xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ลังเลอำนาจกำหนดวันเลือกตั้งทดแทน รอปรึกษาทีม กม.ก่อนตัดสินใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กกต.วุ่นเร่งถกเกจิ กม.ด่วนหลังฝ่าย กม.สำนักงานฯ เสียงแตกแนวทางแก้ปัญหาจัดเลือกตั้ง 28 เขตใต้-เลือกตั้งทดแทนวันลงคะแนนล่วงหน้าและวันเลือกตั้งทั่วไป ชี้ออกไหนก็เสี่ยงถูกฟ้องโมฆะ

วันที่ 6 ก.พ. รายงานข่าวแจ้งว่า เหตุที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในวันนี้ยังไม่สามารถมีมติถึงแนวทางการแก้ปัญหา 28 เขตเลือกตั้งภาคใต้ที่ยังไม่มีผู้สมัคร ปัญหาหน่วยเลือกตั้ง 1.2 หมื่นหน่วยที่ไม่สามารถเปิดการลงคะแนนได้ในการเลือกตั้งทั่วไป ปัญหาการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 26 ม.ค.ที่ยังไม่รู้จะจัดการเลือกตั้งทดแทนวันใด ปัญหา 16 เขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครเพียงรายเดียว เนื่องจากฝ่ายกฎหมายของสำนักงานเสียงแตก ไม่ได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเพียงทางเดียว แต่มีการเสนอเป็น 2 ทาง โดยเฉพาะกรณี 28 เขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัคร มีการเสนอให้ กกต.พิจารณาทั้งเห็นว่า กกต.สามารถออกประกาศกำหนดให้มีการรับสมัครเลือกตั้งส.ส.ใน 28 เขตได้ เพราะการเลือกตั้งตาม พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง 2 ก.พ.ยังได้ผลไม่สมบูรณ์ ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 236 ประกอบมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้งให้อำนาจ กกต.ในการออกประกาศหรือระเบียบทั้งหลายอันจำเป็นต่อการปฏิบัติงานได้อยู่แล้ว

ขณะที่อีกแนวทางหนึ่งเห็นว่าจำเป็นที่ กกต.จะต้องเสนอให้รัฐบาลทูลเกล้าเพื่อตรา พ.ร.ฎ.เลือกตั้งใหม่ เพราะ 28 เขตเลือกตั้งยังไม่มีผู้สมัคร ต้องมีการรับสมัครใหม่ ซึ่งการจะรับสมัครได้ มาตรา 7 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. กำหนดให้ กกต.ทำได้ เมื่อ พ.ร.ฎ.เลือกตั้งประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลใช้บังคับ

ส่วนการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ทดแทนวันเลือกตั้งทั่วไปและวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านั้น ในที่ประชุมฝ่ายกฎหมายก็ได้เสนอเป็น 2 แนวทางเช่นกัน โดยทางหนึ่งเห็นว่ามาตรา 78 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้งที่กำหนดให้มีการกำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งได้หลัง กกต.ประจำเขตได้ประกาศงดการลงคะแนนในวันเลือกตั้งเนื่องจากเหตุสุดวิสัย เปิดช่องให้ กกต.กำหนดวันทดแทนวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า และวันเลือกตั้งทั่วไปได้ แต่อีกทางหนึ่งเห็นว่ามาตรา 78 ใช้ได้เฉพาะกับการกำหนดวันทดแทนวันเลือกตั้งที่มีการปิดหน่วยเลือกตั้งเท่านั้น ไม่สามารถนำมาใช้ทดแทนกับวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าได้ เพราะหน่วยเลือกตั้งในวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าเป็นหน่วยเลือกตั้งกลาง ซึ่งหน่วยเลือกตั้งตามความหมายของมาตรา 78 หมายถึงหน่วยเลือกตั้งในวันเลือกตั้งทั่วไปเท่านั้น และการที่กฎหมายกำหนดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า ก็เพื่อให้ผู้มีสิทธิที่ไม่สามารถใช้สิทธิในวันเลือกตั้งได้ไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าที่กำหนดขึ้นก่อนวันเลือกตั้ง หากมีการกำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าทดแทนขึ้นก็จะเป็นวันลงคะแนนเลือกตั้งหลังวันเลือกตั้ง 2 ก.พ. ซึ่งถือว่าต่อเจตนารมณ์ของการกำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า อีกทั้งมาตรา 102 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้งยังกำหนดให้คะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าต้องมาถึงยังหน่วยเลือกตั้งเลือกตั้งเพื่อนับคะแนนก่อนที่คะแนนเลือกตั้งแต่ละหน่วยเลือกตั้งจะมาถึง โดยมีการกำหนดไว้ว่าหากบัตรลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้ามาหลังจากนับคะแนนเลือกตั้งไปแล้วให้ถือว่าบัตรเลือกตั้งล่วงหน้านั้นเป็นบัตรเสีย แต่ในข้อเท็จจริงขณะนี้มีการนับคะแนนเลือกตั้ง 2 ก.พ.ไปแล้ว ดังนั้นหากมีการกำหนดวันทดแทนวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าขึ้นใหม่ก็อาจจะทำให้ถูกฟ้องร้องให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ.เป็นโมฆะได้

นอกจากนี้ หากจะมีการกำหนดวันทดแทนวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าและวันเลือกตั้งทั่วไปในช่วงนี้ ก็มีการประเมินพื้นที่ที่จะสามารถจัดให้มีการลงคะแนนได้ว่า ภาคใต้ จะมีแค่ 3 จังหวัดชายใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และใน จ.สตูล 2 เขตเลือกตั้ง รวมถึง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้เท่านั้น ส่วนพื้นที่อื่นๆ รวมถึงกรุงเทพมหานคร จะเผชิญกับการปิดล้อมของ กลุ่ม กปปส. ซึ่งการกำหนดวันยังจะกระทบไปถึงการจัดการเลือกตั้ง ส.ว. ที่เป็นการเลือกตั้งทั่วประเทศ ซึ่งต้องมีการเตรียมกำลังคน อุปกรณ์ เหมือนกับการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไป ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ที่ประชุม กกต.ไม่สามารถตัดสินใจได้ จึงขอให้มีการนัดคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมาย ที่ประกอบไปด้วย นักวิชาการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ และอดีตรองประธานศาลฎีกา มาร่วมประชุมกับ กกต. ในวันที่ 7 ก.พ.นี้ เพื่อให้ได้แนวทางที่ชัดเจน ที่ กกต.จะสามารถตัดสินใจได้


กำลังโหลดความคิดเห็น