้นสูงกว่าเดิม เพราะรถล๊อกสุดท้ายจะออกมาวิ่งสู่ท้องถนนในปี 2557
หรือย้อนกลับไปดูอีกเรื่องเมื่อปลายปี 2556 ในงานสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “โครงการรถยนต์คันแรกกับการผิดสัญญาเช่าซื้อ” ที่มีผู้พิพากษาศาล และข้าราชการ นักกฎหมาย นักธุรกิจด้านรถยนต์ เข้าร่วมสัมมนา
โดยเฉพาะตัวเลขจาก “บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ” ที่ระบุว่า มียอดผู้บริโภคขอกู้เงินไปผ่อนรถจำนวน ปัจจุบันมีมากถึง 67ล้านบัญชี เฉพาะปี 56 มีเข้ามาสูง 8 ล้านรายการบัญชี ดังนั้นการอนุมัติเงินกู้จึงต้องเข้มงวดมากขึ้นโดยมีการเรียกตรวจสอบถึง 1 ล้านรายการต่อเดือน โครงการรถคันแรกมีส่วนทำให้ยอดบัญชีมากขึ้นจนน่าสงสัยว่า จะเอาถนนที่ไหนวิ่ง เพราะหากเอาถนนทั้งหมดในกรุงเทพมาให้รถมาจอดเรียงกันก็จะได้เพียง 1.2 ล้านคันเท่านั้น ยังไม่นับรถที่จองยังไม่ไปรับ จนกังวลว่าโครงการรถคันแรกโตแบบก้าวกระโดด และหากผ่อนรถไม่ไหว 2 งวดติดกัน เจ้าหนี้จะต้องเรียกผู้ซื้อรถมาพบแน่ ที่สุดแล้วก็จะเกิดคดีเข้าสู่ศาล
การเสวานาวันนั้น สรุปว่า การจองรถซื้อรถเป็นเรื่องของการแสดงเจตนาที่ผู้ซื้อมุ่งก่อนิติสัมพันธ์กับผู้ขาย ปัญหาคือการขาดส่งค่างวด ปี55 มี ฟ้องกันแล้ว32คดี ศาลวิเคราะห์ปัญหาเช่าซื้อพบว่า แม้สัญญาเป็นเครื่องการแสดงเจตนาเท่าเทียมกันแต่ผู้บริโภคไม่มีใครกล้าขอเปลี่ยนแปลงสัญญาสำเร็จรูป เป็นเรื่องอำนาจการต่อรองที่ไม่เท่าเทียม ซึ่งหากทำสัญญากันแล้วศาลจะไม่ยุ่ง ยกเว้นพบว่าเป็นสัญญาไม่เป็นธรรม และขัดต่อปัญหาความสงบสุขเอาเปรียบประชาชน ศาลจะแก้ไขให้ ตัวอย่างเช่น จองรถ 1 คัน ขาดส่งโดนฟ้อง ไฟแนนซ์ตั้งฟ้องมีคำขอท้ายฟ้อง เรียกรถที่ค้างคืน ค่าเช่าซื้อที่ค้างคืน ค่าขาดประโยชน์จากการไม่ได้ใช้รถ ค่าติดตามทวงคืนรถ ค่าดอกเบี้ยที่ค้าง ซึ่งเป็นหนี้ซ้ำซ้อน ดังนั้นเมื่อซื้อรถ 1 คัน ราคา1ล้านบาท ผ่อนไป 3 แสนบาทแล้วขาดส่ง หนี้จะท่วมกลายเป็นรถคันละ1.5ล้านบาท ไฟแนนซ์ก็ตั้งฟ้องมา1.5 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย ถ้าศาลพิพากษาไปตามที่โจทก์ฟ้องมาอย่างนี้ศาลก็กลายเป็นตรายางให้โจทก์
“ศาลจะดูว่า ไม่ให้ไฟแนนซ์เสียหาย ไม่ให้ขาดทุน แต่ไฟแนนซ์จะต้องไม่เรียกซ้ำซ้อน ดอกเบี้ยศาลก็จะให้ตามกฎหมาย แต่หากลูกหนี้ไม่ผ่อนส่ง จึงจะต้องจ่ายค่าเสียหายให้โจทก์ รวมถึงค่าเสื่อมราคา และชดเชยค่าเสียหายแก่ไฟแนนซ์ ศาลจะดูแลไม่ให้ใครได้เปรียบเสียเปรียบ แต่คำพิพากษาไม่ใช่ทางออกสุดท้ายของข้อพิพาท แต่ศาลยังมีระบบระงับข้อพิพาทเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งด้วย“
จะเห็นได้ว่า ผลกระทบจากโครงการรถคันแรกที่ถูกทิ้งใบจองนับแสนคัน ไม่ได้หยุดแค่ดีลเลอร์ที่ต้องแบกสต๊อกหลังแอ่นเท่านั้น แต่ยังกระทบไปยังต้นน้ำคือ ผู้ผลิตชิ้นส่วนและบริษัทผู้ประกอบรถยนต์ด้วย กับสาเหตุที่ผู้ใช้สิทธิรถคันแรกจำนวนไม่น้อยลังเลว่าจะยกเลิก หรือไม่ยกเลิก เช่นเดียวกับเรื่องของการฟ้องร้องจากไฟแนนซ์กรณีส่งรถไม่ทันกำหนด
วันนี้การที่ “เอกชน”ออกมาเรียกร้อง ถึงโครงการรถคันแรก โดยระบุชัดเจนว่า “ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาล อย่าเอาโคร
การนี้มาทำอีก เพราะจะทำให้ตลาดรถยนต์ในไทยเพี้ยน”
เปรียบเหมือนว่า “ชาตินี้อย่าได้กลับมาเจอะเจอกันอีก”ประมาณนั้น