xs
xsm
sm
md
lg

กกต.แจงทูต 54 ประเทศ เชื่อสุญญากาศไร้รัฐบาล 6 เดือน ยันออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง 28 เขตใหม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กกต.เชิญทูต-ผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ 54 ประเทศ แจงสถานการณ์จัดการเลือกตั้ง “สมชัย” ระบุเชื่อ 6 เดือนไม่มีรัฐบาล หากคู่ขัดแย้งทางการเมืองยังไม่มีการเจรจา-พร้อมย้ำถึงอย่างไรก็เปิดประชุมรัฐสภาภายใน 30 วัน นับแต่เลือกตั้งไมได้ ชี้ปี 49 ไทยเคยออกพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งใหม่แล้ว ดังนั้น กรณี 28 เขตก็น่าจะออกพระราชกฤษฎีกาใหม่ได้

วันนี้ (13 ก.พ.) ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถนนวิภาวดีรังสิต คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เชิญเอกอัครราชทูต คณะผู้แทนทางการทูต และผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศประจำประเทศไทย กว่า 54 ประเทศ เข้ารับฟังคำชี้แจงทำความเข้าใจสถานการณ์ จัดการเลือกตั้งในประเทศไทย ภายหลังการชี้แจงกว่า 1 ชั่วโมงเศษ นายประวิช รัตนเพียร กกต.ด้านกิจการการมีส่วนร่วม กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทางเอกอัครราชทูต คณะผู้แทนทางการทูต และผู้แทนองค์กรระหว่างประเศ ได้สอบถามมายัง กกต.ถึงข้อกฎหมายสำหรับการเลือกตั้งบ่อยครั้ง กกต.จึงมีความตั้งใจที่จะชี้แจงข้อมูลโดยตรง การประชุมวันนี้จึงได้เล่าลำดับเหตุการณ์การจัดการเลือกตั้ง โดยเฉพาะที่มีปัญหาใน 3 ส่วน คือ การจัดการเลือกตั้งล่วหน้าเมื่อวันที่ 26 ม.ค.การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 ก.พ.และการแก้ปัญหาสำหรับ 28 เขต เลือกตั้งใน 8 จังหวัดภาคใต้ ที่ยังไม่สามารถรับสมัครผู้สมัคร โดยส่วนใหญ่คณะทูตให้ความสนใจซักถามข้อกฎหมาย ไม่ได้ซักถามประเด็นทางการเมือง และหว่งว่าการเลือกตั้งจะจบหรือไม่

“คณะทูตสงสัยอย่างที่เคยมีข่าวว่า กกต.จะจัดการเลือกตั้งทดแทนในวันที่ 23 ก.พ.เป็นอย่างไร ก็ได้ชี้แจงไปว่า การจัดการเลือกตั้งต้องคำนึงถึงหลายอย่าง จะต้องประสบความสำเร็จ ไม่มีการเสียชีวิตคนและงบประมาณ และทั้งหมดจะทำภายใต้กรอบเงื่อนเวลาตามที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งเราจะมีการเลือกตั้งใหญ่อย่างการเลือกตั้ง ส.ว.ในวันที่ 30 มี.ค.เกรงว่าประชาชนจะมีความสับสน พอไปเดือน เม.ย.ก็จะเจอ วันที่ 6 เม.ย.ก็เป็นวันจักรี เป็นวันหยุดที่สำคัญ สัปดาห์ถัดมาก็เป็นวันสงกรานต์ ดังนั้น ช่วงที่เหมาะสมน่าจะเป็นวันที่ 20 เม.ย.และวันที่ 27 เม.ย.จึงมีความเหมาะสม และเรายืนยันว่ามีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการจัดการเลือกตั้ง” นายประวิช กล่าว

นอกจากนี้ ก็ได้ชี้แจงถึงการแก้ไขปัญหา 28 เขตที่ไม่มีผู้สมัครว่า กกต.มีมติและได้ทำหนังสือไปยังรัฐบาล ให้มีการออก พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่แล้ว โดย กกต.มองว่า ไม่อาจออกเป็นประกาศ กกต.เพื่อกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งใหม่ได้ ซึ่งเราได้ให้ความมั่นใจไปว่า เราจะเดินหน้าจัดการเลือกตั้งต่อไป และจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ

ขณะที่ นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.กล่าวว่า เอกอัครราชทูต ฟัง กกต.ชี้แจงแล้ว ก็รู้สึกเห็นใจว่า กกต.ดำเนินการจัดการเลือกตั้งอย่างเต็มที่แล้ว ซึ่งทาง กกต.เองก็ยืนยันว่า มีความมุ่งมั่นจะเดินหน้าจัดการเลือกตั้งต่อไป จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ

“ตอนนี้ปัญหาอยู่ที่ผู้ชุมนุม ไม่ใช่เรา เราจะพยายามทำให้เสร็จโดยเร็ว ยิ่งเสร็จเร็วยิ่งดี เพราะเราก็ยังมีงานอื่นที่ต้องทำต่อ อย่างที่ทราบกันดีว่าปัญหาตอนนี้ไปทางซ้ายก็ติดทางขวาก็ติด ก็ต้องแก้ไปเรื่อยๆ” นายศุภชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ในการพบปะทูต และองค์กรระหว่างประเทศ จาก 45 ประเทศ ผู้แทนทูตหลายประเทศได้ซักถามข้อกฎหมายในเชิงลึกกับ กกต.ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเด็นข้อกฎหมายจากมุมมองของฝ่ายรัฐบาล ที่มองว่ามีหลายประเด็นที่ กกต. น่าจะทำได้แต่ไม่ได้ทำ อาทิเช่น เจ้าหน้าที่สถานทูตจากอินโดนีเซียซักถามถึงเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงวันชดเชยการลงคะแนนล่วงหน้า จากเดิมที่มีข่าวเป็นวันที่ 23 ก.พ.เป็นวันที่ 20 เม.ย.โดยนายสมชัยได้ชี้แจงว่าจากข้อมูลของ กกต.ในพื้นที่ พบว่าสถานการณ์ในพื้นที่ยังมีความรุนแรงมาก จนมีเพียง 2 ใน 21 จังหวัดเท่านั้นที่พอจะจัดการลงคะแนนได้ภายใน ก.พ.นอกจากนี้ยังห่วงว่าหากจัดการเลือกตั้งซ้อนกันกับการเลือกตั้ง ส.ว.อาจกระทบให้การเลือกตั้ง ส.ว.เสียหายไปด้วย

ตัวแทนทูตจากบราซิลได้ถามถึงกรณีที่ กกต.ขอให้รัฐบาลออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้งใน 28 เขต แล้วหากรัฐบาลยืนยันไม่ออก พ.ร.ฎ. กกต.ยังสามารถเดินหน้าจัดการลงคะแนนได้หรือไม่ และตามกรอบของรัฐธรรมนูญที่ให้ กกต.มีเวลา 60 วัน ในการให้เปิดประชุมรัฐสภานั้น หากให้มีการลงคะแนนในเดือนเมษายน แล้วจะเป็นไปตามกรอบรัฐธรรมนูญได้อย่างไร

นายสมชัย ชี้แจงว่าที่ กกต.มีหนังสือแนะนำให้รัฐบาลออก พ.ร.ฎ.เพราะได้หารือที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายแล้วว่า กกต.ไม่มีอำนาจออกประกาศให้มีการรับสมัครได้ ส่วนกรอบของรัฐธรรมนูญ 30 วัน ไม่ใช่ 60 วัน ซึ่งยังไงก็ต้องเกินกรอบเวลา 30 วัน นอกจากนี้ ก็เคยมีกรณีที่ออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้งใหม่มาแล้วในปี 2549 จึงคิดว่าน่าจะทำได้ และหากรัฐบาลมีความเห็นต่าง ก็เข้าข่ายสององค์กรมีความขัดแย้งทางความคิดเห็น ซึ่ง กกต.ก็จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหาทางออก

“เราไม่มีความลำเอียงที่จะเอื้อประโยชน์กับพรรคการเมืองใด แม้การเลือกตั้งจะช้าออกไปบ้างแต่ก็เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดกับทุกฝ่าย ถามว่าถ้าเกินกรอบ 30 วันจะเกิดอะไรขึ้น ตอบว่าไม่มีผลอะไร เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดกรอบดังกล่าวเพื่อเร่งรัดไม่ให้รัฐบาลรักษาการอยู่นานเกินไป แต่บนข้อเท็จจริงมันเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดขึ้น เพราะ 28 เขตขาดผู้สมัครยังไงก็ไม่ครบ 95% ยิ่งกว่านั้นปาร์ตี้ลิสต์ 125 คนก็ยังคำนวณไม่ได้แม้จะขาดคะแนนจากหน่วยเดียว แต่นี้ยังขาดอยู่หมื่นกว่าหน่วย รัฐสภาคงเปิดไม่ได้จนกว่าฝ่ายการเมืองจะยอมนั่งเจรจากัน ถ้าไม่เกิดขึ้นผมเชื่อว่าอีก 6 เดือนประเทศไทยก็จะยังไม่มีรัฐบาล” นายสมชัยกล่าว

ส่วนเจ้าหน้าที่สถานทูตนอร์เวย์ ถามว่า กกต.จัดการกับผู้ขัดขวางการลงสมัครใน 28 เขตเลือกตั้งอย่างไร นายสมชัย ชี้แจงว่า อารมณ์ การต่อต้านการเลือกตั้ง มันลงลึกไปถึงระดับหมู่บ้าน กว่า 90% ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านทั้งพรรคการเมือง และ กกต. หลายคนบอกให้ กกต.ฟ้องร้องเอาผิด แต่ถามว่ารัฐบาลทำอะไรได้ เพราะการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ชุมนุม กปปส.ใน กทม.ก็ยังทำไม่ได้เลย

ด้านผู้แทนจากนัมเฟล ถามว่า กกต.สามารถจัดให้ลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือรับสมัครทางไปรษณีย์ได้หรือไม่ นายสมชัย กล่าวว่า กฎหมายนั้นเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งมีสามระดับ คือรัฐธรรมนูญ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.และประกาศของ กกต.ในส่วนประกาศของ กกต.ก็ได้เปิดให้มีการลงคะแนนทางไปรษณีย์สำหรับการลงคะแนนล่วงหน้านอกราชอาณาจักรแล้ว แต่อีกสองส่วน กกต.ไม่มีอำนาจไปแก้ไข และในขณะที่ยังไม่มีสภา กกต.จึงต้องดำเนินการไปภายใต้กฎหมายเดิมที่มีอยู่

ต่อข้อถามอีกว่ามีข้อโต้แย้งว่าการที่จะให้รัฐบาลออก พ.ร.ฎ.วันลงคะแนนใน 28 เขต อาจถูกมองว่าทำให้วันเลือกตั้งกลายเป็นคนละวันนั้น นายสมชัย กล่าวว่า กกต.มองว่าวันเลือกตั้งต่างจากวันลงคะแนนล่วงหน้าตรงที่วันเลือกตั้งจะมีการนับคะแนน แต่วันลงคะแนนล่วงหน้าจะเก็บคะแนนไว้นับวันเลือกตั้ง พ.ร.ฎ.ที่จะขอให้รัฐบาลออกใหม่ก็ไม่ใช่การกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ เป็นเพียงการเปิดรับสมัครและกำหนดวันลงคะแนนใหม่เท่านั้น แต่หากมองอย่างเข้มงวดก็อาจมองได้ว่า 28 เขตเลือกตั้งมันเลือกตั้งไม่ได้ในวันที่ 2 ก.พ.ก็อาจถือเป็นวันเลือกตั้งใหม่ก็ได้ แต่ถ้า 28 เขตดังกล่าวไม่ได้เลือกตั้ง การเลือกตั้งเมื่อ 2 ก.พ.ก็ไม่สมบูรณ์อยู่ดี













กำลังโหลดความคิดเห็น