xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ชงผู้ตรวจการแผ่นดินส่งศาล รธน.ฟันเลือกตั้งเป็นโมฆะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“วิรัตน์” ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาล รธน.วินิจฉัยให้เลือกตั้ง 2 ก.พ.เป็นโมฆะ ชี้ 28 เขตเลือกตั้งใน 8 จว.ภาคใต้ที่ต้องออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้งใหม่ และการกำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งในและนอกเขตเลือกตั้งในวันที่ 23 ก.พ.ทดแทนวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าที่ 26 ม.ค.ส่งผลให้การเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไปไม่ได้เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรขัด รธน.มาตรา 108 ชัดแจ้ง ขณะเดียวกัน การที่รัฐออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มุ่งหวังปิดปากประชาชนที่แฉการทุจริตบริหารงานรัฐ เพื่อหวังให้คะแนนนิยม พท.ไม่เสียไป เข้าข่ายเป็นการกระทำให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปคกรองประเทศโดยวิธีทางที่ไม่เป็นไปตาม รธน.

วันนี้ (31 ม.ค.) นายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.และทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินผ่านนายเฉลิมศักดิ์ จันทรทิม เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ยื่นเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ เป็นโมฆะ โดย้คำร้องของนายวิรัตน์มีทั้งสิ้น 13 หน้า ระบุเหตุที่การเลือกตั้งครั้งนี้ต้องเป็นโมฆะรวม 5 ข้อ ว่า 1.ไม่ได้เป็นการเลือกตั้งวันเดียวทั่วราชอาณาจักร ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 108 2.ขัดต่อหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญมาตรา 30 ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการเลือกตั้งในการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 3.การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. 57 เกิดการกระทำที่ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิถีทางที่มิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 4.สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ไม่อำนวยให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้อย่างเสรี ทำให้ผลการเลือกตั้งไม่สะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประชาชนได้ 5.คณะกรรมการการเลือกตั้งผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการจัดการเลือกตั้ง ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

โดยคำร้องให้น้ำหนักกับกรณีที่หลังปิดการรับสมัคร ส.ส.ระบบแบ่งเขตเลือกตั้งในวันที่ 1 ม.ค.มี 28 เขตเลือกตั้งใน 8 จังหวัดภาคใต้ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งหากมีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.ก็จะไม่สามารถประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ได้ร้อยละ 95 ของจำนวน ส.ส.ที่พึงมีที่จะทำให้สามารถเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ กรณีดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรี และ กกต.ต้องกำหนดให้มีการสมัครรับเลือกตั้งใหม่ และกำหนดให้มีวันเลือกตั้งใหม่ และเห็นว่ามาตรา 78 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.ที่กำหนดให้ กกต.สามารถกำหนดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ได้ในกรณีเกิดเหตุจลาจล หรือเหตุสุดวิสัยนั้น จะใช้ได้ก็เฉพาะกรณีที่เขตเลือกตั้งนั้นมีการรับสมัครโดยสมบูรณ์เสียก่อนแล้ว แต่กรณีนี้ยังไม่มีการรับสมัคร ส.ส.เกิดขึ้นใน 28 เขต 8 จังหวัดจึงไม่อาจใช้มาตราดังกล่าวมาเลื่อนการลงคะแนนได้ ดังนั้นถ้ามีการออกพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งเฉพาะใน 28 เขต ซึ่งต้องมีการรับสมัครใหม่ ก็จะทำให้วันเลือกตั้งมีเกินกว่า 1 วันขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 108 อย่างชัดแจ้ง

นอกจากนั้น ยังพบว่า กกต.มีมติให้มีการกำหนดวันเลือกตั้งขึ้นอีก 1 วัน คือ วันที่ 23 ก.พ.เพื่อทดแทนให้กับผู้ที่ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าที่ในวันที่ 26 ม.ค.ไม่ได้ใช้สิทธิ เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 102 กำหนดว่าหากบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าส่งมาถึงสถานที่นับคะแนนในเขตเลือกตั้งได้ล่าช้าให้ถือเป็นบัตรเสีย และมาตรา 81 ที่กำหนดให้การนับคะแนนทำ ณ ที่เลือกตั้งให้เสร็จสิ้นโดยรวดเดียว ห้ามมิให้มีการเลื่อนหรือประวิงเวลาในการนับคะแนน ดังนั้นเมื่อกฎหมายกำหนดให้มีการนับคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าก่อนมีการนับคะแนนในวันเลือกตั้งทั่วไป การกำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 23 ก.พ.หลังวันเลือกตั้งที่ 2 กุมภาพันธ์ จึงทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่สุจริต เที่ยงธรรม และเป็นความบกพร่องในสาระสำคัญถึงขนาดต้องตกเป็นโมฆะ

“การที่รัฐธรรมนูญมาตรา 108 กำหนดว่าวันเลือกตั้งทั่วไปต้องเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรนั้น มีเจตนารมณ์เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม เกิดความเสมอภาคขึ้นระหว่างผู้สมัครทุกคนทุกพรรคการเมืองไม่มีการได้เปรียบเสียเปรียบในการณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ทั้งยังทำให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเลือกผู้สมัคร และพรรคการเมือง ที่ตนต้องการจากเจตนารมณ์ที่แท้จริง เพราะหากกำหนดวันเลือกตั้งแต่ละเขตเลือกตั้ง แต่ละจังหวัด หรือแต่ละภาคต่างกันแล้วการตัดสินใจลงคะแนนเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ลงคะแนนภายหลังอาจแปรเปลี่ยนไปตามกระแสนิยมหรือตามเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นในเขตเลือกตั้งอื่นได้ ดังนั้นเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมรัฐธรรมนูญมาตรา 108 จึงบัญญัติให้วันเลือกตั้งต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร คณะกรรมการการเลือกตั้ง ประธาน กกต.นายกรัฐมนตรีจะกระทำการใดๆ เพื่อให้มีการวันเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นมากกว่าหนึ่งวันหรือมิได้เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรได้”

นอกจากนี้ในระหว่างพระราชกฤษฎีกายุบสภา รัฐบาลก็กลับประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมีเจตนาเพื่อสกัดกั้นการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม แสดงความคิดเห็น ที่เป็นการเปิดโปงการบริหารที่ทุจริตของรัฐบาลการไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย ซึ่งจะทำให้มีผลต่อคะแนนนิยมของผู้สมัครพรรคเพื่อไทย และอาจทำให้ประชาชนเสื่อมความนิยมในตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี ดังนั้นการออก พ.ร.ก.ดังกล่าวจึงเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมขึ้นในการเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรม ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 181(4) ว่าด้วยการใช้ทรัพยากรบุคคลของรัฐเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้ง และยังเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และมาตรา 237 วรรคสอง ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้รับข้อมูลข่าวสารไม่เป็นกลาง ไม่เป็นธรรมบิดเบือนหลักการเลือกตั้งที่ต้องเป็นไปโดยเสรีผลของการเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นไปโดยไม่สุจริต เที่ยงธรรมตามเจตนารมณ์ของการเลือกตั้ง ตามหลักการในระบอบประชาธิปไตยที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

อีกทั้งสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ไม่เอื้ออำนวยให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลืออกตั้งได้อย่างเสรี ผลเลือกตั้งที่ออกมาไม่ได้สะท้อนถึงความต้องการขอประชาชนอย่างแท้จริง โดยจะเห็นได้ว่าการชุมนุมของกลุ่มมวลชนในขณะนี้มีกลุ่มผู้ไม่หวังดีกระทำอันตรายต่อประชาชนที่ชุมนุมโดยสงบสันติ โดยในวันสมัครก็เกิดเหตุความรุนแรงขึ้น ในวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า 26 ม.ค.ก็มีการบุกยิงนายสุทิน ธราทิน แกนนำผู้ชุมนุมเสียชีวิต ในบริเวณใกล้หน่วยเลือกตั้ง มีการบุกยิงผู้ชุมนุมที่หน้าสโมสรทหารบก ขณะที่ กกต.และนายกรัฐมนตรีมีการหารือกันในวันที่ 28 ม.ค.เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บเสียชีวิตจากหลายเหตุที่เกิดขึ้นโดยมีผู้บาดเจ็บแล้วกว่า 600 คน เสียชีวิตแล้ว 10 คน ซึ่งสถานการณ์การเมืองดังกล่าวยังไม่มีแนวโน้มว่าจะคลี่คลายไปทางที่ดีคาดหมายได้ว่าในวันเลือกตั้งที่ 2 ก.พ.ประชาชนจะเกิดความเกรงกลัวไม่กล้าออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ทำให้การออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยเสรีผลของการเลือกตั้งไม่ได้สะท้อนความต้องการขอประชาชนอย่างแท้จริง

“จากเหตุดังกล่าวผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 244 และ 245 เสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยซึ่งเรื่องตามคำร้องมีผลกระทบต่อความเสียหายของประชาชนอย่างร้ายแรงเป็นการร้องเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง อันเป็นการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะและเป็นการแก้ไขวิกฤตการณ์ของชาติบ้านเมืองที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันนี้ซึ่งยังไม่มีแนวโน้มว่าจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีแต่อย่างใด จึงชอบที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป 2 ก.พ.57 เป็นโมฆะไม่ชอบด้วยกฎหมายชอบที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยให้เพิกถอนการเลือกตั้งดังกล่าวเสีย ทั้งนี้ตามวิถีทางที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเคยดำเนินการในการแก้ไขวิกฤตของประเทศชาติมาแล้วในอดีตในคดีการเลือกตั้ง 2 เม.ย. 49”


กำลังโหลดความคิดเห็น