xs
xsm
sm
md
lg

กกต.แถลงปิดหีบ ไร้เหตุรุนแรง 18 จว.กว่าหมื่นหน่วย ลงคะแนนไม่ได้ จวกรัฐสั่งไม่ได้ เลือกตั้งใหม่ใน 7 วัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต (แฟ้มภาพ)
กกต.แถลงผ่านทีวีพูลหลังปิดหีบ ไม่ประกาศผลการนับคะแนนเลือกตั้ง ชี้ต้องรอผลการเลือกตั้งล่วงหน้ารอบ 2 พร้อมขอบคุณออกมาใช้สิทธิ และทุกภาคส่วน ทำการเลือกตั้งเสร็จสิ้น ไร้เหตุรุนแรง เผยมีเรื่องร้องเรียน 4 เรื่อง ด้าน “สมชัย” ชี้ “ปู” หย่อนบัตรผิดหีบไม่ผิดกม.บัตรไม่เสีย อัดรัฐจี้ กกต.กำหนดลงคะแนนใหม่ภายใน 7 วัน ระบุเสนอได้แต่สั่งไม่ได้ คาดมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่รับผลกระทบใช้สิทธิไม่ได้ราว 10 ล้านคน เผย 18 จว.67 เขต 10,283 หน่วย มีปัญหาลงคะแนนไม่ได้ ส่วน 59 จว. 308 เขต 83,669 หน่วย เลือกตั้งฉลุย

วันนี้ (2 ก.พ.) เมื่อเวลา 16.10 น. ที่ จ.ชลบุรี คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้ง 5 คนนำโดย นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.ได้ร่วมกันแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทีวีพูล) ภายหลังปิดการลงคะแนนเลือกตั้ง โดยนายศุภชัยอ่านแถลงการณ์ กกต.ว่า กราบเรียนพี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักทุกท่าน ในนามของคณะกรรมการการเลือกตั้งขอชี้แจงทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนทั้งประเทศว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปในวันนี้ ที่ได้ปิดการลงคะแนนไปเมื่อเวลา 15.00 น.ที่ผ่านมานั้น เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค. 2556 โดยกระบวนการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ออกประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องการรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2556

“ผมขอกราบเรียนให้พี่น้องประชาชนทั้งประเทศทราบว่า ในการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ นอกจากคณะกรรมการการเลือกตั้งและพนักงานจะประสบปัญหาอุปสรรค ที่สืบเนื่องมาจาก การชุมนุมปิดล้อมสถานที่รับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ บริเวณอาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) และสถานที่รับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในหลายจังหวัดภาคใต้ จนทำให้ไม่สามารถรับสมัครผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งได้ถึง 28 เขต รวมทั้งได้รับแรงกดดันจากฝ่ายต่างๆ แล้วสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งส่วนกลางและสำนักงานคณะกรรมการ การเลือกตั้งประจำจังหวัดหลายแห่งถูกปิดล้อมสถานที่ทำการ ไม่สามารถเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้ บุคคลที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยปฏิบัติงานเลือกตั้งในตำแหน่งต่างๆ ในหลายพื้นที่ทนแรงกดดันไม่ได้ ต้องขอลาออกจากตำแหน่ง

ทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทำงานได้ยากยิ่งขึ้น เพราะการจัดการเลือกตั้งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน แต่ด้วยความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ซึ่งไม่ได้มีเพียงการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร ที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่เท่านั้น แต่ยังมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นซึ่งมีขึ้นเกือบทุกสัปดาห์ หากไม่มีการเลือกตั้งหรือล่าช้ากว่ากำหนด ผู้ที่จะได้รับผลกระทบก็คือประชาชนในพื้นที่

ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งส่วนกลาง และสำนักงานคณะกรรมการ การเลือกตั้งประจำจังหวัดที่ถูกปิดล้อมที่ทำการ จึงได้พยายามทุกช่องทางที่จะทำให้สามารถทำงานตามอำนาจหน้าที่ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและครบถ้วนสมบูรณ์ไม่ได้หยุดทำงานแม้แต่วันเดียว ถึงแม้จะกระจัดกระจายกันอยู่คนละที่ก็ตาม

ผมขอกราบเรียนให้พี่น้องประชาชนทุกท่านได้ทราบว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งตระหนักอยู่เสมอว่า ทุกชีวิตมีค่า หากสูญสิ้นไปแล้ว ไม่อาจกลับคืนมาได้อีก แต่การจัดการเลือกตั้ง หากไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ ก็สามารถจัดการเลือกตั้งใหม่ได้ ในขณะเดียวกันก็ไม่คาดการณ์ได้ว่าการชุมนุมประท้วงต่างๆ จะยุติลงเมื่อใด จึงได้มีหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเสนอความเห็นว่ารัฐบาลควรเสนอพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปขึ้นใหม่ เพื่อให้ได้ข้อยุติในการเลือกตั้งที่เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม แต่ก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติที่ชัดเจนได้

ต่อมาคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 214 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 2/2557 เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2557 ว่า วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรสามารถกำหนดขึ้นใหม่ได้ และการกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปขึ้นใหม่ เป็นอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกันของนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการการเลือกตั้ง

ซึ่งการหารือร่วมกันระหว่างประธานกรรมการการเลือกตั้งกับนายกรัฐมนตรี รวมทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งและคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2557 ได้ข้อสรุปว่า คณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการการเลือกตั้งมีความเห็นไม่ตรงกัน โดยคณะรัฐมนตรีมีความเห็นว่าไม่สามารถกำหนด การเลือกตั้งขึ้นใหม่ได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีความเห็นว่า ถ้าดำเนินการเลือกตั้งต่อ การเลือกตั้งจะไม่อาจบรรลุผลตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้ เมื่อตกลงกันไม่ได้ คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงต้องดำเนินการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปในวันนี้ ตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2557 ซึ่งได้ปิดการลงคะแนนเลือกตั้งไปแล้ว

ผมขอรายงานสถานการณ์สำคัญๆ ที่เกิดขึ้นในวันนี้ ให้พี่น้องประชาชนได้ทราบ ดังนี้ จำนวนหน่วยเลือกตั้งทั้งสิ้น 93,952 หน่วย เปิดลงคะแนนได้ 83,813 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 89.2 ใน 77 จังหวัด มีการประกาศงดลงคะแนนใน 18 จังหวัด โดยงดลงคะแนนทั้งจังหวัด 9 จังหวัด และงดลงคะแนนบางส่วน 9 จังหวัด รวม 69 เขต จำนวนเขตที่ประกาศงดลงคะแนนทั้งเขต 37 เขต งดลงคะแนนบางส่วน 32 เขต

อย่างไรก็ตาม วันนี้คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่สามารถประกาศผลการนับคะแนนเลือกตั้งในภาพรวมทั้งประเทศได้ เพราะตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กำหนดให้ผลคะแนนเลือกตั้งต้องประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ผลการนับคะแนนเลือกตั้งของหน่วยเลือกตั้ง ผลการนับคะแนนเลือกตั้งของที่เลือกตั้งกลางในเขตเลือกตั้ง และผลการนับคะแนนเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตจังหวัดและนอกราชอาณาจักร

แต่เนื่องจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งกลางในเขตเลือกตั้งและนอกเขตจังหวัดเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2557 ไม่สามารถใช้สิทธิลงคะแนนได้ ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งอยู่ระหว่างศึกษากฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งกลุ่มดังกล่าวได้ใช้สิทธิลงคะแนน เลือกตั้งในวันที่ 23 ก.พ. 2557 รวมทั้งอยู่ระหว่างเตรียมประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรีในการดำเนินการเยียวยากรณี 28 เขตเลือกตั้ง ที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

สุดท้ายนี้ ในนามของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผมขอขอบคุณผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ออกมาทำหน้าที่ใช้สิทธิเลือกตั้งขอขอบคุณพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วนที่ร่วมมือร่วมใจกันทำให้สถานการณ์ในวันนี้ผ่านพ้นไปโดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น ผมขอขอบคุณคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ตลอดจนผู้ช่วยปฏิบัติงานเลือกตั้งทุกระดับ หน่วยงานภาคราชการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้อดทน อดกลั้นและมีส่วนสำคัญในการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้

ผมขอยืนยันให้พี่น้องประชาชนที่เคารพรักมั่นใจได้ว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดนี้ มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะนำพาประเทศชาติออกจากวิกฤต โดยการทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยึดหลักกฎหมาย มีความเป็นกลางทางการเมือง และไม่หวั่นไหวต่อสภาพการณ์ใดๆ เพื่อให้การจัดการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมสมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง สวัสดีและขอบคุณครับ”

จากนั้นได้เปิดให้สื่อมวลชนซักถาม กกต.ทั้ง 5 คน โดยนายบุญส่ง น้อยโสภณ กกต.ด้านสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย กล่าวว่า จนถึงขณะนี้มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมด 4 กรณี เป็นกรณีกล่าวหาว่านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีใช้ตำแหน่งหน้าที่ และทรัพยากรของรัฐไปหาเสียงในพื้นที่ภาคอีสาน และภาคเหนือ ซึ่งอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน 2 มีการร้องเรียนที่ จ.อุบลราชธานี เขต 2 และ 3 ที่ จ.ปทุมธานีเขต 2 ว่ามีหาเสียงหลอกลวงให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยม 4 ร้องเรียน เขต 3 จ.ชลบุรี มีการกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่ช่วยเหลือผู้สมัคร อย่างไรก็ตามกรณีที่มีการร้องเรียนให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะอยู่ที่ดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาวินิจฉัย แต่ตามกฎหมายไม่มีบทบัญญัติใดให้ กกต.พิจารณาให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้

ขณะที่ นายธีรวัฒน์ ธีระโรจน์วิทย์ กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวเสริมกรณีที่จะมีการร้องให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะและ กกต.อาจต้องรับผิดชอบว่า เรื่องนี้เปรียบเหมือนหนังม้วนยาว คงไม่จบง่ายๆ คงต้องรอดูต่อไป แต่ กกต.ยืนยันว่าทำหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งอย่างเต็มที่ เต็มเป้าหมาย ถ้าสุดท้ายแล้วผลการเลือกตั้งไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของประเทศ กกตจะเสียใจมาก เพราะแม้การเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้วแต่สังคมไทยก็ยังไม่มั่นใจ เพราะ กกต.คาดหวังว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้จะทำให้สังคมไทยนำไปสู่ความสงบ ปกติ ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้ ถ้าสื่อติดตามมาตลอดจะเห็นว่า กกต.ได้พยายามนำเสนอการแก้ปมต่างๆ ดังนั้นเมื่อการเลือกตั้งไม่บรรลุเป้าหมาย หรือนำไปสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยเราก็เสียใจ โดยการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่ยุ่งยากมากที่สุดในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า ตัวเลขผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งขณะนี้ยังไม่สามารถประมวลได้ว่ามีจำนวนเท่าใด เนื่องจากแต่ละเขตยังมีปัญหา คาดว่าจะสามารถสรุปผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมดได้ในช่วงค่ำวันที่ 2 ก.พ. ทั้งนี้ยังไม่มีรายงานการกระทำผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง แต่มีรายงานเป็นการกระทำผิดในคดีอาญา โดยมีชายคนหนึ่งถ่ายรูปบัตรเลือกตั้งที่มีการกากบาทหมายเลขผู้สมัครแล้วนำไปโพสต์ในโซเชียลมีเดีย ซึ่งกรณีนี้เป็นถือเป็นความผิดทางอาญาที่มีโทษทั้งจำทั้งปรับ โดยจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท

ส่วนกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หย่อนบัตรเลือกตั้งลงหีบบัตรเลือกตั้งสลับกันนั้น นายสมชัยกล่าวว่า ไม่เป็นความผิดทางกฎหมายแต่อย่างใด และไม่ถือว่าเป็นบัตรเสีย ซึ่งเมื่อพบว่าใส่บัตรผิด กรรมการประจำนับคะแนนสามารถแยกบัตรกลับคืนในกระบวนการคัดแยกบัตรได้ เนื่องจากบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ และแบบแบ่งเขตเลือกตั้งมีสีที่แตกต่างกัน

นายสมชัยยังกล่าวกรณีที่รัฐบาลแถลงให้ กกต.เดินหน้าจัดการเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งที่ไม่สามารถลงคะแนนเลือกตั้งในวันนี้ ภายใน 7 วัน ว่า ผู้แถลงควรที่จะรู้จักหน้าที่ของตัวเองว่าตนเองมีหน้าที่อะไร หน้าที่ของรัฐบาลคืออะไร หน้าที่ กกต.คืออะไร การกำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งใหม่เป็นหน้าที่ของ กกต.ที่จะกำหนดวันที่เหมาะสม เพื่อให้การเลือกตั้งไม่เสียเปล่า และดูว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่เกิดปัญหาในข้อกฎหมาย เป็นช่วงระยะเวลาที่สถานการณ์เข้าสู่ความสงบสถานการณ์ได้คลี่คลายไปแล้ว “รัฐบาลเสนอได้ แต่ไม่ใช่ทำมาเป็นสั่ง”

นายสมชัยกล่าวต่อว่า หลังการเลือกตั้งวันนี้แล้ว กกต.ยังมีโจทย์อีกหลายเรื่อง 1. กรณี 16 เขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครรายเดียว หากได้คะแนนน้อยกว่าร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้น หรือน้อยกว่าผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ โดย 16 เขตเลือกตั้งจะยังไม่รายงานผลจนกว่าจะมีการเลือกตั้งนอกเขตจังหวัดรอบสอง 2. กรณี 28 เขตภาคใต้ที่ไม่มีผู้สมัครว่าจะออกพระราชกฤษฎีกาหรือประกาศ กกต.ให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งหากมีความเห็นต่างกันระหว่าง กกต.กับรัฐบาลก็ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสิ่งที่ถูกต้องคืออะไร และ 3. การเลือกตั้งในวันนี้ที่มีบางหน่วยเลือกตั้งไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้

ทั้งนี้ ต้องดูความเหมาะสมที่จะต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ว่าควรเป็นวันใด แต่คงไม่ใช่ภายใน 7 วันนับจากวันที่ 2 ก.พ. เพราะมันมีกระบวนการจัดการทางธุรการที่ไม่สามารถเป็นไปได้ในระยะเวลา 7วัน โดยเฉพาะการพิมพ์บัตรเลือกตั้ง ที่ กกต.ต้องจัดพิมพ์ใหม่ ไม่สามารถใช้บัตรเดิมได้เพราะประชาชนทราบแล้วว่าบัตรเลือกตั้งเป็นสีอะไร มีลักษณะแบบไหน และที่สำคัญต้องจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งที่จะนำมาใช้ถึง 10 ล้านใบเพราะคาดว่ามีผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้รับผลกระทบไม่สามารถใช้สิทธิได้ประมาณ 10 กว่าล้านคน อย่างไรก็ตาม กกต.จะพิจารณาวันที่เหมาะสมซึ่งขณะนี้ยังไม่มีคำตอบว่าเป็นวันใด โดย กกต.จะนำปัญหาทั้ง 3 เรื่องนี้มาคิดร่วมกันและจัดทำแผนเลือกตั้งในอนาคต

นายสมชัยกล่าวต่อว่า สำหรับคนที่ไม่ไปใช้สิทธิในกว่า 1 หมื่นหน่วยเลือกตั้งหรือประมาณ 8 ล้านคน ส่วนนี้จะต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ ดังนั้น ในคนที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แล้วต้องการใช้สิทธิทำอะไรบางอย่างเช่นลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ว. หรือสมาชิกผู้บริหารท้องถิ่น เข้าชื่อถอดถอน ต้องแจ้งเหตุของการไม่ไปใช้สิ ทธิเป็นการป้องกันตัวเอง แต่ถ้าไม่ต้องการใช้สิทธิดังกล่าวก็ไม่ต้องไปแจ้ง เพราะท้ายที่สุด เมื่อมีการเลือกตั้งขึ้นมาใหม่ ก็จะสามารถใช้สิทธิได้ อย่างการเลือกตั้ง ส.ว.ที่จะมีขึ้นวันเสาร์ที่ 29 มี.ค.ก็จะได้สิทธิกลับคืนมาอยู่ดี

ต่อมาเวลา 18.30 น. นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต.กล่าวว่า ได้รับรายงานจากผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานครว่าได้ตรวจสอบจำนวนหน่วยเลือกตั้งจำนวน 6,671 หน่วย สามารถเปิดการลงคะแนนได้ 6,155 หน่วย ซึ่งมีหน่วยที่ปิดการลงคะแนน 516 หน่วย ทำให้ยอดการลงคะแนนทั่วประเทศจากหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด 93,952 หน่วย เปิดได้ 83,669 หน่วย ปิด 10,283 หน่วย ส่งผลให้ยอดจังหวัดที่ประกาศงดการลงคะแนน 18 จังหวัดนั้น มี 9 จังหวัดประกาศงดลงคะแนนยกทั้งจังหวัด

ส่วนอีก 9 จังหวัดจำนวน 67 เขตนั้น พบว่ามีการงดการลงคะแนนทั้งเขตรวม 37 เขต แยกเป็นงดการลงคะแนนทั้งจังหวัด 9 จังหวัด 31 เขต ประกอบด้วย จ.ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา กระบี่ ภูเก็ต พัทลุง สงขลา และตรัง ส่วนอีก 6 เขตอยู่ใน จ.นครศรีธรรมราช ที่ไม่สามารถเปิดการลงคะแนนได้ ส่วนที่งดลงคะแนนบางส่วนนั้นมีทั้งหมด 9 จังหวัด 30 เขตใน กทม. จ.เพชรบุรี ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ สตูล นครศรีธรรมราช ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ดังนั้นมีจังหวัดที่สามารถเลือกตั้งได้โดยไม่มีปัญหาทั้งสิ้น 59 จังหวัดรวม 308 เขตเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม สำหรับตัวเลขยอดรวมผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งจะมีการแถลงให้ทราบอีกครั้งในวันที่ 3 ก.พ.
กำลังโหลดความคิดเห็น