ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - คำขู่ของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจธนาคารออมสิน (รสก.ออมสิน) ที่ให้คณะกรรมการหรือบอร์ดขอโทษลูกค้า กรณีปล่อยกู้อินเตอร์แบงก์ให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) นำไปใช้หนี้จำนำข้าวตามใบสั่งการเมือง และให้คำสัญญาจะไม่นำธนาคารไปยุ่งเกี่ยวการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อม หากยังดึงดันรับใช้การเมืองเหมือนที่ผ่านๆ มาเจอนัดหยุดงานประท้วงแน่ เรียกได้ว่าเป็นปฏิกิริยาที่รุนแรงของพนักงานออมสินที่มีต่อคณะผู้บริหารและบอร์ดชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยก่อนหน้านี้ถึงแม้แบงก์ออมสินจะเป็นแหล่งเงินที่ถูกล้วงถูกควักมาสนองนโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณและรัฐบาลยิ่งลักษณ์หลายต่อหลายโครงการ แต่พนักงานก็ไม่เคยมีการเคลื่อนไหวคัดค้านแต่ประการใด
สงสัยคราวนี้ เห็นกระแสการแห่ถอนเงินของลูกค้าที่ถือว่ามากที่สุดในรอบร้อยปีนับแต่ก่อตั้งธนาคารมา แถมพนักงานยังเจอลูกหลงถูกลูกค้าด่าสาดเสียเทเสีย ทั้งที่ไม่ใช่คนตัดสินใจปล่อยกู้หรือร่วมกระทำผิดใดๆ ถ้าขืนยังนั่งให้ลูกค้าด่าทอ โขกสับ อยู่ต่อไปเห็นทีจะไม่ไหว อีกทั้งเรื่องนี้ใหญ่เกิน ไม่ไหวจะเคลียร์ หากปล่อยประชาชนที่ขาดความเชื่อมั่นต่อธนาคารแห่ถอนเงินมีหวังเอวังเป็นแน่ เพราะเอาแค่เพียงวันที่ 17 ก.พ. 2557 วันเดียวเจอถอนออกไป 30,000 ล้านบาท และยังลุกลามบานปลายไม่หยุด มีรายงานข่าวว่า เบาะๆ 3 วันเงินถูกถอนออกไปเฉียดแสนล้าน
การออกมาแต่งชุดดำประท้วงของพนักงาน พร้อมกับยื่น 4 ข้อเรียกร้องให้ธนาคารดำเนินการ คือ 1.การยกเลิกการให้กู้อินเตอร์แบงก์แก่ ธ.ก.ส. ทันที 2.ให้ทวงถามไปยัง ธ.ก.ส. และให้ทาง ธ.ก.ส. คืนเงินที่ขอยืมไปจากธนาคารในการกู้อินเตอร์แบงก์ 3.งดการให้กู้ใดๆ ก็ตามที่อาจลุกลามเป็นผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อลูกค้า 4.คณะกรรมการธนาคารออมสิน และผู้อำนวยการธนาคารออมสิน จะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นรวมถึงวิกฤตการถอนเงิน
ผลจากการกดดันยื่นข้อเรียกร้องดังกล่าว ประสบความสำเร็จในยกแรก สามารถทำให้ที่ประชุมบอร์ดออมสินเมื่อวันที่ 18 ก.พ. ยอมดำเนินการ 3 ข้อ คือ 1. จะยกเลิกวงเงินกู้อินเตอร์แบงก์จำนวน 2 หมื่นล้านบาท ที่ปล่อยกู้ให้กับ ธ.ก.ส., 2.จะเรียกเงินคืนจาก ธ.ก.ส. ทันที และ 3. เรียกร้องให้ ธ.ก.ส. ออกมาชี้แจงกรณีที่กล่าวว่าแบงก์ออมสินยัดเยียดวงเงินกู้ให้กับ ธ.ก.ส. เอง ทั้งๆ ที่ ธ.ก.ส. ยังมีสภาพคล่องที่ดี แต่การแสดงความรับผิดชอบของบอร์ดและผู้บริหาร ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ พนักงานยังคงเคลื่อนไหวกดดันอย่างต่อเนื่อง
กระทั่งนายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ขอแสดงความรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวโดยแถลงลาออกด้วยน้ำตาคลอเบ้า และในวันถัดมา (19 ก.พ.) สหภาพฯ แถลงกดดันให้บอร์ดออกมาขอโทษ และสัญญาว่าจะไม่นำธนาคารเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยจะรอฟังคำตอบในวันรุ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในการแถลงข่าวของสหภาพฯ เมื่อเช้าวันที่ 20 ก.พ. เพื่อเรียกร้องให้บอร์ดรับผิดชอบต่อการแห่ถอนเงินจากธนาคารเกิดความวุ่นวายขึ้นเพราะมีพนักงานไม่พอใจมาตรการของสหภาพฯ ทำให้สหภาพฯ ต้องทำหนังสือถึงนายธัชพล กาญจกูล รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ให้มีการชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีการกู้อินเตอร์แบงก์ระหว่างออมสินกับธ.ก.ส. พร้อมเอกสารหลักฐานในการปล่อยกู้ครั้งนี้ว่ามีขั้นตอนและผู้เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ผู้ยื่นขอกระทั่งถึงขั้นตอนการอนุมัติ การโอนเงินทั้งหมดมาให้สหภาพฯ หลังพบเอกสาร “สารผู้จัดการ” ของ ธ.ก.ส. ระบุว่า การใช้เงินอินเตอร์แบงก์จากธนาคารออมสินนั้นธนาคารไม่ได้นำมาเสริมสภาพคล่องปกติของธนาคารตามที่เป็นข่าว แต่เป็นการใช้เงินทุนที่กระทรวงการคลังจัดหามาให้ธนาคารเพื่อใช้ในโครงการรับจำนำข้าวเท่านั้น พร้อมกันนี้ พนักงานออมสินต้องการกดดันให้บอร์ดลาออกทั้งคณะ
นายลิขิต กลิ่นถนอม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจธนาคารออมสิน จึงออกหน้านำกลุ่มพนักงานออมสินไล่บอร์ดทั้งคณะ ภายหลังที่บอร์ดไม่มีการประชุมเพื่อดำเนินการในการแก้ไขปัญหา และสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมา รวมทั้งไม่มีการแถลงขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ตลอดทั้ง 3 วันที่ผ่านมา มีประชาชนถอนเงินแล้วรวมกว่า 85,000 ล้านบาท ขณะที่ยอดการฝากเงิน 3 วันที่ผ่านมา น่าจะอยู่ที่ประมาณ 30,000 ล้านบาท
หากพลิกปูมชีวิตผู้อำนวยการธนาคารออมสินและบอร์ดออมสิน จะเห็นว่าไม่น่าแปลกใจที่ทำไมผู้บริหารและบอร์ดออมสิน ถึงถวายตัวรับใช้การเมืองได้ถึงอกถึงใจเช่นนี้
เริ่มจาก นายวรวิทย์ เขาคนนี้ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นหนึ่งในสมาชิกชมรม “มีวันนี้เพราะพี่ให้” เหมือนกันกับ “บิ๊กแจ๊ด” นายตำรวจใหญ่ผู้นั้น กล่าวคือ นายวรวิทย์ มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับพรรคเพื่อไทย กลุ่มวังบัวบานของเจ๊แดง ผ่านทางพ่อตาที่มีชื่อว่า “ณอคุณ สิทธิพงษ์” อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน คนเชียงใหม่ที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ จนร่ำลือกันทั่วบ้านทั่วเมืองว่า “ปลัดณอคุณ” เส้นใหญ่เพราะเป็นเด็กเจ๊แดง และทำให้พ่อตาของนายวรวิทย์ นั่งเป็นประธานบอร์ดปตท. หลายสมัย รวมทั้งยุครัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ก่อนถูกกดดันให้ลุกจากเก้าอี้เพื่อเปิดทางให้ นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี และล่าสุดนายปานปรีย์ พหิทธานุกร แน่นอน ทั้งณอคุณ - วิเชษฐ์ - ปานปรีย์ สังคมต่างรับรู้ว่าล้วนแต่เป็นเด็กในแก๊งค์นายใหญ่ เจ๊แดง และหญิงอ้อทั้งนั้น
กลับมาที่ราชบุตรเขย นายวรวิทย์ ซึ่งแต่งกับนางสาวพนิตพิมพ์ สิทธิพงศ์ หรือ "หน่อย" ลูกสาวของนายณอพงศ์ คนสวยระดับอดีตนางสาวไทย ปี 2545 งานวันสมรสที่ยิ่งใหญ่อลังการที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี รอยัล เมอริเดียน เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2555 นั้น คนที่ให้เกียรติเป็นประธานเนื่องในพิธีฉลองมงคลสมรส หาใช่คนอื่นไกล แต่ก็คือ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงการคลัง นั่นเอง
บรรดาขาเม้าท์แถวเชียงใหม่ ยังปิดกันให้แซ่ดด้วยว่า นายวรวิทย์ รากเหง้าเป็นคนโบ๊เบ๊ ครอบครัวขายเสื้อผ้าซึ่งปัจจุบันพี่น้องยังสืบต่อธุรกิจนี้ ส่วนเขาเป็นนักตะกายดาว เติบโตอย่างรวดเร็วเพราะเข้าสู่เส้นทางการเมือง โดยฝากเนื้อฝากตัวกับ "ผู้ใหญ่" เป็นนักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการพลังงาน แล้วต่อยอดเรื่อยมา ถือเป็นเด็กของนายวราเทพ รัตนากร สายเจ๊แดง แห่งวังบัวบาน และมีความสนิทสนมกับนายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี พ่อของ "น้องตั้น" เพราะเรียน วตท. รุ่นเดียวกัน
กล่าวสำหรับรสนิยมของนายวรวิทย์ เขาเป็นคนที่ชอบความเร็ว หลังๆ ชอบไปโบนันซ่าและอยู่ในก๊วนนักซิ่งไฮโซ ตอนที่แต่งงานกับ "หน่อย" เขาจึงใช้รถสปอร์ตจากัวร์ สนามแข่งรถเป็นฉากถ่ายทำวีดีโองานแต่ง บ้างก็ว่าขับลัมโบร์กินี่สีส้มในฉากพรีเวดดิ้งด้วย และมีเสียงยืนยันว่า เส้นใหญ่จริงตอนที่เกิดไฟไหม้รถหรูแถวเขาใหญ่คราวก่อนนั้น ดีเอสไอเคยพบรถจากัวร์รุ่นใหม่ มีผู้ครอบครองนามสกุล ชัยลิมปมนตรี ด้วย แต่ก๊วนรถหรูเส้นก๋วยจั๊บ ดีเอสไอจึงปล่อยให้เรื่องรถหรูถูกเผาหายไปกับสายลม
การร่วมตัดสินใจปล่อยกู้อินเตอร์แบงก์ให้ออมสินของนายวรวีร์ ยังทำให้สังคมโซเซียลมีเดียขุดประวัติอันอื้อฉาวออกมาแฉกันด้วยว่าสมัยที่ดำรงตำแหน่ง กก.ผจก.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เขาเคยถูกศาลสั่งจำคุก 1 ปี ปรับ 10,000 บาท รอลงอาญา 2 ปี เมื่อ 8 มิ.ย. 2551 คดีทำผิดระเบียบพนักงานในองค์กรหรือของรัฐ ส่วนการเข้าสู่ตำแหน่ง ผอ.ออมสิน เมื่อปี 2555 ก็ถูกตรวจสอบพบว่า เข้ามาผิดระเบียบของออมสินที่ห้ามคนต้องคดีรับตำแหน่งภายใน 5 ปี ซึ่งพนักงานออมสินก็เคยรวมตัวต้านแต่ไม่สำเร็จ
นายวรวิทย์ เข้ามารับตำแหน่ง ผู้อำนวยการแบงก์ออมสิน ได้รับค่าจ้างเงินเดือน 6.5 แสนต่อเดือน ท่ามกลางข้อครหาว่า เขาคือมือทำงานประสานเสริมกับรัฐบาลเพื่อไทยได้เป็นอย่างดี ไม่ว่ารัฐบาลต้องการเรียกใช้บริการใดๆ จากออมสินก็ไม่เคยทำให้ผิดหวัง คราวนี้ก็เช่นกัน แต่เมื่อกระแสสังคมต่อต้านเขาก็ต้องขึ้นแท่นบูชายัญ
อย่างไรก็ตาม การอนุมัติเงินกู้อินเตอร์แบงก์ระหว่างออมสินกับธ.ก.ส.นั้น ไม่ใช่แค่นายวรวิทย์คนเดียวที่ต้องรับผิดชอบ เพราะเรื่องเช่นนี้ต้องผ่านการพิจารณาของบอร์ดด้วย ดังนั้นบอร์ดออมสินจะปฏิเสธความรับผิดชอบไปไม่ได้ ซึ่งหากพลิกปูมบอร์ดออมสิน ที่นั่งกันไม่รู้ร้อนรู้หนาวทั้งที่ชาวประชาเขาก่นด่าจนไม่มีชิ้นดีอยู่ในเวลานี้ ก็จะเห็นว่า หลายคนเป็นสมาชิกชมรม “มีวันนี้เพราะพี่ให้” สายเจ๊แดงพรึ่บเหมือนกัน
ไล่มาตั้งแต่ นางชูจิรา กองแก้ว ประธานบอร์ด เป็นที่รู้กันดีว่าใกล้ชิดแนบแน่นกับครอบครัววงศ์สวัสดิ์ เนื่องจากสามีของนางชูจิรา เป็นเพื่อนสนิทของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ตั้งแต่ครั้งรับราชการเป็นผู้พิพากษา และได้รับความไว้วางใจจากนายสมชาย และนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ เป็นอย่างมาก การมาใหญ่ที่ออมสินของนางชูจิราเป็นการขึ้นมาแบบแหกธรรมเนียมปฏิบัติที่ปกติประธานบอร์ดแบงก์ออมสินจะเป็นข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการคลัง และไม่ใช่แค่ตำแหน่งประธานบอร์ดออมสินเท่านั้น นางชูจิรา ยังเป็นบอร์การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รัฐวิสาหกิจที่เจ๊แดง เป็นผู้ทรงอิทธิพลอยู่ที่นั่นตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณแล้ว
นอกจากนั้น บอร์ดออมสินยังมีนายชัยธวัช เสาวพนธ์ ข้าราชการบำนาญ สังกัดคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเขานี่แหละเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นบริษัท ดี สเตชัน จำกัด ที่ทำธุรกิจทีวีดาวเทียมของคนเสื้อแดงตั้งอยู่ที่อิมพีเรียลเวิร์ล ลาดพร้าว ขณะเดียวกัน นายชัยธวัช ยังเป็นกรรมการใน บมจ.วินโคสท์ อินดัสเทรียล พาร์ค ซึ่งเป็นธุรกิจที่ครอบครัวนางเยาวภา เคยถือหุ้นใหญ่ ปัจจุบันกลุ่มนายจักร จามิกรณ์ และกลุ่มหจก.สามประสิทธิ์ ถือหุ้นใหญ่ และยังเป็นกรรมการบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัทลูกของกฟภ. และแน่นอนอีกเช่นกันที่นายชัยธวัช จะได้นั่งเป็นบอร์ด กฟภ. อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย
ไม่ใช่แค่นั้น บอร์ดออมสิน ยังมีชื่อของนางนงลักษณ์ พินัยนิติศาสตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการตลาด บมจ.ไทยคม จำกัด หนึ่งในเครือชินคอร์ป ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการธุรกิจดาวเทียมเชิงพาณิชย์เพียงรายเดียวของไทย โดยได้รับสัมปทานดาวเทียมจากกระทรวงคมนาคม ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้ก่อตั้ง
และยังมีชื่อของนายประเสริฐ หลุยเจริญ นามสกุลนี้คุ้นๆ ใช่ไหม? ถูกต้องเขาคือสามีของนางเบญจา หลุยเจริญ ผู้ยืนยันหัวเด็ดตีนขาดมาตลอดไม่ว่าทักษิณและครอบครัวจะเจอมรสุมการเมืองแค่ไหน และไม่ว่าจะขึ้นศาลไหน เธอยืนกระต่ายขาเดียวว่า “การซื้อ-ขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่นของครอบครัวชินวัตร ทั้งกรณีซุกหุ้นชินฯ 1 และซุกหุ้นชินฯ 2 วินิจฉัยอย่างไรก็ไม่ต้องเสียภาษี” จนกระทั่งสุดท้ายกรมสรรพากร ต้องยุติการดำเนินคดีซื้อ-ขายหุ้นชินคอร์ปฯ ทุกกรณี
งานนี้ ถึงนายวรวิทย์ จะออกไปแล้ว แต่บอร์ดออมสิน ที่มีอำนาจการตัดสินใจสูงสุดยังเป็นร่างทรงเพื่อไทยและตระกูลชินฯ เห็นท่าสหภาพฯ และพนักงานออมสินคงต้องออกแรงอีกมากโข เพราะการแห่ถอนเงินจากธนาคารของลูกค้าส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่มั่นใจถอนเงินเอามานอนกอดดีกว่า แต่อีกปัจจัยหนึ่งนี่คือการต่อสู้ในเชิงสัญลักษณ์ ที่ส่งสัญญาณไม่เอาระบอบทักษิณ
ดังที่ “แอดมินเพจ V For Thailand” โพตส์ไว้ว่า “ยามใดความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อธนาคารรัฐฯ หมดสิ้นลง ยามนั้นประชาชนย่อมเปลี่ยนสถานที่ฝากเงินในทันที เมื่อก่อนเรารู้สึกว่า การฝากเงินกับธนาคารรัฐฯ ให้ความปลอดภัยสูงสุด แต่ในยามนี้ ธนาคารรัฐฯ กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีการคอร์รัปชั่นอันเกิดจากเงื้อมมือของสิ่งเทียมรัฐบาล การรักษาเงินในบัญชีของคุณเอง ย่อมดีกว่าการปล่อยให้ขบวนการคอร์รัปชั่นแอบล้วงเงินจากบัญชีคุณ”
ขณะที่บรรยากาศการแห่ถอนเงินในต่างจังหวัดทั่วประเทศเป็นไปด้วยความโกลาหล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นฐานการเมืองของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกลุ่ม กปปส. และพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนภาคอื่นๆ ยกเว้นภาคอีสาน ก็มีบรรยากาศไม่แตกต่างกัน
ดังเช่นที่ธนาคารออมสิน สาขาอ.ศรีราชา จ.ชลบุรี สาขาสะพานพระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี สาขาถนนสันติราษฎร์ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นสาขาเก่าแก่ เปิดทำการมานานกว่า 71 ปี ต่างมีลูกค้าพากันไปถอนเงินฝาก และขายคืนสลากออมสิน จนเจ้าหน้าที่ต้องชี้แจงและวิงวอนอย่าได้ถอนเงิน เพราะธนาคารดำเนินกิจการภายใต้หลักธรรมาภิบาล และขอให้มั่นใจว่าจะดูแลเงินฝากของประชาชนอย่างดี แต่ไม่เป็นผล ลูกค้ายังแห่ถอนเงิน จนเงินสดที่สำรองไว้ไม่เพียงพอ ต้องจ่ายเป็นแคชเชียร์เช็คให้ก่อน
น.ส.วัชรีวรรณ วัชรเทศ ลูกค้าธนาคารออมสิน สาขาอ.ศรีราชา จ.ชลบุรี กล่าวว่า ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเป็นเล่ห์เหลี่ยมของรัฐบาล ที่จะนำเงินไปจ่ายค่าจำนำข้าวที่รัฐบาลบริหารโครงการผิดพลาด จึงมาปิดบัญชี เพราะไม่มั่นใจในธนาคารแล้ว
นี่คือแค่ตัวอย่าง เพื่อเป็นบทเรียนของแบงก์รัฐ ที่ยังพยายามรักษาอำนาจในระบอบทักษิณเอาไว้ โดยล้อเล่นกับความเชื่อมั่นของประชาชน
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายที่สนับสนุนระบอบทักษิณ ก็แสดงออกด้วยการพากันมาเปิดบัญชีเพื่อระดมเงินฝาก สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ธนาคาร แม้แต่อดีตผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นางสาลินี วังตาล ก็ออกมาฝากออมสินกับเขาด้วย รวมทั้งพลพรรคเพื่อไทย นำโดยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เพราะออมสินคือที่มั่นของวังบัวบาน และกลุ่มคนเสื้อแดงที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ เป็นหัวหอกเรียกพรรคพวกให้มาช่วยฝากเงิน โดยมีรายงานข่าวว่า ช่วง 3 วัน ที่ระดมเงินฝากกันใหญ่โตนั้น มีเม็ดเงินเข้ามาประมาณ 3หมื่นล้าน ขณะที่ถอนออกไปนั้นเฉียดแสนล้านบาท
ช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้ ผู้ที่ออกอาการแรงกว่าใครอื่นเห็นจะเป็นนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย ที่แถลงด้วยน้ำตาคลอเบ้า เจือปนด้วยความฉุนเฉียวเกรี้ยวกราดลูกค้าที่แห่ถอนเงินและแบงก์ที่มีเงินแต่ไม่ยอมช่วยชาวนา โดยตอนหนึ่งของการแถลงมาตรการของรัฐบาลในการบรรเทาและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวนา เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557 ที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เมืองทองธานี พร้อมกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง และนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงพาณิชย์ นั้น
นายทนุศักดิ์ พูดว่า “เรื่องนี้มันไม่ยุติธรรม มันน่าเกลียด ผมขออภัยครับที่ผมต้องพูดความจริง จากใจผม เลิกสักทีครับ ทำลายประเทศนี้ ทำลายชาวนาเลิกสักที แบงค์ไหนก็แล้วแต่ที่ปล่อยให้ชาวนามีเงิน ไม่ใช่แค่ถอน มันต้องไปฝาก มันกลับกันหมดมนุษย์วันนี้ คนไทยอ่ะ แล้วมันจะอยู่กันอย่างไร” ก่อนจะลุกออกไปจากโต๊ะแถลงข่าวทันที ทั้งๆ ที่นายทนุศักดิ์ ก็หาใช่คนไร้เดียงสาพอที่จะไม่รู้ว่า ต้นสายปลายเหตุเรื่องนี้เป็นมาอย่างไรพอถึงวันนี้จะมาคร่ำครวญให้ใครเห็นใจ และชาวนานั้นตกเป็นเหยื่อการเมืองของพรรคนี้ตั้งแต่ออกนโยบายมาหลอกล่อแล้ว
ไม่ใช่แค่ลูกค้าแบงก์ออมสินเท่านั้นที่ออกมาสั่งสอน แม้แต่คนที่ทำมาหากินในแวดวงธนาคารด้วยกันก็ยังออกมาส่งเสียงปรามว่าการปล่อยกู้อินเตอร์แบงก์ระหว่างออมสินกับธ.ก.ส.นั้นอาจเสี่ยงผิดกฎหมายและมาตรฐานทางวิชาชีพ ซึ่งเป็นข้อหาที่หนักสำหรับธุรกิจแบงก์ ซ้ำยังจะมีผลเชิงลบต่อการจัดอันดับเครดิตธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อด้วย
โดยเรื่องนี้ นายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย แสดงความ กังวลว่า การปล่อยกู้ระหว่างสองแบงก์นั้นเสี่ยงผิดกฎหมาย เพราะหาก ธ.ก.ส. นำเงินกู้จากธนาคารออมสิน มาจ่ายหนี้จำนำข้าวคืนให้ชาวนาโดยตรง อาจจะสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย แต่หาก ธ.ก.ส.ปล่อยกู้ให้เอกชนในการประมูลข้าวในโครงการรับจำนำข้าว และรัฐบาลนำเงินจากการระบายข้าวมาคืนชาวนานั้นสามารถทำได้
นอกจากนี้ ยังเป็นห่วงการปล่อยสินเชื่อระหว่างธนาคารครั้งนี้จะผิดมาตรฐานทางบัญชีตามวิชาชีพทางบัญชีหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลได้ผิดนัดชำระหนี้ในโครงการรับจำนำข้าวให้ชาวนา ทำให้มาตรฐานทางบัญชีมีความเสี่ยง ขณะเดียวกัน อาจจะมีผลเชิงลบต่อการจัดอันดับเครดิตของธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อด้วย ซ้ำยังสอนมวยด้วยว่า หลักเกณฑ์ในการปล่อยสินเชื่ออินเตอร์แบงก์จะต้องคำนึงถึงความถูกต้องตามข้อกฎหมาย รวมถึงความชัดเจนและความเสี่ยงที่จะตามมาในการปล่อยสินเชื่อ
นี่คือการฉลองวาระครบรอบร้อยปีที่สุดระทึกของธนาคารออมสิน แม้จะไม่ถึงขั้นต้องปิด แต่ก็เล่นเอาบักโกรกไปอีกนาน โดยสิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า อย่าการกระทำที่ท้าท้ายและเสมือนหนึ่งดูถูกพลังลูกค้า กล้าทำผิดกฎหมาย ไม่เป็นมืออาชีพอย่างที่ควรจะเป็น