xs
xsm
sm
md
lg

เคาะเลือกตั้ง 20,27เม.ย. เลือกล่วงหน้ารอบ2-ชดเชย 2ก.พ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ ( 12 ก.พ.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านบริหารงานเลือกตั้ง แถลงภายหลังการประชุม กกต.และการประชุมประธาน กกต.จังหวัดและผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดที่มีปัญหาในการจัดการเลือกตั้งว่า ที่ประชุม กกต.ได้มีการรับฟังปัญหาและประเมินสถานการณ์การขัดขวางการเลือกตั้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ และมีมติคือ กรณีการกำหนดวันทดแทนวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าใน และนอกเขตจังหวัด เมื่อวันที่ 26 ม.ค. และการกำหนดวันลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งที่ถูกปิด ในวันเลือกตั้งที่ 2 ก.พ. รวม 21 จังหวัดนั้น ทางกกต.จังหวัดได้ให้ข้อมูลความพร้อมในการเตรียมการจัดการเลือกตั้ง
การได้รับความร่วมมือจากหน่วยราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ สถานการณ์การขัดขวางการเลือกตั้ง พบว่ามีเพียง 2 จังหวัด คือ เพชรบุรี ระยอง ที่มีความพร้อมที่จะจัดการเลือกตั้งภายในเดือนนี้ ส่วนประจวบคีรีขันธ์ มีความพร้อมจัดเลือกตั้ง ส.ส.ในเขตที่ 1 และ 2 ส่วนเขตเลือกตั้งที่ 3 ซึ่งติดกับจ.ชุมพร มีการประเมินว่าหากจัดเลือกตั้ง การขัดขวางการเลือกตั้งใน จ.ชุมพร จะขยายตัวลุกลามมากถึง
ขณะเดียวกันเมื่อประเมินถึงภารกิจที่ต้องจัดการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งกกต.มีแผนที่จะรับสมัคร ในวันที่ 4-8 มี.ค. และเลือกตั้งในวันที่ 30 มี.ค. ทางกกต.จึงมีมติเบื้องต้นว่า ในส่วนของการเลือกตั้งล่วงหน้าใน และนอกเขตจังหวัดชดเชยวันที่ 26 ม.ค รวม 16 จังหวัด ประกอบด้วย จ.ประจวบคีรีขันธุ์ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา กระบี่ ภูเก็ต พัทลุง สงขลา สตูล นครศรีธรรมราช ตรัง กทม. สมุทรสาคร สุมทรสงคราม เพชรบูรณ์ ให้จัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 20 เม.ย. ส่วนกำหนดวันลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งที่ถูกปิด ในวันที่ 2 ก.พ. รวม 18 จังหวัด ประกอบด้วย จ.ประจวบคีรีขันธุ์ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา กระบี่ ภูเก็ต พัทลุง สงขลา สตูล นครศรีธรรมราช ตรัง กทม. ระยอง เพชรบุรี นราธิวาส ยะลา ปัตตานี นั้นให้มีการจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 27 เม.ย. ซึ่งกรณีกำหนดวันขึ้นใหม่นี้ ผู้ที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ณ.เขตเลือกตั้งกลางในวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า เมื่อวันที่ 26 ม.ค.สามารถไปใช้สิทธิ ในวันที่ 20 เม.ย.ได้ โดย
ไม่ต้องยื่นลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าใหม่
ส่วนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในจังหวัดดังกล่าว ที่ในวันที่ 2 ก.พ. ไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เพราะหน่วยเลือกตั้งถูกปิด ก็สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 27 เม.ย.ได้ โดยคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า เมื่อวันที่ 26 ม.ค. จะถูกนำมานับรวมกับคะแนนที่จะได้ในวันที่ 27 เม.ย.
“จากการประเมินของจังหวัด เชื่อว่าการคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส.น่าจะระบาดไปสู่การเลือกตั้ง ส.ว. โดยทุกจังหวัดมีแนวโน้มแบบเดียวกัน ดังนั้นถ้าเอาการเลือกตั้งส.ส ไปผนวกจัดระหว่างการเลือกตั้ง ส.ว. เชื่อว่าจะยิ่งทำให้การคัดค้าน ขัดขวางการเลือกตั้งรุนแรงขึ้น และอาจทำให้การเลือกตั้งทั้ง ส.ว. และ ส.ส. เสียหาย รวมทั้งโดยข้อเท็จจริงหลังการเลือกตั้ง ส.ว. น่าจะจัดการเลือกตั้ง ส.ส.แทนที่มีปัญหาได้ แต่เมื่อไปดูวันแล้ว ก็เห็นว่าหลังการเลือกตั้ง ส.ว. คือ 30 มี.ค. ต้นเดือนเม.ย.วันที่ 6 เม.ย. เป็นวันจักรี อาจมีงานพระราชพิธี จากนั้น เป็นวันที่ 13 เม.ย. เป็นเทศกาลสงกรานต์ จึงไม่อาจกำหนดให้มีการเลือกตั้งในช่วงเวลานั้นได้ เร็วที่สุดถัดก็ไปก็คือ วันที่ 20 เม.ย. และ 27 เม.ย ซึ่งกกต.ก็เชื่อว่าเมื่อเวลาทอดยาวไปออกไป สถานการณ์ความขัดแย้งต่างๆ น่าจะคลี่คลายได้ถ้าคลี่คลายไม่ได้ประเทศชาติก็น่าจะอยู่ยากแล้ว” นายสมชัย กล่าวพร้อมกับตอบแบบติดตลก เมื่อถูกถามว่า รู้ได้อย่างไรว่าเดือนเม.ย. สถานการณ์คลี่คลายให้สามารถจัดการเลือกตั้งว่า “หมอดูบอก”

** หนังสือถึงนายกฯเสนอออกพ.ร.ฎ.ยังไม่เสร็จ

ส่วนกรณี 28 เขต 8 จังหวัดภาคใต้ ที่ไม่มีผู้สมัคร และกกต.จะเสนอให้รัฐบาลว่า ต้องออกพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่นั้น ขณะนี้หนังสือที่จะส่งถึงนายกรัฐมนตรียังไม่แล้วเสร็จ และอยู่ในระหว่างการปรับแก้ ซึ่งกกต.จะมีการพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 12 ก.พ.
ด้านนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า สำนักงาน กกต. จะจัดเตรียมความพร้อม ที่จะจัดการลงคะแนนในวันที่ 20 เม.ย. และวันที่ 27 เม.ย. ส่วนบัตร เลือกตั้ง ที่มีคนสอบถามกันมากนั้นขอเรียนกว่า บัตรเลือกตั้งส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ถูกปิดล้อม ณ ที่ทำการไปรษณีย์ 3 แห่ง ในจังหวัดภาคใต้ จะทำลายตามระเบียบ กกต.
ส่วนกรณีที่รัฐธรรมนูญระบุว่า จะต้องเรียกประชุมรัฐสภา ภายใน 30 วัน นับจากวันเลือกตั้ง 2 ก.พ.นั้น จากตัวบทรัฐธรรมนูญนั้นได้เร่งรัดให้ดำเนินการภายใน 30 วันจริง แต่หากดำเนินการไม่ทัน ก็ไม่มีบทลงโทษ ตนขอเทียบเคียงการเลือกตั้งส.ว.ปี 2543 ในตอนนั้น กกต.ยังไม่ประกาศส.ว.ได้ครบทั้งหมด โดยเหลือ 1 คนต้องใช้เวลาเลือกตั้งใหม่อีก 3 เดือน
ส่วนที่ กกต.อาจถูกมองว่าถ่วงเวลาในการจัดการเลือกตั้งรอบ 2 นั้น เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า วันนี้ ประธานกกต.จังหวัด และกกต.จว.ได้มาบอกเล่าให้ทราบสถานการณ์ ซึ่งขณะนี้มีปัญหามากๆโดยเฉพาะภาคใต้ สำนักงาน กกต.ยังถูกปิดอยู่ เจ้าหน้าที่ต้องทำงานที่บ้านพัก ศาลากลางจังหวัด ก็ถูกปิด อีกทั้งความคิดเห็นของประชาชนยังเห็นไม่ตรงกัน ต้องการให้มีการปฏิรูปก่อน และบางจังหวัด กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) หายากยิ่งกว่าทอง ดังนั้นจะต้องพูดคุยทำความเข้าใจจนกว่าจะถึงวันที่ 20 เม.ย. และ 27 เม.ย. เชื่อว่าสถานการณ์จะคลี่คลายในระดับหนึ่ง ถ้าสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายจะทำให้สถานการณ์รุนแรงยิ่งขึ้น อีกทั้งในการเลือกตั้ง ส.ว. จะต้องเตรียมการให้พร้อม หากใกล้เคียงกัน หรือปะปนกับการเลือกตั้งส.ส. โอกาสจะดำเนินการให้เป็นผลสำเร็จคงเป็นไปด้วยความยากลำบาก
รายงานข่าวจาก กกต. แจ้งว่า สำหรับหนังสือที่ประธานกกต.จะทำถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เลือกตั้งใหม่ใน 28 เขตนั้น มีจำนวน 2 หน้า ระบุตอนหนึ่งว่า เนื่องจาก กกต.ไม่สามารถออกประกาศกกต.ได้เนื่องจากตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. มาตรา 7 ระบุว่า กกต.จะต้องออกประกาศการรับสมัครภายใน 20 วัน นับตั้งแต่มี พ.ร.ฎ.ยุบสภา กำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 ก.พ. แต่ขณะนี้ ได้ล่วงเลยเวลามาแล้ว ดังนั้น กกต.ไม่สามารถออกประกาศได้ จึงเสนอให้นายกฯ ทูลเกล้าฯพระราชกฤษฎีกา กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ใน 28 เขต

** ยันจำเป็นต้องยื่นศาลรธน.ตีความ

นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต. ) กล่าวถึง เรื่อง 28 เขตเลือกตั้ง 8 จังหวัดภาคใต้ ที่ยังไม่มีผู้สมัครว่า กกต.พยายามหาช่องทางดำเนินการที่จะไม่ให้ขัดกฎหมาย เพราะถ้าขัดกฎหมายแล้วทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ จะสูญเสียงบประมาณ และเวลา หากรัฐบาลไม่เห็นด้วยว่าต้องออกเป็น พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลืออกตั้งใหม่ กกต.ก็จำเป็นต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ว่าควรจะใช้แนวทางใด โดย กกต.ต้องรอหนังสือตอบกลับอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลก่อน ว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอของกกต.หรือไม่ หากหนังสือที่จะส่งไปยังรัฐบาลเรียบร้อยก็จะส่งไปยังรัฐบาลทันที
"การจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ไม่ได้ต้องการให้เป็นเกราะป้องกันตัวเอง แต่ กกต.มองว่าหากแนวทางใดถูกต้อง กกต.พร้อมดำเนินการ ซึ่งปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น กกต.ทั้ง 5 คน ทีมกฎหมาย คณะที่ปรึกษากฎหมาย และผู้ทรงคุณวุฒิ ได้พยายามหาแนวทางแก้ไขทุกประเด็น ทุกแง่ทุกมุม เมื่อเห็นว่าเดินไปทางซ้ายก็ติด ทางขวาก็ติด เราก็จำเป็นต้องหาวิธีการ เพื่อให้ทุกสิ่งเกิดความถูกต้อง กกต.จะเร่งแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด เพราะอีกไม่นาน ก็จะมีการเลือกตั้งส.ว.เกิดขึ้นแล้ว ”ประธาน กกต. กล่าว
ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 127 ที่กำหนดให้ต้องเปิดประชุมรัฐสภา ภายใน 30 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง (2ก.พ.) เป็นเงื่อนไขให้กกต.ต้องประกาศรับรองผลเลือกตั้ง หากไม่ดำเนินการถือว่าขัดรัฐธรรมนูญนั้น นายศุภชัย กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีส.ส. ดังนั้นการแสดงความคิดเห็นในจุดที่ไม่ต้องมีความรับผิดชอบ สามารถพูดได้ แต่ตามบทบาท หากทำอะไรไปกกต.ต้องรับผิดชอบ ดังนั้นกกต.ไม่สามารถปฏิบัติอะไรที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญได้ มิฉะนั้น กกต.ต้องรับผิดชอบ
"สำหรับ 28 เขต ที่ไม่มีผู้สมัคร ถึงอย่างไรก็ต้องออกพ.ร.ฎ.ซ้ำ ยังไงก็เป็นการเลือกตั้ง 2 วันอยู่ดี เพราะวันที่ 2 ก.พ. ซึ่งเป็นวันเลือกตั้ง ผ่านพ้นไปแล้ว ถ้าจะมีการเลือกตั้งใน 28 เขต ต้องกำหนดวันเลือกตั้งขึ้นมาใหม่ ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ ที่จะเป็นการเลือกตั้งเพียงวันเดียวกัน หากจะแปลกฎหมาย ขอให้แปลให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้ และเกิดความสงบ อยากให้ทุกฝ่ายร่วมกันแก้ไขปัญหา ประเทศชาติจะได้สงบ เพื่อทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยดีขึ้น" นายศุภ ชัย กล่าว
ส่วนแนวโน้มการเลือกตั้ง จะเป็นโมฆะหรือไม่นั้น นายศุภชัย กล่าวว่า ยังไม่ทราบ ไม่ขอตอบ ไม่สามารถคาดการณ์ได้ เพราะไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่กรณี 28 เขต กกต.ออกประกาศให้มีการสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้ เพราะมาตรา 7 (1) ของ พ.ร.บ.เลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. กำหนดว่า จะต้องประกาศรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตภายใน 20 วัน นับตั้งแต่มี พ.ร.ฎ. ออกมา เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 56 คือจะต้องไม่เกินวันที่ 29 ธ.ค. 56 ซึ่งตอนนี้เลยห้วงเวลาดังกล่าวมาแล้ว

**"พงศ์เทพ"ยืนกรานไม่ออกพ.ร.ฎ.ใหม่

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ กกต. บางคนออกมระบุว่า การเลือกตั้ง 2 ก.พ.ไม่ว่า จะไปทิศทางไหน ก็ขัดรัฐธรรมนูญ ว่า เรื่องอะไรที่เกี่ยวกับ กกต.เราจะติดต่อเป็นทางการไปถึงประธานกกต. เพื่อจะมั่นใจว่าเป็นความเห็นของ กกต. ทั้งหมด ส่วนหนังสือที่ กกต.จะส่งมาหารือกับรัฐบาล เกี่ยวกับการออก พ.ร.ฎ. กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ใน 28 เขต 8 จังหวัดที่ไม่มีผู้รับสมัคร ก็ยังรออยู่ พร้อมพิจารณาและตอบกลับอย่างเร็วที่สุด
เมื่อถามว่า เหตุผลที่ไม่มีการออกพ.ร.ฎ.การเลือกตั้งใหม่ เพราะเกรงจะถูกเหมารวมว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นโมฆะ ใช่หรือไม่ นายพงศ์เทพ กล่าวว่า พ.ร.ฎ.การเลือกตั้งมีฉบับเดียว และทำถูกต้องแล้ว เมื่อถามว่า จะขอให้ กกต.หยุดแสดงความเห็นส่วนตัวหรือไม่ เพราะทำให้สังคมเกิดความสับสน นายพงศ์เทพ กล่าวว่า คงไม่ขออะไร เชื่อว่าสังคมไทยอยากให้ กกต. ทำหน้าที่เต็มที่
ส่วนที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า ต้องเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายใน 30 วัน หลังการเลือกตั้ง นายพงศ์เทพ กล่าวว่า เป็นกรอบในการทำงานของกกต. ต้องทำให้ได้ ส.ส.ครบ 95 เปอร์เซ็นต์ หรือ อย่างน้อย 475 คน ภายใน 30 วัน หลังเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ทางออกไม่ได้มีอะไรเลย แค่คนที่มีหน้าที่ ต้องทำหน้าที่ตนเอง กกต.ต้องจัดการเลือกตั้ง
เมื่อถามว่า การที่รัฐบาลต้องการให้เดินหน้าเลือกตั้ง เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ระบุว่า ต้องการให้จัดการเลือกตั้งใช่หรือไม่ นายพงศ์เทพ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกับพ.ต.ท.ทักษิณ แต่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ และกฎหมายการเลือกตั้ง ส่วนที่มีคนเขียนบนเฟซบุ๊ก ว่าตนไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่พม่า ก็ไม่เป็นความจริง เดือนนี้ไม่เคยเดินทางออกนอกประเทศ และไม่มีการต่อสายคุยกับใคร
กำลังโหลดความคิดเห็น