ประชาชนทั่วสารทิศแห่แหนเข้าถอนเงินและปิดบัญชีกันโดยไม่ได้นัดหมาย หลังทราบข่าวธนาคารออมสิน ปล่อยกู้ ธ.ก.ส. เป็นจำนวน 2 หมื่นล้านบาท (ปล่อยกู้ไปแล้ว 5 พันล้านบาท และยังเหลือวงเงินอีก 1.5 หมื่นล้านบาท) พร้อมข่าวลือสะพัดว่า ผู้บริหารฯ ที่ทำการอนุมัติในครั้งนี้มีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับตระกูลชินวัตร
แน่นอนความไม่โปร่งใสตรงนี้ส่งผลให้ผู้ที่ทำธุรกรรมการเงินกับธนาคารออมสินตบเท้าเข้าถอนเงินนับหมื่นล้านบาท ภายในเวลาเพียงสองสามวัน ทุกสาขาทั่วประเทศโดยพร้อมเพรียงกัน!
กลายๆ ว่าการตัดสินใจของ วรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน คงถูกจารึกเป็นตราบาปในหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ความศรัทธาของประชาชนที่สั่งสมมานับร้อยปี ถูกทำลายลงเพียงเพราะการติดสินใจผิดพลาด และไร้ซึ่งความโปร่งใสของคนที่มีอำนาจอยู่ในมือ ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ผู้คนจำนวนมากต่อคิวยาวเหยียดเพื่อทำการถอนเงินและปิดบัญชีกับธนาคารดังกล่าว
ถอนเงินออมสินกันหรือยัง?
กระแสบนโลกออนไลน์ตอบโต้เหตุไม่โปร่งใสดังกล่าวอย่างดุเดือด เป็นประเด็นร้อนแจ้งเตือนทุกฟีดข่าว ชาวโซเซียลจำนวนไม่น้อยยังแสดงออกถึงพลังต่อต้านการตัดสินใจอนุมัติเงินกว่า 2 หมื่นล้านในครั้งนี้การถ่ายภาพคู่กับเงินกองโตที่เพิ่งไปทำการถอนมา บ้างก็ถ่ายภาพบัตรคิวรอการถอนเงินมาแชร์ บ้างก็ฉีกสมุดบัญชีเงินฝากทิ้งทันทีหลังทำธุรกรรมเสร็จสิ้น ฯลฯ รวมถึงวิจารณ์การตัดสินใจเอื้อประโยชน์พวกพ้องของผู้บริหารธนาคารออมสิน พร้อมเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบ อีกนัยหนึ่ง ปรากฏการณ์นี้กำลังเป็นเทรนด์ที่ประชาชนที่มีบัญชีของธนาคารออมสินต้องตื่นตัวและแสดงตน
อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเช้าของวันคือ ทั้งหมอและพยาบาล ต่างรุดมาขอถอนเงินออกจากบัญชีอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา เล่นเอาบรรยากาศภายในกลายเป็นโรงพยาบาลขนาดย่อม เพราะอัดแน่นไปด้วยบุคลากรทางแพทย์ที่กำลังเข้าคิวขอปิดบัญชี ทีมข่าวฯ ลงพื้นที่บริเวณ ธนาคารออมสิน สาขาวังหลัง พบว่าประชาชนเดินทางมากำทำธุรกรรมอย่างล้นทะลักออกไปด้านนอกธนาคาร ซึ่งช่วงเช้าวันจันทร์ ที่ 17 กลุ่มแพทย์ โรงพยาบาลศิริราช กว่า 60 คน พร้อมใจกันมาทำการถอนเงินจากธนาคารออมสินสาขาดังกล่าว โดยให้เหตุผลตรงกันว่าเพราะต้องการประท้วงความไม่โปร่งใสของคณะผู้บริหารที่อนุมัติเงินกู้ในลักษณะดังกล่าว
ผศ.ดร.ณัฐวัฒน์ อ่อนลมูน จากสถานส่งเสริมการวิจัย คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล คือหนึ่งเสียงที่สามารถพูดแทนคนในวิชาชีพเดียวกันได้จากปรากฏการณ์ในครั้งนี้ เขาบอกว่ากลุ่มนักเรียนแพทย์ พยาบาล หรือแม้แต่อาจารย์หมอก็เห็นพ้องต้องกันว่าจะต้องพากันมาแห่ถอนเงินเพื่อแสดงจุดยืนให้ผู้บริหารของธนาคารได้เห็นว่าไม่มีสิทธิมาทำกับลูกค้าแบบนี้!
“เพื่อนๆ หลายคนก็จะมาถอน คนที่เป็นพนักงานธนาคารออมสินที่รู้จักหลายๆ คนก็ถอนเหมือนกันนะ พนักงานเขาก็ถือว่าเป็นประชาชนคนนึงเหมือนกัน เขาก็ฝากเงินไว้กับธนาคาร ถ้าเขาไม่มั่นใจ หรือเขาไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ผู้บริหารทำ เขาก็มีสิทธิในเงินของเขาเหมือนกัน ดังนั้น ผมว่าหลายคนเลยนะครับที่ไม่เห็นด้วย ไม่ใช่แค่ประชาชนทั่วไป แม้แต่พนักงานก็ไม่สนับสนุนตรงนี้เหมือนกัน”
อย่างไรก็ตาม การตอบกลับทางธนาคารในลักษณะนี้ไม่ใช่ว่าไม่มั่นใจสภาพคล่องทางการเงิน แต่ต้องการแสดงออกให้ผู้บริหารของธนาคารรู้ว่าเราไม่เห็นด้วยที่นำเงินฝากของประชาชนไปใช้ไปใช้ในโครงการของรัฐฯ ที่กำลังเป็นปัญหาอยู่
“ถึงแม้เขาจะปฏิเสธว่าไม่ได้ใช้เพื่อโครงการก็ตาม แต่ท้ายที่สุด ก็เอาเงินไปใช้ในโครงการอยู่ดี ล่าสุดก็เพิ่งมีข่าวออกมาจากทาง ธ.ก.ส.ว่าจะเอาไปใช้ในโครงการจำนำข้าวจริงๆ ดังนั้น ก็ตรงไปตรงมาว่า เราไม่สามารถจะไว้ใจตรงนั้นได้แล้ว”
สิ่งที่ต้องการเพียงอย่างเดียวในตอนนี้ก็คือ การออกมาแสดงความรับผิดชอบจากทางผู้บริหารธนาคารด้วย การลาออก
“หลักๆ แล้วก็ต้องให้ผู้อำนวยการลาออกนะ เราถึงจะยอมกลับมา ถือว่าผู้อำนวยการต้องรับผิดชอบเรื่องนี้นะ เพราะว่าคุณรู้อยู่แล้วว่าสถานการณ์มันสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาขึ้น คุณยังจะกล้าทำ ดังนั้น ความรับผิดชอบของคุณคืออะไร? คุณต้องลาออก คุณต้องให้คนขึ้นมาแทน เพราะคุณเป็นคนที่ทำให้มันเกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว เพราะงั้น คุณต้องออกไปก่อน เหมือนนายกฯ นั่นแหละครับ คุณต้องออกไปก่อน อย่ามาบอกว่าคุณจะมาแก้ปัญหาทีหลัง เพราะคุณเป็นคนที่ทำให้เกิดปัญหานี้ คุณต้องออกไปก่อน”
ผศ.ดร.ณัฐวัฒน์ ทิ้งท้ายว่า ถ้าคนที่สั่นคลอนความเชื่อมั่นของประชาชนลาออกจากตำแหน่งไปแล้วอาจเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา แน่นอนว่าไม่มีใครอยากให้ธนาคารล้ม เพียงแต่ประชาชนกำลังให้บทเรียนว่าคุณทำแบบนี้ไม่ถูกต้อง
“มันเป็นความรับผิดชอบของคุณ คุณก็ต้องลาออกไป อย่ามาบอกว่าเดี๋ยวไม่ให้กู้ ธ.ก.ส.แล้ว ทุกอย่างจบกัน มันไม่ใช่ คุณต้องแสดงความรับผิดชอบด้วย บ้านเมืองเรามันมีคนแบบนี้เยอะเกินไปแล้ว คนที่สร้างความเสียหายแล้วไม่แสดงความรับผิดชอบอะไรสักอย่าง ดังนั้น คุณต้องแสดงความรับผิดชอบออกมา แล้วผมเชื่อว่าทุกอย่างจะกลับมาปกติเหมือนเดิม”
รับเงินสด..งดแคชเชียร์เช็ค
วราภรณ์ รามัญ นักศึกษาจากวิทยาลัยเพาะช่าง ผู้เดินทางมาทำธุรกรรมที่ธนาคารออมสิน สาขาศิริราช เปิดเผยว่า ก่อนตัดสินใจเดินทางมาปิดปัญชีของธนาคารออมสิน ได้ทำการศึกษาประวัติของผู้บริหารพบว่าไม่โปร่งใจมีวาระซ้อนเร้นในการอนุมัติเงินกู้ จึงตัดสินใจโดยไม่ลังเล เธอเดินทางมากับเพื่อนอีกหนึ่งคนซึ่งยังต้องรอคิวกว่า 57 คิว อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ธนาคารแจ้งว่าสามารถทำการปิดบัญชีได้ เพียงแต่ว่าขณะนี้ธนาคารไม่มีเงินสดเบิกจ่ายให้แก่ลูกค้า จึงทำให้ต้องรับเป็นเช็คแทน ซึ่งเจ้าตัวก็ทำการปฏิเสธไปเพราะเกรงว่าจะมีปัญหาในการขึ้นเงิน และตั้งใจว่าวันรุ่งขึ้นมาเดินทางมาแต่เช้าเพื่อดำเนินการปิดบัญชีให้เสร็จสิ้น
เช่นเดียวกับ ป้านวล แม่บ้านวัน 65 ปี ที่เดินทางมาทำการถอนเงินที่ธนาคารสาขาเดียวกันตั้งแต่ช่วงเช้า โดยปฏิเสธการรับแคชเชียร์เช็คพร้อมแจ้งความประสงค์แก่เจ้าหน้าที่ว่าต้องการรับเงินสด ซึ่งเจ้าหน้าที่ฯ แจ้งว่าเงินสดไม่พอต้องรอช่วงบ่าย ถึงจะมีรถของธนาคารขนเงินมาส่งเพื่อเบิกจ่ายแก่ลูกค้าผู้มีความประสงค์ปิดบัญชีถอนเงิน
“เราเชื่อมั่นในธนาคารออมสินนะคะ เพราะธนาคารนี้เป็นของหลวง อีกอย่างเราก็ฝากที่ธนาคารนี้มาตั้งแต่เด็ก จนมาถึงรุ่นหลานเราก็เอามาฝากออมสิน แต่เรารู้สึกไม่มั่นใจผู้บริหาร คิดว่าหลายๆ คนที่มาถอนเงินในวันนี้ ต้องการแสดงให้รู้ว่า อันไหน สิ่งไหน ที่คุณทำไม่ถูก ต้องช่วยกันแสดงออกให้เขารู้ไปเลย ถ้าพูดตรงๆ ก็คือ ตัวเราเองก็ไม่ได้ว่าเป็น กปปส. เต็มตัวนะ แต่ว่าเราก็ต้องการที่จะให้เค้าออกไป ไม่อยากให้เค้าอยู่ มันไม่ไหวแล้ว ส่วนผู้บริหารที่นี่คุณควรออกจากตำแหน่งไปเถอะ”
เช่นเดียวกับ เจ้าของร้านขายไอศกรีมใกล้กับธนาคารออมสิน สาขาศิริราช แสดงเจตจำนงค์เอาไว้อย่างชัดเจนว่าต้องการถอนเงินหลักแสนออกมาให้เร็วที่สุด เดินทางมาพร้อมกับเพื่อนและพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าจะถอนออกมาแล้วไปฝากแบงก์อื่นที่มีบัญชีอยู่แล้ว
“รีบมาถอนเพราะกลัวไม่ได้เงิน เพราะมีเงินน้อยอยู่แล้ว กะว่าจะเอาเงินไปฝากไทยพาณิชย์แทน ใกล้บ้านพอดี ใกล้ร้านป้าด้วย จะวิ่งฝากเช้าถอนเย็นก็ได้ ป้าใช้ออมสินมาตั้งแต่ตอนเล็กๆ แล้ว ฝากมาตั้งแต่รุ่นสาว ไว้ใจว่ามี ร.6 เป็นผู้ที่ตั้งธนาคาร เราก็เชื่อมั่นอย่างนั้น แต่ไม่รู้ว่ารัฐบาลนี้ที่เข้ามาจะไม่โปร่งใส เพราะเราเชื่อมั่น ร.6 ท่านเป็นองค์ประธานก่อตั้งธนาคารออมสินให้ประชาชนมา ให้อุ่นใจ มั่นใจ แต่พอมาถึงตอนนี้ ตอนเราแก่ มันดันไม่โปร่งใส ก็เสียใจนะ”
แหล่งข่าวในธนาคารออมสิน ให้ข้อมูลว่า หลังจากข่าวการอนุมัติเงินกู้แพร่สะพัดออกไป ทางธนาคารฯ มีความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น เบื้องต้นธนาคารออมสินทุกสาขาเตรียมเงินไว้ประมาณ 100 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในสาขาศิริราชดูเหมือนเงินสดจะไม่พอต่อความต้องการของลูกค้าที่เข้ามาทำธุรกรรม เพราะผู้ที่มีความประสงค์ถอนเงินจำนวนมากยังคงต้องรออยู่บริเวณธนาคาร แต่ถ้าหากผู้ใดมีความประสงค์รับเป็นแคชเชียร์เช็ค ทางธนาคารฯ แจ้งว่าสามารถออกให้ได้ทันที
บทเรียนราคาแพง ผอ. ต้องรับผิดชอบ
“ถ้าสภาพคล่องโดยรวมของแบงก์อาจจะไม่กระทบมากนัก แต่ความเชื่อมั่นที่มีต่อแบงก์เสียหายเยอะเลยตอนนี้เพราะว่าธนาคารหรือสถาบันการเงินปกติควรจะเป็นมาตรฐานความโปร่งใสที่สูงที่สุดของธุรกิจต่างๆในประเทศ ธนาคารไหนก็ตามที่ขาดธรรมาภิบาล ไม่โปร่งใส มันเป็นสิ่งที่ประชาชนจะยอมรับได้ยากเพราะมันเป็นอะไรที่เขาเอาอนาคตมาฝาก ผลกระทบจะไม่ได้ทำให้ระบบการเงินของประเทศล้ม แต่มันจะทำให้ธนาคารเสียชื่อเสียงมากแล้วก็การระดมเงินฝากในอนาคตจะยากกว่านี้อีก ตราบใดที่ยังมีผู้บริหารชุดเดิมที่ทำให้ธนาคารมีปัญหายังบริหารอยู่” ดร. เกียรติอนันท์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ อธิบายถึงผลกระทบของปรากฏการณ์ที่ประชาชนทั่วประเทศแห่ถอนเงินออกจากธนาคารออมสิน
“ดูจากกระแสโซเชียลมีเดียในช่วงวันหยุดจนถึงเมื่อเช้านี้จะเห็นการขุดคุ้ยประวัติของผู้บริหารขึ้นมาแล้วพบว่ามีสายสัมพันธ์กับพรรคการเมืองที่เคยเป็นรัฐบาลและตอนนี้กำลังเป็นรักษาการอยู่ ฉะนั้นมันหลีกเลี่ยงไม่ได้หรอกที่คนจะมองว่ามันคือการช่วยเหลือกันทางการเมือง ดังนั้นภาพพจน์ของการเป็นบริหารวันนี้คือเขาขาดความเป็นมืออาชีพมากพอ ทางออกก็มีที่เห็นชัดถ้าจะเรียกความเชื่อมั่นคืนมา เขาต้องมาปรับท่าทีของตัวเองยอมรับประชาชนให้มากขึ้น และใช้เกณฑ์ที่เป็นมาตราฐานในการปล่อยกู้มากกว่านี้”
อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ที่ผู้คนตบเท้าเข้ามาแสดงจุดยืนตรงนี้ ไม่ใช่ว่าเพราะผู้คนเกรงกลัวในเรื่องสภาพคล่องทางการเงินเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีนัยที่ต้องการตอบโต้การกระทำอันไม่โปร่งใสของผู้บริหารธนาคาร
“ตอนนี้ต้องยอมรับว่า การถอนเงินมันเป็นวิธีทางการเมือง เพราะคนต้องการแสดงจุดยืนว่าเขาคิดยังไงกับเรื่องที่เกิดขึ้น คิดยังไงกับการที่นำเงินของเขาไปปล่อยกู้ให้กับรัฐบาล หากถามว่าหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร มันขึ้นอยู่กับว่าท่าทีของธนาคารออมสินกับธนาคารกรุงไทยจะเป็นอย่างไรมากกว่า เพราะว่าถ้าท่าทียังเป็นอย่างออมสินนี่ชัดเจน ออกมาบอกว่า ขอรอดูท่าทีอีก 2 - 3 วันซึ่งมันคือการท้าทายประชาชนอ้อมๆ เพราะว่าการบริหารสถาบันการเงิน คุณสมบัติหนึ่งที่ผู้บริหารระดับสูงต้องมีคือการตัดสินใจอย่างเด็ดขาด ฟังเสียงลูกค้ารายใหญ่ซึ่งก็คือผู้ฝากเงิน การไม่ทำอย่างนี้ทำให้ลูกค้าเสียความเชื่อมั่น เมื่อเสียความเชื่อมั่นขึ้นมาแล้ว ปฏิกิริยาจากเรื่องของการเมืองที่มีอยู่แล้ว บวกกับเรื่องความเชื่อมั่น มันทำให้เกิดปรากฏการณ์แบงก์รันอย่างที่เห็นกันตอนนี้ว่าคนแย่งกันไปถอนเงิน”
ดร. เกียรติอนันท์ แสดงทัศนะถึงแนวทางออกในประเด็นปัญหาดังกล่าวเป็นการทิ้งท้าย “บทเรียนจากทั่วโลกแม้แต่ในอเมริกาเอง ก็คือหนึ่งสถาบันการเงินไหนก็ตามที่ไปอิงการเมืองระยะยาวแล้วจะอยู่ไม่ได้เพราะเกิดปัญหา และสองคือสถาบันการเงินไหนที่ขาดธรรมาภิบาลระยะยาวจะเกิดปัญหาโดยเฉพาะธนาคารที่มีรัฐเป็นผู้ถือหุ้นอยู่บ้าง ฉะนั้น ก้าวต่อไปที่ธนาคารควรจะเกิดคือใช้หลักของมืออาชีพ ใช้มาตรฐานเดียวกันในการปล่อยกู้แบบเดียวกับที่แบงก์พาณิชย์ใช้ คือเราไม่ต้องสนใจหรอกว่าที่มาเขาเป็นแบงก์รัฐหรือเอกชน แต่ว่านี่คือสถาบันการเงิน ฉะนั้น ไม่ว่าสถาบันการเงินไหนก็ตามก็ควรมีบรรทัดฐานในการปล่อยกู้ที่ใกล้เคียงกันหรือเท่าเทียมกัน”
คงต้องจับตามมองกันว่า ท่ามกลางกระแสต่อต้านของประชาชนที่ตบเท้าเข้าร่วมแสดงพลังด้วยการถอนเงิน - ปิดบัญชี ของธนาคารออมสิน ซึ่งระยะเวลาเพียง 1 วัน ประชาชนทั่วสารทิศทำการถอนเงินกว่า 3 หมื่นล้านบาท คงสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นต่อการตัดสินใจของผู้บริหารธนาคารออมสินได้โดยไม่ต้องสาธยายให้มากความ
แม้ล่าสุด ทางธนาคารฯ ประกาศว่าจะไม่ปล่อยกู้ให้ ธ.ก.ส. เพิ่มเติมจากวงเงินเดิม 5,000 ล้านบาท และทำการหยุดปล่อยกู้ชั่วคราวไปก่อน ก็ไม่รู้งานนี้ผู้เกี่ยวข้องจะแสดงความรับผิดชอบต่อความไม่โปร่งใส และความผิดพลาดโดยเจตนา ด้วยการลาออกอย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่?
…........................
เรื่องและคลิป โดย ทีมข่าว ASTV ผู้จัดการ LIVE