xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เลือกตั้งทอดยาวออกไป เพื่อไทยคืนสู่อำนาจยิ่งเสี่ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-เรื่องหนักอกที่ถูกยกออกไปแล้วสำหรับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย หลังศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเมื่อ 12 ก.พ. 57 “ไม่รับคำร้อง”คดีที่ วิรัตน์ กัลยาศิริ ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยื่นคำร้องตรงต่อศาลรธน. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เพื่อขอให้ศาลวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 ที่ผ่านมาเป็นโมฆะ พร้อมกับขอให้ยุบพรรคเพื่อไทย (พท.) และตัดสิทธิการเมืองกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย เป็นเวลา 5 ปี

โดยศาลรธน.วินิจฉัยแล้วเห็นว่า คำร้องที่อ้างว่า การเลือกตั้ง 2 ก.พ.57 มิได้ดำเนินการเลือกตั้งทั่วไปเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร อีกทั้งคณะรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นการกระทำเพื่อให้ผู้ถูกร้อง และผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย ได้รับความนิยมและสร้างโอกาสให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในการเลือกตั้ง

ศาลชี้ว่า คำร้องยังไม่มีมูล และไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของมาตรา 68 ศาลจึงไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย

ทำให้เพื่อไทยหายใจหายคอโล่งขึ้นมาทันที จะไม่โล่งใจได้อย่างไร ใครๆ ก็รู้ว่า ระบอบทักษิณโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย แหยงศาลรธน.ชุดนี้ ขนาดไหน ก่อนหน้านี้หมาดๆ เพิ่งโดนศาลรธน.ชุดนี้ สอยร่วงไป 2 เรื่องติดๆ คือ ร่าง แก้ไขรธน.เรื่องที่มาสมาชิกวุฒิสภา จนเป็นคดีความในชั้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อยู่ในเวลานี้ แล้วตามมาด้วย ร่าง แก้ไขรธน. มาตรา 190 ไม่นับรวมเรื่องค้างเก่ามากมายที่ทำให้ระบอบทักษิณเสียเส้น

พอคนของประชาธิปัตย์ไปยื่นคำร้องเพื่อล้มการเลือกตั้ง 2ก.พ. 57 ให้เป็นโมฆะ แถมพ่วงยุบพรรคด้วย เพื่อไทยก็ผวาจะเดี้ยงยกเข่งอีกครั้ง พอศาลรธน.ไม่รับคำร้อง เพื่อไทยก็เลยหมดกังวลไปมาก

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพลพรรคเพื่อไทยก็หาได้วางใจกับสถานการณ์ ณ เวลานี้ เพราะฝ่ายทักษิณต่างเชื่อว่า ดาบที่จะยื่นไปให้ศาลรธน.วินิจฉัย เพื่อฟาดฟันรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยของฝ่ายต่างๆ คงไม่จบแค่นี้ โดยเฉพาะเพื่อขัดขวางการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย ด้วยการล้มการเลือกตั้ง เพื่อไทยก็รู้ว่าฝ่ายตรงข้ามยังคงหาช่องทางกันอยู่ เพียงแต่จะมาด้วยดาบไหน และศาลรธน.จะเอาด้วยหรือไม่

ทางฝ่ายประชาธิปัตย์และกลุ่มอื่นๆ ก็ต้องเดินเกมให้ละเอียดมากขึ้น เพราะการยื่นคำร้องแล้วศาลรธน.ไม่รับคำร้องบ่อยๆ ก็เสียไม่ใช่น้อย อย่างก่อนหน้านี้ วิรัตน์ ก็ไปยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภาในเรื่องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ โดยไม่มีเรื่องยุบพรรค เพื่อหวังให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องไปศาลรธน. แต่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็ไม่ส่งเรื่องไป เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามรธน. คนของประชาธิปัตย์จึงจะพลาดบ่อยๆ ไม่ได้อีกแล้ว

เรื่องต่อไป ที่น่าลุ้นอีกเรื่องหนึ่งว่าจะไปถึงศาลรธน.หรือไม่ และจะจบแบบไหน นั่นก็คือ กรณีเรื่องการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ใน 28 เขตเลือกตั้ง ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคใต้ เนื่องจากกกต.ไม่สามารถเปิดให้มีการรับสมัครได้ เพราะมีการปิดล้อมสถานที่รับสมัครที่มีปัญหากันมาร่วมสัปดาห์ระหว่าง กกต. กับฝ่ายรัฐบาลเพื่อไทย

เพราะกกต. มีหนังสือยืนยันว่า ขอให้รัฐบาลออกพ.ร.ฎ.กำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งเพิ่มเติม-กำหนดวันลงคะแนนใหม่ รวมทั้งการประกาศงดเว้นการจัดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งและนอกราชอาณาจักรใน 28 เขตเลือกตั้ง 8 จังหวัด ที่ไม่มีผู้สมัคร ส.ส.เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว แต่ฝ่ายเพื่อไทยปฏิเสธ โดยบอกทำตามที่กกต.ต้องการไม่ได้ เพราะขืนหากทำก็จะขัดรัฐธรรมนูญ

เนื่องจาก รธน.กำหนดให้การออกพ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งหลังมีการยุบสภาฯ ทำได้แค่ครั้งเดียว กรณีปัญหาที่เกิดขึ้นจึงควรแก้ด้วยการออกประกาศ หรือคำสั่งของกกต. ไม่ใช่มาแก้ปัญหาด้วยการออกเป็นพ.ร.ฎ. ที่หากรัฐบาลไปทำ นอกจากอาจทำให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ. อาจถูกยื่นคำร้องให้เป็นโมฆะแล้ว ก็อาจโดนยื่นเอาผิดรวมถึงพ่วงยุบพรรคเพื่อไทยขึ้นมาได้ พร้อมกับมองว่าข้อเสนอดังกล่าวของกกต. มีเจตนาแอบแฝงการเมือง

ความไม่ลงรอยกันดังกล่าว ดูแล้ว ยิ่งลักษณ์ ไม่เอาด้วยกับกกต.แน่ สุดท้ายก็ต้องไปว่ากันที่ศาลรธน.ต่อไป หลังล่าสุด เมื่อ 12ก.พ.ที่ผ่านมา ทางกกต.ได้ส่งหนังสือด่วน ยืนยันท่าทีดังกล่าวถึงยิ่งลักษณ์ไปแล้ว

ทั้งนี้ หากยิ่งลักษณ์ เห็นแย้งกับข้อเสนอของกกต. ทางกกต.ก็จะส่งให้ศาลรธน.วินิจฉัย เพราะเข้าข่ายความเห็นทางข้อกฎหมายที่ไม่ตรงกันของฝ่ายบริหาร คือรัฐบาลกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญ คือกกต. ที่สามารถส่งเรื่องให้ศาลรธน.วินิจฉัยได้ ตามมาตรา214 ของรธน.

เมื่อพิจารณาดูแล้ว หากยิ่งลักษณ์ไม่เอาด้วยกับกกต. ตามที่กุนซือฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยยืนกรานไว้ก่อนหน้านี้ รัฐบาลก็คงน่าจะมีความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่งออกมาได้โดยเร็ว คาดว่ากระบวนการทุกอย่างก็น่าจะชัดเจนภายในช่วงต้นสัปดาห์นี้ เพราะเรื่องนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคงต้องรีบเพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าไปได้โดยเร็ว

ฝ่ายเพื่อไทยนั้นเรียกว่าเร่งเต็มที่แล้ว ทำยังไงก็ได้ขอให้เปิดประชุมสภาฯได้โดยเร็ว จะได้ลากปัญหาการเมืองสารพัดปัญหากลับเข้าไปอยู่ในสภาฯ

แต่ความพยายามเร่งของเพื่อไทย ก็ไม่ค่อยได้รับการสนองตอบจากกกต.เท่าที่ควร ซึ่งฝ่ายระบอบทักษิณ ก็คงเหนื่อยหน่ายเต็มทีแล้วกับกกต.ชุดนี้ เพราะดูจะงัดกันไปเสียแทบทุกเรื่อง

อย่างกรณีที่กกต. กำหนดให้วันที่ 20 เม.ย. คือวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ทดแทนวันที่ 26 ม.ค. ซึ่งเป็นวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งล่วงหน้า แต่แล้วเกิดปัญหาขึ้นในวันดังกล่าว เช่น มีการขัดขวางการลงคะแนนเสียง ดังนั้นสิทธิที่ประชาชนซึ่งได้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าเสียไปเพราะไปลงคะแนนไม่ได้ก็ต้องมีการคืนสิทธิ กกต.จึงจะจัดการลงคะแนนเสียงในวันที่ 20 เม.ย.57 ที่จะมี 21 จังหวัด ต้องจัดการเลือกตั้งที่รวมถึงกรุงเทพฯ ด้วย รวมถึงกรณีที่กกต.กำหนดให้ 27 เม.ย. คือวันลงคะแนนเลือกตั้งทดแทนวันที่ 2 ก.พ. ที่เสียไป เพราะเกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นในวันที่ 2 ก.พ. เช่น เลือกตั้งไม่ได้ เพราะไม่มีบัตรลงคะแนนเสียงเนื่องจากบัตรส่งไปไม่ถึงคูหาเลือกตั้ง

โดยคำชี้แจงของกกต.ที่จัดให้มีการลงคะแนนในช่วงดังกล่าวคือ 20 และ 27 เม.ย. ก็ด้วยเหตุที่ว่า หากไปกำหนดวันลงคะแนนช่วงที่การเลือกตั้ง ส.ว.ที่จะมีการเลือกกันในวันที่ 30 มี.ค.57 กกต.เกรงหากว่าเกิดมีการเอาเรื่องคัดค้านการเลือกตั้งส.ส.กับส.ว.เข้าไปอยู่ในอารมณ์และช่วงเดียวกัน จะทำให้เกิดพลังในการคัดค้านรุนแรง จึงเกรงจะเป็นปัญหา และประชาชนอาจเกิดความสับสน กกต.จึงให้มีการคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.ไปหลังการเลือกตั้ง ส.ว.แล้ว เพราะหากปนกัน

ท้ายที่สุดเกรงว่าจะเสียของ ทั้งเลือกตั้งส.ส. และส.ว.

การที่กกต.กำหนดวันเลือกตั้งดังกล่าว คือ 20 และ 27 เม.ย. ที่หากนับเอาเวลาตอนนี้ที่อยู่ช่วงกลายเดือนกุมภาพันธ์ เท่ากับว่านับจากนี้ไปอีกถึงสองเดือนกว่าเลยทีเดียว กว่าจะไปถึงวันดังกล่าว ฝ่ายที่ไม่ค่อยพอใจแน่นอนว่าต้องเป็นฝ่ายพรรคเพื่อไทยมากที่สุด เพราะเท่ากับตอนนี้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็จะต้องเป็นรัฐบาลรักษาการไปเรื่อยๆ

คำนวณเวลาแล้ว กว่าจะจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่กันได้ ภายใต้สูตรที่ว่าเลือกตั้งวันที่ 20 และ 27 เม.ย. เรียบร้อย แล้วปัญหาเรื่อง 28 เขตเลือกตั้งในภาคใต้ ก็แก้ปัญหาลุล่วงไปได้ คือทุกอย่างเรียบร้อย มีส.ส.ครบ 95 เปอร์เซนต์ แล้วถึงค่อยประชุมสภาฯ เลือกประธานสภาฯ-ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี-จัดตั้งรัฐบาล แล้วยังต้องให้รัฐบาลแถลงผลงานต่อรัฐสภาเสียก่อน ถึงจะเป็นรัฐบาลเต็มตัว

รัฐบาลชุดใหม่กว่าจะเข้าไปทำงานได้ น่าปาเข้าไปเกือบกลางปี ประมาณเดือนกรกฏาคม เลยทีเดียว !

จะไม่ให้ ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทยร้องเสียงหลงได้ยังไง เพราะการเป็นรัฐบาลรักษาการในสภาพ “ขาลอย”แบบนี้ มันแทบทำอะไรไม่ได้ งานต่างๆ ก็เดินหน้าไม่ได้ ถอยหลังก็หกล้ม แค่เรื่องจะแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการยังทำแทบไม่ได้ หากไม่มีเหตุจำเป็นเพียงพอ กกต.ก็ไม่อนุญาต

แล้วไหนจะเรื่องคอขาดบาดตายสำหรับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ อย่างเรื่อง “รับจำนำข้าว” การเป็นรัฐบาลรักษาการแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดปัญหาเรื่องการบริหารโครงการ-การกู้เงินไปให้ชาวนา มันก็ติดขัดสะสมแบบนี้ไปอีกหลายเดือน ก็ทำให้ ปัญหารับจำนำข้าวรัดคอ ยิ่งลักษณ์ มากขึ้นเรื่อยๆ

ยังจะต้องคอยรับมือกับพวกคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) อีก ซึ่งแม้เวลาต่างๆ จะยืดยาวออกไป ฝ่ายกปปส.เองก็ต้องเหนื่อยล้า มวลชนถดถอยเช่นกัน ไม่ใช่ว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ แต่แกนนำและมวลชน กปปส.ก็รู้อยู่แล้วว่า การสู้กับระบอบทักษิณ มันยาว ไม่จบง่ายๆ อาจเหนื่อยล้าบ้าง และผู้สนับสนุนด้านเงินทุนในการเคลื่อนไหวอาจต้องออกทุนต่อเนื่องไป

เรื่อยๆ ประชาชนต้องบริจาคเงินช่วยอีกหลายเดือน

แต่เทียบแล้ว ยังไงฝ่าย กปปส. ก็ไม่หงุดหงิดใจเท่ากับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพราะบริหารงานอะไรก็ไม่ได้ จะจัดการกับ กปปส. ก็ทำไม่ได้เต็มที่

อีกทั้งยิ่งเวลาเนิ่นนานออกไป ความเสี่ยงการเมืองของรัฐบาลเพื่อไทยก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งคอยเฝ้าระวังการเคลื่อนไหวของ กปปส.-แก้ปัญหาสำคัญๆ เช่น รับจำนำข้าวแล้วก็ยังมีกรณี ความห่วงกังวลจากคดีความต่างๆ ในองค์กรอิสระ เช่น คดีรับจำนำข้าวในชั้นคณะกรรมการป.ป.ช. - คดีแก้ไขรธน.ที่มาส.ว.อีก ซึ่งดูแล้วมีสิทธิ์ที่ป.ป.ช.จะลงมติว่าจะชี้มูลความผิดคดีต่างๆ กับยิ่งลักษณ์และพวกแกนนำพรรคเพื่อไทย หรือไม่ ก่อนมีรัฐบาลชุดใหม่ได้สูงมาก

การเลือกตั้งที่ทอดยาว จึงไม่ใช่การต่ออายุหรือต่อลมหายใจให้ระบอบทักษิณ-พรรคเพื่อไทย แต่เป็นการทำให้โอกาสจะถูกเข็นเข้าห้องไอซียูทางการเมืองในช่วงต่อจากนี้ มีสูงขึ้นไปอีกต่างหาก


กำลังโหลดความคิดเห็น