xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ฉะ “ปู” หนีหน้าชาวนา จี้ ธ.ก.ส.-ออมสินแจงกู้ให้ชัด ไล่เคลียร์เลือกตั้ง กกต.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(แฟ้มภาพ)
“อภิสิทธิ์” บี้รัฐ-กกต.หาทางออกเลือกตั้งร่วมกัน ขัดแย้งส่งศาล รธน.ตีความ ฝืนยื้ออำนาจส่อเดือดยืดเยื้อ ไม่แก้ปัญหา ชี้กกต.เคยบอกมีปัญหาสั่งราชการ แต่รัฐเฉย เชื่อรัฐไม่รับคนกลาง ตอกนายกฯ หลบหน้าชาวนา ที่เสนอหน้าเก่ง ปรามขี้ข้าแม้วอย่างปลุกปั่นชาวนาออกมาทะเลาะกัน ระบุ ธ.ก.ส.-ออมสินแจงปล่อยกู้แบบอินเตอร์แบงก์ให้ชัดเจน หวั่นปัญหาตามมา ย้ำเร่งระบายข้าวดีที่สุด



วันนี้ (17 ก.พ.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงสถานการณ์ความเห็นต่างเรื่องการจัดการเลือกตั้ง ว่าเป็นเรื่องที่รัฐบาลและ กกต.ต้องสร้างทางออกร่วมกัน ถ้าข้อกฏหมายไม่ตรงกันก็ต้องหาข้อยุติ ซึ่งปัญหาวันนี้คือคนจำนวนมากเห็นว่าทำไม่ได้และเป็นไปไม่ได้ ด้วยเงื่อนไขทางกฎหมาย วันนี้ถ้ารัฐบาลและกกต.ไม่สื่อสารหาทางออกอย่างเป็นทางการคงลงตัวยาก โดยวันนี้ถ้า กกต.เห็นว่าความคิดเห็นระหว่าง กกต.และรัฐบาลยังขัดแย้งกันอยู่ ก็สามารถส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความได้

ส่วนที่รัฐบาลพยายามยืนยันว่าจะไม่ออกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง (พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง) 28 เขต นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ถ้า กกต.ยืนยันว่าต้องออก แต่รัฐบาลไม่ยอมออกก็ถือเป็นความขัดแย้ง ถามต่อว่าหากศาลรัฐธรรมนูญชี้แล้วว่า มีความขัดแย้ง รัฐบาลต้องทำตามหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับคำถามว่าคนถามจะถามอย่างไร ตนไปคาดการณ์ไม่ได้ แต่ถามแล้วคำตอบก็ผูกมัดทุกองค์กร บอกตรงๆว่า จำเป็นหรือที่เราต้องปล่อยให้สถานการณ์ยืดเยื้อ และต้องไปจบลงที่ศาล และเดี๋ยวจะมีกระบวนการลดความน่าเชื่อถือของศาลอีกจากฝ่ายที่ไม่พอใจ วันนี้มีกี่คนที่เชื่อว่าจะสามารถเลือกตั้งเพื่อจะเปิดสภาได้ภายใน 30 วัน มีกี่คนเชื่อว่าเมื่อ 28 เขตที่ไม่สามารถเปิดรับผู้สมัครได้ จะมีผู้แทนได้ร้อยละ 95 มีกี่คนที่เชื่อว่าจะสามารถมี ส.ส.บัญชีรายชื่อได้

“เหตุใดไม่ย้อนไปดูเหตุการณ์วันที่ 2 ก.พ.ว่าคนส่วนใหญ่ที่มีสิทธิเลือกตั้ง แต่ตัดสินใจที่จะไม่ไปเลือกตั้ง หรือไปใช่สิทธิ แต่ไม่ไปเลือกพรรคการเมืองใดเลย ผมว่าปัจจัยเหล่านี้คงเป็นสิ่งที่สามารถหาคำตอบทางการเมือง ที่เป็นทางอื่นมากกว่าที่จะผลักดันในสิ่งที่มีปัญหาทั้งข้อกฏหมาย มีทั้งความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งบานปลาย สุ่มเสี่ยงความสูญเสีย และไม่เป็นผลดีกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ และปัญหาประชาชน แต่คงเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลว่าที่ตัดสินใจผลักดันเรื่องนี้เพราะอะไร นอกจากรักษาสถานะของตนเองหรือพยายามเอาชนะทางการเมือง ขอย้ำว่าถ้าเหตุการณ์ยืดเยื้อ รัฐบาลจะแก้ปัญหาประเทศไม่ได้ ความขัดแย้งจะสะสมความเกลียดชังมากขึ้น ถ้าพยายามรักษาอำนาจรัฐของตนเองไว้คงไม่เป็นการแก้ปัญหาให้ประเทศ” นายอภิสิทธิ์กล่าว

เมื่อถามว่า รัฐบาลพยายามโยนเรื่องการจัดการเลือกตั้งให้ กกต.โดยอ้างว่ามีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า กกต.ก็ต้องทำ แต่ทำเท่าที่รัฐธรรมนูญและกฏหมายกำหนดให้ทำได้ นี่คือสิ่งที่ กกต.พูด ไม่ใช่ว่า กกต.มีอำนาจแล้วไม่ยอมใช้ แต่เขามีปัญหา กับความเห็นทางกฏหมายของเขาว่าเขาไม่มีอำนาจ วันที่ กกต.เชิญนักการเมืองเข้าไปพูดคุย ก็ได้อธิบายว่า กกต.จำเป็นจะต้องใช้บุคลากรภาครัฐซึ่งเขาไม่สามารถจะสั่งการได้ วันนั้น ที่ไปประชุมที่ ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต ก็พูดชัดว่าหลายครั้งขอให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาช่วยงาน แต่เจ้าหน้าที่รัฐบอกว่าต้องให้รัฐบาลสั่งก่อน แต่รัฐบาลก็ไม่ยอมสั่งการใดๆ

เมื่อถามต่อว่า การมีรัฐบาลรักษาการ กับการเปิดทางให้มีรัฐบาลเฉพาะกาลเข้ามาเป็นคนกลาง รูปแบบใดดีกว่ากับสถานการณ์ในปัจจุบัน นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลปัจจุบันทำงานเช่นนี้ การเปิดทางให้มีทางออกของประเทศดีกว่าแน่นอน แต่ตนทราบว่ารัฐบาลไม่ยอมรับการให้มีคนกลางเข้ามา และปัญหาคือ รัฐบาลทำเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ จะมีทางออกอย่างไรให้ประเทศ

นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวตำหนิ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯและรมว.กลาโหม ที่ไม่ยอมออกมาพบกลุ่มชาวนาที่มาทวงถามเงินในโครงการรับจำนำข้าวที่สำนักปลัดกลาโหมว่า วันนี้ตนไม่ทราบว่าเหตุใดนายกรัฐมนตรีไม่สามารถออกมาพบชาวนาได้ ท่านก็เป็นประธาน กขช.เวลามาหาเสียงหรือเอาหน้านั้นทำได้ทุกงาน แต่เวลาต้องแก้ปัญหา และรัฐผิดชอบในฐานนะผู้บริหารสูงสุด กลับไม่ยอมมาก็ไม่เข้าใจ วันนี้อยากบอกนายกฯ ว่า ขายข้าวเอาเงินมาให้ชาวนาเสียที

ส่วนกรณีที่ ส.ส.อีสานของพรรคเพื่อไทยจะระดมชาวนาอีกกลุ่มหนึ่งเข้ามาชุมนุมใน กทม.นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เรากำลังสะสมความขัดแย้ง กำลังทำให้เหตุการณ์ และปัญหาแก้ยาก ตนอยากเห็นการแสวงหาทางออกมากว่า การสะสมความขัดแย้งเช่นนี้ไม่ทราบว่าจะนำไปสู่อะไร แต่เชื่อว่าพลังของประชาชนที่ออกมาแสดงความขัดค้านรัฐบาล ที่ทำไม่ถูกต้อง ไม่เคยเห็นคนจำนวนมากเท่านี้ออกมาแสดงพลังคัดค้านการทุจริต และการใช้อำนาจรัฐที่ไม่ถูกต้อง จะเป็นไปได้อย่างไรที่ประชาชนออกมาต่อต้านนาน 3 ถึง 4 เดือน แต่อยู่ดีๆรัฐบาลจะบอกว่า ไม่เป็นไรขอรัฐบาลขอกลับไปสู่อำนาจแบบเดิมเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเป็นไปไม่ได้แน่นอน อย่างไรก็ตาม ที่สุดต้องหลีกเลี่ยงความรุนแรงให้ได้ เพราะคนที่มีหน้าที่ช่วยกัน และรัฐบาลที่มีอำนาจต้องเริ่มก่อน

“ในวันที่ 2 ก.พ.เสียงของคนที่เลือกตั้งให้พรรคการเมืองมี 14 ล้านคน น้อยกว่าคนที่ไม่ไปมีเลือก หรือไปแล้วไม่เลือกใคร ก็อ้างกันได้กลับไปกลับมา ไม่อยากให้ประชาชนต้องกลายเป็นเหยื่อที่จะถูกลากไปสู่ความขัดแย้ง ชาวนาที่เดือดร้อนเรื่องโครงการจำนำข้าวมีสิทธิที่จะเรียกร้อง และรัฐบาลมีหน้าที่แก้ปัญหาภายใต้กรอบกฏหมาย ไม่มีเหตุผลที่จะปลุกระดมชาวนาหลายๆกลุ่มขึ้นมาทะเลาะกัน” นายอภิสิทธิ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การกู้เงินแบบอินเตอร์แบงก์ของรัฐบาล เพื่อนำเงินมาจ่ายหนี้ให้ชาวนาวันนี้ถูกต้องหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนไม่ทราบรายละเอียด แต่เป็นหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้อง ความจริงมีการตรวจสอบกันอยู่ และเป็นหน้าที่ของธนาคารที่จะต้องแจกแจงว่า นิติกรรมที่ทำคืออะไร เงินเท่าไร่ เงื่อนไขคืออะไร สถานะทางการเงินของเขาปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร ต้องชี้แจ้ง เพราะว่าธนาคารออมสินต้องรักษาความเชื่อมั่นของลูกค้าด้วย วันนี้ชัดเจนว่าไม่มีการค้ำประกันจากกระทรวงการคลัง และเป็นการปล่อยคู่กันระหว่างธนาคารกับธนาคารโดยปรกติ จะเป็นการปล่อยกู้เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่อง ชั่วคราวระยะสั้น ซึ่งการกู้เงินครั้งนี้ จะเป็นเหมือนนิติกรรมอำพรางหรือไม่ก็ต้องให้ ธ.ก.ส.กับธนาคารออมสินเป็นผู้ออกมาชี้แจงให้ชัดเจนก่อน เพราะตอนนี้ก็เกิดความสับสนเรื่องตัวเลข และรูปแบบต้องเปิดเผยให้ชัดเจน อีกอย่างที่ต้องรีบชี้แจง เพราะมีประชาชนแห่ไปถอนเงิน ไม่เช่นนั้นจะเป็นปัญหา ส่วนวิธีการดังกล่าวของรัฐบาลจะสามารถนำเงินมาจ่ายชาวนาหรือไม่ เวลานี้ชาวนาได้เงินบางส่วน ที่เห็นๆ ขายข้าว 4 แสนตัน ได้เงินมา 4 พันล้าน ที่ถกเถียงกันอยู่เรื่องกู้ 5 พันล้าน, 2 หมื่นล้าน รวมกันแล้วก็ยังขาดเงินอีกแสนล้าน รัฐบาลจึงต้องหาวิธีแก้ปัญหาให้ชัดเจน โดยหลักรัฐบาลไม่ควรให้ชาวนาต้องรอ วิธีการขายข้าวดีที่สุดแล้ว ยิ่งรู้ว่าการระบายข้าวต้องใช้เวลามาก รัฐบาลก็ต้องเร่งทำ ไม่ใช่ไปเที่ยวหาวิธีซิกแซก

“วันนี้คิดว่าไม่มีใครอยากจะขัดขวางรัฐบาลจ่ายเงินชาวนา แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย เพราะเช่นนั้นจะสร้างปัญหาอื่นขึ้นมาอาจเกิดผลกระทบกับชาวนาเอง ยกตัวอย่างเช่น ถ้า ธ.ก.ส.จะกู้เงินระยะสั้นมากๆ คำถามคือว่า พอหมดเวลาแล้ว ธ.ก.ส.จะเอาเงินที่ไหนมาคืน หรือถ้า ธ.ก.ส.จะกู้เงินมาจ่ายชาวนาเรื่อยๆ ดอกเบี้ยจะตกเป็นภาระของใคร ตนสนับสนุนแน่นอนที่รัฐบาลจะหาเงินมาจ่ายชาวนาให้เร็วที่สุด แต่วิธีการต้องเป็นไปตามกฎหมาย”


กำลังโหลดความคิดเห็น