xs
xsm
sm
md
lg

แห่ถอน3หมื่นล้าน ลูกค้าโวยได้เช็คแทนเงิน ออมสินผวา!หยุดปล่อยกู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน - ออมสินป่วนลูกค้าแห่ถอนเงิน 3 หมื่นล้าน หักลบคนมาฝาก 1 หมื่นล้าน ส่งผลเงินไหลออกแล้ว 2 หมื่นล้าน ผอ.ตื่นเตรียมระงับปล่อยกู้ ธ.ก.ส .ชี้เอาไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ขณะที่ผู้จัดการ ธ.ก.ส.ระงับนำเงินอินเตอร์แบงก์ไปจ่ายชาวนา ขอรอความชัดเจนจากคลังก่อน สหภาพ ธ.ก.ส.ยื่นข้อเสนอคลังต้องค้ำฯ ส่วนการถอน เงินใน ตจว.แน่นเอี๊ยด บางสาขาเงินสดไม่มีให้ถอนต้องออกแคชเชียร์เช็ค ด้านแบงก์ชาติห่วงคนแห่ถอนเงิน สั่งติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด

นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า จากการประเมินสถานการณ์การทำธุรกรรมของธนาคารหลังมีกระแสโจมตีกรณีปล่อย เงินกู้ให้ธนาคารธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในช่วง 3 วันนี้จนถึงสิ้นวันทำการ 17 ก.พ.ที่ผ่านมาพบว่ามีลูกค้ามาถอนเงินฝากออกไป ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ขณะที่มีการฝากเงินประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้มียอดเงินไหลออกไปประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ซี่งยอมรับว่าเป็นยอดธุรกรรมที่ มากผิดปกติหากเทียบกับวันหยุดยาวจากช่วงสถานการณ์ปกติที่พบว่าจะมีการถอนเงินมากกว่าฝากเข้าประมาณ 7 พันล้านบาท

"ยอมรับว่ามีการถอนเงินมากกว่าปกติจริงและข่าวมีผลกระทบกับความรู้สึกของผู้ฝากเงินจริง จึงจะนำเข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารวันที่ 18 ก.พ.นี้เพื่อประเมินผลกระทบ เพราะเดิมมองว่าการปล่อยอินเตอร์แบงก์ไม่น่าจะมีผลกระทบเนื่องจากเป็นธุรกรรมระหว่างแบงก์แต่เมื่อสถานการณ์ออกมาว่ากระทบ เงินฝากจริงระหว่างนี้ก็ต้องหยุดดำเนินการปล่อยกู้ชั่วคราว"

นายวรวิทย์กล่าวว่า การถอนเงินส่วนใหญ่เป็นสาขาในกทม.มากที่สุดเพราะมีเงินฝากถึง 40% ของยอดเงินฝากทั้งหมดและรองไปเป็นสาขาภาคใต้ ส่วน ภาคเหนือและภาคอีสานไม่มีอะไรผิดปกติ โดยส่วนใหญ่เป็นสาขาในห้างซึ่งมีขนาดเล็กและมีวงเงินสำรองที่สาขาไม่มากนักที่อาจประสบปัญหามีเงินไม่เพียงพอทำ ให้บางสาขาต้องออกเป็นแคชเชียร์เช็คให้แทน ซึ่งถือเป็นการดำเนินงานปกติที่สามารถทำได้แต่ลูกค้าบางรายอาจต้องการเป็นเงินสด โดยใน 1-2 วันนี้จะให้สาขา สำรองเงินสดสภาพคล่องเพิ่มเป็น 2 เท่าจากปกติสาขาเล็กสำรองไว้ 5 ล้านบาท สาขากลาง 10-20 ล้านบาท ส่วนสาขาขนาดใหญ่สำรองมากกว่านี้

อย่างไรก็ตาม มองว่าการถอนเงินวันนี้ไม่มากอย่างที่ประเมินไว้ เพราะส่วนใหญ่เป็นรายย่อย ส่วนรายใหญ่ยังรอดูความชัดเจนและให้เวลาออมสินว่าจะ หยุดปล่อยกู้ในโครงการจำนำข้าวหรือไม่หรือไม่หากไม่หยุดก็จะถอนเงินออกไปหากหยุดก็จะฝากต่อ โดยเฉพาะนิติบุคคลและสถาบัน โดยคงต้องรอดูในช่วง 2-3 วันนี้อีกครั้ง หากไม่ได้หยุดถอนเงินผิดปกติ ทั้งนี้ขอยืนยันความชัดเจนว่าการปล่อยกู้ให้ธ.ก.ส.มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสภาพคล่องหากนำไปใช้ในโครงการจำนำ ข้าวออมสินก็สามารถหยุดปล่อยกู้ได้จากวงเงินที่เปิดไว้ 2 หมื่นล้านภายในระยะเวลา 90 วันแต่เป็นการกู้ระยะสั้นไม่เกินครั้งละ 30 วัน

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ว่า ธนาคารได้ประกาศให้พนักงานหยุดงานเพราะเกรงว่าจะเกิด ความยุ่งยากในการบริหารจัดการ หลังจากที่กลุ่มชาวนาจะเดินทางมาชุมนุมที่สำนักงานใหญ่ ธ.ก.ส.บางเขน โดยนายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส.ได้ประชุมฝ่าย บริหาร เกี่ยวกับแนวทางการกู้เงินจากสถาบันการเงินต่างๆ หลังจากธนาคารออมสินได้ปล่อยกู้ให้ด้วยการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N ) วงเงิน 5,000 ล้านบาท ระยะเวลา 30 วัน เพื่อนำเงินมาทยอยจ่ายให้กับเกษตรกร

จากนั้น ได้หารือร่วมกับนายประสิทธิ์ พาโฮม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ธ.ก.ส. เพื่อยื่นข้อเสนอเดิมกับฝ่ายบริหาร คือ เงินกู้ทุกประเภทจาก สถาบันการเงินต่างๆ ที่กระทรวงการคลังจัดหาให้เพื่อนำมาจ่ายให้กับเกษตรกร กระทรวงการคลังต้องค้ำประกัน และกระทรวงพาณิชย์ควรเร่งระบายข้าวในสต็อก ของรัฐบาล เพื่อนำมาจ่ายค่าจำนำข้าว และไม่ควรนำเงินฝากของ ธ.ก.ส.มาให้กระทรวงการคลังกู้

นายประสิทธิ์กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับฝ่ายบริหารว่า สหภาพไม่ได้ติดใจการดำเนินงานของฝ่ายบริหาร เพราะได้ชี้แจงว่า ไม่ได้มีการนำสภาคล่อง ของธนาคารมาใช้เพื่อการรับจำนำข้าว เป็นการดำเนินการตามมติคณรัฐมนตรี (ครม.) ทุกอย่าง ซึ่งในรายละเอียดต้องรองให้ผู้จัดการเป็นคนชี้แจง

จากนั้นในช่วงเที่ยงกลุ่มเกษตร ซึ่งนำโดยนายศรรัก มาลัยทอง แกนนำกลุ่มกวป.ได้นำเกษตรกลุ่มหนึ่งเดินทางมาที่ธ.ก.ส.สำนักงานใหญ่ เพื่อต่อต้าน สหภาพแรงงาน ธ.ก.ส.และผู้ที่คัดค้านการจ่ายเงินจำนำข้าวให้ชาวนาและให้กำลังใจธ.ก.ส.ทำหน้าที่ในการดูแลชาวนาต่อไป โดยขอให้เร่งรัดการจ่ายเงินจำนำข้าวโดย เร็ว

จากนั้นนายลักษณ์ ได้ลงมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า ขณะนี้ธ.ก.ส.มีเงินที่ได้จากการระบายข้าวจากระทรวงพาณิชย์สัปดาห์ที่แล้ว 3 พันล้านบาทที่จะเริ่ม จ่ายให้กับเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับเงินจำนำข้าวตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ในระหว่างรอเงินกู้จากกระทรวงการคลัง โดยยืนยันว่าจะกระจายเงินไปยังสาขาธ.ก.ส.ทั่ว ประเทศตามจำนวนใบประทวนที่ค้างอยู่ ตามลำดับที่มีการขึ้นทะเบียนไว้ตามสาขา โดยการโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรตามที่เปิดไว้กับธนาคาร เมื่อโอนเงินเข้าไปแล้วจึง จะแจ้งให้เกษตรรับทราบ

"เงินจะจ่ายจากสำนักงานใหญ่ไปยังสาขาทั่วประเทศ ตามจำนวนใบประทวนที่มี และจ่ายให้กับเกษตรกรตามลำดับที่ขึ้นทะเบียนไว้ ซึ่งธ.ก.ส.ถือเป็น ระเบียบปฏิบัติมาตลอด และเกษตรกรสามารถมาตรวจสอบที่สาขาได้ หากพบว่า มีการจ่ายเงินไม่ตรงตามลำดับถือว่าพนักงานทำผิดวินัย ต้องมีการตั้งกรรมการตรวจ สอบได้" นายลักษณ์กล่าว

สำหรับเงินกู้ระหว่างธนาคาร(อินเตอร์แบงก์) จากธนาคาร ออมสิน จำนวน 5 พันล้านบาท นายลักษณ์กล่าวว่า ธนาคารจะยังไม่ใช้เงินกู้ดังกล่าวจ่ายให้กับ เกษตรกร หลังจากที่เกิดกังขาทางสังคม โดยจะนำเรื่องกลับไปหารือกับส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า จะดำเนินการอย่างไรกับวงเงินดังกล่าว คาดว่าจะมีข้อสรุปใน 1-2 วันนี้ ซึ่งหาก ไม่ใช้ก็สามารถคืนกลับให้ผู้กู้ได้ โดยที่ภาระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 วันนี้ กระทรวงการคลังจะเป็นผู้รับผิดชอบในฐานะที่เป็นผู้จัดหาเงินกู้

สำหรับเงินกู้ธนาคารออมสินผ่านการกู้ยืมระหว่างธนาคาร ถือเป็นธุรกรมชั่วคราวที่จะนำมาบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับเงินจำนำ ข้าว ในระหว่างรอการกู้ยืมเงินจากกระทรวงการคลัง เพราะตามแผนการกู้เงินภายใต้วงเงินที่ ครม.อนุมัติไว้ 1.3 แสนล้านบาทนั้นกระทรวงการคลังกำหนดแผนงานที่ จะส่งให้กับ ธ.ก.ส.สัปดาห์ละ 2 หมื่นล้านบาท โดยการเปิดประมูลครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 มกราคม แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงได้จัดทำแผนการกู้เงินใหม่ และจะเริ่ม ส่งเงินให้ธ.ก.ส.วันที่ 4 มีนาคม ตามแผนใหม่ที่จะกู็เพียง 1 แสนล้านบาท ซึ่งในระหว่างรอเงินดังกล่าว จึงมีความเห็นร่วมกับกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า เป็นการกู้ ยืมระยะสั้นไปพลางก่อน เมื่อได้เงินกู้ตามแผนที่ตั้งไว้ จึงจะนำมาชำระคืนให้กับธนาคารผู้ให้กู้

"ทุกเรื่องที่ ธ.ก.ส.ดำเนินการเราพิจารณาด้วยความรอบคอบ ทั้งในแง่กฎหมายและการดำเนินการตามมติครม.และตามมติบอร์ด แต่หากถูกมองว่าทำผิดก็ พร้อมที่จำนำเอกสารไปชี้แจง โดยยืนยันว่าโครงการรับจำนำข้าว ไม่ได้ใช้เงินฝากของธนาคาร เป็นการดำเนินการภายใต้กรอบวงเงินที่ครม.กำหนดคือ เงินจากการ ระบายข้าว เงินกู้จากกระทรวงการคลังจัดหาให้ โดยให้ธ.ก.ส.แยกบัญชีเป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ หรือ พีเอสเอ โดยที่กระทรวงการคลังจะรับภาระทั้ง เงินต้น ดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากโครงการ ส่วนผลต่างของราคาหรือผลขาดทุนที่เกิดขึ้น สำนักนักงบประมาณก็จจะจัดสรรงบประมาณมาชำระคืนให้ ในภายหลัง" นายลักษณ์กล่าวและว่า ในระหว่างนี้ ธ.ก.ส.ก็ยังไม่หยุดจ่ายเงินให้กับเกษตรกร เพราะที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้เร่งระบายข้าวและส่งเงินเข้ามา มากกว่าที่ทำแผนไว้ โดยเดือนมกราคม ได้เงินชำระคืนมาประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ส่วนเดือนกุมภาพันธ์ ขณะนี้ชำระเข้ามาแล้วประมาณ ?6 พันล้านบาท และล่าสุด เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์มีเงินพร้อมจ่าย 3 พันล้านบาท ที่จะกระจายไปยังสาขาทั่วประเทศ แต่ก็จ่ายได้หมดเพียงวันเดียวเท่านั้น โดยล่าสุดได้จ่ายเงินให้กับเกษตรกร ไปแล้ว 62,994 ล้านบาท จำนวนเกษตรกร 5 แสนกว่ารายคิดเป็นปริมาณข้าวเปลือก 3.91 ล้านตันยังเหลือเงินที่ต้องจ่ายอีกประมาณ 116,000 ล้านบาทคิดเป็น ประมาณข้าว 6.7 ล้านตันจากจำนวนเกษตรกรเกือบ 1 ล้านราย

นายลักษณ์กล่าวว่า การกู้เงิน 5 พันล้านบาทจากธนาคารออมสิน ไม่ได้นำมาเสริมสภาพคล่องปกติ เพราะธนาคารยังมีสถาพคล่องที่พร้อมจะปล่อยกู้ให้กับ เกษตรกรอยู่แล้ว 5-6 หมื่นล้านบาท โดยเงินกู้ดังกล่าวที่ได้มา ระบุชัดเจนว่าจะเข้ามาในระบบเงินหมุนเวียนบัญชีจำนำข้าว และเงินที่จะนำมาจ่ายจำนำข้าวก็จะยังมีมา เป็นระยะๆ จากการระบายข้าว ตามแผนในปีนี้ประมาณ 9.5 หมื่นล้านบาท แต่จากการประเมินสภานการณ์ปัจจุบันคาดว่าจะได้เพียง 5-6 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

***ตจว.แห่ถอนเงินแน่นแบงก์ออมสิน

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการแห่ถอนเงินในต่างจังหวัดว่า ที่ธนาคารออมสิน สาขาอ.ศรีราชา จ.ชลบุรี สาขาสะพานพระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี สาขาถนนสันติราษฎร์ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นสาขาเก่าแก่ เปิดทำการมานานกว่า 71 ปี ต่างมีลูกค้าพากันไปถอนเงินฝาก และขายคืนสลากออมสิน จนเจ้าหน้าที่ต้องชี้แจงและวิงวอนอย่าได้ถอนเงิน เพราะธนาคารดำเนินกิจการภายใต้หลักธรรมาภิบาล และขอให้มั่นใจว่าจะดูแลเงินฝากของประชาชนอย่างดี แต่ไม่เป็นผล ลูกค้ายังแห่ถอนเงิน จนเงินสดที่สำรองไว้ไม่เพียงพอ ต้องจ่ายเป็นแคชเชียร์เช็คให้ก่อน

น.ส.วัชรีวรรณ วัชรเทศ ลูกค้าธนาคารออมสิน สาขาอ.ศรีราชา จ.ชลบุรี กล่าวว่า ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเป็นเล่ห์เหลี่ยมของรัฐบาล ที่จะนำเงินไปจ่ายค่าจำนำข้าวที่รัฐบาลบริหารโครงการผิดพลาด จึงมาปิดบัญชี เพราะไม่มั่นใจในธนาคารแล้ว

ขณะที่นางสมหญิง แสงแก้วโสภา อายุ 54 ปี ลูกค้าสาขาฉะเชิงเทรา กล่าวว่า แม้จะมีเงินฝากแค่ 10,000 บาทเศษ ก็จะถอนเอาไปเก็บไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัย เพราะหาได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรง ไม่ต้องการให้ใครเอาเงินของเราไปใช้ในทางที่ผิด ไม่เป็นไปตามกลไกการบริหารจัดการด้านการเงิน

สำหรับภาคใต้กระแสการแห่ถอนเงินรุนแรง ถึงขั้นที่ธนาคารออมสิน สาขาพัทลุง ต้องเบิกเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานหาดใหญ่ จ.สงขลา จำนวน 30 ล้านบาทมาให้บริการ หลังเงินสดหมดเกลี้ยง เช่นเดียวกับที่ธนาคารออมสิน สาขาหลังสวน จ.ชุมพร ชาวบ้าน นักเรียน นักศึกษา ทยอยมาปิดบัญชี จนผู้บริหารต้องขอยืมเงินฉุกเฉินจากสาขาอื่น แต่ได้รับการปฎิเสธ เนื่องจากทุกสาขาตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน แต่หลายรายที่ต้องการปิดบัญชีหรือถอนเงินทันที ทำให้ธนาคารต้องจ่ายเป็นเช็ค โดยเจ้าหน้าที่คนหนึ่งแจ้งว่า ปกติสาขาหลังสวนจะเตรียมเงินสดสำรองไว้วันละกว่า 20 ล้านบาท

ส่วนที่ธนาคารออมสินทุกสาขาในจ.นครศรีธรรมราช ยอดถอนเงินช่วงเช้ากว่า 10 ล้านบาท รวมทั้งขายคืนสลากออมสินทุกประเภท ลูกค้ารายใหญ่หลายสิบล้านบาทจนถึงหลักร้อยล้านบาทขอปิดบัญชี จนผู้บริหารต้องให้เจ้าหน้าที่ช่วยเจรจาขอให้คงเงินฝากไว้ เพราะหากลูกค้ารายใหญ่ถอนเงินพร้อมกัน จะส่งผลกระทบในวงกว้าง จนช่วงบ่ายปรากฎว่าทุกสาขาในจ.นครศรีธรรมราช ต้องยุติการจ่ายเงินสด และจ่ายเป็นเช็คแทน ทำให้ประชาชนไม่พอใจ

ผู้บริหารสาขาหนึ่งแสดงความเห็นว่า บอร์ดออมสินและผู้บริหารตัดสินใจผิดพลาดอย่างมาก ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อธนาคารที่ก่อตั้งมาถึง 100 ปี เงินต้นทุนก็เป็นเงินพระราชทานของรัชการที่ 6 ธนาคารนี้จึงเป็นของประชาชนโดยแท้ โดยยอดถอนเงินโดยรวมในภาคใต้ตอนกลางวันนี้ไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท หากรวมภาคใต้ตอนบนอาจจะเกิน 1,000 ล้านบาท

**สงขลาปิดแล้วยังเคลียร์บัตรคิวไม่หมด

ที่ธนาคารออมสิน สาขาสะเดา จ.สงขลา ประชาชน นักเรียน นักศึกษาส่วนใหญ่ปิดบัญชีทันที ต่างให้เหตุผลว่าไม่มีความมั่นใจในเสถียรภาพทางการเงินของธนาคาร เกรงว่าจะซ้ำรอยวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ที่ธนาคารขาดสภาพคล่อง ไม่มีเงินพอจ่าย จึงต้องมาถอนเงินเพื่อความมั่นใจ

ส่วนที่ธนาคารออมสิน สาขาหาดใหญ่ จ.สงขลา ประชาชนหลั่งไหลกันมาถอนเงินและปิดบัญชีอย่างเนืองแน่น บัตรคิวเวลา 15.30 น. ซึ่งเป็นเวลาปิดทำการ อยู่ลำดับที่ 414 ขณะที่เจ้าหน้าที่ให้บริการคิวที่ 230 จากการสอบถามประชาชนบอกว่าจะถอนเงินให้ได้ในวันนี้ หากจ่ายเป็นเช็คจะไม่รับ เพราะตอนมาฝากก็ใช้เงินสด

ที่ธนาคารออมสิน สาขาภูเก็ต นางญดาภรณ์ ศรีพัฒน์ ผู้จัดการสาขา กล่าวว่า ลูกค้าที่ฝากเงินตั้งแต่ 1,000 บาทถึง 2 ล้านบาททยอยมาถอนเงินตั้งแต่เช้า แต่ต้องแบ่งเงินสดส่วนหนึ่งไว้ทำธุรกรรมด้านอื่น ทำให้บางส่วนได้รับแคชเชียเช็คแทน ซึ่งแม้พยายามชี้แจงถึงความมั่นคงของธนาคาร แต่ลูกค้าก็ยังไม่มั่นใจ ยืนยันที่จะถอนเงิน

นางสุขศรี ลิพอนพล อายุ 46 ปี กล่าวว่า บิดาดูโทรทัศน์เห็นมีคนถอนเงินจำนวนมาก จึงให้ตนมาถอนเงินด้วย โดยบัญชีของบิดามีเงินประมาณ 100,000 บาท ได้รับเป็นเงินสด 10,000 บาท ที่เหลือเป็นแคชเชียร์เช็ค

จ.สุราษฎร์ธานี น.ส.สมจิตร ทองจุ้น ผู้จัดการสาขาสาขาถนนราษฎร์อุทิศ อ.เมือง กล่าวว่า ตั้งแต่เช้ามีประชาชนถอนเงินประมาณ 30 ล้านบาท ทำให้เงินสด 10 ล้านบาทไม่เพียงพอ เช่นเดียวกับที่จ.ตรัง บรรยากาศเป็นไปด้วยความชุลมุนวุ่นวาย จนนางอาภาพร รัตนคช ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เขตตรัง ซึ่งรับผิดชอบจ.ตรัง 7 สาขา และจ.สตูล 3 สาขา ยอมรับว่าหนักใจ ต้องประเมินสถานการณ์วันต่อวัน และพยายามทำความเข้าใจว่าเงินที่ให้ธ.ก.ส.กู้เป็นเงินสภาพคล่องเกินปกติ ไม่เกี่ยวกับเงินฝากของลูกค้า

***ธปท.ห่วงคนแห่ถอนเงินแบงก์รัฐ

นายเกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีการถอนเงินของประชาชนออกจากสถาบัน การเงินเฉพาะกิจรัฐบางแห่งและธนาคารพาณิชย์บางแห่งที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลอย่างธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ว่า ธปท.ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและ ได้ติดต่อสอบถามไปยังธนาคารเหล่านั้น พบว่าประชาชนถอนเงินออกจากธนาคารบางส่วนจริง แต่ยังอยู่ในระดับไม่มากจนกระทบฐานะธนาคารนั้นๆและภาพรวม ของสถาบันการเงินในระบบ

“สายกำกับสถาบันการเงินได้สอบถามสถานการณ์ไปยังธนาคารเหล่านั้น พบว่า วงเงินการถอนยังไม่มาก แต่ธปท.มีความเป็นห่วงการถอนเงินและความ เชื่อมั่นของประชาชน เพราะหากคนแห่ไปถอนเงินออกจากธนาคารใดธนาคารหนึ่งพร้อมกันจนเป็นจำนวนมากๆ ก็อาจจะสร้างปัญหาการขาดสภาพคล่องให้เกิดขึ้น ได้ในระยะสั้นๆ ฉะนั้น ก่อนที่จะดำเนินการอะไรควรจะพิจารณาข้อมูล ข้อเท็จจริง และฐานะการเงินของธนาคารเหล่านั้นให้ดีก่อน ยืนยันว่าขณะนี้สภาพคล่อง สถาบันการเงินโดยรวมยังไม่มีปัญหา ธนาคารทุกแห่ง รวมถึงธนาคารที่ถูกถอนเงินยังมีสภาพคล่องและฐานะการเงินอยู่ในเกณฑ์ที่ดี”

สำหรับกรณีการกู้ยืมระหว่างธนาคาร (อินเตอร์แบงก์) ซึ่งธนาคารออมสินได้ปล่อยกู้ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส)นั้น รองผู้ว่า การธปท.กล่าวว่า ธปท.คงไม่เข้าไปก้าวก่ายในการปล่อยกู้ระหว่างธนาคาร เพราะในหลักการแล้ว ธปท.ไม่ควรไปแทรกแซงดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงิน หรือทำ อะไรที่จะบิดเบือนตลาด แต่ธนาคารที่ให้กู้ก็ต้องพิจารณาเองว่าการให้กู้มีหลักประกันที่เพียงพอ และผู้กู้ก็รู้ว่าจะนำเงินกู้ไปใช้ทำอะไรเหมาะสมหรือไม่ โดยเชื่อว่าแต่ ละธนาคารมีการพิจารณาในเชิงธุรกิจที่ดีพอ จึงไม่อยากให้ประชาชนแห่ไปถอนเงิน หรือขาดความเชื่อมั่น

ทั้งนี้ ปกติแล้วธุรกรรมการกู้ยืมเงินระหว่างธนาคารเป็นเรื่องปกติในการปรับสภาพคล่องการเงินในระยะสั้นๆ โดยเมื่อธนาคารแห่งใดมีเงินเหลือสามารถ ปล่อยกู้ เพื่อทำกำไรได้ ขณะเดียวกันธนาคารที่เป็นผู้กู้จะนำไปใช้วัตถุประสงค์ใด ถือเป็นสิทธิของธนาคารแห่งนั้น เพราะประเทศไทยเป็นตลาดเสรี ดังนั้น ธปท.ไม่ สามารถเข้าไปกำหนดให้ใครกู้ใครหรือไม่ให้กู้ใครได้ เพราะ ธปท.เป็นเพียงผู้ดูแลภาพรวม และผู้เล่นคนหนึ่งของตลาดเท่านั้น

นายเกริก กล่าวว่า ธปท.ในฐานะผู้ดูแลระบบธนาคารพาณิชย์จะติดตามกรณีนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป รวมทั้งดูแลสภาพคล่อง ฐานะการเงิน การดำเนินการของ ระบบสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่องตามอำนาจที่มีอยู่ เพื่อไม่ให้ระบบการเงินของประเทศได้รับผลกระทบ พร้อมกันนี้ต้องการให้ประชาชนผู้ฝากเงินมีความเชื่อมั่นต่อ ระบบโดยรวมด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น