กกต.แถลงผลใช้สิทธิเลือกตั้ง 68 จังหวัด พบผู้มาใช้สิทธิ 20 ล้านจาก 44 ล้าน คิดเป็นร้อยละ 45.84 มีมติเอกฉันท์ให้ “สมชัย” นั่งกำกับดูแลงานด้านบริหารเลือกตั้งต่อไป คาดเลือกตั้ง ส.ว.30 มี.ค. ด้านโฆษกเพื่อไทยร้อง กกต.เร่งเอาผิด “สุเทพ” ฐานขัดขวางการเลือกตั้ง พร้อมเตรียมร้องยุบ ปชป. อ้างหนุนการชุมนุมล้มประชาธิปไตย
วันนี้ (3 ก.พ.) นายภุชงศ์ นุตราวงศ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงว่า ที่ประชุม กกต.ได้รับทราบรายงานผลการใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.อย่างไม่เป็นทางการใน 68 จังหวัดที่มีการเลือกตั้ง โดยยกเว้น 9 จังหวัดที่ไม่สามารถเปิดการลงคะแนนได้แก่ จ.สงขลา ตรัง พัทลุง ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ระนอง กระบี่ ชุมพร ว่าจากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้น 44,649,742 คน มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 20,468,686 คน คิดเป็นร้อยละ 48.84
โดยจังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุดยังคงเป็น จ.ลำพูน มาใช้สิทธิ 241,209 คน คิดเป็นร้อยละ 72.80 รองลงมา จ.หนองบัวลำภู มีผู้มาใช้สิทธิ 277,018 คน คิดเป็นร้อยละ 72.50 จ.บึงกาฬ มีผู้มาใช้สิทธิ 213,627 คน คิดเป็นร้อยละ 70.00 ทั้งนี้ตัวเลขผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งจะสมบูรณ์หลังวันที่ 23 ก.พ. ส่วนกรุงเทพมหานครที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,369,120 คน มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 1,143,667 คน คิดเป็นร้อยละ 26.18 และ จ.นครศรีธรรมราช ที่สามารถเปิดการลงคะแนนได้ 3 เขตเลือกตั้งจากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งจังหวัด 1,153,060 คนนั้น มาใช้สิทธิเลือกตั้งเพียง 1,292 คน คิดเป็นร้อยละ 0.11
ทั้งนี้ รายงานผลการใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ จำนวนบัตรดี บัตรเสีย บัตรไม่ประสงค์ลงคะแนนนั้น คาดว่าจะสามารถทราบได้ในวันพรุ่งนี้ หลังจากที่ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดทุกจังหวัดได้นำรายงานผลการใช้สิทธิเลือกตั้งมาส่งให้กับ กกต. ซึ่ง กกต.ก็จะได้มีการประชุมเพื่อรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นในการจัดการเลือกตั้งจากผู้อำนวยการเลืออกตั้งประจำจังหวัดด้วยเพื่อนำปัญหา อุปสรรคต่างๆ มาพิจารณาปรับแก้ไว้สำหรับการเตรียมการจัดการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในและนอกเขตทดแทนเมื่อวันที่ 26 ม.ค. และการจัดการเลือกตั้งทดแทนวันที่ 2 ก.พ. ในกว่าหมื่นหน่วยเลือกตั้งที่ลงคะแนนไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การประกาศผลคะแนนเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้งนั้นก็จะต้องรอการเลือกตั้งทดแทนใน 2 กรณีนี้เสียก่อน รวมทั้งรอการเลือกตั้งใน 28 เขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัครภาคใต้ด้วย
อย่างไรก็ตาม กกต.เข้าใจว่าขณะนี้ทุกคนรอผลการเลือกตั้งอยู่ แต่การจะจัดการเลือกตั้งทดแทน กกต.ต้องพิจารณาว่าสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองลดน้อยลงเพียงใด ถ้าหากดำเนินการไปแล้วจะมีปัญหาเหมือนวันที่ 26 ม.ค. และวันที่ 2 ก.พ.หรือไม่ อีกทั้ง กกต.จะต้องปรับแก้ไขอย่างไร อีกทั้งการจัดการเลือกตั้งทดแทนจะเหมือนกับการเลือกตั้งทั่วไปทุกอย่าง ต้องมีการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้ง ต้องเตรียมกำลังคน ซึ่งก็ถือเป็นการเลือกตั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ส่วนงบประมาณที่จะใช้ในการจัดการเลือกตั้งทดแทนนั้นยังเห็นว่าที่งบที่เหลืออยู่น่าจะเพียงพอ ไม่ต้องขอรับการจัดสรรเพิ่มจากรัฐบาล
นายภุชงค์ยังกล่าวถึงกรณีนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารเลือกตั้งได้ขอต่อที่ประชุม กกต. ในการที่จะแสดงความรับผิดชอบต่อการไม่สามารถทำให้มีการเลือกตั้งในทุกหน่วยเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ด้วยการจะขอสลับตำแหน่งไม่กำกับดูแลงานด้านบริหารเลือกตั้งนั้น ที่ประชุม กกต.มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งของนายสมชัยนั้นเป็นไปโดยสมบูรณ์แล้ว จึงขอให้นายสมชัยปฏิบัติหน้าที่เป็น กกต.ด้านการบริหารงานเลือกตั้งต่อไป
นายภุชงค์ยังกล่าวถึงได้เตรียมการเลือกตั้ง ส.ว.ทั่วประเทศที่จะหมดวาระในวันที่ 2 มี.ค.ว่า คาดว่าจะจัดการเลือกตั้งได้ในวันอาทิตย์ที่ 30 มี.ค. โดยน่าจะเปิดรับสมัครได้ในวันที่ 4-8 มี.ค. ส่วนงบประมาณนั้นคาดว่าจะใช้กว่า 3,000 ล้านบาท ด้านนายสมศักดิ์ สุริยมงคล รองเลขาธิการ กกต.กล่าวว่า คาดว่าจะนำเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ส.ว.ให้ กกต.พิจารณา ได้ในวันพฤหัสฯที่ 6 ก.พ.นี้ โดยการเลือกตั้ง ส.ว.จะใช้งบประมาณน้อยกว่า ส.ส.เนื่องจากพิมพ์บัตรเลือกตั้งน้อยกว่าประมาณ 20%
อีกด้านหนึ่ง นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ได้เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้พิจารณาดำเนินคดีกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. กับพวก 9 คน ที่ได้ร่วมกันกระทำการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในกรณีที่ขัดขวางกระบวนการเลือกตั้ง กีดกันไม่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปใช้สิทธิได้ ซึ่งถือเป็นการกระทำมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. รวมทั้งขอให้ดำเนินคดีทางแพ่งในกรณีที่กลุ่มกปปส.ได้เข้าไปบุกยึดโรงพิมพ์บัตรเลือกตั้งทำให้บัตรเลือกตั้งเกิดความเสียหาย
โดยนายพร้อมพงศ์กล่าวว่า ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทยได้รวบรวมข้อเท็จจริงในการที่กลุ่มของนายสุเทพและพวก กระทำการที่เข้าข่ายการขัดขวางการเลือกตั้ง ตั้งแต่การเปิดให้มีการรับสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขต โดยเฉพาะใน กทม.และจังหวัดภาคใต้ และล่าสุดที่ได้มีการขัดขวางการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยทำให้การเลือกตั้งมีปัญหา ทำให้มีผู้ไม่สามารถไปใช้สิทธิลงคะแนนได้เนื่องจากมีการปิดหน่วยเลือกตั้งในบางพื้นที่ ดังนั้นจึงขอให้ กกต.เร่งดำเนินคดีเอาผิดนายสุเทพกับพวกโดยเร็ว เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้กลุ่มของนายสุเทพไปขัดขวางการลงคะแนนของผู้ที่จะไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้ารอบ 2 ในวันที่ 23 ก.พ.นี้ รวมทั้งการลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ของหน่วยที่ไม่สามารถเปิดให้ลงคะแนนได้ในวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา
“ขอให้ กกต.เร่งดำเนินการ หากไม่ทำถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพราะเหตุกาณ์ที่มีการกระทำขัดขวางการเลือกตั้งได้ทำอย่างต่อเนื่องมาร่วมเดือน แต่ กกต.ก็ยังไม่ยอมดำเนินการใดๆ ทั้งที่เห็นว่ากลุ่มของนายสุเทพมีอาวุธปืน ดังนั้น หาก กกต.ยังไม่ดำเนินการเอาผิด ก็จะยื่นร้องเอาผิด กกต.ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ขอให้ กกต.เร่งดำเนินการกำหนดวันเลือกลงคะแนนใหม่ภายใน 7 วัน ให้กับผู้ที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิได้ในวันที่ 2 ก.พ. โดยเฉพาะ 9 จังหวัดที่ไม่สามารถลงคะแนนได้ทั้งจังหวัดและอีก 9 จังหวัดที่บางหน่วยไม่สามารรถลงคะแนนได้ อย่างไรก็ตาม กกต.มีหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้ง อย่าโยนภาระให้รัฐบาลหรือหน่วยงานอื่น” นายพร้อมพงศ์กล่าว
นายพร้อมพงศ์กล่าวอีกว่า ในวันที่ 5 ก.พ.นี้ ตนและทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย จะยื่นเรื่องต่อประธานกกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง เพื่อขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากพบว่าพรรคประชาธิปัตย์มีการกระทำที่ขัดต่อ พ.ร.บ.พรรคการเมืองและมีลักษณะเป็นการสนับสนุนการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. โดยมีการพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย